|
เกษตรกรร้องถูกซีพีหลอก
ผู้จัดการรายวัน(1 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
สรุปผลเอกซเรย์พิสูจน์กล้ายางตายเจอโรคเลื่อนรอแถลง 2 มิ.ย. แต่เบื้องต้นชี้เหตุเพราะภัยแล้ง ปชป. เสนอชื่อ "อาคม" เสริมทัพลุยทุจริตกล้ายางที่บกพร่องไม่โปร่งใสตั้งแต่ระดับนโยบายยันปฏิบัติ ตั้งปุจฉาสัญญาทาสรัฐฯ ทำได้อย่างไร จับตามอบต้นกล้าล็อตสองเจอยางตาสอยเพียบแน่ เย้ย "เนวิน" แนะชาวบ้านปลูกยางในดินทรายบอก หรือไม่จะไม่มีน้ำยาง ชี้ให้ระวังนักการเมืองหัวใสหวังขยายฐานเสียงจะหนุนชาวบ้านรุกป่าปลูกยาง "ไตร-รงค์" เอาแน่ลุยทุกโครงการกระทรวง เกษตรฯ ระบุชัดทุจริตล้วนๆ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตยางพันธุ์ดีบุกทำเนียบฯ ร้องรัฐพยุงราคากล้ายางและขอซื้อขายไม่ผ่านนายหน้า เผยเจอซีพีหลอกนำหลักฐานแปลงเพาะกล้าสวมสิทธิ์
นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเอกซเรย์พื้นที่ประสบความเสียหายจากการดำเนินโครงการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า จากเดิมกำหนดสรุปผลความเสียหายเกี่ยวกับการปลูกยางพาราของโครงการในวันที่ 31 พ.ค. นี้ แต่ทางเจ้าหน้าที่กำลังประมวลผลข้อมูลจึงเลื่อนการประชุมสรุปผลเป็นวันที่ 2 มิ.ย. นี้แทน
ด้านนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลทั้งหมดอยู่ แต่เท่าที่สรุปรายงานเบื้องต้นพบว่าสาเหตุการตายของกล้ายางนั้นส่วนใหญ่มาจากปัญหาภัยแล้ง
ปชป.ตั้ง "อาคม" ร่วมคุ้ยกล้ายาง
วันเดียวกันนี้ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการหารือของคณะทำงานด้านการเกษตรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดกรอบตรวจสอบโครงการทุจริตกล้ายางของกระทรวงเกษตรและสหรกรณ์ ซึ่งได้วางคนทำงานไว้เบื้องต้นคือ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานคณะทำงานฯ เป็นผู้ดูแลหลัก และให้นายวินัย เสนเนียม ส.ส.สงขลา นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช เป็นแกนนำในการตรวจสอบและมีทีมจากคณะทำงานอีก 9 คนนั้น ซึ่งที่ประชุมได้เสนอชื่อ นายอาคม เอ่งฉ้วน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานชุดตรวจ สอบ และเมื่อผลสรุปเป็นอย่างไรให้รายงานตรงต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายไตรรงค์ เป็นประธาน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างเป็นระบบ
นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานคณะทำงานด้านการเกษตรฯ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการหารือว่า คณะทำงานได้เก็บข้อมูลและติดตามโครงการนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยเฉพาะเพื่อตรวจสอบและนอกจากโครงการกล้ายางแล้ว ยังมีอีกหลายโครงการของกระทรวงเกษตรฯ ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ตรวจสอบและพบว่ามีปัญหาน่าสงสัยจะมีการทุจริตทั้ง เรื่องลำไย ข้าวหอมมะลิ พันธุ์ปลาของกรมประมง ฯลฯ จึงจะตั้งคณะทำงานศึกษาเฉพาะเรื่องต่อไป
ชี้ทุจริตทุกขั้นตอน
นายวินัย เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ที่พรรคฯ เสนอให้เป็นคณะทำงานคนสำคัญ กล่าวว่า จากที่ได้ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการปลูกยาง 1 ล้านไร่ พบว่ามีการทุจริตมากกว่าที่เป็นข่าวด้วยซ้ำ หากประชาชนรับรู้ข้อมูลทั้งหมดจะต้องตะลึงว่าทำไมถึงทุจริตกันได้ถึงเพียงนี้ เริ่มจากการฮั้วประมูล จนถึงการแจกจ่ายกล้ายางให้ชาวบ้าน ล้วนแล้วแต่มีความไม่โปร่งใส และล่าสุดเท่าที่ทราบกระทรวงเกษตรฯ พยายามจะโยนความผิดไปให้ปัญหาภัยแล้ง ทั้งที่เป็นเรื่องของการส่งมอบกล้ายางที่ไม่มีคุณภาพ ยางอายุน้อย รวมถึงการส่งมอบที่ล่าช้า ซึ่งทางพรรคประชาธิปัตย์จะได้ตรวจสอบเพื่อให้เห็นว่าโครงการนี้มีการบกพร่องมาตั้งแต่ระดับนโยบาย
"สิ่งที่ตนสงสัยคือก่อนหน้ากระทรวงเกษตรฯ แจ้งว่าจะมีการแถลงผลการเอกซเรย์ให้ประชาชนทราบในวันที่ 31 พฤษภาคม แต่ที่เลื่อนเพราะต้องการดูท่าทีต่อการประชุมของพรรคประชาธิปัตย์วันนี้หรือไม่" นายวินัยกล่าว
นายวินัยกล่าวว่า กระบวนการในการผลิตต้นกล้านั้นต้องใช้เวลาถึง 1 ปีเต็ม คือเป็นการชำเพาะ 8 เดือน และติดตาอีก 4 เดือน เพราะฉะนั้นเวลาในการส่งมอบกล้ายางไม่ทันแน่ จึงต้องมีการกว้านซื้อจากที่ต่างๆ จนกระทั่งขาดตลาด และเป็นที่มาของการทำยางสอย ซึ่งมีแน่นอนเพราะได้รับการร้องเรียนเข้ามามาก และในการส่งมอบล็อต 2 ที่จะมีขึ้นเร็วๆ นี้จะต้องมีปะปนไปอย่างแน่นอน แม้ว่ากรมวิชาการ เกษตรเองจะตรวจพบและคัดออกก็ตาม แต่เชื่อว่าทำได้ไม่ 100% เพราะมีจำนวนต้นกล้ามาก เมื่อหลุดรอดไปในแปลงของเกษตรกร ซึ่งกว่าจะตรวจพบก็อีก 7 ปีข้างหน้า เมื่อถึงตอนนั้นจะไปตามใครมารับผิดชอบ
"ตอนนี้เท่ากับว่าในทุกกระบวนการช้าไป 1 ปี เท่ากับผลผลิตที่ได้แทนที่จะเก็บเกี่ยวได้ในปี 7 กลับต้องเลื่อนไปเป็นที่ 8 นั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นนับรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าไร ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ และผมฝากไปถึงรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องนี้ด้วยว่า ท่านเคยบอกกับชาวบ้านหรือไม่ว่า การปลูกยางในดินทรายจะไม่ให้น้ำยาง" นายวินัยกล่าว
รัฐฯทำสัญญาทาสกับซีพี
ส.ส.สงขลา กล่าวด้วยว่า สัญญาที่ทำไว้กับบริษัทซีพีนั้น ดูจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทในหลายๆ จุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขการปรับรายวัน 0.01% นั้น มันน้อยเกินไปไม่สมน้ำสมเนื้อกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร ที่ต้องขาดรายได้ไปเป็นปี ซึ่งความจริงแล้วเงื่อนไขค่าปรับนั้นควรจะเขียนให้แตกต่างจากการซื้อขายอื่น ๆ เพราะชาวบ้านลงทุนปลูกยางต้องรอถึง 7 ปีกว่าจะได้ผลผลิต ความเสียหายที่เกิดขึ้นมามีมากและยังเสี่ยงต้นกล้าตายด้วย
ทั้งนี้ นายวินัยเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรฯ ที่จะให้ปลูกกล้วยแซมต้นยาง เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วง 7 ปี และต้นกล้วยยังช่วยให้ต้นกล้าสูงตรงลำต้นสวย แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าหากรัฐบาลประกาศให้ปลูกต้นกล้วยแซมทั้ง 1 ล้านไร่ ผลผลิตของกล้วยจะนำไประบายที่ไหน ได้มองตลาดรองรับไว้หรือไม่
แกนนำคณะทำงานตรวจสอบทุจริตกล้ายาง กล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะเตือนรัฐบาลคือ การส่งเสริมให้ประชาชนปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ จะเป็น การเปิดทางให้นักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือหาเสียง ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลสนับสนุนให้ชาวบ้านรุกที่ป่าสงวน เพราะพื้นที่ในการเพาะปลูกขณะนี้เริ่มมีจำกัดในส่วนของภาคใต้นั้นไม่สามารถขยายพื้นที่ได้อีกแล้ว
"การส่งเสริมปลูกยาง 1 ล้านไร่ ในวันนี้เห็นชัดเจนว่าเป็นการเอาใจเกษตรกร แต่ถ้าถามกลับไปว่าวันข้างหน้าหากความต้องการใช้ยางธรรมชาติลดลง และหันไปใช้ยางเทียมกันมากขึ้น ผลผลิตที่ได้มากระทรวงเกษตรฯ จะเอาไปขายที่ไหน ทางออกขณะนี้คือต้องจำกัดพื้นที่การเพาะปลูกบ้าง ที่พูดไม่ใช่อิจฉาคนภาคอีสาน แต่อยากให้มองประเด็นนี้ด้วย รัฐบาลอย่าดีแต่เอาคะแนนนิยมแต่ต้องคำนึงถึงอนาคตของคนไทยด้วย" นายวินัยกล่าว
เกษตรกรร้องรัฐฯพยุงราคากล้ายาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (31 พ.ค. 48) กลุ่มเกษตรกรผสมผสานผลิตยางตาเขียวบ้านลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กว่า 30 คน นำโดยนายซุ่น แซ่เอี้ยว ประธานกลุ่มผลิตกล้ายางพันธุ์ดี (ยางตาเขียว) บ้านลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เดินทางไปหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอพบคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยมีข้อเรียกร้องประกอบด้วย ขอให้รัฐบาลช่วยปัญหาราคา กล้ายางที่ตกต่ำ โดยขอให้พยุงราคากล้ายางตาเขียว จากราคา 3 บาท/ต้น เป็น 6 บาท/ต้น ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือในการขายกล้ายางให้โดยตรงไม่ต้องผ่านบริษัทหรือพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อกล้ายาง และขอให้รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้กับเกษตรกรเพื่อการกู้ยืม
นายธวัชชัย ไกลเทพ เกษตรกรผู้เพาะพันธุ์กล้ายาง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กล่าวว่า สาเหตุที่เกษตรกรต้องการให้รัฐบาล ช่วยพยุงราคากล้ายางเป็น 6 บาท/ต้นนั้น เนื่องจากในปัจจุบันเกษตรต้องแบกภาระต่างๆไว้สูงหลังจากที่ต้นทุนการผลิตขยับตัวและราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวขึ้น ซึ่งเกษตรกรขายต้นกล้าได้ในราคา 3.80 บาท ซึ่งถือว่าต่ำมาก รวมทั้งต้นทุนเดิมของปีที่ผ่านมาราคาอยู่ที่ 4 บาท/ต้น ดังนั้น เกษตรกรจึงเห็นว่า หากรัฐบาลช่วยประกันราคาราคากล้าพันธุ์ยางที่ดี ที่จำหน่ายจากแปลงเกษตรกร รวมทั้งควบคุมราคาสินค้าต้นทุน ซึ่งจะเป็น การช่วยเหลือเกษตรกรได้ทางตรง เพราะปีที่ผ่านมาก็มีการพยุงราคาให้กับเกษตรผู้ผลิตกล้ายาง แต่เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นก็ควรที่จะปรับให้
เผยเจอเล่ห์กลซีพีหลอก
นายธวัชชัย กล่าวว่า สำหรับการที่เกษตรกรต้องการให้รัฐบาล ช่วยเหลือในการขายกล้ายางโดยไม่ผ่านบริษัทที่รับซื้อนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทที่รับซื้อ เช่น บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือซีพี ได้ว่าจ้างในโครงการรายการแปลงเพาะพันธุ์ยาง โดยให้เพาะพันธุ์กล้ายางตาเขียว และให้เกษตรกรเพาะพันธุ์จำนวน 135 ราย แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับเงินจากพ่อค้า มีบางรายถูกหลอกให้นำหลักฐานที่ดินที่เพาะกล้ายางมาให้ แล้วอ้างว่าจะจัดสรรโควตาให้ตามความเป็นจริง แต่ปรากฏว่าเกษตรกรบางรายเป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ผู้ที่ทำการเพาะกล้ายางเป็นใครก็ไม่รู้ เช่นในพื้นที่ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง 99 ราย เนื้อที่เพาะปลูก 2 พันไร่ จำนวนกล้ายาง 20 ล้านต้น เป็นต้น
"เกษตรกรไม่มีกำไร เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นรายย่อย รวมกลุ่มกันปลูก 3-4 ไร่ แต่เมื่อบริษัทเอกชนเข้ามารับซื้อก็เกิดปัญหาอย่าง อ.ปะเหลียน ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ขนาดใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะการจ้างเจ้าของแปลงให้ปลูก แต่กลับมีชื่อคนอื่นเข้ามาสวมสิทธิแทน" นายธวัชชัยกล่าว
นายธวัชชัยกล่าวอีกว่า ส่วนที่เกษตรกรต้องการให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนเงินทุนเพื่อการกู้ยืม ก็เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและช่วยลดภาระหนี้สินเกษตรกร และเพื่อให้งานของกลุ่มขยายไปสู่วิสาหกิจชุมชน เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรต้องรับภาระหนี้ ต้นทุนที่สูงเกินควร ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ขายกล้ายางได้ในราคาต่ำ และบางรายขายไม่ได้เงิน และบางรายต้องรีบขายเพื่อนำมาชำระหนี้ ชำระดอกเบี้ยที่ไปกู้มา รวมทั้งพ่อค้าคนกลางฉวยโอกาสทำกำไร
ในประเด็นที่กลุ่มเกษตรกรพาดพิงถึงเครือซีพีข้างต้น "ผู้จัดการรายวัน" จะติดตามสัมภาษณ์ผู้บริหารซีพี เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงอีกครั้งในวันนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|