|
ศึกชิงสำนักน่ำใฮ้ “ผมจะสู้เพื่อหลักการ” บุญชู โรจนเสถียร
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2528)
กลับสู่หน้าหลัก
“ณ วันตรวจสอบสินทรัพย์รวมของธนาคาร (นครหลวงไทย) เมื่อหักสินทรัพย์จัดชั้นเป็นสูญเต็มจำนวนกับครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์จัดชั้นเป็นสงสัยส่วนที่เกินมูลค่าหลักประกันและสำรองเพื่อหนี้สงสัยจะสูญแล้ว คงเหลือ 11,541.6 ล้านบาท... ซึ่งหากธนาคารท่านใช้วิธีปฏิบัติทางการบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปแล้ว การดำเนินงานที่แท้จริงจะมีผลขาดทุน...”
นุกูล ประจวบเหมาะ
9 ธันวาคม 2525
มีเรื่องเล่ากันว่าจดหมายลับเฉพาะฉบับนี้ที่มาถึงธนาคารนครหลวงเมื่อปลายปี 2525 นั้น คนในแบงก์ชาติบางคนถึงกับพนันกันเล่นๆ ว่า ระหว่างธนาคารเอเชียทรัสต์ กับ ธนาคารนครหลวงไทยนั้นใครจะไปก่อนใคร?
“ซึ่งความจริงที่ธนาคารชาติเขาฟันเอเชียทรัสต์ก่อนนั้นเป็นเพราะพวกธารวณิชกุลและวิจิตรานนท์ไปแสดงความอหังการโดยปลดนพพร พงษ์เวช ก่อน ทั้งๆ ที่เอเชียทรัสต์และนครหลวงไทยนั้นแทบจะโยนหัวโยนก้อยได้ว่าจะเข้าไปหาใครก่อนได้ทันทีเลย” แหล่งข่าวธนาคารชาติคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
ปลายปี 2525 เป็นปลายปีที่วงจรธุรกิจการค้าเริ่มจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น
ฮ่องกงในภาวการณ์ปี 2525 คือยุคพิฆาตมังกรอย่างแท้จริง
แคร์เรี่ยนของจอร์จตันเริ่มซวดเซในปี 2525 หลังจากที่ได้แหกตาชาวบ้านและชาวธนาคารทั้งหัวดำและตาขาวมานานแล้ว
และก็ที่ฮ่องกงนั้นเองแหละคนที่ชื่อ “อึ้ง จือ เม้ง” กำลังรู้สึกอึดอัดกับภาวการณ์ที่รัดตัวเอามากๆ ในดินแดนเก้ามังกรที่เคยทำประโยชน์ให้กับเขาได้ดี
อึ้ง จือ เม้ง ก็คือประเภทเสื่อผืนหมอนใบที่มาเมืองไทยแล้วค้าขายเป็นเอเย่นต์นาฬิกาญี่ปุ่นจนรวยและเมื่อรวยขึ้นมาเขาก็ขยายฐานเข้าไปฮ่องกงไปลงทุนอย่างหนัก
โรงงานผลิตอุปกรณ์นาฬิกาชื่อ “สเตลักซ์” ซึ่งเป็นอาคารสูงเด่นสง่าที่มองเห็นได้ทันทีเมื่อเครื่องบินร่อนลงสู่สนามบินไคตั๊ก
นอกจากนั้นแล้ว “อึ้ง จือ เม้ง” ยังทำธุรกิจด้านการพัฒนาที่ดินทั้งฮ่องกงและเมืองไทย
ในฮ่องกงเขาใช้ชื่อ “ไหมฮอน” ในการซื้อขายที่ดินและปลูกแฟลตขาย
ในเมืองไทยคือบริษัทบางกอกแลนด์
“อึ้ง จือ เม้ง” มีวิธีการทำธุรกิจที่ไม่ได้แตกต่างไปกว่าคนจีนที่มีเสื่อผืนหมอนใบเท่าใดนัก นั่นคือการเข้าไปเกาะผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งแน่นอนที่สุด ขณะนั้นก็คือ “ถนอมและประภาส”
ในขณะที่ “อึ้ง จือเม้ง” กำลังกระโดดพรวดพุ่งขึ้นมาในวงการธุรกิจจากคนจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ก็มีไหหลำคนหนึ่งที่ชื่อ “ก่าว โล พก” ที่เขาหอบหิ้วมาจากเกาะไหหลำเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเช่นกัน
“ก่าว โล พก” เคยเป็นช่างซ่อมนาฬิกาที่เก่งมากตั้งเป็นแผงเล็กๆ อยู่หน้าร้านขายนาฬิกาของ “อึ้ง จือ เม้ง” และในที่สุด “อึ้ง จือ เม้ง” ก็ดึงเอา “ก่าว โล พก” เข้ามาทำการค้านาฬิกาด้วย
และจากวันนั้นเป็นต้นมาไม่ว่า “อึ้ง จือ เม้ง” จะทำอะไรก็ตาม “ก่าว โล พก” ก็จะต้องขอทำด้วยคน เพราะ “ก่าว โล พก” เชื่อในฝีมือ “อึ้ง จือ เม้ง” ว่าทำอะไรก็ขึ้น จับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด
พอพ้นจากเสื่อผืนหมอนใบแล้วมาเป็นนอนฟูก “อึ้ง จือ เม้ง” ก็เลยเป็น “มงคล กาญจนพาสน์” “ก่าว โล พก” ก็เป็น “ดิเรก มหาดำรงค์กุล”
มงคลหลังจากที่ได้ร่วมกับดิเรกทำนาฬิกาจนขึ้นแล้วก็หันเหไปร่วมประกอบธุรกิจกับ “ปัก ช้วน” หรือ ชวน รัตนรักษ์ ในกิจการธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปูนซีเมนต์นครหลวง สยามประชาคาร หรือที่รู้จักกันดีในนาม “หมู่บ้านเสนานิเวศน์” ก่อนที่ทั้งหมดจะเฮโลกันเข้าไปธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งต่อมาก็แตกคอกัน แล้วชวน รัตนรักษ์ ก็แลกหุ้นธนาคารกับมงคล กาญจนพาสน์ โดยให้มงคลสร้างฐานที่ธนาคารนครหลวงไทย ในขณะที่ชวนไปสร้างธนาคารกรุงศรีอยุธยา
14 ตุลาคม 2516 นอกจากจะทำให้โครงสร้างหลายอย่างเปลี่ยนไปและทำให้นายทหารม้าที่ไม่มีใครรู้จักเลยได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้แล้ว ยังมีผลกระทบให้มงคล กาญจนพาสน์ ต้องหันมาทบทวนบทบาทของตนเองในสังคมธุรกิจเมืองไทยอีกด้วย
คุณต้องเข้าใจว่าลักษณะการค้าของนายจือ เม้ง หรือมงคลนั้นเป็นการค้าแบบต้องใช้บารมีผู้ใหญ่มาตลอด ฉะนั้นอภิสิทธิ์เขาจึงสูง เขาก็แซงพ่อค้าคนอื่นขึ้นไป และอีกประการหนึ่ง การเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม 2516 มันเป็นการสร้างกลุ่มใหม่ขึ้นมามาก ทำให้มองเห็นว่า การจะจับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมันไม่ชัวร์เหมือนจับผู้เผด็จการที่กุมอำนาจอยู่แล้วทุ่มเข้าไป” อาจารย์ทางรัฐศาสตร์การปกครองที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งพูดให้ฟัง
มงคล กาญจนพาสน์ หลัง 16 ตุลาคม 2516 จึงเทเค้าส่วนใหญ่ของตัวเองไปยังฮ่องกง
2516-2521 จึงเป็นช่วงที่มงคล กาญจนพาสน์ ขยายกิจการในฮ่องกงมากที่สุด และเขาก็ทำให้โลกธุรกิจฮือฮามาพักหนึ่งเมื่อเขาเข้าไปซื้อกิจการนาฬิกา บูโลว่า ซึ่งเป็นกิจการชั้นนำของสหรัฐฯ และยุโรป
สำหรับดิเรกและตระกูลนั้นก็ตามมงคลไปฮ่องกงเหมือนกันแต่ทว่าเพียงแต่ไปลงทุนไม่มากเท่ามงคล
ธุรกิจของมงคลในเมืองไทยหลัง 14 ตุลาคม 16 ก็คงเหลือเพียงการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารนครหลวง การจัดสรรที่ดินที่อยู่อาศัยของบางกอกแลนด์ที่มาในชื่อโครงการหมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์และล่าสุดคือ เมโทรดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ที่เมื่อปีที่แล้วเบิกเงินเกินบัญชีธนาคารนครหลวงไทยไป 118 ล้านบาท
ฉะนั้นตั้งแต่ปี 2516 เป็นเวลา 10 ปี จนถึงปี 2525 จึงเป็นปีที่มงคล กาญจนพาสน์ มุ่งจะได้เสียแต่ในฮ่องกง
ในเมืองไทยนั้นมงคลแทบจะไม่ได้ใส่ใจมากมายนัก อาจจะเป็นเพราะว่า เค้าในฮ่องกงมันมากกว่าเมืองไทยก็ได้
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม คณะกรรมการบริหารของธนาคารนครหลวงไทยก็ยังคงเป็น วิศิษฐ์ ศรีสมบูรณ์ มงคล กาญจนพาสน์ และก็ดิเรก มหาดำรงค์กุลอยู่
2521 เป็นปีแรกของต้นทศวรรษที่วงจรเศรษฐกิจของโลกเริ่มแปรปรวนผันผวนอย่างอุบาทว์
ดอกเบี้ยที่เคยอยู่เลขสิบตอนต้นๆ เริ่มกระโดดขึ้นมาจนเป็นยี่สิบต้นๆ
มงคล กาญจนพาสน์ ก็เหมือน TYCOON คนอื่นๆ ในฮ่องกงที่ต้องประสบภาวะลำบาก
กิจการของเขาที่ฮ่องกงประสบวิกฤตการณ์อย่างรุนแรง การพัฒนาที่ดินในฮ่องกงซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเก็งกำไรและการปั้นราคาเมื่อมาเจอภาวการณ์ดอกเบี้ยแบบบ้าเลือดเช่นนี้ก็ทรุดลงทันตาเห็น
บูโลว่า กลายเป็นบูโล “บ้า” ไปเลยเพราะความไม่ทันสมัยของโรงงานและการตกต่ำของธุรกิจนาฬิกาทั่วโลก
มงคล กาญจนพาสน์ ต้องเริ่มสละของบนเรือบางอย่างทิ้งเพื่อลดน้ำหนัก
ของชิ้นแรกที่เขาต้องขายทิ้งคือธนาคารเมโทรโปลีแตนท์ ไปให้กับกลุ่มธนาคารของปากีสถานและอาหรับ ซึ่งใช้ชื่อว่า บีซีซีไอ ในราคากว่า 200 ล้านเหรียญฮ่องกง และสาขาของธนาคารนี้ก็อยู่ตึกอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ โดยใช้ชื่อว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บีซีซี (มงคล กาญจนพาสน์ ซื้อธนาคารเมโทรโปลีแตนท์จากอุเทน เตชะไพบูลย์ ซึ่งอุเทนลงทุนก่อตั้งเองด้วยทุนจดทะเบียน 3 ล้านเหรียญ เมื่อประมาณ พ.ศ.2514 แต่ต่อมาคณะกรรมการธนาคารไม่เห็นด้วย จึงขายให้มงคลไปในราคา 10 ล้านเหรียญฮ่องกง)
อัตราดอกเบี้ยบ้าเลือด นอกจากจะกระทบกระเทือนอาณาจักรของมงคล กาญจนพาสน์ ในฮ่องกงแล้ว กิจการทั้งหลายแหล่ในเมืองไทยก็โดนด้วยโดยไม่มีข้อยกเว้น
หมู่บ้านเมืองทองโครงการ 1-3 เจอศึกดอกเบี้ย ภาวะการเงินที่ฝืดมากๆ ทำให้การขายไม่ทันกับภาวะดอกเบี้ยที่ต้องรับ เมโทรดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ที่มีคำขวัญว่า “ไปไหนๆ ไปเมโทร” ก็เจ๊งเกือบจะกลายเป็น “ไปไหนไปไหน ไปสวรรค์” ไปเสียแล้ว
สำหรับธนาคารนครหลวงไทยนั้นเนื่องจากพื้นฐานของการเริ่มต้นขยายงานเป็นพื้นฐานของการใช้ตัวแทนตามจังหวัดต่างๆ ประกอบกับลักษณะการบริหารงานของธนาคารในยุคนั้น ศูนย์อำนาจจะอยู่ที่วิศิษฐ์ ศรีสมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการแต่ผู้เดียว
จึงไม่น่าประหลาดใจว่าพร้อมๆ กับที่กิจการของมงคลเริ่มทรุด ธนาคารนครหลวงไทยก็เริ่มทรุดจริงๆ ตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา “ผมรู้เรื่องนี้ตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้วว่าธนาคารนี้มันอยู่ไม่ไหว คุณเสนาะ อูนากูล ตอนนั้นเป็นผู้ว่าธนาคารชาติก็ได้เคยสั่งให้แก้ไขโดยด่วนมาแล้ว”
บุญชู โรจนเสถียร พูดให้ฟังครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว
ปลายปี 2525จดหมายจากธนาคารชาติส่งมาขอแสดงความนับถือกับประธานกรรมการธนาคารยุคที่เฉลิม เชี่ยวสกุล เป็น โดยมีใจความเป็นภาษาชาวบ้านว่า:-
1. ธนาคารนครหลวงทำบัญชีประเภทที่ชาวบ้านเขาไม่นิยมทำกัน ฉะนั้นถ้าทำบัญชีถูกต้องแล้ว “การดำเนินงานที่แท้จริงจะขาดทุน”
2. ให้บันทึกรายได้ที่แท้จริงลงไปดอกเบี้ยเงินที่เขาหยุดจ่ายอย่าเอาเข้ามาทบเป็นรายได้
3. ธนาคารได้ให้สินเชื่อ การรับรองรับอาวัลตั๋วเงินและค้ำประกันเพื่อการกู้ยืมเงินแก่ธุรกิจที่กรรมการและพนักงานชั้นบริหารของธนาคารมีอยู่ 641 ล้านบาท และในจำนวนนี้เป็น Clean Loan เสีย 351.2 ล้านบาท รายที่มีจำนวนเกินกว่าร้อยละ 10 ของเงินกองทุนของธนาคารคือ บริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด 138 ล้านบาท และบริษัทกาญจนพาสน์ จำกัด 92.2 ล้านบาท ฯลฯ
4. ให้ธนาคารควบคุมดูแลให้มีการปฏิบัติตามระเบียบและปรับปรุงตรวจสอบประสิทธิภาพโดยเคร่งครัด เพื่อมิให้มีช่องทางทำการทุจริตซึ่งได้เกิดขึ้นกับธนาคารนครหลวงไทยบ่อยครั้งได้
นอกจากนั้นแล้วยังมีอีกหลายข้อ
สรุปสั้นๆ เป็นอันว่าจดหมายจากธนาคารชาติในปลายปี 2525 ที่ขอแสดงความนับถือมา
นั้นกำลังบอกอย่างสุภาพว่า “ธนาคารนครหลวงไทยเละเอามากๆ”
ก่อนที่จดหมายฉบับนี้จากแบงก์ชาติจะมาเมื่อปลายปี 2525 นั้นก็เป็นช่วงที่มงคล กาญจนพาสน์ ได้ดีดลูกคิดดูแล้วก็คงจะเห็นว่างานนี้เหนื่อยแน่ถ้าหากไม่ทำอะไรลงไปสักอย่าง
และการที่จะทำอะไรลงไปสักอย่างก็คงต้องหมายความถึงการถอยฉากออกไปให้หมดสิ้นจากธนาคาร
เพราะมงคลเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าตั้งแต่ปี 2515-2525 ธนาคารนครหลวงไทยได้ทำเละเทะเอาไว้อย่างชนิดที่เรียกว่าถ้าเป็นในประเทศที่เจริญแล้ว ผู้บริหารคงจะติดคุกกันหัวโตกันนานแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|