เมโทรมอลล์เลื่อนเปิดอีก 2 เดือน รถไฟฟ้าใต้ดินปรับราคา 5 มิ.ย.


ผู้จัดการรายวัน(3 มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เผยเมโทรมอลล์เลื่อนเปิดพื้นที่ค้าปลีกอีก 2 เดือน เป็นกรกฎาคม เหตุยังไม่สรุปผู้เช่าค้าปลีกรายย่อยจากพื้นที่ 50% ของทั้งหมด ขณะที่ผู้เช่ารายใหญ่เชนสโตร์ตบเท้า จองพื้นที่แล้วเพียบกว่า 26 บริษัท กระจายกันไปหลายธุรกิจ ด้านบีเอ็มซีแอลเตรียมปรับราคาค่าตั๋วขึ้นวันที่ 5 นี้ พร้อมให้บริษัทลูกลงทุนอีก 500 ล้านบาท ด้านระบบสื่อสารรองรับการใช้มือถือ

นายสุพงศ์ ชยุตสาหกิจ กรรมการผู้จัดการ และนายคุณานันท์ ทยายุทธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เมโทรมอลล์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้บริหารพื้นที่ค้าปลีกในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ร่วมกันเปิดเผยว่า แผนการพัฒนาพื้นที่ในเชิงค้าปลีกของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินมีความคืบหน้าไปมากแล้ว และคาดว่าจะสามารถเปิดบริการได้เป็นทางการในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ โดยสถานีแรกที่จะเปิดคือสถานีสุขุมวิท และจะทยอยเปิดตามมา เช่น สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานีพหลโยธิน สถานีจตุจักร สถานีพระราม 9 สถานีลาดพร้าว และคาดว่าภายในปลายไตรมาสที่สองปีหน้าจะสามารถเปิดบริการได้หมดทุกสถานี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เมโทรมอลล์ฯ เคยมีแผนที่จะเปิดบริการพื้นที่ค้าปลีกได้ในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งนั่นหมายความว่าแผนงานเดิมได้ถูกเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อย 2 เดือน ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลมาจากการเจรจาหาผู้เช่าพื้นที่ที่ยังไม่ครบไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เช่าพื้นที่รายย่อย

ล่าสุดนี้ทางผู้บริหารกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ได้เจรจาและสามารถเซ็นสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวานนี้กับธุรกิจของเอกชนที่สนใจเข้ามาเช่าพื้นที่ จำนวนทั้งสิ้น 25 บริษัท ในหลายธุรกิจ โดยบริษัทฯ รับผิดชอบพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 12,720 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับร้านค้าที่เป็นระบบเชน 50% และพื้นที่สำหรับร้านค้ารายย่อยอีก 50% โดยรวมจำนวนร้านค้าทั้งหมดประมาณ 524 ร้านค้า ซึ่งขณะนี้ในส่วนของร้านค้าที่เป็นเชนสโตร์มีผู้จับจองพื้นที่แล้วมากกว่า 40% จากพื้นที่ 50% ของทั้งหมด

ขณะที่ผู้ค้าปลีกรายย่อยนั้น จากพื้นที่สัดส่วน 50% หรือประมาณ 6,000 กว่าตารางเมตร ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้สนใจกว่า 2,000 ราย คาดว่าจะสรุปการเจรจาได้ภายใน 2 สัปดาห์นับจากนี้ โดยราคาค่าเช่านั้นจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ทำเล แล้วแต่สถานีและขนาดพื้นที่ ที่มีตั้งแต่ 10 ตารางเมตรขึ้นไป โดยคิดค่าเช่า 1,500-3,000 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน

ทั้งนี้รูปแบบการบริหารการพัฒนาและการออกแบบพื้นที่ค้าปลีกของบริษัทฯ นั้น มีความมั่นใจว่าจะมีความเหมาะสมและประสบความสำเร็จ เนื่องจากได้เดินทางไปศึกษาธุรกิจแบบนี้ในหลายประเทศและนำมาประยุกต์ใช้คือ เกาหลี ญี่ปุ่น จีน เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ สิงคโปร์ ฮ่องกง

ในช่วงปีแรกที่เปิดให้บริการพื้นที่เชิงค้าปลีกบริษัทฯ ตั้งงบประมาณการตลาด 60 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมด 200 ล้านบาท ที่จะใช้ในช่วง 10 ปีแรก ทั้งนี้คาดหวังรายได้ปีแรกประมาณ 100 ล้านบาท และปีที่สองหากปล่อยพื้นที่เช่าได้หมดจะมีรายได้ 200 ล้านบาท ซึ่งช่วง 5 ปีแรกบริษัทฯ ต้องจ่ายเงินให้กับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล จำนวน 25% ของรายได้ หลังจากนั้นจะเพิ่มเป็นจ่ายปีละ 35%

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาเช่าพื้นที่กลุ่มแรกนี้ประกอบด้วย 7 กลุ่มธุรกิจจำนวน 26 บริษัท คือ กลุ่มร้านสะดวกซื้อมี เซเว่นอีเลฟเว่น จำนวน 10 สถานี, แฟมิลี่มาร์ท จำนวน 1 สถานี กลุ่มธนาคาร คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จำนวน 3 สถานี, ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) จำนวน 6 สถานี, ธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน) จำนวน 5 สถานี กลุ่มไอทีและสื่อสาร คือ ทรู อินเทอร์เน็ต จำนวน 11 สถานี, บลิสเทล จำนวน 3 สถานี กลุ่มธุรกิจร้านหนังสือคือ ร้านซีเอ็ด จำนวน 8 สถานี, ร้านฟาสเตอร์บุ๊ค จำนวน 4 สถานี

กลุ่มสถาบันการเงิน คือ ร้านควิกแคชของจีอีแคปปิตอล จำนวน 4 สถานี, ร้านอีซี่บาย จำนวน 8 สถานี, ร้านเคทีซีเมคเซ้นส์ของบัตรกรุงไทย จำนวน 3 สถานี, ร้านอิออนธนสินทรัพย์ของกลุ่มอิออน จำนวน 1 สถานี กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม คือ ร้านอานตี้แอนส์ ร้านมิสเตอร์โดนัท ร้านบาสกิน รอบบิ้นส์ ของกลุ่มเซ็นทรัล จำนวนรวม 3 สถานี, ร้านแดรี่ควีนของไมเนอร์ดีคิว จำนวน 6 สถานี, บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด จำนวน 3 สถานี ร้าน สควีซ ของทิปโก้ฟู้ดส์ จำนวน 3 สถานี, ร้านคอฟฟี่ทูเดย์ จำนวน 2 สถานี ร้านพรานทะเล จำนวน 1 สถานี

กลุ่มร้านค้าอื่นๆ คือ ร้านขายยาซัลวีโอของบริษัท ซิกม่าฟาร์มาซี จำนวน 5 สถานี, ร้าน เอสวายซับเวย์ขายแว่นตา จำนวนทุกสถานี, ร้านตัดผมไม่ใช้น้ำ คิวบีเฮ้าส์ จำนวน 2 สถานี, ร้านทองออโรร่า จำนวน 6 สถานี, ร้านเพลงเอ็มเอ็มจี จำนวน 5 สถานี, ร้านซีกัลสโตร์ของบริษัท ไทย สเตนเลสสตีล จำนวน 3 สถานี, ร้านเอกตราของศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำนวน 1 สถานี

นายกนก วงษ์ตระหง่าน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด เปิดเผยว่า แฟมิลี่มาร์ทได้เช่าพื้นที่เพียงสถานีเดียวที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพราะเป็นสถานีที่มีผู้คนเดินผ่านไปมามาก และมีกิจกรรมจัดงานที่ศูนย์สิริกิติ์เป็นประจำ รูปแบบที่จะเปิดนี้เป็นแบบใหม่ เน้นขายเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มมากกว่า 70% คาดว่าจะคุ้มทุนภายใน 3-4 ปี

บีเอ็มซีแอลขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล เปิดเผยว่า วันที่ 4 มิถุนายน 2548 นี้ จะครบกำหนด 90 วัน ในการทดลองจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง-บางซื่อ) 10-15 บาท โดยตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน ถึง 30 กันยายน 2548 บีเอ็มซีแอลจะปรับอัตราค่าโดยสารใหม่แบบเป็นรายสถานี แบ่งตามประเภทโดยบัตรโดยสารแบบเติมเงินจะลดให้ อัตรา 20% ซึ่งบุคคลทั่วไปราคาเริ่มต้น 10 บาท สูงสุด 25 บาท นักเรียน นักศึกษาลด 30% เริ่มต้น 8 บาท สูงสุด 22 บาท เด็ก/ผู้สูงอายุ ลด 50% เริ่มต้น 6 บาท สูงสุด 16 บาท ส่วนเหรียญโดยสารแบบเที่ยวเดียว บุคคล ทั่วไป เริ่มต้น 12 บาท สูงสุด 31 บาท เด็ก/ผู้สูงอายุ เริ่มต้น 6 บาท สูงสุด 16 บาท

"การปรับลดลงจากอัตราค่าโดยสารเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้โดยสารหันมาใช้บัตรโดยสารแบบเติมเงินมากยิ่งขึ้น เพราะเกิดความสะดวก และรวดเร็วแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยไม่ต้องออกเป็นเหรียญโดยสารทุกครั้งที่ต้องการเดินทาง โดยการให้ส่วนลดครั้งนี้อยู่นอกเหนือสัญญาและรัฐไม่ต้องจ่ายชดเชยให้บริษัทแต่อย่างใด ส่วนการทดลองเก็บราคา 10-15 บาทนั้น รัฐต้องจ่ายชดเชยรายได้ที่หายไปให้บริษัทประมาณ 20 ล้านบาท"

นายสมบัติกล่าวว่า ในระหว่างนี้บริษัทจะประเมินผลด้านการตลาดและการตอบรับจากผู้โดยสารกรณีการให้ส่วนลดค่าโดยสารเพื่อนำมากำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ตามสัญญาระหว่างบีเอ็มซีแอลกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดอัตราค่าโดยสารในปีแรก 14-36 บาท แต่ให้ส่วนลดปีแรก 15% เหลือ12-31 บาท โดยจะมีการปรับค่าโดยสาร ทุกๆ 2 ปี ตามตัวเลขดัชนีผู้บริโภค (CPI)

ปัจจุบัน มีผู้โดยสารรถไฟใต้ดินเฉลี่ยวันละประมาณ 1.8 แสนเที่ยว ซึ่งค่าโดยสาร 10-15 บาท บริษัทมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 13 บาทต่อคนรวมกับเงินชดเชยจากรัฐบาลอีก 2 บาทรวมเป็นรายได้เฉลี่ย 15 บาทต่อคน ส่วนอัตราใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ 18 บาทต่อคน ทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มอีกประมาณวันละ 540,000 บาท

สำหรับระบบโทรคมนาคมในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทั้ง 18 สถานีนั้น ขณะนี้ทางบริษัท บีเอ็มซีแอล เน็ตเวอร์ค ได้ลงทุนในการติดตั้งระบบการสื่อสารในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 500 ล้านบาท และคาดว่าภายใน 3 ปีน่าจะถึงจุดคุ้มทุน โดยจ้างบริษัทจากประเทศออสเตรเลีย มาเป็นซัปพลายเออร์และเป็นผู้ติดตั้งให้ โดยคาดว่าอีก 2-3 เดือน จะสามารถลงนามในสัญญากับผู้ประกอบการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ "เราจะเชิญให้ผู้ประกอบการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย ไม่ว่าจะเป็น เอไอเอส ดีแทค ออเร้นจ์ ฮัทช์ ฯลฯ เข้ามาดำเนินการให้บริการในรถไฟฟ้าใต้ดินได้ เพราะเราถือว่าเราเป็นผู้วางระบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการแต่ละรายมาใช้ร่วมกันโดยเป็นผู้มาเช่าสถานี ภายในปี 2548 ผู้โดยสารรถไฟฟ้า ใต้ดินจะโทรศัพท์ในรถไฟฟ้าใต้ดินได้แน่นอน"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.