"ไทยสเตนเลสฯ" ปั้นช่องทางขาย พัฒนาซาปั๊วควบขยายซีกัลสโตร์


ผู้จัดการรายวัน(6 มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ไทยสเตนเลสสตีลเปิดเกมรุกเครื่องครัวสเตนเลส ปั้นช่องทางจำหน่ายให้นกนางนวล วางเป้าผุดซีกัลสโตร์เพิ่มเป็น 10 แห่ง พร้อมพัฒนาร้านซาปั๊ว สู่โฉมใหม่ เล็งขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น คาดปีนี้รายได้โต 5%

นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสเตนเลสสตีล จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องครัวสเตนเลสตรานกนางนวล เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯ จะเน้นหนักการขยายช่องทางจำหน่ายมากขึ้น ทั้งการพัฒนาช่องทางขายเองในชื่อว่า ซีกัลสโตร์ และการร่วมมือกับพันธมิตรร้านค้าต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต ดิสเคานต์สโตร์ต่างๆ

โดยในส่วนของร้านซีกัลสโตร์ หรือ SEAGULL STORE นั้น หลังจากที่เริ่มทดลองลงทุนเมื่อปีที่แล้วซึ่งเป็นการลงทุนของบริษัทเองไม่ได้ขายแฟรนไชส์ ขณะนี้มีเปิดบริการแล้วรวม 5 สาขาคือที่ ซอยทองหล่อ และต่างจังหวัดอีก 4 แห่งคือที่ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ ล่าสุดเปิดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่หาดใหญ่ และมีแผนที่จะเปิดเพิ่มอีก เช่นในต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯกระจายไปตามย่านชุมชนต่างๆ ลงทุนประมาณ 3 ล้านบาทต่อสาขา พื้นที่ประมาณ 100 กว่าตารางเมตร ตั้งเป้าเปิดให้ครบ 10 แห่งในสิ้นปีนี้

ขณะเดียวกันเตรียมที่จะเปิดร้านซีกัลสโตร์อีก 3 สาขา ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินด้วยซึ่งได้เซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ไปแล้วมีพื้นที่สาขาละประมาณ 30 กว่าตารางเมตร โดยจะเป็นร้านที่จำหน่ายสินค้าที่ชิ้นไม่ใหญ่มากนัก เนื่องจากผู้บริโภคจะต้องอาศัยความรวดเร็วและความสะดวกในการเดินทางรถไฟฟ้าใต้ดิน และการขยายสาขาในรูปแบบนี้ทำให้สามารถขยายกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ตามชานเมืองได้ เพราะในอนาคตเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินจะขยายออกไปตามย่านชานเมืองมากขึ้น

เขากล่าวต่อว่า ส่วนรูปแบบของการร่วมมือกับพันธมิตรนั้นจะเน้นหนักไปที่ร้านค้าที่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งจะเริ่มต้นปีนี้อย่างชัดเจนเป็นรูปแบบมากขึ้นหลังจากที่เริ่มทดลองมาเมื่อปีที่แล้ว โดยหลักการนั้นบริษัทฯ จะเป็นผู้เข้าไปลงทุนในการตกแต่งและจัดการให้กับร้านค้าประเภทซาปั๊วต่างๆ ที่เป็นร้านขนาดเล็ก ที่ต้องการปรับปรุงแต่ไม่มีเงินทุนให้เป็นคอนเซ็ปต์ของซีกัลชอป ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องขาย สินค้าของบริษัทเพียงยี่ห้อเดียวแต่อาจจะเป็นร้านขายของทั่วไปก็ได้

เป้าหมายปีนี้คาดว่าจะสามารถตกแต่งร้านซาปั๊วให้เป็นแบบซีกัลชอปได้ประมาณ 40 แห่ง จากปัจจุบันที่มีการทำไปแล้วประมาณ 10 แห่งกระจายอยู่ในต่างจังหวัด

สำหรับเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดปีนี้นอกจากทางด้านขยายสาขาแล้ว ยังมีลงทุนทางด้านไอทีและการจัดการต่างๆ คาดว่ารวมประมาณ 30-40 ล้านบาท โดยคาดหวังยอดรายได้เติบโตขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 5% จากรายได้รวมทั้งหมด 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับตลาดรวมที่คาดว่าจะโต 5% สาเหตุที่ตลาดรวมโตไม่มากเนื่องจากว่าถูกสินค้าราคาต่ำจากจีนและอินเดียเข้ามาตีตลาด

เขากล่าวด้วยว่า ช่องทางอื่นก็ยังมี เช่น ขายตรง โดยบริษัทฯ ร่วมมือกับแอมเวย์เป็นผู้ขายให้ และยังมีบริษัทขายตรงที่ว่าจ้างบริษัทผลิตแบบโออีเอ็ม และยังมีช่องทางขายผ่านเว็บไซต์ด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับตลาดในประเทศด้วย เนื่องจากกำลังผลิตปัจจุบันนี้ที่โรงงานปราจีนบุรียังเหลืออยู่อีก 50% เพราะยังเดินเครื่องไม่เต็มกำลังผลิต โดยรายได้จากต่างประเทศขณะนี้มีประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้รวม หลังจากที่เริ่มส่งออกมาประมาณ 2 ปีแล้วไปยังตลาดกว่า 50 ประเทศ ส่วนรายได้ที่มาจากการรับจ้างผลิตหรือโออีเอ็มนั้นยังมีไม่มาก

การทำตลาดต่างประเทศจะมีทั้งการส่งออกไปจำหน่ายเอง หรือการแต่งตั้งเอเยนต์ซึ่งแล้วแต่ความเหมาะสมแต่ละประเทศ เช่น ประเทศพม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย เวียดนาม มีเอเยนต์รับผิดชอบอยู่ประจำ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.