|
สั่งเข้มหยุดขายพาณิชย์ประกันฯ ชี้หมกเม็ดเพียบ
ผู้จัดการรายวัน(9 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กรมการประกันฯ สั่งเฉียบให้ บ.พาณิชย์การประกันภัยฯ หยุดขายประกันวินาศภัยชั่วคราว หลังพบปัญหาฉาวโฉ่เพียบ ขีดเส้นตาย 20 มิ.ย.นี้ ต้องส่งแผนฟื้นฟูแจงข้อมูล "ทนง" เตรียมทบทวนและเพิ่มบทบาทตรวจสอบกรมการประกันฯ เทียบชั้นแบงก์ชาติ ขณะที่พาณิชย์ประกันภัยออกโรงยืนหยัดสู้ แจ้นขอพบ "อธิบดีกรมการประกันภัย" วันนี้
นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าขณะนี้มีคำสั่งที่ 7/2548 เรื่องให้บริษัทประกันวินาศภัยหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว สั่งให้บริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง จากการตรวจสอบเมื่อปลายปี 2547 ที่ผ่านมาปรากฏว่า บริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด มีฐานการเงินดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย มีปัญหาสภาพคล่อง ตรวจสอบพบความไม่โปร่งใส ไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลจากผู้บริหารบริษัทฯ ในการชี้แจ้งข้อมูลต่างๆ เช่น การเพิ่มทุน ปัญหาเรื่องร้องเรียนไม่จ่ายสินไหมทดแทนแก่สมาชิกกว่า 2 พันราย คิดเป็นวงเงิน 121 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประกันอุบัติภัยในรถยนต์ และประกันอิสรภาพ 3,000 ราย วงเงินค้ำประกันเงินสดกว่า 600 กว่าล้านบาท แต่บริษัทค้างจ่ายและประวิงเวลาในการจ่าย ที่ทางกรมฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนมาโดยตลอดซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก
ทั้งนี้พบว่าการจัดสรรทรัพย์สินตามประเภทที่ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย 2535 กฎหมายกำหนด ไม่เพียงพอกับเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท และเงินสำรองสำหรับค่าสินไหมทดแทน เช่น แจ้งว่าสินทรัพย์ของบริษัทฯ ทั้งหมดมี 1,693 ล้านบาท แต่กรมการประกันภัยประเมินจริงมีแค่ 755 ล้านบาท หายไป 938 ล้านบาท เงินสดในธนาคารที่แจ้งไว้ 331 ล้านบาท ประเมินจริงได้แค่ 46 ล้านบาท เงินหายไป 285 ล้านบาท โดยเฉพาะเงินกองทุนขาดหายไป 613 ล้านบาท ส่วนค่าเบี้ยประกันภัยค้างจ่ายที่แจ้งว่ามีสำรองจ่ายประมาณกว่า 400 ล้านบาท แต่ตรวจประเมินจริงได้แค่ 97 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งบริษัทไม่สามารถให้ข้อมูลและชี้แจงได้ว่าเงินที่หายไปนั้นไปทำอะไรอยู่ที่ไหน และกรมฯ ก็ได้อายัดทรัพย์สินไม่ให้มีการโยกย้ายสินทรัพย์ออกไป
"ที่ผ่านมากรมการประกันภัยให้โอกาสผู้บริหารมาโดยตลอด ที่เปิดโอกาสให้เพิ่มทุนในกองทุน 100 กว่าล้าน ให้ทยอยงวดแรก 50 ล้านบาท ในเดือนเมษายนอีกงวด 50 ล้านบาท เดือนพ.ค. แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือ" อธิบดีกรมการประกันภัยกล่าว
อธิบดีกรมการประกันภัยกล่าวต่อว่า กรมการประกันภัยในฐานะผู้กำกับดูแลบริษัทประกันภัย ได้ดำเนินการแก้ไขมาโดยตลอดตั้งแต่การให้คำแนะนำและให้ระยะเวลาแก่บริษัทฯ แต่บริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด ก็ไม่สามารถดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายสถานการณ์ทางการเงินลงได้ แต่ก็จะให้โอกาสแก่บริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด อีกครั้งในการส่งแผนฟื้นฟูภายในวันที่ 20 มิ.ย.นี้เท่านั้น และวันนี้ผู้บริหารของบริษัทฯ ก็จะมาเข้าพบด้วยเช่นกัน ซึ่งในแผนฟื้นฟูต้องชี้แจงให้ชัดเจนได้ว่าแผนรวมของแผนฟื้นฟูดังกล่าวจะแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้อย่างไร หากกรมการประกันภัยพิจารณาแล้วว่าแผนฟื้นฟูดังกล่าวไม่สามารถรับประกันความจริงใจและยืนยันได้ว่าจะแก้ไขปัญหาจ่ายสินไหมแก่ลูกค้า ระดมทุนเพิ่มเติม ชี้แจงว่าสินทรัพย์ที่หายไปนำไปทำอะไรหายไปไหน ตามอำนาจมาตรา 52 พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีอำนาจในการเพิกถอนใบอนุญาต
"หากจะมีการถอนใบอนุญาตจริง กรมฯ ก็จะแจ้งให้ทางสมาคมบริษัทประกันวินาศภัยรับทราบ เพื่อรองรับแล้วนำกรมธรรม์ที่เหลือของบริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด แจกจ่ายให้กับบริษัทประกันภัยรายอื่นรับผิดชอบดูแลประชาชนไม่ต้องห่วง" อธิบดีกรมการประกันภัยกล่าว
อธิบดีกรมการประกันภัยกล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาที่ว่าหากบริษัทฯ ไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่จะมาขอค่าสินไหมชดเชย โดยเฉพาะผู้ที่จะมาเอาประกันอุบัติเหตุรถยนต์ แต่ถ้าบริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด ปฏิเสธไม่ยอมจ่าย ทางกรมการประกันภัยไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับ หรือดึงเงินของบริษัทฯ มาจ่ายคืนให้กับผู้เอาประกันได้ แต่พฤติกรรมนี้ถือว่าผิดสัญญา ผู้เอาประกันสามารถฟ้องร้องเอาผิดกฎหมายแพ่ง หรือไปฟ้องร้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการเอาผิดบริษัทฯ ได้แน่นอน
"แม้กรมฯ จะไม่มีสิทธิอำนาจไปล้วงเงินของบริษัทมาจ่ายให้ประชาชนได้ แต่เราก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลตรวจสอบทำงานให้บริษัทชำระคืนสินไหมทดแทนแก่ประชาชน และห้ามไม่ให้บริษัทแอบไปทำประกันใหม่กับลูกค้ากลัวจะสร้างภาระปัญหาให้มากไปกว่าเดิม" อธิบดีกรมการประกันภัยกล่าว
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินงานของกรมการประกันภัยกับบริษัทดังกล่าวถือว่าทำถูกต้องแล้ว แต่ระบบการตรวจสอบของกรมการประกันภัยยังอ่อนอยู่ ต่อไปต้องมีการพัฒนาให้มีอำนาจตรวจสอบกำกับดูแลที่เข้มแข็งกว่านี้ ต่อไปจะทบทวนอำนาจหน้าที่ของกรมการประกันภัยให้มีอำนาจเหมือนกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีอำนาจตรวจสอบที่เข้มแข็ง เช่น การขอข้อมูล การส่งงบตรวจสอบประจำปี ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชนให้มากกว่านี้
พาณิชย์การประกันภัยร่อนหนังสือยังไม่ปิดกิจการ
ในวันเดียวกันนายปณชัย ประวีรนันท์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด ได้ออกหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง ว่า กรณีที่กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ออกหนังสือเลขที่ พณ 0505/2066 เรื่องให้บริษัทฯ หยุดการรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ว่าบริษัทฯ ยังสามารถเปิดดำเนินกิจการได้ตามปกติ จนกว่าเจ้าหน้าที่ของกรมการประกันภัยและของบริษัทฯ จะจัดตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูกิจการเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้ตามปกติ โดยกรมการประกันภัยมีระยะเวลาให้บริษัทฯ ทำแผนฟื้นฟูส่งให้ภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2548 นี้
อย่างไรก็ตาม คณะผู้บริหารของบริษัทฯ ยังคงแสดงเจตนารมณ์ในการทำธุรกิจประกันภัยวินาศภัยภายใต้ชื่อ พาณิชย์ประกันภัยต่อไป แม้ว่าขณะนี้จะมีกระแสข่าวเกี่ยวกับบริษัทฯ ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก แต่ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นใหม่ในสัดส่วน 51% ยังมีความเชื่อมั่นที่จะร่วมฟื้นฟูพาณิชย์การประกันภัยไปพร้อมๆ กับนายยศชัย บัวสุวรรณ ประธานกรรมการบริษัทฯ จนกว่าพาณิชย์ประกันภัยจะตั้งตระหง่านขึ้นอีกครั้งแน่นอน
นายปณชัยกล่าวต่ออีกว่า จากกระแสข่าวดังกล่าวอาจสร้างความสับสนและการนำเสนอที่ผิดพลาดสู่สาธารณชนได้ จึงขอโอกาสชี้แจงว่า บริษัทฯ ยังดำเนินการได้ตามปกติ ไม่มีการปิดกิจการส่วนใดส่วนหนึ่งตามข่าวที่บางสื่อหรือบางสำนักข่าวนำเสนอผิดพลาดไป สำหรับค่าสินไหมที่ค้างจ่ายให้กับลูกค้าอยู่นั้น ทางบริษัทฯ ยืนยันที่จะรับผิดชอบทั้งหมด ไม่มีการปฏิเสธการจ่ายสินไหมแน่นอน เพราะขณะนี้กรมการประกันภัยจะเข้ามาดูแล และทำหน้าที่แทนบริษัทฯ ในเรื่องการจ่ายค่าสินไหมชั่วคราวก่อนจนกว่าบริษัทฯจะดำเนินการกิจการได้ตามแผนฟื้นฟูเรียบร้อย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|