|
พันธมิตรคลังผวาทีพีไอพลิกชี้เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิปฎิเสธประชัย
ผู้จัดการรายวัน(31 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
“วายุภักษ์” ไม่มั่นใจสั่งมือกฎหมายเช็คผลกระทบหลังศาลสั่ง “ประชัย-ทุนจีน” หาเงินฟื้นทีพีไอมาแสดง อดีตอธิบดีศาลล้มละลายกลางชี้ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิปฎิเสธลูกหนี้ เตือนผู้บริหารแผนอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายหากศาลมีคำสั่งเห็นชอบกับประชัยภายหลัง ขณะที่กมธ.ปกครองวุฒิฯ ร่อนหนังสือเบรกคลังขายหุ้นทีพีไอ ติงควรรอศาลชี้ขาด ระบุหากไม่รอส่อเจตนาฮุบทีพีไอชัด ด้าน “สมคิด” ยันสิทธิโดยชอบธรรม เดินหน้าเซ็นเอ็มโอยู 1 มิ.ย. ต่อ ตราบใดที่ศาลไม่มีคำสั่งยกเลิกให้คลังเป็นผู้บริหารแผน
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี ในฐานะผู้บริหารกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 กล่าวถึงกรณีที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมและหรือผู้ค้ำประกันภาระหนี้ของลูกหนี้และบริษัทในเครือของลูกหนี้ทั้งหมด 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 1.08 แสนล้านบาท เพื่อขอชำระหนี้ดังกล่าวโดยมีกลุ่มซีติกกรุ๊ป (China International Trust and Investment Corp :Citic) จากจีนเป็นพันธมิตรว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ทีมที่ปรึกษาทางกฎหมายศึกษารายละเอียดว่าจะกระทบต่อการลงนามในข้อตกลงเบื้องต้น (เอ็มโอยู) ของกองทุนวายุภักษ์หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากองทุนวายุภักษ์ยังคงจะมีการเซ็นเอ็มโอยูร่วมกับพันธมิตรในวันที่ 1 มิถุนายนต่อไป เพราะแม้ศาลจะมีคำสั่งออกมาให้นายประชัยสามารถวางเงินที่ศาลได้ แต่กว่าที่เม็ดเงินจะเข้ามาวางในศาลต้องใช้เวลาพอสมควร
“เรากำลังศึกษารายละเอียดเพื่อให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย เพราะการเข้าลงทุนในทีพีไอของกองทุนวายุภักษ์ มีนโยบายคล้ายลงทุนในหลักทรัพย์ทั่วไป และมีความสมเหตุสมผลในการลงทุน”
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการลงทุนกองทุนรวมวายุภักษ์ มีมติเห็นชอบเข้าลงทุนในทีพีไอในสัดส่วนที่กระทรวงการคลังให้สิทธิไม่เกิน 10% ของหุ้นที่จัดสรรใหม่ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 6 พันล้านบาท
ในวันพุธที่ 1 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ กระทรวงการคลังในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจะลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัทปตท. พร้อมพันธมิตร ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนวายุภักษ์ และธนาคารออมสิน แต่หลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้นายประชัยและพันธมิตรใหม่จากจีนนำเงินมาวางเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวก็เกิดข้อสงสัยกันว่า จะส่งผลต่อแผนฟื้นฟูฯทีพีไอหรือไม่
**ชี้เจ้าหนี้ไม่สิทธิปฎิเสธลูกหนี้
นายพิชัย นิลทองคำ ผู้พิพากษาศาลอุธรณ์และอดีตอธิบดีศาลล้มละลายกลาง กล่าวว่า กรณีหากนายประชัยนำเงินมาวางไว้ที่ศาลเพื่อชำระหนี้จำนวน 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐดังกล่าว ตามกฎหมายแพ่งและพานิชย์ระบุ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิที่จะปฎิเสธการชำะหนี้ โดยเจ้าหนี้จะต้องรับเงินดังกล่าวซึ่งหากไม่รับจะมีความผิดตามกฎหมาย
ดังนั้นหากคลังยืนยันที่จะขายหุ้นให้พันธมิตรในวันที่ 1 มิ.ย. แล้วนายประชัยสามารถหาเงินจำนวนดังกล่าวมาชำระได้ในเวลาที่กำหนดไว้คือ 3 เดือน คลังในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ อาจจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ร่วมทุนรายใหม่ เจ้าหนี้ และลูกหนี้ได้ อาทิ บริษัทปตท. ซึ่งความเห็นส่วนตัว กระทรวงการคลังน่าจะชะลอเวลาการเซ็นสัญญาการขายให้พันธมิตรออกไปก่อนจนกว่าจะครบกำหนดที่นายประชัยยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง
"หากทีพีไอนำเงินมาวางไว้ที่ศาล เจ้าหนี้ต้องรับหากไม่รับถือว่าผิด เมื่อวางเงินไว้ที่ศาลแล้วถือว่าจบทีพีไอก็ออกจากศาลได้ และถ้าผู้บริหารแผนยืนยันที่จะทำงานต่อก็จะถือว่ามีความผิด"
**สว.ติงคลังควรรอศาล
นายคำนวณ เหมาะประสิทธิ์ ส.ว. อุตรดิตถ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการปกครองวุฒิสภา แถลงว่า ที่ประชุมกรรมาธิการมีมติให้ทำหนังสือถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รมว.กระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ระงับการทำสัญญาซื้อขายหุ้นทีพีไอ ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ไว้ก่อน เนื่องจากนายประชัยกับพวก 6 คน ได้ทำหนังสือถึงคลังเพื่อขอซื้อหุ้นคืนทั้งหมดในราคาหุ้นละ 5.50 บาท แต่กระทรวงการคลังได้เร่งตกลงขายหุ้นให้กับปตท. กบข. กองทุนวายภักษ์ 1 และธนาคารออมสินในราคาหุ้น 3.30 บาท ซึ่งคณะกรรมาธิการเห็นว่าควรรอให้ศาลล้มละลายกลางสั่งว่านายประชัยและพวก สามารถนำเงินมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ได้หรือไม่ หากศาลมีคำสั่งให้นายประชัยวางเงินชำระหนี้ได้ หุ้นทีพีไอก็จะตกเป็นของผู้ถือหุ้นเดิม
นายบุญเลิศ ไพรินทร์ ส.ว. ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า การกระทำของผู้บริหารแผนฯ ทีพีไอ ถือว่าไม่ให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มผู้บริหารลูกหนี้ เพราะคลังไม่คิดจะเข้ามาช่วยบริษัทฯ จริง แต่ต้องการที่จะเข้ามาฮุบทีพีไอซึ่งมีข้อสงสัยว่ารัฐต้องการขายรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ตลาดหุ้น แต่ทำไมในกรณีของบริษัทเอกชนถึงให้กองทุนของรัฐเข้าไปฮุบและกวาดซื้อหุ้นไป
**สมคิดยันเดินหน้าเซ็นMOU
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า แผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ จะยังคงเดินหน้าต่อไป โดยจะเดินไปตามแผนที่ได้วางไว้เพราะที่ผ่านมาศาลล้มละลายกลางเป็นผู้แต่งตั้งให้คลังเป็นผู้เข้ามาแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทีพีไอเดินหน้าไปได้ โดยได้แต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯขึ้นมาทำหน้าที่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดแล้ว ดังนั้นไม่ว่านายประชัยจะเคลื่อนไหวอย่างไร คลังก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้าต่อไป
ทั้งนี้ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ การเซ็นสัญญาซื้อขายหุ้นให้กับพันธมิตรร่วมทุนจะไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เข้ามาเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้องเลื่อนออกไปอีก ซึ่งคลังจะไม่ทำเรื่องร้องเรียนต่อศาลล้มละลายกลางในฐานะผู้บริหารแผน เพราะเชื่อว่าศาลมีดุลพินิจในการตัดสินเรื่องทุกอย่างได้เป็นอย่างดี และคลังเองไม่มีหน้าที่เข้าไปก้าวก่ายการพิจารณาของศาล ซึ่ง ณ ขณะนี้ศาลยังไม่มีคำตัดสินกรณีที่นายประชัยจะนำเงินมาชำระคืนเจ้าหนี้ ตามแผนการดึงพันธมิตรจีนเข้ามาร่วมทุนแต่อย่างใด
“ขณะนี้มีคนสนใจจะเข้ามาร่วมลงทุนเข้ามาหลายราย มี 4-5 รายที่ติดต่อเข้ามา แต่เรามองว่า เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาดูเรื่องเงิน แต่ต้องดูว่าทำอย่างไรให้ทีพีไอแข็งแรง ไม่ย้อนกลับไปสู่อดีตอีก ซึ่งผมไม่ได้มีความกังวลใดๆโดยผมคิดว่าศาลคงมีดำริของเขาเอง เราไม่ล่วงเกิน แต่เราก็จะไม่หยุดรอการวินิจฉัยใด และก็เชื่อว่าจะไม่มีอะไรเข้ามาสะดุด” นายสมคิดกล่าว
ด้าน นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา หนึ่งในคณะผู้บริหารแผนทีพีไอ กล่าวว่า คลังยังคงเดินหน้าที่จะลงนามสัญญาหุ้นทีพีไอให้กับพันธมิตร ซึ่งระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ โดยมีการกำหนดระยะเวลาในการชำระหนี้ขั้นต่ำอย่างน้อย 900 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในวันที่ 4 พ.ย. 2548 ซึ่งการทำสัญญาครั้งนี้ถือเป็นหน้าที่ต้องปฎิบัติ ส่วนนายประชัยในฐานะผู้ค้ำประกันได้ยืนคำร้องต่อศาลเพื่อจะขอชำระหนี้เป็นเรี่องที่ศาลจะต้องพิจารณา ตนเห็นว่าต่างคนต่างมีภาระที่จะต้องทำตามหน้าที่
การที่กระทรวงการคลังจะทำการขายหุ้นให้พันธมิตรในราคา 3.30 บาทต่อหุ้น ขณะที่ราคาบุ๊คเวลูในไตรมาส1/48 อยู่ที่ 2.88 บาท ซึ่งราคาเสนอขายสูงกว่าราคาบุคเวลู ขณะเดียวบริษัทปตท.และพันธมิตรรายอื่นยังมีภาระหนี้ที่ต้องอยู่ประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นกรณีที่มีการกล่าวหาว่าขายหุ้นในราคาถูก ก็ต้องขึ้นอยู่ที่การวินิจฉัยของแต่ละบุคคล
ทั้งนี้ที่ผ่านมาการแต่งตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารทีพีไอ ก็เป็นการริเริ่มจากศาล ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นฝ่ายเลือกและลูกหนี้ก็ไม่ได้เป็นฝ่ายเสนอ ทำให้เกิดอุปสรรคในการบริหารแผนอย่างมาก โดยจะต้องวางตัวเป็นกลางทำให้บางครั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้เกิดความไม่พอใจ จนเกิดการฟ้องร้องตามมา
**หุ้นทีพีไอเก็งกำไรสนั่น
ประเด็นการเคลื่อนไหวของทีพีไอ กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้หุ้นทีพีไอมีแรงเก็งกำไรเข้ามาอย่างหนาแน่ตลอดการซื้อขายวานนี้ท่ามกลางภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ดัชนีแกว่งตัวในกรอบแคบด้วยมูลค่าการซื้อขายที่เบาบาง 8.93 พันล้านบาท โดยดัชนีปิดที่ระดับ 668.20 จุด เพิ่มขึ้น 4.72 จุด หรือ 0.71% แต่มูลค่าการซื้อขายเกือบ 20% กระจุกอยู่ในหุ้น TPI
ทั้งนี้ หุ้น TPI ปิดที่ 14 บาท ลดลง 0.10 บาท หรือ 0.71% โดยระหว่างวันราคาสูงสุดอยู่ที่ 14.30 บาท และราคาต่ำสุดอยู่ที่ 13.90 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1.59 พันล้านบาท มูลค่าการซื้อขายสูงสุดอันดับ 1 โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์จากโบรกเกอร์หลายแห่งไม่ยอมที่จะแสดงความเห็นใด ๆ กับความเคลื่อนไหวของหุ้น TPI
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|