แบงก์นครหลวงไทย ก่อนถึงวันแตกหัก บุญชู-มหาดำรงค์กุล


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าย้อนหลังจากวันนี้กลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว หรือพูดง่ายๆ ว่าก่อนหน้าที่มหาดำรงค์กุลกับบุญชู โรจนเสถียร จะเดินจูงมือกันเข้ามาในแบงก์นครหลวง

ไม่ว่าใครก็คงไม่กล้าคิดว่าบุญชูกับมหาดำรงค์กุลจะต้องมีเรื่องขัดแย้งกันอย่างหนัก

บุญชูเป็นไหหลำ มหาดำรงค์กุลก็เป็นไหหลำ และที่เหนือกว่าความเป็นไหหลำกันก็คือบุญชูกับมหาดำรงค์กุลมีความสัมพันธ์อันดีกันมานาน ทั้งทางด้านธุรกิจและด้านส่วนตัว

ในยุคที่บุญชูยังมีอำนาจวาสนาอยู่ในแบงก์กรุงเทพและต่อมาในภาครัฐบาลนั้น มหาดำรงค์กุลเคยต้องพึ่งพาบุญชูอยู่หลายครั้ง แม้กระทั่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของชัยโรจน์บางระดับก็เป็นของที่บุญชูขอพระราชทานให้

ส่วนบุญชูก็พึ่งพามหาดำรงค์กุลด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในด้านกำลังทรัพย์ที่ต้องใช้เล่นการเมือง

มีอยู่ครั้งหนึ่งสมัยเมื่อบุญชูยังเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ก็ทางมหาดำรงค์กุลนี่เองที่เป็นผู้จัดงิ้วไหหลำเล่นหาทุนเข้าสมาคมเป็นการช่วยบุญชู และในทำนองกลับกันมีอยู่พักหนึ่งที่นาฬิกาไซโก้ของกลุ่มเมืองทองซึ่งมหาดำรงค์กุลมีเอี่ยวร่วมกับมงคล กาญจนพาสน์ หรือ “เสี่ยเม้ง” ประสบปัญหาเรื่องภาษี ปรากฏว่าไม่ช้านานเรื่องนี้ก็ค่อยๆ เงียบไปอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

“คุณก็น่าจะรู้ว่าใครช่วยไว้” เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรเคยพูดกับ “ผู้จัดการ”

ความสัมพันธ์ระหว่างบุญชูกับมหาดำรงค์กุลจึงเป็นความสัมพันธ์อันดี ที่ต่างฝ่ายต่างช่วยเหลือกัน “เพียงแต่บุญชูจะเป็นฝ่ายช่วยเสียมากกว่า เพราะมหาดำรงค์กุลนั้นส่วนมากขี้เหนียว โดยเฉพาะกับชัยโรจน์เป็นคนขี้เหนียวมาก...” คนวงในคุยให้ฟัง

เพราะฉะนั้นเมื่อมหาดำรงค์กุลต้องการเข้าไปเป็นเจ้าของแบงก์นครหลวงด้วยการรับซื้อหุ้นจาก “เสี่ยเม้ง” ซึ่งอยากจะวางมือจากธุรกิจทั้งหมดในเมืองไทย ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่มหาดำรงค์กุลจะต้องนึกถึงบุญชูเป็นคนแรก

ชัยโรจน์เป็นคนที่ไปทาบทามบุญชูให้เข้ามาในแบงก์นครหลวง โดยนอกจากจะขอให้ช่วยเข้ามาบริหารแล้วก็ยังขอให้บุญชูช่วยหาคนมาซื้อหุ้นด้วย เนื่องจากลำพังมหาดำรงค์กุลกลุ่มเดียวไม่มีกำลังพอจะรับซื้อหุ้นจาก “เสี่ยเม้ง” ได้ทั้งหมด

ชัยโรจน์ต้องทาบทามบุญชูอยู่นานเกือบปี บุญชูจึงตอบตกลง เพราะช่วงนั้นบุญชูก็ได้ประกาศวางมือจากวงการเมืองและพรรคกิจสังคมแล้ว

และดูเหมือนว่าปัญหาในทุกวันนี้ของแบงก์นครหลวงจะเริ่มกันตั้งแต่วันที่บุญชูตอบตกลงนั่นเอง

สำหรับบุญชูแล้ว การเข้ามาในแบงก์นครหลวง หมายถึงการได้รับอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารให้แบงก์ซึ่งล้าหลังเป็นสิบๆ ปีกลายเป็นแบงก์ที่ทันสมัยและประสบความสำเร็จแบงก์หนึ่ง

ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ ก็หมายความว่าบุญชูจะต้องจัดทีมบริหารชุดใหม่เข้ามาแทนชุดเก่าและลงมือผ่าตัดกันอย่างเฉียบขาด

แต่สำหรับมหาดำรงค์กุลแล้ว การเชิญบุญชูเข้ามากลับมีความหมายเพียงอยากจะอาศัยชื่อเสียงและประสบการณ์ของบุญชูช่วยสอนการบริหารแบงก์ให้กับคนของมหาดำรงค์กุลเท่านั้น

เรียกได้ว่าการก้าวเข้ามาในแบงก์นครหลวงของบุญชูและมหาดำรงค์กุลนั้น ต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายและไม่มีใครพูดถึงเป้าหมายที่แท้จริงกันมาก่อน

แบงก์นครหลวงในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2526 จนเกือบตลอดปีนั้นจึงเป็นยุคที่ “ผู้จัดการ” ต้องทำเป็นเรื่องเด่นขึ้นปกในฉบับประจำเดือนกันยายน โดยตั้งชื่อเรื่องว่า “แบงก์นครหลวงไทย สามก๊กยุค 200 ปี” เพราะโดยข้อเท็จจริงขณะนั้นแบงก์นครหลวงได้ถูกแบ่งเป็น 3 ก๊ก คือก๊กของผู้บริหารเก่า มีวิศิษฐ์ ศรีสมบูรณ์ อดีตกรรมการผู้จัดการเป็นขุนพล ก๊กของกลุ่มมหาดำรงค์กุล มีชัยโรจน์เป็นหัวหอก และก๊กของบุญชู มีวิศิษฐ์ ตันสัจจา วัฒนา ลัมพะสาระ และจิตรเกษม แสงสิงแก้ว

ว่ากันว่าในทันทีที่บุญชูดึงตัววิศิษฐ์ ตันสัจจา วัฒนา และจิตรเกษม เข้ามานั้น มหาดำรงค์กุลโดยเฉพาะชัยโรจน์ไม่พอใจมาก เพียงแต่ในช่วงที่ยังจำเป็นต้องร่วมมือกับก๊กบุญชูโค่นก๊กของวิศิษฐ์ ศรีสมบูรณ์ ความไม่พอใจนี้ก็จำเป็นจะต้องเก็บไว้ในใจเงียบๆ

และจากความไม่พอใจที่เก็บไว้เงียบๆ ก็เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นการตั้งแง่อย่างเปิดเผยเมื่อวิศิษฐ์ ศรีสมบูรณ์ ยอมสละเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ

วิศิษฐ์ ตันสัจจา ด้วยความเข้าใจที่ว่าบุญชูได้รับอำนาจเต็มที่จากมหาดำรงค์กุลก็เริ่มลงมือผ่าตัดแบงก์นครหลวงทันที

“ผมวางแผน 5 ปี ไว้โดยตามแผนที่ผมวางเป้าหมายจะทำให้นครหลวงขึ้นมาอยู่อันดับ 5 ของแบงก์พาณิชย์ไทย...” วิศิษฐ์เคยให้สัมภาษณ์กับ “ผู้จัดการ”

ในเดือนมกราคม 2526 ช่วงที่วิศิษฐ์ ตันสัจจา กำลังวางแผนว่าจะทำอะไรกับแบงก์นครหลวงนั่นเอง มีเช็ค 2 ใบ ใบแรก 3 ล้านบาท และใบที่สอง 6 ล้านบาทถูกส่งจาก “ตึกดำ” เข้ามาตัดบัญชีที่แบงก์นครหลวง

ใบแรกผ่านไปได้โดยที่ไม่มีเงินในบัญชีเลย แต่ใบที่สองถูกส่งคืน

ดูเหมือนว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี่เองที่วิศิษฐ์กับทีมบริหารจาก “ตึกดำ” เริ่มจะมองหน้าไม่สนิทกับมหาดำรงค์กุล

จากนั้นอีก 2 เดือนวิศิษฐ์ก็เริ่มรู้แน่ชัดมากขึ้นว่าตัวเองไม่ได้มีอำนาจแม้แต่จะอนุมัติเงินสัก 1,000 บาท เพราะมหาดำรงค์กุลไม่ยอมมอบอำนาจให้เลย

ในเดือนมีนาคม 2526 วิศิษฐ์จึงได้ยื่นใบลาออกกับบุญชู โดยให้เหตุผลว่าทำอะไรไม่ได้ แต่บุญชูได้ขอร้องให้วิศิษฐ์ทำงานต่อไปพร้อมทั้งรับปากว่าจะจัดการให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยขึ้น

หลังจากนั้นทีมงานของบุญชูก็ได้ดึงผู้บริหารจากข้างนอกเข้ามาในแบงก์นครหลวงหลายคน เช่น ดึงชาญ ธนาสุรกิจ จากฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศของแบงก์กรุงเทพให้มาคุมฝ่ายบริหารการเงิน ดึงสุรศักดิ์ เทวะอักษร จากส่งเสริมเงินทุนไทย ดึงสุภชัย มนัสไพบูลย์ จากจุฬาฯ ให้มาเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคล ดึงกฤษณา สุนทรธำรง มาเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด ดึงสังวร สุทธิสานนท์ มาเป็นผู้จัดการสำนักบริหารด้านการควบคุม

และคนสุดท้ายที่ตามเข้ามาด้วยก็คือ สังเวียร มีเผ่าพงษ์ เลขาคู่ใจของบุญชูซึ่งลาออกจากแบงก์กรุงเทพเพื่อมาเป็นผู้อำนวยการสำนักประธานกรรมการ

การเข้ามาอย่างสายฟ้าแลบของทีมบุญชูนี้ ถึงแม้อำนาจที่แท้จริงจะยังอยู่กับชัยโรจน์ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ดิเรก ดิลก และชัยโรจน์ กระวนกระวายใจอยู่เหมือนกัน

ภูริช มหาดำรงค์กุล ลูกชายดิเรก จึงถูกมอบหมายให้สรรหามือดีมาประกบคนของทีมบุญชูในทันทีและในที่สุดก็ได้ วัฒนาสุข พินิจธรรม จากธนาคารชาติเข้ามาเป็นคนแรก

วัฒนาถูกวางตัวให้เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ซึ่งจะช่วยดิลกและชัยโรจน์ได้มากในเรื่องระเบียบและพิธีการของธนาคาร

จากนั้นก็ดึงสมชัย วนาวิทย์ และวิวัฒน์ วินิจฉัยกุล ลูกชาย ดร.เสริม วินิจฉัยกุล เข้ามา

ในขณะที่ 2 ก๊กกำลังตั้งป้อมกันนี้ ก๊กมหาดำรงค์กุลจะถือไพ่เหนือกว่าเพราะเป็นผู้มีอำนาจถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะที่ก๊กวิศิษฐ์ก็หวังว่าบารมีของบุญชูจะช่วยแก้สถานการณ์ให้ดีขึ้นได้

แต่เอาเข้าจริงๆ บุญชูกลับทำอะไรได้ไม่มาก

“ขนาดท่านว่าไปอย่างเจ็บๆ ทั้งเขียนทั้งพูด เขายังไม่รู้สึก” ผู้ใกล้ชิดกับบุญชูเผยกับ “ผู้จัดการ”

เพราะฉะนั้นการตัดสินใจลาออกครั้งที่สองของวิศิษฐ์ ตันสัจจา ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครจะยับยั้งไว้ได้อีกต่อไป

จากวิศิษฐ์ ก็มาถึงวัฒนา ลัมพะสาระ จิตรเกษม แสงสิงแก้ว และทีมบุญชูเกือบยกทีมที่ต้องตบเท้าลาออกตาม

แน่นอน! สงครามระหว่างทีมของบุญชูกับมหาดำรงค์กุลปิดฉากไปแล้ว

เพียงแต่สงครามระหว่างตัวบุญชูกับมหาดำรงค์กุลเพิ่งจะเริ่มเท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.