|
ทีโอทีฟ้องทรู 7 คดี 1.8 หมื่นล้าน
ผู้จัดการรายวัน(2 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ทีโอทีฟ้องทรู 7 คดีเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ เรียกค่าเสียหายกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท
นายปริญญา วิเศษสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที กล่าวว่าทีโอทีได้รวบรวมคดีข้อพิพาทที่จะเรียกร้องความเสียหายจากบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น คู่สัญญาร่วมการงาน ที่ดำเนินธุรกิจละเมิดสัญญาถึง 9 คดี โดยได้ยื่นเข้าอนุญาโตตุลาการและประเมินค่าเสียหายไปแล้ว 7 คดี รวม 18,352 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเร่งประเมินความเสียหายและส่งเข้าอนุญาโตตุลาการอีก 2 ข้อพิพาท
สำหรับรายการข้อพิพาทที่ประเมินความเสียหายและยื่นเข้าสู่กระ-บวนการอนุญาโตตุลาการไปแล้ว 7 คดีประกอบด้วย1.ละเมิดปรับเปลี่ยนตกแต่งตู้โทรศัพท์สาธารณะและติดสติกเกอร์ มีค่าเสียหาย 433 ล้านบาท 2.ละเมิดพิมพ์สัญลักษณ์ของตัวเองและลายน้ำลงในใบเสร็จ ใบแจ้งหนี้ ค่าเสียหาย 1,922 ล้านบาท 3.ไม่ได้นำส่งส่วนแบ่งรายได้จากบริการพีซีที และค่าให้บริการพิเศษแก่ลูกค้าเช่นโอนสาย, สายเรียกซ้อนรวมค่าเสียหาย 72 ล้านบาท
4.ละเมิดให้บริการ TA 1234 หรือบริการโทรศัพท์ทางไกลราคาประหยัดด้วยเทคโนโลยีวีโอไอพี โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมค่าเสียหาย 14,765 ล้านบาท 5.ละเมิดให้บริการ ADSLหรือบริการอินเทอร์เน็ตความ เร็วสูง มีค่าเสียหาย 1,100 ล้านบาท 6.ละเมิดต่อสัญญาในการให้บริการ T-Pin, T-card,T-message รวมค่าเสียหาย 52 ล้านบาท 7.ค้างชำระค่าเช่าท่อร้อยสายที่เมืองทองธานี รวม 8 ล้านบาท
ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างประเมินความเสียหายเพื่อเร่งเข้าอนุญาโตตุลาการรวม 2 ข้อพิพาท คือ 8.ละเมิดให้บริการพีซีที แบบสาธารณะในชื่อ PCT buddy และ 9.ละเมิดให้บริการวงจรเช่ากับการประปานครหลวงด้วยตัวเอง
นายปริญญากล่าวว่า มูลค่าความเสียหายที่กล่าวมาเป็นตัวเลขปัจจุบันและจะเพิ่มมากขึ้นตามเวลาที่ล่วงเลยไปและข้อพิพาทเหล่านี้เป็นคนละส่วนกับที่ทีโอทีต้องการจะเจรจายุติข้อคดีกับทรู เพราะการละเมิดเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและไม่ยุติ แต่เมื่อเรื่องใดที่เจรจากันได้ลงตัวก็จะเพิกถอนกันไป หรือหากข้อคดีหรือการเจรจายุติก่อนก็จะยึดถือตามนั้นหรือมีการหักล้างกันไปในแต่ละรายการขึ้นอยู่กับอนาคต
ขณะที่นายอธึก อัศวนันท์ รองประธานกรรมการและหัวหน้าคณะฝ่ายกฎหมายทรูกล่าวว่า ในขณะนี้รับทราบแต่ทีโอทีฟ้องมีเพียง 2 เรื่อง คือ 1. เรื่องการตกแต่งตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งบริษัททำด้วยเหตุผลว่าลูกค้าจะได้รู้ว่าเป็นตู้ที่บริการของใครเนื่องจากค่าบริการของทีโอทีกับทรูไม่เท่ากัน และ 2.เรื่องการพิมพ์โลโกและลายน้ำในใบเสร็จก็เพราะลูกค้าจะได้รู้ว่าหากเกิดปัญหาจะติดต่อไปที่ไหน นอกจากนี้ในเรื่องให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนั้น ทรูให้บริการผ่านบริษัทลูกที่ได้รับอนุญาตจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จึงคิดว่าให้บริการได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|