"เริงชัย" แพ้คดีสวอปบาท ต้องชดใช้เงิน1.8แสนล้าน


ผู้จัดการรายวัน(1 มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ศาลแพ่งพิพากษาให้ "เริงชัย มะระกานนท์" ชดใช้เงิน 1.8 แสนล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี แต่ไม่เกิน 65 ล้านบาท แก่แบงก์ชาติ ฐานประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงกรณีทำสวอปปกป้องค่าเงินบาท แทนที่จะลอยตัวค่าเงินตามคำแนะนำของรองผู้ว่าฯธปท. จนทำให้ทุนสำรองติดลบ ทนายฮึดสู้ต่อชั้นอุทธรณ์ ยกประเด็นจำเลยไม่ได้ประมาท บอกคดีนี้เป็นการละเมิด จำเลยมีสิทธ์ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอไม่ให้เป็นบุคคลล้มละลายได้ ด้านอัยการโจทก์ เตรียมขอศาลบังคับคดีตามคำพิพากษาบอกชัด หากจะสู้อุทธรณ์ก็ต้องวางเงินชำระหนี้แก่โจทก์

วันนี้ (31 พ.ค.) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นโจทก์ที่ 1 และ 2 ตามลำดับ มอบอำนาจให้พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีแพ่ง 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นจำเลยในความผิดฐานละเมิดเกี่ยวกับการปกป้องค่าเงินบาท เมื่อปี 2540 โดยใช้เงินทุนสำรองไปปกป้องค่าเงินบาท (สวอป) อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ส่งผลให้ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 186,015,830,720 บาท

คดีนี้ศาลสืบพยานโจทก์ 12 ปาก ส่งเอกสาร 166 ฉบับ ฝ่ายจำเลยนำสืบ 10 ปาก ส่งเอกสาร 112 ฉบับ ศาลจึงมีคำพิพากษา ทั้งนี้ฝ่ายนายเริงชัยไม่มาศาล แต่ส่ง นายนพดล หลาวทอง ทนายความมาแทน ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงมีพนักงานอัยการสำนักงานคดีแพ่งเป็นทนายความให้

ศาลพิพากษาใจความว่า โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างปลายปี พ.ศ. 2539 ถึง 2540 เริ่มเกิดวิกฤตค่าเงินบาท จำเลยเป็นผู้ว่าฯธปท. ได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี จัดตั้งคณะกรรมการกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และธนาคารแห่งประเทศไทย กองทุนรักษาระดับเงินตราต่างประเทศ ให้มีหน้าที่วิเคราะห์สั่งการใช้อำนาจในการแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้ตกต่ำ เพราะจะส่งผล กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ แต่จำเลยได้ประมาทเลินเล่อไม่ใช้ความระมัดระวัง โดยกลับสั่งการให้มีการแทรกแซงค่าเงินบาท ผิดพลาดจนรัฐบาลต้องสูญเสียเงินดอลลาร์สหรัฐที่ใช้เป็นกองทุนสำรอง ทำให้รัฐบาลเสียหายเป็นเงิน 186,000 ล้านบาท

หลังศาลรับฟังพยานหลักฐานโจทก์จำเลยหักล้างกันแล้วพิเคราะห์ว่า ประเด็นที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ทั้งสองเป็นรัฐวิสาหกิจ มีอำนาจในการฟ้องคดีจำเลย เมื่อเห็นว่าทำไม่ถูกต้อง เมื่อเกิดความเสียหายโจทก์จึงถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบกับนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีนี้ ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ที่จำเลยอ้างว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมต้องยกฟ้อง ศาลเห็นว่าโจทก์มีการบรรยายฟ้องชัดแจ้งว่าจำเลยทำให้ รัฐบาลสูญเสียเงินทุนสำรอง เป็นเหตุให้นักลงทุนขาด ความมั่นใจในฐานะการเงินของประเทศ และโจทก์เสียหายเป็นเงิน 185,900 ล้านบาทเศษ

คดีนี้จำต้องพิจารณาว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ ศาลเห็นว่าช่วงเวลาเกิดเหตุ จำเลยเห็นว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบตะกร้าเงิน ไม่เหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจ ต่อมาค่าเงินบาทแข็งตัวไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โจทก์ในคดีนี้จึงเริ่มมีนโยบายแทรกแซงค่าเงินบาท ด้วยวิธีใช้เงินดอลลาร์ที่เป็นทุนสำรอง เพื่อปกป้องค่าเงินบาทจากนักเก็งกำไรที่ทุ่มขายเงินบาท ดังนั้นโจทก์ทั้งสองจึงมีนโยบายทำธุรกรรมเพื่อปรับสภาพคล่องค่าเงินบาท ด้วยวิธีการแทรกแซงค่าเงินบาท หรือเรียกกันว่า "สวอปค่าเงินบาท" โดยช่วงนั้น รมว. คลังโดยคำแนะนำของ ธปท. ได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ปรากฏว่าค่าเงินบาทได้ตกต่ำลงเรื่อยๆ

ไม่ยอมปล่อยค่าเงินลอยตัว

ทั้งนี้โจทก์นำนายอำนวย วีรวรรณ อดีต รมว. คลัง และมรว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เบิกความว่า ควรเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และหากจำเลยเสนอแนะตามขั้นตอน ตามคำแนะนำ รมว.คลัง เพื่อประกาศใช้ระบบอัตราแลกเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่ง รมว.คลัง ก็จะได้ทำตามที่จำเลยแนะนำ แต่จำเลยกลับไม่ตอบสนอง อ้างว่าธปท.ไม่พร้อม จึงไม่มีการเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน จำเลยอ้างว่ามีความกังวลเรื่องภาระหนี้สินต่างประเทศ จนไม่ได้ข้อยุติว่าจะใช้นโยบายอย่างไร จนต่อมา รองผู้ว่าการฯ ธปท. ได้เรียกประชุมผู้บริหารธปท. มีความเห็นกันว่า ถึงเวลาต้องเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแล้ว และควรใช้ระบบลอยตัวเงินบาท จากนั้นได้รายงานผลให้จำเลยทราบมติที่ประชุม

จำเลยเป็นผู้มีความรู้ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจทางการเงินของประเทศ ทั้งที่เป็นความลับและไม่ลับมากกว่าผู้ใด จำเลยจึงต้องเป็นหลักในการกำกับนโยบายการเงินการคลัง ให้นโยบายในฐานะเป็นผู้ว่าการธปท. และจำเลยต้องรู้ดีว่า ทุนสำรองของประเทศมีความสำคัญกับเสถียรภาพเงินบาทอย่างไร ต้องใช้เงินทุนสำรองอย่างไร เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยตัวเลข และสถานการณ์ต่างๆ ให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยกลับไปใช้วิธีแทรกแซงค่าเงินบาทเฉพาะหน้าแทน จนทุนสำรองมีค่าติดลบ ทำ ให้รัฐมีหน้าที่ต้องคืนเงินดอลลาร์จากตลาดเงินไปให้คู่สัญญา จนส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียเงินที่ใช้คืนและต้องขาดทุนเป็นเงินถึง 185,900 ล้านบาทเศษ

ศาลจึงถือได้ว่าจำเลยได้ประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ที่ 2 ไม่มีหน้าที่ทำธุรกรรมค่าเงินบาทเช่นโจทก์ที่1 โจทก์ที่ 2 จึง ไม่เป็นผู้เสียหายคดีนี้ ดังนั้น ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 185,953,740,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. 2541 แต่ดอกเบี้ยไม่ให้เรียกเงินเกิน 62 ล้านบาท ให้ใช้ค่าทนาย ความแก่โจทก์ 5 แสนบาท

ทนายเตรียมยื่นอุทธรณ์

หลังฟังคำพิพากษา นายนพดล หลาวทอง ทนายจำเลยเปิดเผยว่า ต้องยื่นอุทธรณ์ในประเด็นว่า จำเลยไม่ได้ประมาท โดยใช้ความระมัดระวังตลอดจนใช้ความรู้ความสามารถปกป้องเงินบาทตามหลักการ อีกทั้งใช้ดุลพินิจร่วมกันระหว่างผู้บริหารใน ธปท. โดยจะปรึกษากับนายเริงชัย ก่อน อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นการละเมิด จำเลยมีสิทธ์ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอไม่ให้เป็นบุคคลล้มละลายได้ และขอผ่อนชำระค่าชดใช้ตามคำพิพากษาของศาล

ด้านนายสงวน ตียะไพบูลย์สิน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีแพ่ง หัวหน้าทนายความโจทก์เปิดเผยว่า ถือว่า ธปท.เป็นเจ้าหน้าที่ตามคำพิพากษา จึงต้องขอบังคับคดีได้ทันที โดยจะขอศาลออกคำบังคับคดี หากจำเลยยังไม่วางเงินที่ต้องชำระแก่โจทก์ครบถ้วนตามคำพิพากษา ก็จะออกหมายบังคับคดีต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หากจำเลยจะอุทธรณ์ก็ต้องวางเงินชำระหนี้แก่โจทก์ และค่าธรรมเนียมโดยนำมาวาง ต่อศาล จึงจะยื่นอุทธรณ์ได้ แต่จำเลยก็ยังมีทางแก้โดยขอทุเลาคำบังคับ และของดการบังคับคดีได้ในระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไปก็ได้

สำหรับคดีที่นายเริงชัยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯ ธปท., ทุนรักษาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และนางทัศนี รัชตโพธิ์ อดีตผู้จัดการทุนรักษาอัตราฯ เป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 198,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งได้อ่านความเห็นของศาลปกครองกลาง หลังจากฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านโต้แย้งว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจการวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ พ.ศ. 2542

โดยศาลปกครองกลางสรุปว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ดังนั้นจึงให้โอนคดีไปยังศาลปกครอง ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ระหว่างศาล พ.ศ.2542 พร้อมทั้งแจ้งให้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลทราบและคัดสำเนาความเห็นส่งไปด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.