|
นกแอร์ดึงโอมายทำสื่อบนเครื่อง ดิ้นสู้ต้นทุนพุ่ง-หาเงินชดเชยแทนการปรับค่าตั๋วขึ้น
ผู้จัดการรายวัน(8 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
นกแอร์ ดิ้นสู้จับมือ โอ มาย ทำสื่อโฆษณาบนเครื่องบิน หวังนำรายได้มาชดเชยในภาวะต้นทุนสูงเพราะราคาน้ำมันแพง เผยเป็นหนทางที่จะทำให้ไม่ต้องปรับขึ้นราคาตั๋วโดยสาร ยอมรับปัจจุบันราคาตั๋วโลว์คอสต์ไม่ถูกมาก เพราะต้นทุนแพง ขณะเดียวกันเตรียมพิจารณาลดเที่ยวบินพิษณุโลกไตรมาส 3 นี้ เหตุเป็นสายเดียวที่ขาดทุน มีจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวแค่ 53%
นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ เปิดเผยว่า ได้จับมือกับบริษัท โอ มาย จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตสื่ออากาศยาน เพื่อจัดทำสื่อโฆษณาบนเครื่องบินของนกแอร์ โดยพื้นที่ที่กำหนดไว้ที่จะติดตั้งสื่อโฆษณามีทั้งหมด 8 จุด ประกอบด้วย 1. Exterior Aircraft Media 2. Over Head Bin Door Media 3. Headrest Media 4. Tray Table Media 5. Boarding Pass Media 6. On-board Announcement Media 7. Front Packet Inserts และ 8. In-flight Promotional Events ซึ่งแต่ละพื้นที่จะคิดอัตราค่าโฆษณาแตกต่างกันออกไป
หน้าที่หลักของโอ มาย คือจะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ทำตลาดหาลูกค้า ส่วนนกแอร์เป็นเจ้าของพื้นที่โฆษณา โดยจะนำรายได้เข้ามาแบ่งกันตามสัดส่วน ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดอัตราค่าโฆษณา และการคำนวณรายได้ที่จะได้รับ แต่เบื้องต้นคาดว่าจะมีรายได้จากส่วนนี้มาชดเชยต้นทุนในส่วนของค่าน้ำมันได้ไม่น้อยกว่า 10% จากปัจจุบันต้นทุนค่าน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 37% ของต้นทุนการบิน
ดิ้นหารายได้ซัปพอร์ตต้นทุนเพิ่ม
ทั้งนี้นกแอร์เชื่อว่าวิธีหารายได้ทางนี้เป็นผลดีต่อบริษัทในเรื่องของการหารายได้เพิ่มเติม เพื่อมาแชร์ต้นทุนในภาวะที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นทางออกที่ทำให้บริษัทไม่ต้องขึ้นค่าตั๋วเครื่องบิน หรือเก็บค่าเซอร์ชาร์จน้ำมันเพิ่มเติม เพราะมองว่าปัจจุบันค่าตั๋วโดยสารของสายการบินโลว์คอสต์ไม่ได้ถูกมากอย่างที่คิด แต่ก็ถูกกว่าสายการบินปรกติ และภายในปีนี้บริษัทอยู่ระหว่างการคิดหารายได้เพิ่มเติม เพื่อมารองรับต้นทุนที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ราคาน้ำมัน เป็นต้น
"ยืนยันว่าภายในปีนี้ นกแอร์จะไม่ปรับเพิ่มค่าเซอร์ชาร์จน้ำมัน และค่าตั๋วอย่างแน่นอน พร้อมทั้งคงแผนการขยายธุรกิจตามที่กำหนดไว้ คือ การเพิ่มเครื่องบินอีก 2 ลำ จากเดิมมีแล้ว 3 ลำ และเพิ่มเส้นทางบินไปมาเก๊า สุราษฎร์ธานี และเชียงราย"
ในส่วนของผลประกอบการไตรมาสแรกที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิแล้ว แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ ต้องรอรายงานต่อที่ประชุมบอร์ดก่อน โดยตลอดทั้งปีบริษัทตั้งเป้ามีผลกำไรก่อนหักภาษีไม่น้อยกว่า 10% ซึ่งผลประกอบการที่ผ่านมาถือว่าดีเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยว ถึง 72% ในขณะนี้ จากตอนตั้งบริษัทวางเป้าหมายไว้ที่ 60% เท่านั้น สาเหตุน่าจะเป็นเพราะการบริการ ความเชื่อมั่นในองค์กร และการศึกษาเส้นทางก่อนเปิดเที่ยวบิน และดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความต้องการของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตราคาน้ำมัน ทำให้นกแอร์ต้องศึกษาตลาดอย่างใกล้ชิดก่อนเปิดเส้นทางบิน แต่ก็ยอมรับว่า ในเส้นทางกรุงเทพ-พิษณุโลก เราไม่ได้ศึกษาเท่าที่ควร และเป็นเส้นทางเดียวที่เราขาดทุน มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวที่ 53% บินวันละ 2 เที่ยว ขณะนี้กำลังพิจารณาลดเที่ยวบิน คาดไตรมาส 3 ปีนี้ น่าจะเริ่มดำเนินการ ส่วนเส้นทางใดที่มีผู้ใช้บริการมาก ก็จะพิจารณาเพิ่มเที่ยวบิน เช่น เส้นทางหาดใหญ่ และอุดรธานี ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวถึง 80%
จับมือ ตลท.ออกแคมเปญช่วยภูเก็ต
นายพาที กล่าวเสริมว่า ในสถานการณ์ที่ธุรกิจมีการแข่งขันสูง เราต้องทำทุกวิถีทางที่จะลดต้นทุน และประคองราคาตั๋วไม่ให้สูงไปมากกว่านี้ เพื่อให้ธุรกิจมั่งคงพร้อมรับมือการแข่งขันในครึ่งปีหลัง ซึ่งแอร์เอเชียจะชัดเจนเรื่องการทำราคาถูกกระตุ้นตลาด ส่วนโอเรียนท์ไทยยังมองไม่ชัดเจน สำหรับนกแอร์คงหาพันธมิตรเพิ่มรายได้มาแชร์ต้นทุน นอกจากนั้นยังอยู่ระหว่างการหารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อออกแคมเปญกระตุ้นท่องเที่ยวที่ จ.ภูเก็ต ปัจจุบันนกแอร์ลดเที่ยวบินกรุงเทพฯ-ภูเก็ต เหลือ 2 ไฟลต์ต่อวัน จากก่อนสึนามิมีบิน 3 ไฟลต์ต่อวัน มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวที่ 70% ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ
"กรณีที่ผู้โดยสารในเส้นทางพิษณุโลกออกมาโวยวายเรื่องการดีเลย์ของสายการบินนกแอร์ ล่าสุดบริษัททำความเข้าใจกับลูกค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นเข้าใจว่าลูกค้าอาจไม่เข้าใจระบบของสายการบินโลว์คอสต์"
ได้ลูกค้าแล้ว 3 ราย
นายเบญจ อรรถจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอ มาย จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทที่เข้าเป็นลูกค้าของสื่ออากาศยานแล้ว 3 ราย ได้แก่ บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ จำกัด (มหาชน) ที่โฆษณาโทรศัพท์มือถือ บัตรเครดิตเอชเอสบีซี ของ ธนาคารฮ่องกง และยาแก้ปวด ของบริษัท ยูเอส ซัมมิตร จำกัด โดยเครื่องบินที่ให้บริการโฆษณาจะเป็นจำนวน 3 ลำที่บินอยู่ขณะนี้ แต่ละลำมี 150 ที่นั่ง และมีเที่ยวบินรวม 10 เที่ยวต่อวัน ซึ่งบริษัทเชื่อว่าด้วยรูปแบบการดีไซน์ สื่อโฆษณา จะไม่ก่อความรำคาญแก่ลูกค้าผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกันเราก็จำกัดไว้แล้วว่า ในเครื่องบิน 1 ลำ จะมีสินค้าไม่เกิน 2 แบรนด์ ระยะสัญญาต่อรายตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป การคัดเลือกลูกค้า ต้องเป็นสินค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่มาใช้บริการ มีเนื้อหารูปภาพที่เหมาะกับทุกเพศวัย
อย่างไรก็ตามจุดแข็งของบริษัท โอ มาย เป็น มีเดีย เฮาส์ คือมีความชำนาญเรื่องการให้บริการด้านการสร้างแบรนด์ มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดและการโฆษณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการบิน หรือที่เรียกว่า "สื่ออากาศยาน" ซึ่งสายการบินในประเทศไทย จะเริ่มกับนกแอร์เป็นรายแรก อนาคตจะพิจารณาออกไปทำตลาดให้สายการบินอื่นๆ ในภูมิภาค
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|