|

วิชัย มาลีนนท์ คนขี่หลังเสือ
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2532)
กลับสู่หน้าหลัก
"เนื่องจากการดำเนินกิจการที่ผ่านมาต้องต่อสู้กับปัญหานานาชนิดไม่รู้จักหมดสิ้น และทำให้บริษัทยังขาดทุนอยู่ การที่ผมได้ชักชวนเพื่อนซึ่งรักใคร่นับถือกันมาเข้าชื่อซื้อหุ้นและต้องขาดทุนแบบนี้ผมไม่สบายใจมาก ผมอยากจะขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และถ้าท่านผู้ถือหุ้นเห็นว่าใครเหมาะสม ก็โปรดเสนอชื่อมาทำงานแทนด้วย ผมจะได้พักผ่อนบ้าง " วิชัย มาลีนนท์ กล่าวกับที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อ 28 เมษายน 2514
ในวันนั้นทุกคนคัดค้านไม่เห็นด้วยและทุกคนสนับสนุนให้กำลังใจวิชัย มาลีนนท์ ให้ทำงานต่อไป
คุณหญิงลลิลทิพย์ ธารวณิชกุล ถึงกับชมเชยวิชัย มาลีนนท์ ว่าทำมารายได้ขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมแล้ว เมื่อเทียบกับช่องอื่นซึ่งตั้งมานานกว่า
วิชัย มาลีนนท์ ก็เริ่มไม่สบายใจอย่างมากๆ และครั้งนี้วิชัยรู้ว่าไม่มีผู้ถือหุ้นคนไหนจะมานั่งรับฟังการลาออกของวิชัยในวันนั้นอีก
ที่เจ็บปวดกว่านั้นก็คือ วิชัยจะลาออกก็ออกไม่ได้เสียแล้ว
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับช่อง 3 ในปี 2528 มันมีความหมายกับวิชัยมากกว่าทุกๆ อย่างที่ได้เคยเจอมาในชีวิตนี้ทั้งสิ้น เมื่อธนาคารสยามยุคเกษม จาติกวณิช และวารี หะวานนท์ ยื่นฟ้องเรียกหนี้ช่อง 3 คืน 453 ล้านสามแสนสี่พันหนึ่งร้อยสี่สิบเอ็ดบาท!
คนที่สนิทกับวิชัย มาลีนนท์ รู้ดีว่า คนคนนี้ยอมตายเสียดีกว่าการเสียชื่อเสียง!!!
แต่งานนี้ถึงตายไปก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาแน่ๆ!
เพราะการแก้ปัญหาครั้งนี้ของวิชัยดูเหมือนจะมีทางเลือกที่ไม่มาก และเป็นทางเลือกที่ต้องใช้น้ำอดน้ำทน บวกกับความมานะพยายามใหม่เมื่อยุคแรกของช่อง 3
ใช่! มันดูเหมือนว่า 2528 ปีนี้จะมีความยากลำบากเหมือนสมัยที่วิชัย มาลีนนท์ เพิ่งจะเริ่มช่อง 3 ใหม่ๆ
ยุคแรกของช่อง 3
ในตอนแรกของการบุกเบิกช่อง 3 นั้นหัวเรี่ยวหัวแรงในเรื่องความคิดจริงๆ มาจากคนชื่อ มนูญสิริ ขัตติยะอารี (อ่านล้อมกรอบกำเนิดของช่อง 3)
สมัยนั้นสตูดิโอช่อง 3 ยังไม่มีแต่ใช้วิธีจ้างครูแก้ว อัจฉริยกุล เป็นหัวหน้าฝ่ายผลิต ซึ่งการผลิตก็ใช้กล้อง 16 มม. ทั่วๆ ไป คุณภาพก็ไม่มี ค่าใช้จ่ายก็สูง เงินเบิก ค่าเบี้ยเลี้ยงก็สูงมาก บางคนเงินเดือนแค่ 1,500 บาท แต่เบิกเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 2-3 หมื่นบาท
ยุคนี้เป็นยุคที่ต่ำที่สุดของช่อง 3 เพราะคลื่นส่งก็เป็นประเภท low band ความนิยมก็ไม่มีเรียกได้ว่าอยู่อันดับสุดท้ายของทีวีทั้ง 4 ช่อง
"ใน 5 ปีแรก ช่อง 3 ขาดทุนจนคุณวิชัยแทบจะหมดตัว แต่แกเป็นคนสู้และแกไม่ยอมแพ้ก็เลยมุต่อไป " แหล่งข่าวในวงการทีวียุคแรกๆ เล่าให้ "ผู้จัดการ " ฟัง
เริ่มเข้าสู่ยุค สาม "ประ "
วิชัย มาลีนนท์ มีลูกหลายคนทีเดียว แต่ที่มาช่วยงานได้เป็นเรื่องเป็นราวก็มีอยู่ 3 คนคือประสาน-ประวิทย์ และประชา มาลีนนท์
ในตอนแรกนั้นทั้งสาม "ประ " ยังคงเรียนหนังสืออยู่แถวชิคาโก สหรัฐอเมริกา
พอกลับมาทั้งสามก็ทุ่มทั้งกายและใจเข้ามาช่วยพ่อทำงานอย่างเต็มที่
"ช่อง 3 เวลานั้นให้คุณหญิงลลิลทิพย์เป็นประธาน เพราะต้องใช้เงินธนาคารเอเชียทรัสต์ (อดีตธนาคารสยาม) ซึ่งทางธารวณิชกุลก็ส่งสุสุทธิ์ วิจิตรานนท์ เข้ามา เซ็นเช็คร่วมกับกับวิชัย และต่อมาก็เปลี่ยนเป็นนิรันดร์ วิจิตรานนท์ มาเป็นแทนในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ส่วนลูกคุณวิชัยทั้งสามก็เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกันหมด " แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวต่อ
วิชัย มาลีนนท์ ก็คงจะรู้จักลูกของตัวเองดีว่า ใครเหมาะที่จะทำอะไรบ้าง?
ประสาน มาลีนนท์
เป็นพี่ชาย เป็นคนที่ดูแลเรื่องการเงินอย่างเดียว อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นคนที่ต้องคุมการเงินก็เลยขาดมนุษยสัมพันธ์กับพนักงาน และอาจจะเป็นเพราะว่าไม่ได้มายุ่งเรื่อง operation และการวางแผนเท่าไรนักก็ทำให้ไม่มีใครรู้ว่ามีความสามารถมากน้อยแค่ไหน?
ประสานมีภรรยาแล้วซึ่งภรรยาเดิมทำงานอยู่ช่อง 3 รุ่น ดร.เอมอร ชูพินิจ ต่อมาไปเป็นแอร์โฮสเตสของสายการบินแห่งหนึ่งแล้วมาแต่งงานกับประสาน ทั้งคู่พักอยู่คฤหาสน์ในหมู่บ้านทิพวัล
ประสานเป็นคนที่เชื่อประชา มาลีนนท์ มาก
ประวิทย์ มาลีนนท์
เป็นนักเรียนเก่าอัสสัมชัญ ศรีราชา เช่นเดียวกับประสาน เคยเรียนอยู่โรงเรียน นายร้อยตำรวจสามพราน แต่ลาออกไปศึกษาต่อต่างประเทศ
ประวิทย์เป็นคนสุขุมเยือกเย็นไม่โกรธใครง่ายๆ ให้เกียรติคน
ประวิทย์เป็นนักวางแผนตัวฉกาจ มองอะไรไกลและมองหลายชั้น เป็นคน ใช้คนเป็น ใจกว้าง
เป็นคนคนเดียวที่เชื่อมกับกลุ่มธารวณิชกุลได้อย่างนุ่มนวลที่สุด
แต่งงานแล้ว ภรรยาช่วยงานเป็นเลขา
ปัจจุบันยังอยู่กับวิชัย มาลีนนท์ ที่คฤหาสน์ในซอยกล้วยน้ำไท
เป็นพี่ที่น้องๆ เกรงใจ
ประชา มาลีนนท์
เป็นคนกล้าได้กล้าเสีย ตัดสินใจเร็ว รักใครรักจริง ช่วยจริง
แต่เป็นคนที่มักจะถูกสิ่งแวดล้อมครอบงำได้ง่าย โดยเนื้อแท้เป็นคนโอบอ้อมอารี ไม่มีความพยาบาท
เขาอาจจะทะเลาะกับใครอย่างแทบเป็นแทบตาย แต่พอเลิกแล้วก็หมดเพียงแค่นั้น
เป็นคนติดตามงานอย่างถึงลูกถึงคน
ในขณะที่ลูกน้องจะเกรงประวิทย์แต่ก็จะกลัวประชา
แต่งงานแล้ว เป็นคนมีหัวใจกว้างยิ่งกว่ามหาสมุทรแปซิฟิก
ชอบเดินทางไปพักผ่อนตากอากาศที่เก็นติ้งไอร์แลนด์ มาเลเซีย เป็นประจำ
เมื่อลูกทั้ง 3 กลับมาอยู่ข้างพ่อก็ถึงเวลาที่ช่อง 3 ยุคที่สองก็ต้องเดินต่อไป
เพียงแต่ว่าการเดินครั้งนี้เป็นการเดินเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ในวงการบันเทิงแท้ๆ
โดยลักษณะงานแล้วประวิทย์จะเป็นคนวางแผนแล้วประชาจะเป็นคนลุยงานตามแผน
ซึ่งเป็นคู่ที่สมพงษ์กันมากถ้าดูกันในลักษณะการทำงานแล้ว
ในยุคแรกนั้น ช่อง 3 ยังมีการขายเวลาทีวีให้คนอื่นเอาไปจัด แต่โดนเบี้ยวเรื่องเงินทองมากก็เลยเลิก ประจวบเหมาะกับลูกๆ วิชัยกลับมาช่วยงานก็เลยเอาเวลาเหล่านั้นมาทำเอง
ยุทธศาสตร์ของช่อง 3 ก็เริ่มด้วยการซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาฉาย และช่อง 3 ก็ได้เป็นผู้สร้างทีมนักพากย์ที่เลื่องชื่อลือนามขึ้นมา เช่น อุดม สุนทรจามร ที่พากย์ "เปาบุ้นจิ้น " และอีกทีมหนึ่งที่โด่งดังมากแต่ปัจจุบันออกไปหากินอิสระและพากย์เรื่อง โอชิน ที่ช่อง 5
ในช่วงนั้นทั้งประวิทย์และประชาต้องทำงานตัวเป็นเกลียว เดินทางไปต่างประเทศตลอดเวลาเพื่อซื้อหนัง เลี้ยงรับรองเอเย่นต์หนังต่างประเทศ
ว่ากันว่า เงินค่าเลี้ยงรับรองอย่างเดียวปีๆ หนึ่งจะเป็นตัวเลขเจ็ดหลักขึ้นไป
"พวกนี้เวลาเลี้ยงรับรองก็เลี้ยงจริง เขาสามารถผูกใจเอเย่นต์หนังได้จนสามารถพูดได้ว่า ในยุคนั้นเขากุมตลาดหนังต่างประเทศอยู่คนเดียว " แหล่งข่าวในวงการอีกคนหนึ่งพูดเสริมขึ้นมา
ในขณะที่ช่อง 7 ช่อง 5 ยังมัววุ่นวายอยู่กับการสร้างหนังเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ และละครน้ำเน่าตลอดจนบันเทิงแบบชุดราตรียาวออกมาครวญเพลงให้คนต่างจังหวัดฟัง
ช่อง 3 ก็กำลังคืบคลานเข้าจับตลาดชั้นกลางในกรุงเทพฯ และรอบนอกตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง โดยที่ไม่มีใครสนใจ
จนกระทั่งนักดูทีวีเมืองไทยได้มีโอกาสดู "เปาบุ้นจิ้น " ที่บริษัทสหพัฒนพิบูลเป็นผู้นำเข้ามา
จากวันนั้นเป็นต้นมา พฤติกรรมการดูทีวีของคนไทยก็เริ่มเปลี่ยนแปลงโดยการชักนำของช่อง 3 และบริษัทสหพัฒนพิบูลในครั้งนั้น
ความนิยมที่คนดูมีต่อ "เปาบุ้นจิ้น " ทำให้ช่อง 3 เริ่มหันมามองตลาดภาพยนตร์ จีนอย่างจริงจังขึ้น
"ตอนนั้นช่องอื่นๆ เล่นกันแต่หนังไทยและละครน้ำเน่า โดยไม่ลืมหูลืมตาดูอะไรเลย "
แล้วยุทธศาสตร์การบุกตลาดภาพยนตร์จีนมาออกทีวีเมืองไทยก็เริ่มต้น!
ประชา มาลีนนท์ บินไปติดต่อและเซ็นสัญญาเป็นตัวแทนของ TVB ในฮ่องกง
"ตอนนั้นแข่งกันอยู่ 2 เจ้า คือ TVB และ RTV แต่คุณภาพ TVB ดีกว่ามาก ตลอดจนเนื้อเรื่องและผู้แสดง "
ก็คงจะเป็นเช่นนั้น!
เพราะจาก "กระบี่ไร้เทียมทาน " ที่พอ ฉี เส้า เฉียน เลิกเล่นบทฮุ้นปวยเอี๊ยงก็ต้องตายทำเอาคนดูถึงกับเขียนจดหมายมาด่าสถานี จนถึง "เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ " ที่เนื้อเพลงถูกร้องกันตั้งแต่รัฐมนตรี ดอกเตอร์ ไปจนถึงหมอนวด หรือ "คมเฉือนคม " และอีกมาก
อาจจะเป็นเพราะว่า มันเริ่มเป็นยุคของช่อง 3 ไปเสียแล้ว แม้แต่การจัด variety show ก็ได้รับการกล่าวขวัญมาก ไปจนกระทั่งการจัดประกวดนักร้องของช่อง 3 ซึ่งส่งเพียง 2 คนก็ได้รางวัลนักร้องยอดเยี่ยมของเอเชียมาทั้งสองคนคือ นันทิดา แก้วบัวสาย กับมณีนุช เสมรสุต
เมื่อสักเกือบ 10 ปีที่แล้ว ประชา มาลีนนท์ ได้ทำสิ่งหนึ่งซึ่งต้องยอมรับกันว่าเป็นการปฏิวัติละครเมืองไทยขึ้นมาใหม่และเรื่องนี้ประชา มาลีนนท์ กับช่อง 3 ก็ควรจะได้รับเครดิตอย่างเต็มที่
ประชา มาลีนนท์ ได้ให้โอกาส ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์ ได้ทดลองจัดทำละครไม่บอกบทเป็นครั้งแรก
"ไฟพ่าย "/ "ตุ๊กตาเสียกระบาล "/ "จิตไม่ว่าง "/ "ขบวนการคนใช้ " ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นลมแรงที่ช่วยโหมไฟแห่งชัยชนะของช่อง 3 ให้ลุกโชติช่วงกว่าเก่า
บวกกับ "เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ "/ "กระบี่ไร้เทียมทาน "/ "มังกรหยก "/ "คมเฉือนคม " ฯลฯ ปุ่มช่อง 3 บนแผงหน้าทีวีเป็นปุ่มที่ทุกคนกดกันประจำ
ไม่ต้องสงสัย ช่อง 3 กระโดดจากอันดับสุดท้ายมาเป็นอันดับแรกอย่างเต็มภาคภูมิ!
พิเศษไปกว่านั้น ช่อง 3 ยังเป็นผู้ริเริ่มเอาข่าวดาวเทียมเข้ามาเป็นคนแรกจากความคิดของประวิทย์ มาลีนนท์ จนในที่สุดทุกช่อง ต้องตามช่อง 3 กันเป็นแถว
พอจะเรียกได้ว่า ยุคนั้นเป็นยุคที่ทุกคนมีความสุขที่ช่อง 3
ว่ากันว่า ตั้งแต่ตกเย็นพอเริ่มมีละครไม่พากย์ ตามด้วยข่าวดาวเทียม และต่อด้วยภาพยนตร์จีน ในช่วง 3-4 ชั่วโมงนั้น ช่อง 3 เห็นเงินเข้าแถวเดินเข้ามาหาจนต้องเมื่อยเอว เพราะก้มลงนับเงิน
"ในช่วง 3 ชั่วโมงนั้นช่อง 3 รับโฆษณาประมาณ 40 นาที ได้รายได้เฉพาะช่วงนี้อยู่ในระหว่าง 2 ล้านบาท " ผู้อำนวยการแผนกสื่อโฆษณาของบริษัทระดับใหญ่คนหนึ่งพูดให้ฟัง
ช่อง 3 ใช้วิธีการเอารายการสดจูงรายการแห้ง
และก็ได้ผล
ความเป็นผู้นำของช่อง 3 ถึงแม้จะเป็นช่วงที่ความถี่การส่งต่ำที่สุด แต่ก็ทำให้ช่อง 7 ต้องกระทบกระเทือนอย่างมากๆ ทั้งๆ ที่อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ก็สู้ไม่ได้ขณะที่ ช่อง 3 เพิ่งจะเปลี่ยนเครื่องมือ
จนกระทั่งเมื่อช่อง 7 ขยายขอบข่ายการส่งของดาวเทียมทำให้ตลาดโฆษณาถูกช่อง 7 ดึงเอาไปได้มากพอสมควร
แต่ช่อง 3 ก็สู้กลับด้วยการไปซื้อเวลาของโทรทัศน์ท้องถิ่นในเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งก็ได้ผลดีพอสมควรเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ลงทุนไป
โรงเรียนการแสดงก็เป็นความคิดของช่อง 3 ที่บุกเบิกขึ้นมาอย่างน่าปรบมือให้ดีที่สุด
และผลผลิตของโรงเรียนนี้ก็มีดีๆ เด่นๆ เช่น กษมา นิสสัยพันธ์ หรือไอ้ฟัก ในคำพิพากษา หรือดิลก ทองวัฒนา ฯลฯ
ยุคที่ช่อง 3 เฟื่องที่สุดและรุ่งเรืองที่สุดก็คงจะเป็นยุคตั้งแต่สามพี่น้อง "ประ " มาลีนนท์ กลับจากชิคาโกมาช่วยงานพ่อ
จนกระทั่งปี 2526 ที่กลุ่มมาลีนนท์เริ่มคิดจะจับธุรกิจที่ใช้ช่อง 3 เป็นฐาน
และธุรกิจแรกคือ การจัดคอนเสิร์ต!
"ความจริงความคิดในการจัดคอนเสิร์ตนั้นมันเริ่มทำกันตรงที่ว่า จะจัดดาราจีนมาหนุนรายการช่อง 3 และคอนเสิร์ต โจว เหวิน ฟะ ของเขาก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้ทุกคนมองไปที่คอนเสิร์ตฝรั่งเป็นรายการต่อไป " แหล่งข่าวในวงการคอนเสิร์ตพูดให้ฟัง
ในช่วงแรกของการจัดคอนเสิร์ตนั้นทั้งประวิทย์และประสาน มาลีนนท์ กระโดดเข้ามาร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มที่
แต่พอแนวทางการจัดเริ่มเปลี่ยนไปทางฝรั่งและขาดทุนมากขึ้น ประวิทย์ก็ถอนตัวทิ้งให้ประชาสู้ต่อไป
"มันเริ่มจากสิ่งแวดล้อม ประชา มาลีนนท์ เขาไปอ้างกับประชาชนว่า ทาง Nite Spot เขาดูถูกว่า ประชาทำไม่ได้ ประชาก็ต้องทำให้ดูถึงขาดทุนก็ต้องทำ ทั้งๆ ที่ทาง Nite Spot เขายืนยันว่า เขาไม่ได้พูดเช่นนั้น " คนในวงการคอนเสิร์ตคนเก่าพูดต่อให้ฟัง
ประชา มาลีนนท์ หลังจากประสบความสำเร็จมากในช่อง 3 ก็เริ่มหันมามองธุรกิจบันเทิงที่เป็นของตัวเองมากขึ้น
การจัดละครก็จะใช้วิธีให้ช่อง 3 จ้างบริษัทของประชาเป็นผู้จัด แล้วประชาก็อาจจะจ้างคนอย่างเช่น มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช หรือ ทาริกา ธิดาทิตย์ หรือ มาเรีย เกตุเลขา เป็นผู้จัดต่อ
นอกจากการจัดคอนเสิร์ตแล้ว ประชายังหันเข้าสู่วงการภาพยนตร์จากการเข้าร่วมกับเกียรติ เอี่ยมพึ่งพร แห่งไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ทำภาพยนตร์เรื่องแรกชื่อบ้านทรายทอง และทำเงินให้มากทำให้อนาคตของการร่วมทุนดูสดใสเอามากๆ
จนกระทั่งเกียรติ เอี่ยมพึ่งพร ถูกยิงตาย
โครงการก็เลยมีการเปลี่ยนแปลงไป
และที่เปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งคือ ประชา มาลีนนท์ ไปไหนมาไหนหลังจากเกียรติตายก็เลยต้องมีมือปืนติดตามตลอดเวลา
"คุณประชาแกเปลี่ยนไปมาก จากการที่เขาเคยไปไหนมาไหนสบายๆ เดี๋ยวนี้กลายเป็นต้องมาในมาดอีกแบบหนึ่ง และแกก็ห่างเหินคนช่อง 3 ไปมากๆ ทั้งๆ ที่คนช่อง 3 ก็ยังรักเขาอยู่ " พนักงานช่อง 3 คนหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ " ฟัง
อาณาจักรธุรกิจส่วนตัวของประชา มาลีนนท์ ขยายไปเรื่อยๆ จากการจัดคอนเสิร์ต มาเป็นการทำภาพยนตร์ มาทำร้านอาหารชื่อคุ้มหลวง ทำวิดีโอให้เช่าโดยใช้ชื่อ วีดีโอ 3 แม้กระทั่งทำหนังสือพิมพ์ชื่อ พิมพ์ข่าว
"ผมเสียดายคุณประชาแกน่าจะเทตัวเองให้กับช่อง 3 อย่างเต็มที่ อย่าไปสนใจงานนอกแบบนั้น เพราะคุณประวิทย์วางแผนแล้วคุณประชาทำนี่มันเป็นสูตรที่เพอร์เฟคมาก " คนที่รู้จักสอง "ประ " นี้วิจารณ์ให้ฟัง
ราวปี 2526-27 ช่อง 3 เองก็ได้สูญเสียสิทธิ์ในหนังจีนของ TVB ไปให้กับช่อง 7 และทั้งช่อง 5 และช่อง 7 ได้ขยายขอบงานและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา ในขณะที่ช่อง 3 หยุดอยู่กับที่และพึ่งพาของเก่ากันไปทุกวัน
"ทุกวันนี้ช่อง 3 อยู่รองบ๊วย ช่อง 5 เองเขาปรับตัวได้เร็วมาก หนังเรื่อง โอชิน และรายการต่างๆ เช่น มาตามนัด นี่ทำให้ช่อง 5 แซงช่อง 3 ขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด " คนที่ติดตามเรื่องทางทีวีวิพากษ์วิจารณ์ออกมา
อาจจะเป็นได้เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ประชา มาลีนนท์ ทำงานช่อง 3 น้อยมาก
ความจริงแล้วระบบการบริหารของช่อง 3 เขาวางไว้ดีพอสมควร พนักงานช่อง 3 เป็นพนักงานที่มีระเบียบและวินัยมาก
"อันนี้ต้องให้เครดิตประวิทย์และประชา ที่นี่ทำงานโดยไม่มีการตอกบัตรลงเวลา แต่ทุกคนทำไปตามความรับผิดชอบที่ได้รับมา " พนักงานช่อง 3 คนหนึ่งแอบแย้มให้ฟัง
ช่อง 3 จ่ายโบนัสกันปีละประมาณ 4 เดือน
"แต่ที่พนักงานน้อยใจก็ตรงที่ว่า บรรดาพวกดาราทั้งหลายที่มาจัดละครให้ช่อง 3 นั้น พากันร่ำรวยทุกคน ทั้งๆ ที่ 70% ของงานนั้นมาจากพนักงานช่อง 3 ทั้งนั้น โดยเฉพาะการทำฉาก การกำกับกล้อง การตรวจแก้บท ฯลฯ แต่พวกเรามันก็อยู่เหมือนเดิม จะกี่ปีๆ ก็แบบนี้ " พนักงานช่อง 3 คนเก่าบ่นอย่างเอือมระอา
ในเมื่อช่อง 3 เกิดมาจากฐานการเงินของธนาคารเอเชียทรัสต์ ก็พอจะพูดได้ว่า สุขภาพของช่อง 3 ก็ย่อมขึ้นอยู่กับสุขภาพของเอเชียทรัสต์จริงๆ!
เมื่อก่อนเมื่อมีใครพูดถึงช่อง 3 คนทุกคนที่ฟังอยู่หรือร่วมวงสนทนาก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงธนาคารเอเชียทรัสต์ และในใจของทุกคนมันย่อมหมายถึงความมั่นคงปานหินผาทีเดียว
ในสมัยก่อนไม่มีใครจะนึกว่า จอห์นนี่ มา จะมีวันนี้หรือธนาคารเอเชียทรัสต์จะมีอันเป็นไป
การเงินของช่อง 3 ผูกเอาไว้กับธนาคารเอเชียทรัสต์ ตั้งแต่วันแรกที่เปิดบัญชี คือ วันที่ 10 มกราคม 2512 ด้วยเงินเปิดบัญชี 200,000 บาท และได้วงเงินเบิกเกินบัญชีครั้งแรก 5 ล้านบาท ซึ่ง 15 ปีให้หลังวงเงินนี้ขยายตัวมาจนเป็น 163,226,174.44 บาท ในที่สุด โดยมีหลักทรัพย์คือคนชื่อ วิชัย มาลีนนท์ เป็นผู้ค้ำประกันแต่ผู้เดียว
ในยุคที่รุ่งเรืองและก็เฟื่องฟูเป็นยุคที่บัญชีช่อง 3 จะเป็นอย่างไรมันไม่สำคัญ เพราะธารวณิชกุล และวิจิตรานนท์ ก็มีเกือบ 50% ในช่อง 3 อยู่แล้ว
และก็ไม่มีใครจะสงสัยด้วยว่า กลางปี 2527 จะเป็นจุดจบของเอเชียทรัสต์
ธุรกิจของช่อง 3 เรียกได้ว่า ขาดทุนใน 6-7 ปีแรกเท่านั้น แต่ตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมาอีก 10 ปี เป็นช่วงระยะเวลาของการทำกำไรทั้งสิ้น
ประมาณการกันว่า เฉลี่ยกำไรตั้งแต่ปี 2516-2527 น่าจะได้ออกมาปีละอย่างต่ำ 59 ล้านบาทขึ้นไป
ธุรกิจที่กำไรสูงเช่นนี้โดยใช้ทุนต่ำเพียง 12 ล้านบาท และเป็นธุรกิจที่เงินจะหมุน เข้าออกโดยมี receivable aging ประมาณไม่เกิน 60 วัน ถึง 90 วัน การใช้เพียงแค่ เบิกเงินเกินบัญชีจึงเป็นสิ่งที่ควรทำที่สุด
การลงทุนของช่อง 3 ก็ไม่ได้มีการลงทุนอะไรที่ต้องใช้เงินมากมายนอกจากการต่อสัญญาช่วงปี 2518-19 ที่ต้องเสียเบี้ยบ้ายรายทางไปก้อนหนึ่ง ส่วนการซื้ออุปกรณ์ใหม่ทั้งชุดนั้นก็เพิ่งจะกระทำกัน
สรุปแล้ว ช่อง 3 เป็นธุรกิจที่มีสุขภาพดีเอามากๆ
หนี้วงเงินเบิกเกินบัญชีเพียง 160 กว่าล้านจึงเป็นเป็นเรื่องเล็ก
ช่อง 3 จ่ายปันผลกันอย่างเต็มที่โดยไม่สนใจที่จะตั้งกำไรสะสมเอาไว้เป็นทุนสำรองยามยาก แต่ในเมื่อธุรกิจมีลักษณะของ high return ทุกคนก็เลยหวังพึ่งรายได้ในอนาคตเป็นเงินทุนการขยายงาน
แต่ทุกคนในช่อง 3 ลืมนึกไปว่าช่อง 3 กับเอเชียทรัสต์ เป็นคู่แฝดกันที่เมื่อเอเชียทรัสต์ไม่สบาย ช่อง 3 ก็ต้องไม่สบายด้วย
และเผอิญเอเชียทรัสต์ไม่ได้เป็นไข้หวัดธรรมดา แต่ดันเป็นมะเร็งที่ต้องผ่าตัดกันอย่างมโหฬารเสียด้วย!!!
ภาวการณ์ของเอเชียทรัสต์เริ่มเข้าสู่วิกฤติการณ์เมื่อต้นปี 2527 แล้ววิกฤติการณ์ก็เลวร้ายลงทุกเดือน
ช่อง 3 จะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตามก็ต้องเข้าร่วมขบวนการกู้เอเชียทรัสต์อย่างเต็มที่
วิชัย มาลีนนท์ เองถึงในส่วนลึกไม่อยากจะทำเช่นนั้น แต่จอห์นนี่ มา เป็นหุ้นส่วนกับตัวในช่อง 3 มาเกือบ 20 ปี และก็ยังได้ร่วมกันทำธุรกิจอีกมากมายหลายประการ ก็คงไม่มีทางทางเลือกนัก
"อีกอย่างหนึ่ง คุณอย่าลืมว่า ทุกคนในสังคมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จอห์นนี่ มา มีเงินอยู่ ต่างประเทศเยอะ เพียงแต่เขาเอาเงินเข้ามามันก็จบกัน ทุกคนเชื่อว่าปัญหานี้แก้กันได้ง่ายและธนาคารจะขลุกขลักเพียงชั่วคราวเท่านั้น " เจ้าหน้าที่ธนาคาร สยามระดับบริหาร ลำดับเหตุการณ์ให้ฟัง
ขบวนการกู้เอเชียทรัสต์ในสายของช่อง 3 ก็เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2527 เป็นต้นไป
ตั้งแต่วันที่ 9 เดือนพฤษภาคม 2527 จนถึงวันที่ 4 เดือนกันยายน 2527 ช่อง 3 ได้ออกตั๋วอาวัลโดยธนาคารเอเชียทรัสต์แล้วไปขึ้นเงินกับสถาบันการเงินต่างๆ รวมทั้งสิ้น 16 ครั้ง เป็นเงินทั้งหมด 253 ล้านบาท
ตั๋วที่อาวัลทั้งหมดเป็นตั๋วระยะสั้นตั้งแต่ 30 วันขึ้นไปจนถึง 210 วันสูงสุด (ดูรายละเอียดในล้อมกรอบ)
นอกจากนี้ช่อง 3 ยังได้ให้ธนาคารทำทรัสต์รีซีท เพื่อซื้ออุปกรณ์คุมแสงในห้องส่งอีกเป็นเงินสองล้านกว่าบาท
เงินทั้งจำนวนนี้มีข้อสังเกตว่า เป็นตั๋วที่ทำขึ้นมาเพื่ออาวัลในช่วงระหว่างเดือน พฤษภาคมถึงสิงหาคม 2527 เสียส่วนใหญ่
ซึ่งระยะเวลานั้นเป็นช่วงเวลาของวิกฤติการณ์ทางการเงินของธนาคารเอเชียทรัสต์อย่างที่สุด และย่อมหมายถึงวิกฤติการณ์ของบริษัทในเครือของกลุ่มธารวณิชกุล และวิจิตรานนท์ ด้วย
ถ้าจะวิเคราะห์กันด้วยความเป็นธรรมแล้วจะเห็นได้ว่า ช่อง 3 เองคงจะใช้เงินเพียงแค่เงินเบิกเกินบัญชี 163 ล้านบาท กับตั๋วที่อาวัลตั้งแต่เดือนกันยายนปี 26 จำนวน 12 ล้านบาท กับทรัสต์รีซีท 3 ล้านบาทเท่านั้นเอง
ซึ่งยอดทั้งหมดก็ประมาณ 177 ล้านบาท
นอกจากนั้นแล้วน่าจะเป็นเงินที่ถูกหมุนออกไปโดยใช้ช่อง 3 เป็นตัวแทน
ส่วนจะหมุนไปให้ใครโดยมีข้อตกลงกันว่าอย่างไรนั้น วิชัย มาลีนนท์ และวัลลภ ธารวณิชกุล คงจะรู้ดีที่สุด!
ที่แน่ๆ คือ ขณะที่วิชัย มาลีนนท์ กำลังนั่งเวียนหัวอยู่กับตัวเลขและหมายศาล ในเวลาเดียวกันห่างไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ อีก 4,000 กว่ากิโล จอห์นนี่ มา ใส่เสื้อนอกอกกลัดดอกไม้เป็นประธานตัดริบบิ้นเปิดโรงงานปูนซีเมนต์ของตระกูลเฉิน อยู่บนเกาะที่เรียกว่า ไต้หวัน ที่พักพิงอีกแห่งหนึ่งซึ่ง เอกยุทธ อัญชันบุตร กำลัง ใช้อยู่
สำหรับธนาคารสยามแล้วบรรดาลูกหนี้ทั้งหลายรวมทั้งสิ้น 3 พันกว่าล้านบาทนั้นจะมีก็เพียงช่อง 3 กับโรงงานน้ำตาลราชบุรีเท่านั้นที่อาจจะมีอนาคตเรียกคืนได้
สิ่งแรกที่ธนาคารสยามทำก็คือ ให้กำลังใจช่อง 3 บอกว่า ไม่เป็นไร เอาหลักทรัพย์เอามาค้ำให้พอก็แล้วกันแล้วก็ค้าขายต่อไป
วิชัยและลูกก็คงคิดว่า สถานการณ์คงดีขึ้น เลยขนที่ร้อยกว่าไร่ที่ตำบลหนองปรือบางละมุง ซึ่งเก็บไว้ทำฮวงซุ้ยมาวางเอาไว้ ที่ทั้งหมดอยู่ในชื่อของประสาน ประวิทย์ และประชา มาลีนนท์
แต่ช่อง 3 กลับไม่ได้บอกธนาคารสยามว่าจะคืนเงิน 453 ล้านให้อย่างไร?
สำหรับธนาคารสยามแล้ว วิชัยจะเอาเงินไปไม่ถึง 453 ล้านมันจะจริงหรือไม่กลับไม่ใช่เรื่องที่จะต้องให้ความเห็นใจ
เพราะ 453 ล้าน เป็นเงินของประชาชน เมื่อช่อง 3 เอาไปก็ต้องตามเอามาคืน
"เดิมทีเขาไม่ยอมเจรจา เขาอ้างว่า จอห์นนี่ มา เอาไปและหนี้ 453 ล้านมากเกินไป เราโนติ๊สไปก็เฉย เราเลยต้องฟ้อง พอเรื่องถึงศาลถึงมีการติดต่อมาเจรจา ความ จริงทุกอย่างคุยกันได้ เราต้องการรู้ว่าเขาตั้งใจจะจ่ายอย่างไรใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่ง ระยะเวลาการจ่ายต้องไม่เกินระยะเวลาสัญญาที่ช่อง 3 ยังมีอยู่กับรัฐบาล " ผู้บริหารระดับสูงในธนาคารสยามพูดอย่างเหนื่อยอกเหนื่อยใจกับ "ผู้จัดการ "
ว่ากันว่า ชีวิตคนเรามีขึ้นและก็ต้องมีลง ไม่มีใครอยู่เย้ยฟ้าท้าดินได้จนเป็นอมตะ! ปัญหาบางอย่างเมื่อเกิดขึ้นก็ต้องเดินเข้าหา บางคนคิดว่า มีชีวิตอยู่ในสภาวะแบบนี้กลับมิสู้ตายไปเสียจะดีกว่า
แต่วิชัย มาลีนนท์ คงจะรู้ว่า ถึงอยากจะตายก็ตายไม่ได้ และการอยู่ก็ขมขื่นและทรมานอย่างแสนสาหัส
วิชัย, ประสาน, ประวิทย์ และประชา มาลีนนท์ มีทางเลือกอยู่ไม่มากนัก
ทางออกแรก
ประวิงเวลาการต่อสู้คดีความและยอมล้มละลาย โดยหวังว่าคดีอาจจะยืดเยื้อถึง 2-3 ปี และก็ทำธุรกิจไป ด้วยกำไรช่อง 3 มีเท่าไรก็ยักย้ายถ่ายเทออกไป
การเสียสละ วิชัย มาลีนนท์ คงต้องยอมเป็นคนล้มละลายและที่ซึ่งเอาจำนองไว้ก็ต้องถูกบังคับจำนอง
ผลเสีย เสียชื่อเสียงและที่เจ็บปวดคือ ที่สำหรับเก็บไว้ทำฮวงซุ้ยก็สูญไป
อีกประการหนึ่ง ธนาคารสยามมีสิทธิขออำนาจศาลบังคับให้ช่อง 3 เอารายได้ที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดฝากไว้ที่ศาล
ทางออกทางที่สอง
ต่อรองขอลดดอกเบี้ยและเจรจาขายสัญญาส่วนที่เหลือออกไปให้กลุ่มอื่นที่สนใจ จะรับช่วง
การเสียสละ สูญเสียสิ่งที่เพียรสร้างขึ้นมาเกือบ 20 ปี
ผลเสีย ผู้ที่จะเข้ามารับช่วงจะไม่กล้าเข้าเพราะระยะเวลาเพียง 5 ปี อาจจะสั้นเกินไปที่จะเข้ามา เพราะถ้ารายใหม่เข้ามาก็จะเกิดความไม่แน่นอนในจิตใจของลูกค้าที่จะจองโฆษณาอาจจะทำให้รายได้ตกลงไปมาก
อีกประการหนึ่ง เมื่อสัญญาหมดแล้วก็ไม่แน่ว่า ผู้ที่เข้ามารับช่วงจะได้ต่อสัญญาหรือไม่? ทางออกทางที่สาม
ต่อรองขอลดดอกเบี้ย แล้วเจรจากับช่อง 9 (อ.ส.ม.ท.) ขอต่อสัญญาทันทีไปอีก 10 ปี แล้วกลับมาขอยืดเวลาผ่อนหนี้จาก 5 ปี เป็น 10 ปี เพื่อให้ภาระไม่ต้องหนัก
การเสียสละ ต้องเริ่มต้นกันใหม่ ทุกคนต้องมุมานะและพยายามเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงของตระกูล
ผลเสีย การขยายงานอะไรคงจะต้องยุติ รวมทั้งอิสระเสรีภาพการใช้จ่ายจะต้องถูกจำกัดลงหมด
ผลดี เป็นการแสดงความรับผิดชอบอย่างสูงออกมา และจะได้รับความเชื่อถืออย่างสูงในวงการ เมื่อสามารถแก้ไขวิกฤติการณ์ได้หมดสิ้นเพราะคนที่เก่งจริงในชีวิตไม่ใช่คนที่ไม่เคยล้ม แต่เป็นคนที่เคยล้ม แล้วลุกขึ้นมาได้ใหม่
ทางออกทางที่สามน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ทุกวันนี้ช่อง 3 คือป้อม Alamo ของตระกูลมาลีนนท์
ทุกคนทำงานได้และทำงานเป็น!
ทั้งประวิทย์และประชานั้นเคยพิสูจน์มาแล้วว่า ทำได้และทำได้ดีด้วย
ทุกวันนี้ช่อง 3 เปรียบเสมือนป้อมค่ายที่กำลังถูกข้าศึกรุก ทุกคนสมควรที่จะเข้ามาช่วยกันซ่อมรั้วซ่อมค่ายป้องกัน แทนที่จะแยกตัวเองออกไปตั้งป้อมตั้งค่ายของตัวเอง
อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นเรื่องชื่อเสียงและหน้าตาของบิดาผู้ให้กำเนิด และสร้าง ทั้งสาม "ประ " ขึ้นมา
ประชา มาลีนนท์ ควรจะหันกลับเข้ามาช่อง 3 และจับมือกับประวิทย์สร้างกันขึ้นมา
ธุรกิจภายนอกควรจะสละไปเสีย เพราะในที่สุดแล้วไม่มีธุรกิจใดที่จะดีและหนุน มาลีนนท์ด้วยกันได้เท่าช่อง 3
ธุรกิจด้านอื่นอาจจะเป็นธุรกิจเสริมสร้างบารมีของตนเอง ถึงแม้ว่าจะขาดทุน แต่เพื่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวก็จะทำพวกนี้เป็นม่านบังตาที่ทำให้มองไม่เห็นเป้าหมายที่แท้จริง
ธนาคารสยามก็คงจะสบายใจถ้าวิชัย ประสาน ประวิทย์ และประชา มาลีนนท์ พร้อมกันเดินเข้ามาแล้วบอกว่า จะทำงานใช้หนี้ให้
สิ่งที่ช่อง 3 กำลังต้องการที่สุดขณะนี้คือความสามัคคี
ช่อง 3 เป็นธุรกิจครอบครัวที่แท้จริง ถ้าขาดความสามัคคีภายในกันแล้ว ช่อง 3 ก็คงจะต้องบ้านแตกกันในที่สุด
ผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ในชีวิตมักจะพูดให้ข้อเตือนใจอยู่เสมอว่า "คนเราสร้างอะไรขึ้นมามักสร้างได้ไม่ยาก แต่จะรักษามันให้อยู่รอดตลอดไปมักจะยากกว่า "
คำพังเพยนี้พูดกันมานานและมีตัวอย่างให้เห็นชัดมาแล้ว แต่ก็อย่างที่ว่าแหละ ไม่ค่อยจะมีใครจำกันหรอก หมายเหตุ : จากเรื่อง "ล้มละลาย? ช่อง 3 ไปได้ถ้าหาก...อนาคตธนาคารสยาม... " ในนิตยสาร ผู้จัดการ ฉบับที่ 20 เมษายน 2528
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|