|

เหตุเกิดที่ธนาคารนครธน (หวั่งหลี)
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2528)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อเงินฝาก 13.5 ล้าน ลอยหายเข้ากลีบเมฆ
การนำเงินไปเล่นแชร์ไม่ว่าจะเป็นแชร์แม่ชม้อย แม่นกแก้ว หรือแชร์ชาร์เตอร์ นั้นมักถูกประณามว่าเป็นการกระทำที่โง่เขลา
และถ้าเป็นคนฉลาดแล้วก็จะเลือกลงทุนในธุรกิจหรือหลักทรัพย์ที่ดีๆ มีหลักประกัน หรือไม่เช่นนั้นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดก็คือนำเงินไปฝากกินดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินที่มั่นคง อย่างเช่นธนาคารพาณิชย์
เจริญ พูลวรลักษณ์ ปัจจุบันอายุ 50 ปี เป็นเสี่ยใหญ่เจ้าของโรงหนังเพชรรามา เพชรเอ็มไพร์ เมโทร และเคยเป็นเจ้าของโรงหนังคิงส์ที่วังบูรพา ก็เห็นจะต้องบอกว่า เขาเป็นคนฉลาดคนหนึ่ง เพราะแทนที่จะนำเงินไปเล่นแชร์เพื่อจะได้ถูกโกงเหมือนกับอีกหลายๆ คนที่กำลังโดนในขณะนี้ “เสี่ยเจริญ” กลับตัดสินใจนำเงิน 15 ล้านบาท ไปฝากไว้กับธนาคารหวั่งหลี สาขาประดิพัทธ์ ซึ่งธนาคารนี้เพิ่งจะเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารนครธน เมื่อไม่นานมานี้ นัยว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ เนื่องจากชื่อเก่าฟังแล้วออกจะเป็นธนาคารของครอบครัวหนึ่งใดมากไป
หลังจากฝากเงินเสร็จ “เสี่ยเจริญ” ก็กลับไปนอนรอกินดอกเบี้ยที่บ้านด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่อง จน 2 เดือนเศษคล้อยหลังนั่นแหละ “เสี่ยเจริญ” จึงต้องวิ่งกระหืดกระหอบไปแจ้งความที่กองปราบกับพลตำรวจตรีบูญชู วังกานนท์ ผู้การฯ เพราะความฉลาดนี้ยังมีช่องโหว่ และด้วยช่องโหว่ดังกล่าวเงินจำนวน 13.5 ล้านบาท จากบัญชีเงินฝากที่ธนาคารหวั่งหลีได้อันตรธานไปแล้วเรียบร้อย
“เสี่ยเจริญ” เล่ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าตนเองได้เปิดบัญชีกับธนาคารหวั่งหลี สาขาประดิพัทธ์ ซึ่งมีนายสวิง เจนณรงค์ เป็นผู้จัดการสาขา เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2528 โดยฝากในชื่อของตัวเอง สมุดบัญชีเลขที่ 0735802 เล่มที่ 7779 เป็นจำนวนเงิน 15 ล้านบาท
การฝากเงินครั้งนี้ก็สืบเนื่องจากได้มีนายหน้า 2 คน เป็นชายหนึ่งหญิงหนึ่ง ฝ่ายชายนั้นเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อนกับ “เสียเจริญ” ทั้ง 2 ได้มาพูดจาชักชวนและแนะนำให้ “เสี่ยเจริญ” นำเงินไปฝากกับธนาคารหวั่งหลี เพราะจะได้ผลตอบแทนสูง คือธนาคารจะจ่ายเป็นเงินสมนาคุณให้ทันทีเป็นจำนวน 6% ของเงินฝาก จ่ายกันเป็นเงินสดๆ และยังจะได้ดอกเบี้ยอีก 13% ต่อปีด้วย
ส่วนนายหน้านั้น “เสี่ยเจริญ” มาทราบภายหลังว่า ได้เงินสมนาคุณจากการหาเงินฝากเข้าแบงก์ไปอีก 2%
สิริรวมแล้วก็เท่ากับหนึ่งปีธนาคารหวั่งหลีจะต้องจ่ายดอกเบี้ยไปรวม 21% ซึ่งเกินกว่าอัตราที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้!
เมื่อมีเงินตอบแทนสูงมาล่อใจ ในที่สุด “เสี่ยเจริญ” ก็เล่าว่า ตนเดินทางไปติดต่อกับธนาคารหวั่งหลี สาขาประดิพัทธ์ พร้อมกับนายหน้าทั้ง 2 คน และได้พบกับนายสวิง เจนณรงค์ กับนายพจน์ศิริ โหตะระพวานนท์ ผู้จัดการและผู้ช่วยผู้จัดการสาขา
เมื่อคุยจนเป็นที่ตกลงกันแน่ชัดแล้ว “เสี่ยเจริญ” ก็เซ็นเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาวงเวียนใหญ่เป็นจำนวนเงิน 15 ล้านบาท สั่งจ่ายให้ธนาคารหวั่งหลี สาขาประดิพัทธ์ เพื่อเปิดบัญชีเงินฝาก แล้วก็ขอตัวเข้าห้องน้ำ ซึ่งระหว่างที่เข้าห้องน้ำก็มาทราบภายหลังอีกเหมือนกันว่า ธนาคารได้นำเงินสดจำนวน 3 แสนบาท แบ่งใส่ซองเป็น 2 ซอง มามอบให้กับนายหน้าทั้ง 2 ส่วน “เสี่ยเจริญ” เมื่อออกมาจากห้องน้ำ นายพจน์ศิริก็ได้นำถุงสีน้ำตาลบรรจุเงิน 9 แสนบาทหรือ 6% ของเงินฝาก 15 ล้านบาทมามอบให้
การฝากเงินครั้งนี้ “เสี่ยเจริญ” เปิดเผยด้วยว่า ได้มีการทำสัญญาตกลงกันระหว่างเขากับผู้บริหารทั้ง 2 คนของธนาคาร โดยเงินฝากก้อนนี้จะเป็นเงินฝากประจำ ไม่สามารถถอนได้จนกว่าจะครบ 3 เดือน และธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยให้เดือนละประมาณ 140,000 บาท ด้วยการโอนเข้าบัญชีของ “เสี่ยเจริญ” ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาสาขาวงเวียนใหญ่ทุกๆ เดือน
เมื่อจัดการทุกอย่างเสร็จสรรพแล้ว “เสี่ยเจริญ” ก็เล่ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ตนก็กลับบ้านพร้อมกับสมุดฝากเงิน
ต่อมาในวันที่ 22 มีนาคม 2528 ตอนเช้า ธนาคารหวั่งหลีได้ให้พนักงานมาหาและให้ตนเซ็นชื่อในใบอะไรไม่ทราบ ตนเกิดความสงสัยจึงได้ไปที่ธนาคารหวั่งหลีสาขาวงเวียนใหญ่ เพื่อสอบถาม ก็ได้ความว่า ตนได้เอาเงินฝากในบัญชีของธนาคารหวั่งหลี สาขาประดิพัทธ์ค้ำประกันวงเงินเบิกเกินบัญชีของนายอุดม ฌานยิม อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 129 หมู่บ้านศรีนคร แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ โดยนายอุดม ฌานยิม มาเปิดบัญชีกับธนาคารหวั่งหลี สาขาประดิพัทธ์ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2528 ก่อนหน้า “เสี่ยเจริญ” เพียงวันเดียว
“เสี่ยเจริญ” ได้ยืนยันทั้งกับเจ้าหน้าที่ธนาคารและเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ตนไม่เคยเซ็นชื่อค้ำประกันใคร อีกทั้งการค้ำประกันนั้นธรรมดาแล้วธนาคารจะต้องยึดบัญชีเงินฝากของผู้ค้ำประกันไว้ตามระเบียบ แต่นี่ตนก็มีสมุดเงินฝากอยู่กับมือ
แต่ธนาคารก็บอกว่า สมุดเงินฝากของ “เสี่ยเจริญ” นั้นอยู่ที่ธนาคารแล้วเรียบร้อย
นี่ก็แสดงว่า จะต้องมีสมุดเงินฝากเล่มหนึ่งจริงเล่มหนึ่งปลอม และถ้าธนาคารเชื่อมั่นว่าเล่มของ “เสี่ยเจริญ” เป็นของปลอมก็น่าจะต้องรีบดำเนินการแจ้งความเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงกัน
และ “เสี่ยเจริญ” ทราบต่อมาว่า เงินในบัญชีของตนนั้นได้หายไปเรียบร้อยแล้ว 13.5 ล้านบาท อีกทั้งธนาคารปฏิเสธการถอนเงินแม้จะครบ 3 เดือนแล้วตามสัญญา
ต่อมาอีกในวันที่ 25 มีนาคม 2528 นายสุวิทย์ หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารหวั่งหลี ได้มอบอำนาจให้ นายสุรพล ชมดาว นำความเข้าแจ้งกับ สน.บางซื่อ ดำเนินคดี นายพจน์ศิริ โหตะระพวานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการสาขาธนาคารหวั่งหลี สาขาประดิพัทธ์ ในข้อหาร่วมกันกับพวกฉ้อโกง ทุจริตและปลอมแปลงเอกสารบัญชีของผู้อื่น
พ.ต.ต.มณเฑียร ประทีปะวนิช เจ้าของคดีเมื่อได้ทำการสืบสวนสอบสวนจากปากคำและพยานแวดล้อมแล้วก็ได้ขออนุมัติทำการจับกุมตัวนายพจน์ศิริ และจับได้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2528 เวลา 14.00 น. ที่หน้าบริษัทสายการบินการูด้า ซอยทานตะวัน แขวงสีลม เขตบางรัก
เป็นการจับกุมหลังจากมีการแจ้งความให้ดำเนินคดีแล้ว 1 เดือนกับ 5 วัน และหลังจากที่ “เสี่ยเจริญ” นำความเข้าแจ้งกับกองปราบได้ 13 วันเต็มๆ
จะเป็นการหักเหลี่ยมหรือวัดเชิงกันระหว่างท้องที่กับกองปราบหรือไม่นั้นไม่อาจจะทราบได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ คดีนี้กองปราบกำลังคลำจวนจะถึงต้นตออยู่พอดี ก็มีการลงมือจับกุมและมีผู้ต้องสงสัยหลายคนหลบรอดไปได้!
เมื่อจับกุมตัวนายพจน์ศิริได้อย่างละม่อมแล้ว ต่อมาในวันที่ 6 พฤษภาคม 2528 เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บางซื่อ ก็ได้เข้าจับกุมตัว นายอุดม ฌานยิม อายุ 24 ปี (ไม่ใช่ 40 ปีตามที่ระบุไว้กับธนาคาร) ได้ที่บ้านเลขที่ 129 หมู่บ้านศรีนคร พร้อมกับนายสุทัศน์หรือนครหรือสมศักดิ์ นามสกุลเทียมสุรวัช หรือพัฒนนุกูลกิจ มนุษย์หลายชื่อหลายนามสกุล ซึ่งเป็นหัวหน้าแก๊งผู้วางแผนปลอมแปลงเอกสารและเปิดบัญชีในนามนายอุดม ฌานยิม อายุ 40 ปี
ผลการตรวจค้นของกลางในบ้านเลขที่ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้ายี่ห้อไอบีเอ็ม 1 เครื่อง เครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อโอลิมเปียอีก 1 เครื่อง และเอกสารการปลอมแปลงเช็คเป็นส่วนใหญ่อีก 6 ถุงขนาดเขื่องๆ
จากการสืบสวนหาข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า คนร้ายแก๊งนี้หากินกับการปลอมแปลงเอกสารของธนาคารมาแล้วหลายแห่ง โดยคนร้ายจะมีหัวหน้าแก๊งเป็นผู้บงการคนเดียวตลอดทั้งเรื่อง แต่มีสมุนร่วมมือด้วย โดยจะจ้างคนมาเป็นคนใช้แล้วยึดบัตรประชาชนไว้เพื่อทำการปลอมแปลงเอาไว้คอยเปิดบัญชีตามธนาคารต่างๆ และจะใช้ผู้หญิงหน้าตาดีๆ ออกมาตีสนิทกับพนักงานระดับบริหารของธนาคารโดยเฉพาะผู้จัดการสาขา ผู้ช่วยผู้จัดการหรือสมุห์บัญชี วิธีการเข้าตีสนิทก็จะมาบริการให้กับบุคคลต่างๆ เหล่านั้นจนเกิดความคุ้นเคยชอบพอกันเป็นส่วนตัว ส่วนตัวหัวหน้าใหญ่ก็จะมีบ้านโอ่อ่าหลังใหญ่พักอาศัย สำหรับไว้แสดงฐานะกับผู้จัดการธนาคาร
เป้าหมายที่กลุ่มคนร้ายสนใจเป็นพิเศษก็คือ ธนาคารสาขาที่เพิ่งเปิดใหม่หรือธนาคารที่มีลูกค้าฝากเงินน้อย และสาขาต้องการระดมเงินฝากเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สำนักงานใหญ่กำหนด สาขาเหล่านี้มักจะไม่ค่อยพิถีพิถันเรื่องการทำสัญญามากนัก เพียงแต่ขอให้นำเงินฝากเข้ามาได้เท่านั้น
สำหรับกรณีธนาคารหวั่งหลี ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของแก๊ง 18 มงกุฎแก๊งนี้ โดยมีนายสุทัศน์หรือนครหรือสมศักดิ์ ซึ่งมีประวัติฉ้อโกงมาแล้วโชกโชน (แต่ไม่เคยถูกจับ ปัจจุบันอยู่ระหว่างถูกฟ้องล้มละลาย) เป็นหัวหน้าแก๊ง
นายสุทัศน์หรือนครหรือสมศักดิ์นี้ได้อาศัยนางสุมล ชนะไชย คอยทำตัวเป็นสะพานนำตนไปตีสนิทกับนายพจน์ศิริ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารหวั่งหลี สาขาประดิพัทธ์ จนในที่สุดได้มีการวางแผนกัน โดยนายสุทัศน์หรือนครหรือสมศักดิ์ได้ทำทีมาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคาร จากนั้นก็แนะนำนายเจริญ พูลวรลักษณ์ ให้นำเงินมาฝากประจำเป็นจำนวนเงิน 15 ล้านบาท โดยมีข้อตกลงขอเปิดบัญชีโอดีกับธนาคารเป็นจำนวนเงิน 13.5 ล้านบาท ส่วนการค้ำประกันก็ใช้บัญชีเงินฝากของนายเจริญ
นายพจน์ศิริรับหลักการพร้อมทั้งรับปากว่าจะช่วยเหลือนายสุทัศน์หรือนครหรือสมศักดิ์ในการดำเนินการครั้งนี้ให้สำเร็จ จากนั้นก็เสนอเรื่องไปให้สำนักงานใหญ่พิจารณา และได้รับอนุมัติตามหลักการที่นายพจน์ศิริเสนอไป
ในวันที่ 8 มกราคม 2528 นายสุทัศน์หรือนครหรือสมศักดิ์คนเดียวกันนี้ ก็ได้มาเปิดบัญชีกระแสรายวันโดยใช้ชื่อนายอุดม ฌานยิม อายุ 40 ปี แต่แท้ที่จริงแล้วอายุ 24 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นลูกน้องอยู่ที่บ้าน ส่วนการควบคุมเงินในบัญชีนั้นตัวนายสุทัศน์เป็นผู้ควบคุมทั้งหมด
พอถึงวันที่ 9 มกราคม 2528 ก็ให้คนของตนนำ “เสี่ยเจริญ” มาฝากเงินเป็นจำนวน 15 ล้านบาทตามที่ตกลงไว้กับนายพจน์ศิริ โดยบอกกับ “เสี่ยเจริญ” ว่าจะได้รับเงินพิเศษทันที 7% (แต่ “เสี่ยเจริญ” บอกกับกองปราบว่าได้ 6%) นอกเหนือจากดอกเบี้ยเงินฝากประจำ
และเงินพิเศษดังกล่าวธนาคารปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นผู้จ่าย หากแต่นายสุทัศน์เป็นผู้จ่ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนจากการค้ำประกันวงเงินเบิกเกินบัญชีของนายอุดม ฌานยิม
จนกระทั่งถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2528 ปรากฏว่าบัญชีกระแสรายวันของนายอุดมต้องหยุดการสั่งจ่ายเงิน เพราะครบจำนวนตามที่ตกลงไว้ในวงเงิน 13.5 ล้านบาท ธนาคารยังไม่สงสัยอะไร จนกระทั่งถึงวันที่ 22 มีนาคม 2528 สำนักงานใหญ่จึงได้ตรวจพบว่า ในหนังสือสัญญาค้ำประกันของนายเจริญหรือ “เสี่ยเจริญ” นั้นมีพิรุธ ครั้นเมื่อเรียก “เสี่ยเจริญ” มาสอบถามกลับได้รับการปฏิเสธว่า ไม่เคยค้ำประกันให้นายอุดมเลย ธนาคารก็เลยทราบว่าจะต้องมีการทุจริตเกิดขึ้นแน่ๆ
ปรากฏว่านายพจน์ศิริได้หลบหนีไปและเพิ่งจะจับกุมได้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2528
ต่อมาได้ติดตามจับกุมตัวนางสุมล ชนะไชย นายหน้า ได้ที่หน้าโรงเรียนมักกะสัน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2528 และจับหัวหน้าแก๊งคือนายสุทัศน์หรือนครหรือสมศักดิ์ พร้อมกับนายอุดม ฌานยิม ได้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2528 อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น
จากผลการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางซื่อ นี้ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า มีอยู่หลายๆ จุดที่ขัดแย้งกับคำบอกเล่าของ “เสี่ยเจริญ” ที่ให้ไว้กับเจ้าหน้าที่กองปราบ
โดยเฉพาะการสืบสวนสอบสวนของ สน.บางซื่อ นั้นมีความเป็นไปได้มากที่ “เสี่ยเจริญ” อาจจะต้องถูกจับกุมด้วยในฐานะที่รู้เห็นเป็นใจกับโจรแก๊งนี้มาตั้งแต่ต้น
หรือถ้าสามารถพิสูจน์ทราบได้ว่า ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเพื่อที่จะโกงธนาคารเพื่อหวังเงินหลายต่อ ก็อาจจะต้องสูญเงินไปฟรีๆ 13.5 ล้านบาท เนื่องจากไปหลงลมพวกแก๊ง 18 มงกุฎ ซึ่งวางแผนหลอกให้เอาเงินไปฝากและหลอกให้นำบัญชีเงินฝากนั้นมาค้ำประกันวงเงินเบิกเกินบัญชีโดยจ่ายค่าตอบแทนให้ 8% เป็นเงิน 1 ล้าน 2 แสนบาท
ดูเหมือนทางออกของ “เสี่ยเจริญ” เพื่อที่จะเรียกเงินฝากจำนวน 13.5 ล้านบาทของตนกลับคืนมานั้นมีทางเดียวคือพิสูจน์ให้ได้ว่า คำให้การที่ให้ไว้กับกองปราบนั้นเป็นความจริงทุกประการ เริ่มตั้งแต่จุดที่ว่า ผู้จัดการสาขาและผู้ช่วยผู้จัดการสาขาเป็นผู้ที่มอบเงินให้กับตนจริงจำนวน 9 แสนบาท โดยบอกว่าเป็นค่าสมนาคุณที่นำเงินมาฝาก เรื่อยไปจนถึงการพิสูจน์ว่า สมุดเงินฝากที่ “เสี่ยเจริญ” บอกว่ายังอยู่กับตนนั้นเป็นของจริงไม่ใช่ของปลอม
ซึ่ง “เสี่ยเจริญ” จะต้องคำนึงอย่างมากๆ ว่า การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนครั้งนี้ ถ้าเป็นฝ่ายชนะก็หมายความว่า ธนาคารหวั่งหลีจะต้องมีความผิดฐานที่จ่ายดอกเบี้ยแก่ผู้ฝากเงินเกินกว่าอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดและชื่อเสียงเกียรติภูมิของธนาคารจะต้องเสียหายอย่างไม่อาจจะประเมินได้
เพราะฉะนั้น กรณีนี้ก็จะเป็นกรณีที่ธนาคารจะต้องปกป้องตัวเองอย่างถึงที่สุด
ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่ง คือเรื่องดังกล่าวนี้ธนาคารพยายามอย่างยิ่งที่จะปิดข่าวไม่ให้เผยแพร่ออกไปสู่การรับรู้ของประชาชน ทั้งนี้ก็คงเกรงว่าจะกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงของธนาคาร แต่ยิ่งปิดข่าวก็ยิ่งกระจายออกไปและเป็นข่าวที่สับสนไม่สามารถจับต้นชนปลายได้ ผลที่สุดก็ยิ่งจะเกิดความเสียหายกันมากขึ้น
ที่จริงแล้ว ธนาคารเองนั่นแหละที่จะต้องเร่งรีบเปิดเผยข้อมูลและออกมาชี้แจงเรื่องราวทั้งหมด เพราะเรื่องอย่างนี้เป็นคดีฉ้อฉลที่ประชาชนควรรับรู้เพื่อจะไม่ตกเป็นเหยื่อพวกมิจฉาชีพอีกต่อไปในอนาคต
อีกทั้งภาพลักษณ์ของธนาคารก็จะเป็นภาพที่ไม่มีลับลมคมในอีกด้วย
ประการนี้ก็ขอฝากไว้เป็นข้อคิดก็แล้วกัน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|