กลุ่มปิคนิคดึง"สุริยา"การันตี ซื้อคืนหุ้นจองEWCหลังรูด 29%


ผู้จัดการรายวัน(6 มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เผยเบื้องหลัง ก.ล.ต.สอบลึกปิคนิคซื้อแก๊สแพงขายถูกใครได้ประโยชน์ เกี่ยวพันผู้ถือหุ้นใหญ่ชัดเจน กระทบภาพลักษณ์ มองมีปัญหาสภาพคล่อง ท่ามกลางภาวะตลาดผันผวนหุ้นอีสเทิร์นไวร์สะเทือนราคาทรุด 29% จากราคาจอง 37 บาท นักลงทุน-นักการเมืองโวย หุ้นใหญ่อีสเทิร์นไวร์เปิดอกรับผิดชอบ ขอซื้อคืนเพิ่มความมั่นใจจ่ายเช็ค การันตีโดย "สุริยา" รมช.พาณิชย์

แหล่งข่าวจากบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน" นับตั้งแต่นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล เข้ามาเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.ได้ใช้นโยบายกำกับดูแลบริษัทที่ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ชนิดเข้มข้น โดยมุ่งตรวจสอบงบการเงินของทุกบริษัท ซึ่งจะเห็นว่าที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้มีการดำเนินการสั่งให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งแก้ไขงบการเงินไปแล้ว นอกจากนั้นการตรวจสอบของ ก.ล.ต.ยังครอบคลุมไปถึงโครงสร้างธุรกิจของบริษัทซึ่งบางรายมีลักษณะที่ขัดแย้งทางผลประโยชน์ก็จะถูก ก.ล.ต.สั่งให้มีการแก้ไข

แม้แต่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ด้วยความที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ จึงมีโครงสร้างธุรกิจที่มีความซับซ้อน มีบริษัทย่อยจำนวนมากจนบางจุดเมื่อ ก.ล.ต.ตรวจพบว่ามีลักษณะโครงสร้างธุรกิจขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกัน ก็ได้แจ้งให้บริษัทเหล่านี้กลับไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุง

สำหรับกรณีการสั่งแก้ไขงบการเงินของ บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI ปี 2547 ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่ ก.ล.ต.เห็นว่าไม่ปกติใน 2 ประเด็นหลัก คือ แก้ไขการตัดค่าความนิยม (Goodwiil) สูงถึง 1,049 ล้านบาท และการให้มีผู้ตรวจสอบบัญชีพิเศษการทำรายการกับโรงแก๊ส 10 แห่งนั้น ซึ่งกรณีการถกเถียงในเรื่องการตัดค่าความนิยม 70% ของมูลค่าที่ซื้อขายบริษัทเวิลด์แก๊ส จำกัด สูงเกินความเป็นจริง เป็นความขัดแย้งในเรื่องวิธีการประเมินที่แตกต่างกันระหว่าง ปิคนิค กับ ก.ล.ต. โดย ก.ล.ต.มองการตัดค่าความนิยมดังกล่าวไม่สะท้อนฐานะของบริษัท เวิลด์แก๊ส

แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ ก.ล.ต.ให้ความสำคัญมากกว่ากรณีการตัดค่าความนิยม ก็คือ การดำเนินธุรกิจในลักษณะที่ไม่ธรรมดาของปิคนิค กล่าว คือ ก.ล.ต.พบว่า ปิคนิคมีการขายแก๊สในราคาที่ขายขาดทุนให้กับกลุ่มบริษัทจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือ และอ้างว่าการซื้อแพงขายถูกนี้เพื่อหวังจะมีส่วนแบ่งตลาดหรือมาร์เกตแชร์ของบริษัทเติบโต ทั้งๆ ที่ใครก็รู้ว่าเจ้าตลาดของเมืองไทย คือ ปตท. และยังมีบริษัทบางจาก จำกัด (มหาชน) ซึ่งไม่มีทางที่ปิคนิคจะสู้ได้

ทั้งนี้ ในการตรวจสอบ ก.ล.ต.พุ่งประเด็นที่ผู้รับซื้อแก๊สเป็นกลุ่มเดียวกับผู้ถือหุ้นปิคนิค ซึ่งเท่ากับว่า ซื้อแพงขายถูกให้กับกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นใหญ่ปิคนิคเอง จึงนำไปสู่การพิจารณาในประเด็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เอสอีซี หรือ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 หรือไม่

ที่สำคัญปัจจุบันภาระหนี้สินของปิคนิคได้เพิ่มสูงขึ้น โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2547 บริษัทมีหนี้สินรวมจำนวน 8,759.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,102.38 ล้านบาท เมื่อเทียบกับหนี้สินรวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2546 แม้ปิคนิคจะมีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นอย่างมากก็ตาม โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2547 สินทรัพย์รวมประมาณ 12,808.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2546 ซึ่งมีมูลค่า 4,492.93 ล้านบาท โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 8,315.54 ล้านบาท

ขณะที่การลาออกของนายธีรัชชานนท์ ลาภวิสุทธิสิน กรรมการผู้จัดการ ปิคนิค โดยมีผลวันที่ 16 มิ.ย. นั้นในแง่กฎหมายไม่ได้มีผลเกี่ยวกับการสาวไปถึงตัวรัฐมนตรี สุริยา ลาภวิสุทธิสิน เพราะเจ้าตัวเองก็ประกาศออกมาแล้วว่าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารในปิคนิค แต่เนื่องจากในทางพฤตินัยทุกคนเชื่อว่ามีความเกี่ยวพันกัน จึงทำให้นายธีรัชชานนท์ ลาออกเพื่อหวังผลในด้านการตลาดมากกว่า โดยการนำคนนอกเข้ามาเป็นหุ่นเชิดบริหารแทน

ขณะที่ปิคนิคเผชิญมรสุมถูก ก.ล.ต.สั่งแก้ไขงบการเงินจนทำให้การเพิ่มทุนจำนวน 200 กว่าล้านหุ้นชะลอออกไป ปัจจุบันสถานการณ์ของบริษัท อีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ EWC ซึ่งถูกมองว่า กลุ่มผู้บริหารมีความเกี่ยวข้องกับปิคนิค กำลังเผชิญปัญหาราคาหุ้นในตลาดทรุดลงอย่างหนักหลังจากที่หุ้นเพิ่มทุนเข้าซื้อขายท่ามกลางตลาดหุ้นไทยก็มีความผันผวนทรุดตัว จนทำให้ล่าสุดกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องออกมาแสดงเจตนาขอรับซื้อหุ้นคืน

แหล่งข่าวจากนักลงทุนกล่าวว่า แท้จริงแล้วในการเสนอขายหุ้นพีโอของ EWC เมื่อวันที่ 10-11 พ.ค. ต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้สามารถกระจายหุ้นได้หมด โดยในการกระจายหุ้นนั้นมีการให้รายละเอียดในลักษณะยืนยันกับกลุ่มผู้ซื้อซึ่งมีทั้งนักลงทุนและนักการเมืองว่าราคาหุ้นจะร้อนแรงเหมือนในอดีตที่ผ่านมาเมื่อหุ้น EWC เข้าซื้อขายใน ตลท.ช่วงแรก โดยหุ้นเพิ่มทุนที่ขายให้กับประชาชนทั่วไป (PO) จำนวน 32 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท เสนอขายราคา 37 บาท เมื่อหุ้นเข้าซื้อขายวันแรก 25 พ.ค. กลับตรงกันข้าม

โดยความเคลื่อนไหวราคาหุ้น EWC เมื่อ 25 พ.ค.ปรับตัวลดลงมาปิดที่ 31.50 บาท ลดลง 4.50 บาท หรือ 12.50% จากราคาปิดก่อนหน้า (36 บาท) ขณะที่หากเทียบกับราคาจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน 37 บาท เท่ากับราคารูดลดลง 5.50 บาท หรือ 14.86% ส่วน ราคาล่าสุด(3 มิ.ย.) ปิดที่ 26 บาท ปรับลดลงทั้งสิ้น 10 บาท หรือ 27.78 บาท จากราคาปิดเมื่อวันที่ 24 พ.ค. (36 บาท)ก่อนหุ้นเข้าซื้อขาย ขณะที่เมื่อเทียบกับราคาจอง 37 บาท พบว่าราคา EWC ปรับลดลงถึง 11 บาท หรือ 29.72%

การทรุดตัวลงอย่างรุนแรงของ EWC ทำให้กลุ่มผู้ซื้อหุ้นจองดังกล่าวเริ่มไม่พอใจ และผิดหวังในที่สุดกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ EWC จึงตัดสินใจออกมา แสดงความรับผิดชอบ โดยจะรับซื้อหุ้นคืนแต่จะจ่ายเงินให้เป็นเช็ค แต่เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง กลุ่มผู้ซื้อหุ้นจอง EWC หลายคนรู้สึกกังวลกับปัญหาสภาพคล่องของกลุ่มผู้ถือหุ้น EWC โดยมองไปถึงกลุ่มปิคนิคจึงไม่แน่ใจ ซึ่งในที่สุดกลุ่มผู้ถือหุ้น EWC จึงต้องออกมาระบุว่า เช็คดังกล่าวจะค้ำประกันโดยนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.