|
"เนวิน" โยนซีพีรับผิดกล้ายาง
ผู้จัดการรายวัน(3 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เกษตรฯ ใช้วิธีพิสดารตรวจความเสียหายทำให้ผลเอกซเรย์กล้ายางเป็นไปตามคาดไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ แต่เกิดจากภัยแล้งถึง 88% "เนวิน" โยนซีพีจ่ายค่าชดเชยค่าต้นยางแต่ไม่ชดใช้ค่าลงทุนและค่าเสียโอกาส พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง "ฉกรรจ์" ท้าอีก 7 ปี รับรองยางทุกต้นให้น้ำยางดีแต่อยู่ในเงื่อนไขเกษตรกรดูแลดีและเป็นพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรรับรอง ส่วนซีพีสวนทันควันปฏิเสธไม่จ่ายค่าชดเชยยางเฉาตาย ขณะที่ ผอ.สถาบันวิจัยยาง ออกรับหน้ากล้ายางที่ออกดอกเพราะเครียด
วานนี้ (2 มิ.ย.) นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมกับนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เรียกเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางทั่วประเทศ ประชุมเพื่อสรุปผลการตรวจสอบความเสียหายของกล้ายางในโครงการขยายพื้นที่ปลูกยาง 1 ล้านไร่ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
อ้างผลสำรวจเกิดภัยแล้ง 88%
นายเนวิน กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากการทำแบบสำรวจความเสียหายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปีที่ผ่านมาจำนวน 15,579 ราย จากทั้งสิ้นประมาณ 2 หมื่นราย โดยการทำเป็นแบบสอบถามเพื่อให้เกษตรกรแจ้งความเสียหาย พบว่าเกษตรกรได้รับต้นยางที่มีความสมบูรณ์ดี 10,973 ราย ต้นยางตาย 25.72% เกษตรกรได้รับต้นยางที่มีสภาพเหี่ยวเฉา 1,201 ราย ต้นยางตาย 33.34% จากจำนวน ยางที่ส่งมอบในปี 2547 ทั้งหมดจำนวน 16 ล้านต้น ตามสัญญาทั้งสิ้น 18 ล้านต้น
ทั้งนี้ สาเหตุของต้นกล้ายางที่ตายตามความเห็นของเกษตรกรพบว่า เกษตรกรตอบว่าเกิดจากสาเหตุ 1) ภัยแล้ง จำนวน 8,089 ราย คิดเป็น 88.66% 2) เกิดจากวัวหรือสัตว์กิน/ทำลาย จำนวน 507 ราย คิดเป็น 5.54% 3) เกิดจากใบแสดงอาการเป็นจุดหรือแสดงอาการเหี่ยวเฉา 479 ราย คิดเป็น 5.26% และ 4) เกิดจากปัญหาไฟไหม้ 49 ราย คิดเป็น 0.54% เป็นที่น่าสังเกตว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่มีระบุถึงปัญหาอันเนื่องมาจากกล้ายางด้อยคุณภาพ
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้น ในส่วนของกล้ายางที่ส่งมอบในช่วงระหว่างวันที่ 1-15 ก.ย. จำนวน 3,195 ราย มีต้นยางเสียหาย 1,411,000 ต้น จากจำนวนการส่งมอบ ในช่วงนี้ทั้งหมดประมาณ 4.7 ล้านต้น ยางที่ตายในส่วนนี้ทางคู่สัญญาคือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์หรือซีพี จะต้องชดเชยกล้าให้เกษตรกรทั้งหมด
ส่วนกรณีที่กล้ายางตายจากการส่งมอบยางเฉาของเกษตรกร จำนวน 1,201 ราย อันเป็นสาเหตุให้ต้นยางตายประมาณ 4 แสนต้นนั้น ให้ดำเนินการสองส่วนคือ ให้อธิบดีกรมวิชาการเจรจากับคู่สัญญา เพื่อให้บริษัทซีพีให้ชดเชยกล้ายางในส่วนนี้ทั้งหมดแก่เกษตรกร และให้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยมอบให้ นายศุภชัย บานพับทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริง
สำหรับการชดเชยต้นยางที่ตายตามธรรมชาติหรือตายอันเกิดจากปัญหาภัยแล้ง ต้องชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งมีระเบียบกระบวนการภัยแล้ง แต่ส่วนที่ส่งมอบในช่วงนอกสัญญาหรือการส่งมอบต้นยางที่เฉาไม่มีอุทธรณ์ให้อธิบดีเจรจากับซีพีเพื่อชดเชยค่าเสียหายดังกล่าว แต่จะไม่มีการให้บริษัทชดเชยในส่วนของค่าเสียโอกาส เนื่องจากสัญญาระบุไว้แค่นั้น จึงไม่สามารถบังคับทางบริษัทได้
ในกรณีมีข้อสงสัยเรื่องพันธุ์ยาง ให้เกษตรกรยื่นข้อร้องเรียนต่อกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัด เกษตรจังหวัด และเกษตรกรตำบล จากนั้นกรรมการสอบข้อเท็จจริงพร้อมนักวิชาการจะไปตรวจ ต้นยางเหล่านั้นว่าเป็นต้นยางพันธุ์ดีหรือไม่ ถ้าพบว่ามีต้นยางที่เป็นพันธุ์ไม่ได้คุณภาพ ให้ดำเนินการสองส่วนคือ ดำเนินการกับผู้ตรวจรับ และให้อธิบดีกรมวิชาการฯดำเนินการกับคู่สัญญาตามเงื่อนไขของสัญญา
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวขอดูแบบสอบถามที่ให้เกษตรกรแจ้งความเสียหายที่มีความกังวลว่าจะเป็นคำถามปลายปิด นายเนวินได้มอบให้ข้าราชการจัดการให้ แต่ภายหลังการแถลงข่าวกลับไม่มีใครให้ข้อมูลดังกล่าว ระบุแต่เพียงให้ค้นหาจากเว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร แต่เมื่อตรวจสอบกลับไม่พบข้อมูลแต่อย่างใด
ต่อมากรมวิชาการฯ ได้ส่งโทรสารแบบสอบถามให้แก่ผู้สื่อข่าว ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าแบบสอบถามที่นำไปถามเกษตรกรเป็นคำถามแบบปลายปิด โดยแบบสอบถามในข้อ 11 ที่ให้เกษตรกรเลือกตอบในข้อสาเหตุการตาย ระบุไว้ 4 ช่อง คือ 1. ภัยแล้ง 2. วัวกินหรือสัตว์อื่นทำลาย 3.ไฟใหม้ 4. ยางเป็นโรค และอื่นๆ ระบุ ....... ทำให้คำตอบที่ปรากฏเป็นไปตามรายงานผลข้างต้น เนื่องจากเกษตรกรไม่มีความรู้ทางเทคนิค และไม่มีช่องใดที่ระบุถึงสาเหตุการว่า ยางที่ได้รับมีคุณภาพได้มาตรฐานหรือไม่ นอกจากนี้ยังไม่มีคำถามที่ให้กรอกยอดตัวเลขความเสียหายของกล้ายางอยู่ในแบบสอบถามด้วย
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการออกแบบสอบถามของกรมวิชาการฯ ครั้งนี้ว่า เป็นคำถามแบบปลายปิด และไม่มีช่องที่ระบุว่าต้นยางที่ได้รับไม่ได้คุณภาพ ซึ่งประเด็นเรื่องคุณภาพต้นยางชำถุง ควรเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความรู้มากกว่าวินิจฉัยลึกลงไปว่าสาเหตุการตายเกิดจากอะไรกันแน่ เพราะเกษตรกรเองก็ไม่มีความรู้ด้านเทคนิค แต่อย่างไรก็ตาม หากให้เจ้าหน้าที่วินิจฉัยก็อาจไม่ได้ความจริงเพราะเป็นการใช้เจ้าหน้าที่ชุดที่ตรวจรับต้นยางชำถุงจากบริษัทเอกชนส่งให้กับเกษตรกร หากวินิจฉัยว่ายางไม่ได้คุณภาพก็จะกลับมาเป็นหลักฐานมัดผู้รับมอบซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ชุดเดียวกัน
ประธานฯซีพี.ปฏิเสธไม่จ่ายชดเชยยางเฉา
นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สรุปความเสียหายของการปลูกกล้ายางในโครงการปลูกยาง 1 ล้านไร่ และได้มีการส่งมอบไปแล้ว 15.4 ล้านต้น ซึ่งในจำนวนนี้มีอาการเหี่ยวเฉา 400,000 ต้นนั้น ถือเป็นสัดส่วนที่เป็นปกติตามเงื่อนไขที่ทำไว้กับกรมวิชาการเกษตรที่ระบุว่า ยาง 90 ต้น สามารถตายได้ 10-15 ต้น การที่จะมาเรียกร้องค่าชดเชยในจุดนี้เราจึงไม่สามารถดำเนินการให้ได้ และขอให้ดำเนินการตามสัญญาที่ผ่านมา
"ต้องยอมรับว่ายางตายเพราะภัยแล้ง เพราะหากมีฝนตกสม่ำเสมอยางก็จะรอดทั้งหมด ผมยืนยันว่าบริษัทซีพีทำทุกอย่างบนพื้นฐานเดียวกัน ยางในโครงการก็เป็นยางดีไม่มียางตาสอยตามที่สมาคมสมาพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยระบุ เพราะซีพีไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เรามีโครงการพัฒนาโครงการไป เรื่อยๆ คงไม่เอาชื่อเสียงมาเสี่ยง" นายมนตรีกล่าว
สำหรับยางพันธุ์ดีที่ซีพีนำมาใช้ก็ไม่ได้มีเฉพาะที่ภาคใต้เพียงแห่งเดียว แต่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ เราสามารถหาได้อย่างเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องไปสอยมาจากไหน เพราะถ้านำยางตาสอยมาติดตาก็จะเติบโตช้าไม่คุ้มค่าการลงทุนที่สำคัญดูง่าย ไม่ผ่านคิวซีอย่างแน่นอน
ล้อมคอกยางตาสอย
นายเนวิน กล่าวถึงกรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับมีพันธุ์ยางตาสอยว่า หากเกษตรกรพบว่ามีข้อสงสัยว่า มียางที่ไม่มีคุณภาพหรือเป็นยางตาสอย ให้เกษตรกร ร้องเรียนเข้ามาที่กระทรวงเกษตรฯ โดยหลังรับเรื่องจะให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และนักวิชาการลงไปดู ถ้าดูแล้วพบว่าเป็นยางตาสอย ให้ดำเนินการเช่นเดียวกันกับกรณีข้อสงสัยเรื่องพันธุ์ยาง
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การควบคุมการผลิตกล้ายางจำหน่ายให้กับเกษตรกรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ ได้สั่งการให้อธิบดีกรมวิชาการ ประชุมคณะกรรมการควบคุมพันธุ์ยาง ตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง มาตรา 6 โดยให้ประชุมและกำหนดคุณสมบัติกล้ายางพันธุ์ดี โดยห้ามไม่ให้มีการผลิต ต้นตอยางที่ใช้ยางตาสอยมาจำหน่ายให้เกษตรกร ผู้ผลิตต้นตอยางที่จำหน่ายให้เกษตรกร ต้องมาจากยางตาเขียวเท่านั้น ถ้ารายใดใช้ยางตาสอยให้ดำเนินการตามกฎหมาย
ฉกรรจ์ รับรองไม่มียางสอย
นายเนวิน กล่าวว่า การผลิตยางตาสอยในเชิงวิชาการมาผลิตต้นตอตา อัตราการผลิตแล้วรอด มีอยู่เพียง 40% แต่กรณียางตาเขียวมีการผลิตแล้วรอด 90% เพราะฉะนั้นเมื่อประมวลจากกระบวนการติดตาที่ยากกว่า ประกอบกับเรื่องของหลักของการลงทุนในเรื่องต้นทุนการผลิต ซึ่งถ้าไม่รอดต้องเสียทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา จึงไม่สมเหตุสมผลว่าจะทำเพื่ออะไร
แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามกลับไปว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าหลักของการลงทุนอาจจะไม่คุ้ม แต่เกิดจากความฉุกเฉินของบริษัทซีพีที่มีจำนวนแปลงกล้าพันธุ์ไม่เพียงพอ จึงเลือกใช้วิธีกิ่งตาสอย นายเนวินกล่าวตอบว่า ไม่มีคำตอบ หลักคือต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ขอสันนิษฐานในเรื่องดังกล่าว
"ถ้าตรวจพบก็ดำเนินการตามสัญญา กรรมการตรวจรับก็ต้องรับผิดชอบตามระเบียบ คู่สัญญากรมก็ต้องไปบังคับตามสัญญา วันนี้กรมและกระทรวงไม่มีเหตุต้องไปรักษาผลประโยชน์หรือปกป้องกัน"
ด้านนายฉกรรจ์ กล่าวตอบเรื่องยางตาสอยว่า การผลิตยางชำถุงจากกิ่งตาสอย มีโอกาสติดประมาณ 40% แต่เมื่อติดตาแล้ว หากเป็นยางพันธุ์ดี มันก็สามารถให้น้ำยางได้เป็นปกติ แต่ในเรื่องการให้น้ำยาง จะมองเรื่องนี้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูที่การดูแลรักษาของเกษตรกรด้วย ทั้งก่อนกรีดและหลังกรีดด้วย
นายฉกรรจ์กล่าวต่อว่า ทางกรมวิชาการเกษตรได้จัดส่งเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยยางลงไปดูในพื้นที่ทั้งหมดแล้วไม่พบแปลงที่จดทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรแปลงใดใช้กิ่งตาสอย วันนี้มีแปลงขยายพันธุ์ยางทั้งสิ้น 600 กว่าแปลง อยู่ในภาคใต้ก็ไปตรวจ แต่ถ้าสื่อมวลชนเห็นว่าแปลงไหนเป็นยางตาสอย กรุณาแจ้งกรม แต่ถ้าประเด็นใดก็ตามที่เป็นข่าวลือต้องขอความกรุณาให้เพลาลงหน่อย
ผอ.สถาบันยางยันออกดอกเพราะเครียด
นายประวิตร วงศ์สุคนธ์ รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวชี้แจงต้นกล้ายางที่เพิ่งปลูกไม่ถึงปี แต่มีการออกดอกให้เห็นกันโดยทั่วไปว่า ปกติแล้วยางออกดอกเมื่อมีอายุ 4-5 ปี แต่เมื่อไหร่ มีภาวะเครียด ไม่ว่าจะเกิดจากภัยแล้งและมีโรคทำลายอย่างมาก ต้นยางก็จะออกดอก ซึ่งกรณีนี้เกิดจากภัยแล้งมาก แต่สาเหตุที่ยางออก ดอกไม่ทั้งหมดทุกต้นแม้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เป็นเพราะว่าบางต้นรับกับสภาวะภัยแล้งได้ แต่บางต้นรับไม่ได้
ไม่กล้าการันตีอนาคต
นายเนวินกล่าวว่า โดยพันธุ์ที่ตรวจทางใบไม่มี ทางที่จะไม่ให้น้ำยาง เพราะเป็นยางพันธุ์ดี แต่ถ้าถามว่าหลักประกันนี้มันจะรับไปถึง 7-8 ปีหรือไม่ ในทางวิชาการยกตัวอย่างเรามีลูกชายหนึ่งคน โตขึ้นมาตอนอายุ 7-8 ขวบ จะไม่มีทางรู้เลยว่า แต่เมื่ออายุ 15 จะมีการเบี่ยงเบนพฤติกรรมไปเป็นเกย์หรือไม่ จะให้รับประกัน 100% ทำไม่ได้ แต่ในเชิงกายภาพในเรื่องของพันธุ์ยางรับประกันได้
นายฉกรรจ์กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองเป็นอธิบดีกรมวิชาการ รับประกันว่าในอีก 7 ปีข้างหน้าจะต้องมีน้ำยาง ใครบอกไม่มีน้ำยางเอาเหตุผลมาคุย แต่ต้องปลูกตามหลักวิชาการ หมายถึงเกษตรกรดูแลต้นยางดีไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้ควายกิน ต้องดูแลสวนยางอย่างดี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|