เราได้เรียนรู้อะไรบ้างในกรณีธนาคารนครหลวงไทย?


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

กรณีธนาคารนครหลวงไทยมีตัวละครอยู่ 3 ตัวที่สามารถให้บทเรียนแก่เราได้ดีมาก ทั้งในแง่ของการบริหารและในหลักสัจธรรมแห่งชีวิต

ตัวละครทั้งสามคือ

- บุญชู โรจนเสถียร

- มหาดำรงค์กุล

- กำจร สถิรกุล และธนาคารแห่งประเทศไทย

บุญชู โรจนเสถียร

เขาเป็นคนเก่งมาก เหมือนอย่างที่หนังสือพิมพ์ มติชน บอกว่า “บุญชูเกิดผิดประเทศ” อย่างนี้น่าจะไปเกิดประเทศที่เจริญแล้วที่ไม่มีการเล่นพวกพ้องและที่นิยมความสามารถ

บุญชูเป็นเหมือนตัวแทนของคนที่ไม่มีอะไรมาก่อนแล้วมาจับอาชีพยึดอาชีพนั้นเป็นหลักจนกลายเป็นนักบริหารมืออาชีพ ที่ได้ดีมาจากหลักการบริหารและวิธีการบริหารที่เขามุ่งมั่นและกระทำจนสร้างธนาคารกรุงเทพขึ้นมาใหญ่โตมโหฬารเช่นวันนี้

แต่บุญชูเองก็มีข้อผิดพลาดและจุดอ่อน

ในบางขณะบางกรณีก็มีเสียงกล่าวหาว่าบุญชูไม่มีคุณสมบัติของผู้นำที่ดี˗นั่นคือการเอาใจใส่ดูแลลูกน้อง บางคนถึงกับกล่าวหาว่าบุญชูเองนั้น จะหนีเอาตัวรอดแต่ผู้เดียวเมื่อเกิดปัญหาขึ้น

ก็คงจะมีแต่บุญชูเท่านั้นที่รู้ดีว่าข้อกล่าวหานั้นจริงหรือเท็จ!

คนที่เคยเกี่ยวพันกับบุญชูในลักษณะที่อยู่บนพื้นฐานเท่าเทียมกัน เช่น พรรคชาติไทย หรือระดับกรรมการธนาคารกรุงเทพ หรือผู้บริหารระดับสูงของธนาคารใหญ่ๆ อื่น จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า บุญชูชอบทำงานแบบสั่งงานให้ทุกคนทำตาม และการพูดจากันก็มักจะออกมาในลักษณะที่บุญชูมักจะเก่งอยู่คนเดียวเสมอ

แต่เพื่อความเป็นธรรมกับบุญชู ก็ต้องอธิบายจุดนี้บ้างเพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดทีหลัง ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่า:-

บุญชูนั้นเป็นคนโชคร้ายที่อยู่ธนาคารกรุงเทพมานานจนเกินไป และตำแหน่งที่อยู่นั้นก็ไม่ใช่เล็กเป็นตำแหน่งบริหารสูงสุดในธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงเทพก็ไม่ใช่ธนาคารเล็กหรือกลางแต่เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุด ที่มีอำนาจและอิทธิพลมากที่สุดในนี้

ความเคยชินอันนี้มันก็เลยติดตัวมาตลอดโดยไม่ได้ตั้งใจ!

ความโชคร้ายของบุญชูอีกประการ คือการเป็นคนยึดถือหลักการมากจนเกินไป

ในสังคมไทยที่บ้านนี้เมืองนี้พูดกันด้วยอำนาจและบารมี และแม้แต่กฎหมายยังถูกแก้เพียงเพื่อให้คนมีอำนาจบารมีได้ทำตามใจตัวเองนั้น

หลักการและความถูกต้องมันหายากยิ่งกว่าการหาพรหมจารีของหญิงสาวที่ทำงานตามค็อกเทลเลาจน์เสียอีก!

แต่บุญชูก็รู้ เขาก็ยังหามันอยู่!

เพราะเขาเป็นคนดื้อรั้น!

เขารั้นอย่างชนิดที่บางครั้งแทบไม่น่าเชื่อว่าคนอย่างเขาจะไม่เข้าใจกับสัจธรรมของชีวิต!

ในชีวิตเขานั้น เขาถูกใช้มามาก ถูกใช้มาตลอดชีวิต

และเขาก็ยอมให้ถูกใช้ เพราะเขาเองก็ใช้คนที่มาใช้เหมือนกัน

เพียงแต่ว่าเมื่อเขาใช้คนตอนที่เขาเป็นผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพและรองนายกรัฐมนตรีนั้นคนที่ถูกเขาใช้หรือสั่งมันเกรงใจเขามากกว่า ทุกวันนี้ที่เขาเป็นนายบุญชู โรจนเสถียร ที่นั่งอย่างเงียบเหงาบนชั้น 10 ของธนาคารนครหลวงไทย

ทุกวันนี้ขอเพียงแต่ถ้าเขายังเป็นที่เกรงใจของพรรคกิจสังคมอยู่ ก็คงจะไม่มีเหตุการณ์เช่นวันนี้เกิดขึ้นแน่ๆ ไม่ต้องถึงกับให้เขาเป็นถึงรองนายกฯ หรือผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพหรอก

แต่บุญชูเป็นคนที่น่านับถือตรงที่ว่า เขาก็ยังเป็นมนุษย์ที่ยืนหยัดอยู่กับหลักการและความถูกต้อง

และก็เป็นหลักการและความถูกต้องนี้แหละกระมังที่ “ผู้จัดการ” ขอมายืนข้างบุญชูด้วยคน

อาจจะเป็นเพราะว่า “ผู้จัดการ” เองก็เป็นหนังสือที่ดื้อรั้นที่ยึดถือหลักการและความถูกต้องเป็นสรณะเช่นกัน

เมื่อ “ผู้จัดการ” ประกาศว่าจะเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ก็มีคนถามผ่านพนักงานขายโฆษณาเรามาว่า “บุญชูให้สนธิเท่าไรที่จะเขียนเรื่องนี้” ก็อยากจะขอตอบผ่านหน้านี้ไปยังคนจิตใจสกปรกคนนั้นว่า ท่านผู้อ่านที่ควักเงิน 30 บาทออกมาซื้อหนังสือเราเดือนละหลายหมื่นเล่มนั้น มากพอที่จะให้เราอยู่ได้อย่างสบายพอเพียงที่จะให้เราดื้อรั้นกับ “หลักการและความถูกต้อง”

มหาดำรงค์กุล

บทเรียนที่ได้จากมหาดำรงค์กุลในกรณีความขัดแย้งของธนาคารนครหลวงไทยคือข้อเท็จจริงในระบบทุนนิยมที่ต้องพึ่งพาอำนาจ

มันเป็นความฝันของผู้ประกอบการคนจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบลงเรือสำเภาจากเกาะไหหลำ จากกวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ แต้จิ๋ว ฯลฯ ไปตามที่ต่างๆ ที่ยังให้โอกาสแก่พวกเขามากกว่าเมืองจีนให้

คนจีนโพ้นทะเลพวกนี้คือกำลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญซึ่งทำให้สังคมธุรกิจต่างๆ ของแต่ละประเทศเจริญเติบโต

บางคนถึงกับสร้างอาณาจักรของตัวเองได้ เช่น เลียม ซิว เลียง แห่งอินโดนีเซีย

บางคนสร้างอาณาจักรขึ้นมาจนใหญ่และใหญ่เกินไปจนรัฐบาลของคนท้องถิ่นนั้นต้องหยุดเขาให้ได้ เช่น จาง หมิง เทียน ที่มาเลเซีย

แน่นอน ในบ้านเราก็มีคนอย่าง ชิน โสภณพนิช อุเทน เตชะไพบูลย์ ชวน รัตนรักษ์ หรือแม้แต่วัลลภ ธารวณิชกุล

คนที่ประสบความสำเร็จยังมีอีกมาก แต่เผอิญกลุ่มคนจีนที่ประสบความสำเร็จมากๆ เกิดมาอยู่ในกลุ่มการเงิน

สุพจน์ เดชสกุลธร เองยังเคยยอมรับว่าการเป็นเจ้าของสถาบันการเงินคือกุญแจไปสู่การสร้างอาณาจักร

ทุกอย่างเป็นอย่าง ชิน อุเทน ฯลฯ!

เพราะพ่อค้าทุกคนต้องผ่านความขมขื่นของการเคยกู้เงินทองบรรดาเจ้าสัวทั้งหลาย

ฉะนั้นถ้ามีโอกาสในชีวิตก็ต้องขอเป็นเจ้าสัวทางการเงินด้วยคน!

มหาดำรงค์กุลก็ไม่มีข้อยกเว้น!

เพียงแต่ว่า 2528 ปีนี้มันห่างจากปีที่ชินตัดสินใจเข้ามาจับเรื่องเงินทองถึง 40 ปี

40 ปีที่แล้วสังคมเศรษฐกิจบ้านเรายังคงที่ บนเวทียังมีคนขึ้นไปท้าชิงน้อย

ธนาคารยุคนั้นตั้งขึ้นมาโดยไม่มีเป้าและจุดหมาย เมื่อเวลามันผ่านมาสักพักหนึ่ง เป้าหมายของธนาคารก็ถูกกำหนดให้สร้างสรรค์ไปพร้อมกับสังคม

40 ปีที่แล้ว โสภณพนิช ล่ำซำ เตชะไพบูลย์ เพิ่งเข้ามาเรียนรู้การทำธนาคาร

และพวกเขาได้เรียนรู้มาถึง 40 ปีแล้ว เขาเรียนรู้จากระดับเสมียนขึ้นมา

แต่มหาดำรงค์กุลเข้ามาเรียนรู้ธนาคารในระดับตัดสินใจทันที!

ข้อแตกต่างมันอยู่ตรงนี้

ในขณะที่ตระกูลต่างๆ กำลังต้องการละลายคนของตระกูลออกไป เพราะคนไทยในยุคหลังนี้มองตระกูลต่างๆ ในธนาคารด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ดี แต่เรากลับกำลังให้อีกตระกูลหนึ่งเข้ามาควบคุมธนาคารพาณิชย์อีกแห่งหนึ่ง

ในขณะที่เรายอมรับหลักการแล้วว่า ธนาคารพาณิชย์ไม่ใช่กิจการพาณิชย์ที่ใครนึกจะเข้ามาก็เข้ามาบริหารได้

ความล้มเหลวของระบบการเงินในรอบ 2 ปีที่ผ่านมานั้น พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่า การจะเลือกใครเข้ามาคุมธนาคารพาณิชย์สักแห่งนั้น มันไม่ใช่การที่จะให้คนมีหุ้นมากที่สุดเข้ามาบริหาร ถ้าคนนั้นหรือกลุ่มนั้นไม่มีความรู้ที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนเข้าบริหารเงิน

ซึ่งเงินนั้นก็เผอิญเป็นเงินของประชาชน!

แม้แต่เรื่องบางเรื่องก็ส่งเจตนาของการไม่ได้เป็นนักธนาคารมืออาชีพ

จนทุกวันนี้ตำแหน่งบริหารทางกิจการด้านนาฬิกา พวกมหาดำรงค์กุลก็ยังดำรงอยู่

หรือแม้แต่ในงานเลี้ยงรองประธานธนาคารคอนติเนนตัล อิลลินอยส์ ผู้เขียนเองก็เคยเห็นและได้ยินดิลก มหาดำรงค์กุล เอานามบัตรแจกบรรดานายธนาคารต่างชาติ แล้วบอกอย่างภาคภูมิใจว่า “I am a watch manufacture”

“ผู้จัดการ” เชื่อว่ามหาดำรงค์กุลเป็นพ่อค้าขายนาฬิกาที่เก่งมากเพราะมีความสามารถหลายประการที่ทำให้ต้นทุนนาฬิกาของตนเองต่ำ

แต่การที่จู่ๆ จะเข้ามาบริหารธนาคารที่มีเงินฝากของประชาชนหมื่นกว่าล้านบาทโดยตัวเองไม่มีประสบการณ์ทางนี้เลย เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

ถึงแม้ว่าจะเป็นสิทธิ์ในฐานะถือหุ้นมากกว่าก็ตาม!

หรือแม้จะอ้างว่ามีลูกน้องคอยสอนงานให้ก็ตาม!

เพราะในที่สุดแล้ว ถ้าลูกน้องดีก็จะดีไป แต่ถ้าลูกน้องเจตนาไม่ดี เอาของเน่ามาใส่พานถวายแล้วตัวเองจะรู้ได้อย่างไร?

เพียงแค่หนี้สูญที่ฟ้องผิดศาล 152 ล้านบาทที่ยังไม่ได้บวกดอกเบี้ย ก็พอเพียงแล้วที่ให้เห็นว่าทำงานเป็นหรือไม่?

หรือเพียงแต่การโกหกงบดุลต่อประชาชนก็ส่อแจตนาแล้วว่า ถ้าสามารถบิดเบือนข้อเท็จจริงซึ่งเป็นตัวเลขแล้วจะให้เราไว้ใจที่จะเข้ามาบริหารเงินของประชาชนได้เช่นไร?

เพราะเราเชื่อว่าคนที่จะดูแลเงินประชาชนได้ดีนั้น ต้องถูกฝึกมาให้ทำงานเช่นนั้นเป็น หาใช่เพราะว่าถือหุ้นมากกว่า แล้วก็เข้ามาเป็น!

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารที่ป่วยมากๆ เช่น ธนาคารนครหลวงไทยในปัจจุบันนี้

กำจร สถิรกุล และธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2527 เมื่อเรานำเรื่อง สมหมาย ฮุนตระกูล ปลดนุกูล ประจวบเหมาะ ออกจากธนาคารชาติ เราได้เคยพูดไว้เป็นสัจวาจาว่า หมดยุคที่ธนาคารชาติจะเป็นอิสระต่อไปแล้ว

แต่หลังจากนั้นไม่นาน กำจร สถิรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ก็ประกาศสัจวาจาของตนเองเหมือนกันว่า ตัวกำจรเองก็เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีใครมาบอกให้ทำอะไรได้

เพียง 6 เดือนให้หลัง กำจรเองก็กลืนน้ำลายตัวเองลงไปในกรณีของธนาคารนครหลวง!

“มันเป็นเรื่องของผัวเมียทะเลาะกัน” นี่คือคำพูดล่าสุดของกำจร

เราคิดไม่ถึงว่าคนอย่างผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะพูดคำนี้ออกมาโดยไม่คิดว่า:-

1. ระหว่างบุญชูกับมหาดำรงค์กุลไม่ใช่เรื่องระหว่างครอบครัวในความหมายของการขัดแย้งเพราะท่ามกลางความขัดแย้งอันนี้คือ “เค้าหน้าตัก” ซึ่งเป็นเงินฝากของประชาชนที่จะต้องรักษาไว้ให้ดี

2. มันเป็นเรื่องของหลักการทำงานและความถูกต้องที่บุญชูพยายามจะทำตามเงื่อนไขของธนาคารชาติ แต่กลับเป็นธนาคารชาติที่ตระบัดสัตย์เสียเอง

3. ธนาคารชาติเพิ่งจะโวยวายเมื่อปีที่แล้วว่า คนที่จะเข้ามาบริหารสถาบันการเงินนั้นต้องเป็นคนมีความรู้ความสามารถในด้านนี้ และจนทุกวันนี้ธนาคารชาติก็ยังอยู่ในภาวการณ์สกรีนผู้บริหารสถาบันเงินทุนอยู่ แต่ในกรณีมหาดำรงค์กุลซึ่งเป็นพ่อค้านาฬิกา ธนาคารชาติกลับเอาหูไปนาเอาตาไปไร่

เราคิดไม่ถึงว่าการทำงานของธนาคารชาติก็มี double standard เหมือนกัน

4. การที่ธนาคารแห่งหนึ่งเอางบดุลที่ไม่ถูกต้องมาแจกจ่ายให้ประชาชนชมได้นี่ถือว่าธนาคารชาติอนุมัติและสมรู้ร่วมคิดในงบดุลนั้นด้วยใช่ไหม? หรือเป็นผู้ว่าการธนาคารเองเป็นผู้อนุมัติ! ซึ่งเราก็ไม่เชื่อ!

5. ถ้ามันเป็นเรื่องหลักการบริหารและความถูกต้องซึ่งกำจรเองก็บอกว่า “ไม่รู้ว่าข้างในเขามีอะไรกัน” ก็สมควรจะเข้าไปเสียให้รู้กันเสียทีมิใช่หรือ แทนที่จะมารำพึงรำพันให้ประชาชนเขาเสียดายภาษีอากรที่เขาเสียให้เป็นเงินเดือน

ธนาคารชาติสามารถจะสั่งให้บุญชูและมหาดำรงค์กุลพักการบริหารทั้งคู่ แล้วเข้าไปเลิกม่านเปิดพรมดูว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลในการทำงาน

การอ้างว่าต้องให้ธนาคารเชิญเข้าไป หรืออ้างว่าต้องให้รัฐมนตรีคลังสั่งเข้าไปนั้น เป็นการพูดโดยไม่อ่านกฎหมายที่ให้อำนาจตนอยู่แล้ว

ความล้มเหลวของสถาบันการเงินและระบบการเงินของประเทศใน 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ว่ากันว่าเป็นผลพวงการทำงานของคนที่ธนาคารชาติ ซึ่งเราก็ไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น

แต่จากการแสดงออกของกำจร สถิรกุล ผู้ว่าการธนาคารชาติคนใหม่นี้ในเรื่องธนาคารนครหลวงไทย ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า บางทีจะต้องจุดเทียนตอนกลางวันเสียแล้ว

เพราะ “บ้านนี้เมืองนี้ เวลานี้มันมืดจริงหนอ”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.