5 ปี SCC อู้ฟู่ 6.3 หมื่นล. "แอดวานซ์" รั้งที่ 2 ให้ความมั่งคั่งผู้ถือหุ้นสูงสุด


ผู้จัดการรายวัน(31 พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"สเติร์น สจ๊วต" จับมือ "มหิดล" เผยผลสำรวจบริษัทที่สร้างความมั่งคั่งแก่ผู้ถือหุ้นมากที่สุดใน 5 ปี ปูนซิเมนต์ไทยคว้าอันดับหนึ่งมั่งคั่ง หรือมูลค่าตลาดเพิ่มสูงสุด 63,000 ล้านบาท ตามด้วยแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กว่า 50,000 ล้านบาท ปตท.สผ. 36,000 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มแบงก์คว้าตำแหน่งสร้างความมั่งคั่งน้อยที่สุด เหตุ NPL จากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ถ้าอนาคตเศรษฐกิจดีหุ้นแบงก์กรุงเทพจะให้ผลตอบแทนดี ตามด้วยกลุ่มสื่อสาร กลุ่มบันเทิงและสันทนาการ เตรียมนำข้อมูลเผยแพร่ผ่านเว็บ ตลท. ไตรมาส 2/48 "อดิศร บิ๊กแลนด์แอนด์เฮ้าส์" ระบุถือเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดอ้างอิงการลงทุน

วานนี้ (30 พ.ค.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัท สเติร์น สจ๊วต (ประเทศไทย) และวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนานำเสนอมาตรวัดผลการสร้างความมั่งคั่งเพิ่มที่บริษัทสร้างให้แก่ผู้ถือหุ้น Wealth Added Index (WAI)

นายวรชัย เตชะไพบูลย์ ที่ปรึกษาบริษัท สเติร์น สจ๊วต (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและพัฒนาการจัดการ เปิดเผยว่า WAI เป็นมาตรวัดผลการสร้างความมั่งคั่งเพื่อที่บริษัทสร้างให้แก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งริเริ่มโดย บริษัท สเติร์น สจ๊วต แอนด์โค เป็นเครื่องมือช่วยที่นักลงทุนสถาบันชั้นนำในการจัดผลงานการสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่จะเข้าไปลงทุน และยังเป็นเครื่องประเมินผลงานของผู้บริหารของบริษัทนั้น

"Wealth Added" หรือความมั่งคั่งเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้น จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน ทั้งในรูปของมูลค่าตลาดที่เพิ่มขึ้น และในรูปของเงินปันผล ไม่รวมมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มทุน โดยมูลค่าที่ได้รับต้องมากกว่าต้นทุนของเงินทุนหรือค่าเสียโอกาสที่ผู้ถือหุ้นควรจะได้รับในการลงทุน ต้นทุนเงินของผู้ถือหุ้นในแต่ละบริษัทจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละบริษัท คือ ความเสี่ยงจากธุรกิจของแต่ละอุตสาหกรรม (Business Risk) และความเสี่ยงจากการกู้ยืม (Leverage Risk)

สำหรับผลสำรวจการวัดความมั่งคั่งให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจำนวน 150 บริษัท ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2543-2547 พบว่า บริษัทที่สร้างความมั่งคั่งมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC สร้างความมั่งคั่งจำนวน 63,203 ล้าน บาท, 2.บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส 50,059 ล้านบาท, 3. บริษัท ปตท.สำรวจและปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP 36,711 ล้านบาท, 4. บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH 32,625 ล้านบาท, 5. บริษัท บ้านปู 16,004 ล้านบาท

6.บริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF 9,075 ล้านบาท, 7. บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)หรือ DGH 8,024 ล้านบาท, 8. บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA 7,405 ล้านบาท, 9. บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชันแนล จำกัด (มหาชน) หรือ ICC 6,334 ล้านบาท และ 10.บริษัท ไทยสแตลเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY 5,999 ล้านบาท

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการสร้างความมั่งคั่งแก่ผู้ถือหุ้นมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง โดยผู้นำกลุ่มคือ SCC , กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค ผู้นำกลุ่มคือ PTTEP และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ส่วนอุตสาหกรรมที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้ถือหุ้นน้อยที่สุด คือ กลุ่มธนาคาร เนื่องจากในปี 2540 ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ที่มากู้ยืมเงินไม่มีความสามารถชำระหนี้จึงเกิดเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการปรับโครงสร้างทางการเงิน โดยเชื่อว่าอนาคตหากเศรษฐกิจดีก็จะทำให้กลุ่มนี้ให้ผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุน เช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กลุ่มสื่อสาร เนื่องจากธุรกิจมีการแข่งขันที่สูง และกลุ่มบันเทิงและสันทนาการ เพราะที่ผ่านมาธุรกิจไม่โต

นอกจากนี้พบว่ายังมีอีก 60 บริษัท ที่สร้างผลตอบแทนสูงกว่าต้นทุนเงินทุนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยคาดว่าภายในไตรมาส 2/2548 จะนำข้อมูลที่มีการคำนวณดังกล่าวเข้าไปบรรจุเป็นข้อมูลใน www.setsmart.com และ www.settrad.com และจะมีวิธีการคำนวณให้ WAI

อย่างไรก็ตาม มาตรวัดดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์โดยนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไปที่มีระยะเวลาการลงทุนอยู่ในระดับกลางถึงยาว โดยจะช่วยให้สามารถคำนึงถึงความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ควรจะได้รับจากการลงทุนในแต่ละบริษัท ให้ทราบว่าที่ผ่านมาบริษัทใดสามารถสร้างความมั่งคั่งเป็นอย่างไร ทีมผู้บริหารสามารถจัดการได้ดี หรือไม่ซึ่งมาตรวัดนี้จะเป็นการช่วยกระตุ้นผู้บริหารด้วยว่าเงินที่ผู้ถือหุ้นลงทุนไว้ต้องได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโอกาสที่ควรจะได้รับ

โดยมีสูตรในการคิดคือ ความมั่งคั่งเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้น = มูลค่าตลาดเพิ่ม+เงินปันผล-เงินที่ได้จากการเพิ่มทุน-ต้นทุนทางการเงิน
มูลค่าตลาดเพิ่ม = มูลค่าตลาดเมื่อสิ้นสุด-มูลค่าตลาดเมื่อเริ่มต้น
ต้นทุนเงิน = มูลค่าตลาดเมื่อเริ่มต้น x อัตราต้นทุนเงินทุนของผู้ถือหุ้น

นายอดิศร ธนนันท์นราพูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH กล่าวว่า WAI ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้เป็นตัวอ้างอิงในการลงทุนที่ดีที่สุดมากกว่าเครื่องมือชนิดอื่นที่สามารถมีการคำนวณได้อย่างครอบคลุม แต่ก็ไม่สามารถที่จะสะท้อนผลในด้านจิตวิทยาทั้งหมด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.