ปลายปี 2525 เมื่อมรสุมเริ่มตั้งเค้า


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

ก่อนที่จดหมายธนาคารชาติลงวันที่ 9 ธันวาคม 2525 จะส่งมาขอแสดงความนับถือกับธนาคารนครหลวงไทยนั้น

ทางด้านมงคล กาญจนพาสน์ ก็ตัดสินใจถอนตัวออกจากธนาคารนครหลวงอย่างแน่นอน

และก็ไม่มีใครอื่นนอกจากดิเรก มหาดำรงค์กุล ที่มงคล กาญจนพาสน์ จะเสนอขายหุ้นให้ก่อน

ดิเรกเองก็รู้ว่าสถานภาพของนครหลวงไม่ดีเท่าไรนัก แต่ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล กลับมองอีกแบบหนึ่งว่าคงจะเอาไปรอด

จากการที่เป็นคนเรียนสูงกว่าพี่น้องก็เลยกลายเป็นคนที่พูดอะไรแล้วพี่ๆ จะฟังและเชื่อ

แผนการเข้าธนาคารนครหลวงจึงเริ่มต้นขึ้นทันที !

กุญแจสำคัญที่มหาดำรงค์กุลมองเห็นชัดๆว่าแผนงานของตนเองจะสำเร็จได้นั้น ต้องใช้คนชื่อ บุญชู โรจนเสถียร

เหตุผลมีอยู่อย่างชัดแจ้งว่า:-

1. มหาดำรงค์กุลไม่มีเงินมาซื้อหุ้นต้องใช้บารมีบุญชูเข้าช่วย

2. ธนาคารนครหลวงกำลังล่อแหลมมากๆ และจากปฏิกิริยาที่ทางการมีต่อนครหลวงก็ไม่ดีอยู่แล้ว ฉะนั้นการเข้าไป TAKE OVER จากมงคล กาญจนพาสน์จะต้องหาคนที่มีบารมี มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับกันในการทำธนาคาร มิฉะนั้นแล้วการเข้าแทรกแซงของธนาคารชาติย่อมเป็นไปได้ และยิ่งนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าธนาคารชาติเป็นคนที่มีความคิดอิสระและกล้าตัดสินใจ ฉะนั้นยิ่งจะเสี่ยงมากขึ้นถ้าไม่หาคนที่ทุกคนยอมรับเข้าไปบริหาร

ขบวนการใช้บุญชู โรจนเสถียร จึงเริ่มขึ้น “บุญชูถูกนายชัยโรจน์ชักชวนมาเป็นเวลานานแล้ว ทั้งดิเรกและดิลกก็จะแวะเวียนไปหาบุญชูที่ตึกดำตลอดเวลา ไม่ว่าเรื่องอะไรพวกนี้ก็จะพยายามทำเอาใจบุญชู แม้แต่สมัยที่บุญชูเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ พวกนี้ก็ติดต่อกับจีนแผ่นดินใหญ่ที่พวกนี้สนิทสนมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นหนุ่ม เอาอุปรากรจีนไหหลำมาแสดงแล้วเก็บเงินมอบให้สมาคมธรรมศาสตร์” แหล่งข่าวคนหนึ่งพูดให้ฟัง

ในที่สุดกลางปี 2525 บุญชูก็ใจอ่อน และคิดว่าทางมหาดำรงค์กุลคงจะมีความจริงใจ

สัญญาการทำงานระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ถูกร่างขึ้นมาในวันที่ 30 ตุลาคม 2525

ด้วยความเป็นธรรมแล้วในต้นปี 2525 จนถึงปลายปีนั้นภาวการณ์ตึกดำก็ยังไม่เลวร้ายจริงๆ บรรยากาศและแนวโน้มไม่ได้มีทีท่าว่าตึกดำจะล้มลงในปลายปี 2526 ฉะนั้นการที่บุญชูตัดสินใจเข้าธนาคารนครหลวงนั้น น่าจะเป็นด้วยสาเหตุอื่นมากกว่า

“ตอนนั้นคุณบุญชูมองแล้วว่าการกลับเข้าไปเล่นการเมืองคงจะมีหวังน้อยเพราะตัวบุญชูเองพลาดไปที่ไม่ลงเลือกตั้งเมื่อคราวที่แล้ว การอยู่รอคอยเวลานั้นก็คงไม่มีอะไรดีกว่าการเข้าไปรับอาชีพเดิมและเผอิญปัญหาของธนาคารนครหลวงก็เป็นเรื่องท้าทายความสามารถอย่างมากๆ ทีเดียว คนสนิทบุญชูคนหนึ่งพูดให้ฟัง

“ตอนแรกที่เขามาติดต่อกับผมเขาบอกว่า หนี้เสียมีไม่มากไม่กี่ร้อยล้าน ซึ่งผมก็ต้องเชื่อนายดิเรกเพราะเขาเป็นกรรมการบริหารคนหนึ่งของธนาคาร เวลาผมไปชวนเพื่อนฝูงมาซื้อหุ้น ผมก็ไปยืนยันกับเพื่อนว่า หนี้มันไม่มากหรอก แต่พอเข้ามาจริงๆ แล้วหนี้เสียมันเป็นพันๆ ล้าน” บุญชูเคยพูดอย่างขมขื่นให้ฟังเมื่อต้นปี 2528 นี้

ถ้าจะหานักบริหารมืออาชีพในเมืองไทยที่ก้าวกระโดดขึ้นมาด้วยลำแข้งตนเองแล้ว ก็ต้องนับบุญชู โรจนเสถียร เข้าไปคนหนึ่ง

บุญชู โรจนเสถียร อาจจะมีจุดอ่อนในเรื่องหลายเรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่บุญชูเองมีประวัติที่ยาวนานมากคือเรื่อง “หลักการ”

ก็ไม่ใช่เพราะหลักการหรือที่หลายช่วงตอนของชีวิตบุญชูต้องเจอมรสุมอยู่เรื่อย

จากการเป็นนักบัญชีเก่าและจากการที่เคยสร้างธนาคารกรุงเทพขึ้นมาจนใหญ่ที่สุดในเมืองไทย บุญชู โรจนเสถียร รู้ดีว่าหลักการและความถูกต้องในการทำธุรกิจเท่านั้นที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชนได้

ด้วยความกระตือรือร้นของมหาดำรงค์กุล และด้วยการเวียนเข้าไปรับใช้ใกล้ชิดสนิทสนมของชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล ทำให้บุญชูคิดว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างเขากับพวกมหาดำรงค์กุลคงจะราบรื่นพอสมควร

น้ำผึ้งพระจันทร์ก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว!

ราคาหุ้นที่มหาดำรงค์กุลอ้างว่า มงคล กาญจนพาสน์ จะขายคือ 395 บาท

“เรื่องราคานี้ยังลึกลับเพราะคนรับเงินค่าหุ้นไปคือดิเรกและชัยโรจน์ และเรื่องนี้สรรพากรกำลังตามอยู่เพราะคนรับเงินค่าหุ้นไปต้องเป็นคนเสียภาษี ส่วนราคาหุ้นจริงมันเท่าไร เวลาเรื่องนี้ขึ้นศาลมันก็คงจะต้องสืบสาวกัน” เจ้าหน้าที่ทางบัญชีของบุญชูเล่าให้ฟัง

“ผมจะช่วยเหลือในการจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อมาสนับสนุนทางการเงินแก่คณะผู้ร่วมลงทุนทั้งสองฝ่าย โดยพยายามหาเงินกู้ที่มีเงื่อนไขที่เป็นคุณแก่คณะผู้ร่วมลงทุนดีที่สุดเท่าที่จะจัดหาได้ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ”

เป็นคำพูดในข้อตกลงที่ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2525

และบุญชูก็ติดต่อนายห้างชิน โสภณพนิช ให้ช่วยปล่อยเงินกู้ให้กับพวกมหาดำรงค์กุลเป็นเงิน 200 กว่าล้านบาท

พวกมหาดำรงค์กุลเอาที่ตรงถนนวิทยุที่เป็นที่ว่างจัดนิทรรศการอยู่เสมอเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ ซึ่งเป็นที่เก่าของ หยิบ ณ นคร ลาภ ณ นคร และยุทธสาร ณ นคร มาค้ำประกัน แต่เพียงเซ็นโอนลอยเอาไว้ ยังไม่มีการจดจำนอง “ทางแบงก์กรุงเทพได้รับการขอร้องมาจากนายห้างชินก็เลยตีราคาให้เต็มที่ โฉนดชื่อของชัยโรจน์” เจ้าหน้าที่สินเชื่อระดับสูงของธนาคารกรุงเทพคนหนึ่งเปิดเผยให้ฟัง

ว่ากันว่าค่าหุ้นนั้นยังค้างมงคล กาญจนพาสน์ อยู่อีกร้อยกว่าล้านบาท

เมื่อเริ่มมีเงินเข้ามาซื้อหุ้นแล้ว บันทึกข้อตกลงที่เป็นทางการก็ได้ถูกร่างขึ้นมาในวันที่ 9 ธันวาคม 2525 ในวันเดียวกันที่จดหมายของนุกูล ประจวบเหมาะ ถูกส่งไปให้ธนาคารนครหลวง

จดหมายของนุกูลฉบับนั้นได้ถูกนำมาพิจารณาในที่ประชุมกรรมการเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2526 ซึ่งบุญชู โรจนเสถียร ก็ได้เข้าประชุมด้วยในฐานะที่เป็นที่ปรึกษา

จดหมายของธนาคารชาติฉบับนั้นแจ้งผลการตรวจสอบกิจการและสินทรัพย์ของธนาคารนครหลวงไทยเมื่อสิ้นสุดวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2525

และก็เป็นช่วง 2526 นี่เองที่บุญชูคิดว่าน่าจะส่งมืออาชีพเข้าไปช่วย

วิสิษฐ์ ตันสัจจา และคณะจึงถูกส่งเข้าไปในฐานะที่มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน

แต่วิสิษฐ์ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะมหาดำรงค์กุลตัดสินใจแน่นอนแล้วว่า ต้องการจะเป็นเจ้าของธนาคารนี้

ในปี 2526 จึงเป็นปีที่มหาดำรงค์กุลเริ่มกว้านคนที่ตัวเองคิดว่าเป็นมือดีของวงการธนาคารเข้ามา คนแรกที่เอาเข้ามาคือ วัฒนา สุทธิพินิจธรรม ถูกนำเข้ามาเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่

วัฒนา สุทธิพินิจธรรม เป็นไหหลำอีกคนหนึ่งซึ่งอาชีพเก่าอยู่ฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

หน้าที่เดิมของวัฒนาคือการตรวจสอบธนาคารนครหลวงไทย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีใครจะเหมาะเท่ากับวัฒนา สุทธิพินิจธรรม ที่จะมาเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เพราะเป็นคนรู้ปัญหา

ส่วนตระกูลมหาดำรงค์กุลก็เข้ามากันหมดรวมไปถึง ภูริช มหาดำรงค์กุล ลูกชายดิเรก และล่าสุดคือกฤษ มหาดำรงค์กุล ลูกดิเรกอีกคนหนึ่ง

เรียกว่ายกพ่อค้านาฬิกาเข้ามาบริหารธนาคารทั้งหมด

คนต่อไปคือวิวัฒน์ วินิจฉัยกุล ที่เคยอยู่ธนาคารหวั่งหลีและเป็นตัวแทนของธนาคาร WELLS FARGO ของซานฟรานซิสโกที่เพิ่งจะยุบสำนักงานตัวแทนไปเร็วๆ นี้

วิวัฒน์ถูกจับมาในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการรับผิดชอบในเรื่องเงินตราต่างประเทศ

ส่วนภูริช มหาดำรงค์กุล นั้นเข้ามาในตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่รับผิดชอบสาขาทั้งหมด

เรียกได้ว่าเป็นการก้าวกระโดดไกลของคนหนุ่มๆ ทั้งหลายที่ตื่นขึ้นมาวันหนึ่งก็ได้เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกันเป็นทิวแถว!

ปี 2526 และ 2527 คือช่วงที่มหาดำรงค์กุลสร้างฐานอำนาจการทำงานของตนเองจากคนที่ตัวเอาเข้ามาและลดอำนาจคนของบุญชูไปหมดแม้แต่วิสิษฐ์ ตันสัจจา ยังบอกว่า “ผมมีอำนาจเท่ากับเสมียนคนหนึ่งเท่านั้นเอง”

และเสมียนที่ชื่อวิสิษฐ์ ตันสัจจา ก็เปิดหมวกอำลาเป็นคนแรกในปลายปี 2526 และคณะที่เข้ามากับวิสิษฐ์ก็ทยอยกันออกตามไปทีหลัง

โดยเนื้อแท้แล้วตั้งแต่ปลายปี 2525 เป็นต้นมามหาดำรงค์กุลได้เป็นผู้กำหนดทิศทางและปฏิบัติการมาตลอด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.