|

"ดีแทค-ทรู"ถล่มกทช.
ผู้จัดการรายวัน(9 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ดีแทค-ทรู ประสานเสียงถล่มกทช. เรื่องการออกใบอนุญาตต้องเท่าเทียมและเป็นธรรม ไม่ควรรีบร้อนและต้องปลดแอกเอกชนจากสัญญาร่วมการงาน ซึ่งกทช.สามารถทำได้ด้วยการกำหนดในเงื่อนไขใบอนุญาต เตรียมแผน B ตั้งบริษัทขอใบอนุญาตใหม่ โอนลูกค้าเดิมเช่าโครงข่าย ด้านประธานกทช.ย้ำใบอนุญาตจะไม่ทำให้ทีโอทีและกสท ผูกขาดในลักษณะเอกชนคุมเอกชน
นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทคกล่าวถึงการออกใบอนุญาตของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ว่า กทช.ไม่ควรรีบออกใบอนุญาตให้บริษัท ทีโอที กับบริษัท กสท โทรคมนาคมในเดือนก.ค.ที่จะถึงนี้ แต่ควรจะมีเงื่อนไขที่ชัดเจนใน License Framwork ก่อน เพราะจะทำให้เอกชนสามารถรู้ว่าจะขอใบอนุญาตในลักษณะเดียวกันหรือไม่
ดีแทคเห็นว่าหากต้องการให้เกิดความชัดเจนเพื่อเป้าหมายการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมบนพื้นฐานเดียวกัน กทช.ควรดำเนินการใน 3 ขั้นตอนคือ 1. แผนแม่บทซึ่งกำลังจะมีการประชาพิจารณ์ในวันนี้ (9 มิ.ย.) ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง 2. กทช.ควรออกเงื่อนไขรายละเอียดในใบอนุญาต หรือ License Framwork พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้มีการประชาพิจารณ์ โดยเฉพาะโอเปอเรเตอร์ เพื่อให้เงื่อนไขที่เป็นธรรม และ 3. เป็นขั้นตอนการออกใบอนุญาตให้ทีโอทีและกสท ซึ่งจะทำให้เอกชนรู้ว่าควรเดินหน้า เรื่องการขอใบอนุญาตอย่างไร
"ทั้ง 3 ขั้นตอนคาดว่าจะใช้เวลาแค่ 3-4 เดือน ซึ่งกทช.ไม่ควรเร่งรัดออกใบอนุญาตให้ทีโอทีกับกสท โดยยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนรอบด้าน ควรชะลอไปก่อนเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน"
นายซิคเว่กล่าวว่าหากมีการทำประชาพิจารณ์ License Framwork ดีแทคจะเสนอให้มีการเพิ่มเงื่อนไขให้ทีโอทีและกสทยุติบทบาทการใช้อำนาจในการกำกับดูแลบริษัทคู่สัญญาอย่างดีแทคหรือเอไอเอส และต้องให้ผู้ให้บริการทุกรายอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกทช.ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องจ่ายค่าใบอนุญาต, ค่าใช้จ่ายการให้บริการสาธารณะ USO (Universal Service Obligation), ค่าเชื่อมโครงข่าย (อินเตอร์คอนเน็กชัน ชาร์จ) และค่าธรรมเนียมอื่นๆเท่าเทียมกันหมด หมายถึงจะทำให้ค่าเชื่อมโยงหรือแอ็กเซสชาร์จ และส่วนแบ่งรายได้หมดไป
นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมดีแทคกล่าวว่าเดิมสัญญาร่วมการงานที่รัฐทำกับเอกชน ไม่ใช่เป็นสัญญาการค้าหรือ Business Contract แต่เป็นการทำสัญญาด้านการปกครอง ด้วยการอาศัยอำนาจการกำกับดูแลของรัฐผ่านรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปัจจุบันอำนาจกำกับดูแลเปลี่ยนไปอยู่ภายใต้กทช. ซึ่งทำให้สัญญาดังกล่าวสมควรที่จะโอนไปอยู่ภายใต้กทช.เช่นเดียวกัน
"เราจะทำเรื่องเสนอไปที่กทช.เพื่อหารือในประเด็นดังกล่าว เพราะดีแทคเชื่อว่าสัญญาร่วมการงานเป็นสัญญาปกครองที่อาศัยอำนาจการเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนไปอยู่ภายใต้อำนาจกทช.แล้ว ซึ่งในอดีตกรมไปรษณีย์ที่เปลี่ยนสถานะเป็นสำนักงานเลขากทช. เคยศึกษาและมีความเห็นในทิศทางเดียวกันมาแล้ว"
เขาย้ำว่าหากกทช.ให้ใบอนุญาตทีโอทีและกสท โดยที่สัญญาร่วมการงานยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะนำไปสู่การผูกขาดเหมือนเดิมไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ดีแทคเรียกร้องคือต้องการอยู่บนกรอบการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม และเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตเหมือนกัน
นายซิคเว่กล่าวว่าหากดีแทคยังไม่ได้รับความชัดเจนหรือได้รับความเป็นธรรมในเรื่องการได้รับใบอนุญาตที่ทัดเทียมกับทีโอทีและกสท นอกจากดีแทคจะใช้กระบวนการด้านกฎหมายเรียกร้องความเป็นธรรมแล้ว ดีแทคจะใช้แผน B ด้วยการตั้งบริษัทใหม่ เพื่อขอใบอนุญาตใหม่ แล้วโอนลูกค้ามายังบริษัทใหม่นี้ทั้งหมด แล้วใช้วิธีเช่าโครงข่ายแทนซึ่งหากวิธีนี้ ทีโอทีและกสท ก็จะไม่ได้อะไร
"เราไม่ต้องการทำร้ายทีโอทีหรือกสท เพียงแต่หากสัญญามีความชัดเจนจะเป็นผลดีกับทีโอทีและกสท ในการเข้าตลาดและการวางแผนธุรกิจในอนาคต"
พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานกทช.กล่าวว่าภายในวันที่ 15 มิ.ย.จะต้องรวบรวมเงื่อนไขหลักๆ ที่อยู่ในใบอนุญาตให้แล้วเสร็จไม่ว่าจะเป็นเรื่อง USO, ค่าเชื่อมโครงข่าย แผนเลขหมายโทรคมนาคม (Numbering Plan) ค่าธรรมเนียมต่างๆ และเงื่อนไขในการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งภายหลังจากที่ได้กรอบเงื่อนไขใบอนุญาต กทช.จะนำออกมาทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นของเอกชน ก่อนที่จะออกใบอนุญาตให้ทีโอทีและกสท ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ รวมทั้งรายที่เป็นคู่สัญญากับทีโอทีและกสท ไม่ใช่มุ่งแต่จะออกใบอนุญาตให้ทีโอทีกับกสทเท่านั้น
"ขอให้สบายใจ กทช.จะต้องดูให้รอบคอบเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่ใช่เป็นการบล็อกหรือถูกผูกขาดโดยทีโอทีและกสท ซึ่งเป็นเรื่องที่เราระวังมาก"
นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่ในเงื่อนไขใบอนุญาตจะมีการระบุไม่ให้ทีโอทีและกสท ใช้อำนาจในการกำกับดูแลเอกชนในลักษณะเอกชนคุมเอกชนเอง
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่าทรูมองว่ากทช.มีหน้าที่โดยตรงที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ประเด็นที่มีความเป็นห่วงมากคือเรื่องใบอนุญาตที่จะออกให้ทีโอทีและกสท ไม่ควรนำไปสู่การให้เช่าช่วงหรือให้สัมปทานต่อทั้งความถี่และเรื่องเลขหมาย
"ผมอยากเห็นการเปิดเสรีจริงๆ ไม่ใช่แบบลูบหน้าปะจมูก ยังผูกขาดหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม เพราะการให้ใบอนุญาตในขณะที่สัญญายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะเกิด Conflict of Interest 100% เพราะกลายเป็นให้เอกชนคุมเอกชนด้วยกัน"
เขาย้ำว่าสัญญาร่วมการงานที่มีอยู่ในปัจจุบันต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตามรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้เกิดการแข่งขันเสรีและตามกฏเกณฑ์ใบอนุญาตที่กทช.จะกำหนดขึ้น ซึ่งการที่กทช.บอกว่าสัญญาไม่เกี่ยวกับกทช.ถือว่ากทช.พูดผิด
กทช.สามารถระบุในเงื่อนไขใบอนุญาตเพื่อนำไปสู่การแปรสัญญาได้อย่างเช่นให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการแต่ไม่สามารถไปให้เช่าช่วงต่อได้ไม่ว่าความถี่หรือเลขหมาย หรือกำหนดให้ส่วนแบ่งรายได้มาจ่ายให้กทช.ทั้งหมดเพื่อนำไปให้บริการสาธารณะ (USO)
"ถ้าไม่เปิดเสรีจริง เราจะสู้ถึงที่สุดไม่ใช่สู้ปีเดียว แต่อีก 10 ปี เราก็จะสู้ เพราะเราถือว่าตอนนี้เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม"
ปัจจุบันกลุ่มทรูจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และมองว่าแนวทางแก้ปัญหาเรื่องสัญญาร่วมการงานทำได้โดยกทช.ออกใบอนุญาตใหม่มาทับสัญญาร่วมการงาน ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับทีโอทีและกสท พร้อมทั้งโอนลูกค้ามาบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตใหม่ และใช้วิธีเช่าโครงข่ายแทน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|