10 ปีก่อน แกรมมี่สร้างประวัติศาสตร์วงการเพลง ด้วยการเปลี่ยนแนวดนตรีพร้อมเสนอเนื้อหาสาระไปในเพลง
เปลี่ยนกลอนแปดเป็นกลอนเปล่า เปลี่ยนหูคนฟังที่เริ่มยอมรับดนตรีแนวตะวันตกมากขึ้น
เปลี่ยนการจัดจำหน่ายโดยใช้ระบบตลาดที่เป็นมาตรฐานเข้ามาช่วย การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้รับการยกย่องจากคนในวงการว่า
เป็นผู้ปฏิวัติวงการเพลง ปีที่ 11 กำลังจะมาถึง แกรมมี่กำลังจะเปลี่ยนแปลงอีกเช่นกัน
ทว่าในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจาก 10 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิงนั่นคือ
เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่วงการเพลง นั่นเพราะแกรมมี่หมดน้ำยา… จริงหรือ?
"ใครไม่เกี่ยวก็ถอยไป" สิ้นเสียงเพลงของขจรศักดิ์ รัตนนิสัย
ศิลปินใหม่ล่าสุดของแกรมมี่ที่ออกแสดงคอนเสิร์ตในอัลบัมชุด "สงวนลิขสิทธิ์"
เมื่อก่อนสิ้นปี 36 ที่ลานโลกดนตรีช่อง 7 สี น่าจะเรียกเสียงกรี๊ดจากผู้ฟังสนั่นลั่นเวที
เหมือนเช่นศิลปินคนอื่นๆ ในค่ายเดียวกันได้ ทว่าวันนั้นมีเสียงกรี๊ดเล็กๆ จากสาวๆ ที่เกาะหน้าเวทีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น นอกจากนี้คิวคอนเสิร์ตต่างจังหวัดที่คาดว่าจะมีการจองเข้ามาอย่างเนืองแน่น
ในฐานะศิลปินใหม่สไตล์วัยรุ่นก็กลับไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่คาดคิด หรืออัลบัมของวสุ
แสงสิงแก้วในชื่อ "จิ๊บกับนายวสุ" ก็ไม่เป็นที่ฮือฮา เมื่อเทียบกับศิลปินหน้าใหม่ของค่ายอาร์เอส
เช่น "บอยสเก๊าต์" หรือ เต๋า เข็มกลัด" โดยเฉพาะบอยสเก๊าต์
ยอดขายอัลบัมชุดแรกพุ่งเกือบล้านตลับในขณะที่ขจรศักดิ์ กับจิ๊บวสุกลับเป็นพลุด้าน
คำถามจึงมีอยู่ว่า เกิดอะไรขึ้น?
อัลบัมชุดซน 1 และซน 2 เป็นแคมเปญพิเศษเพื่อฉลองครบรอบ 10 ปีแกรมมี่นั้น
ว่ากันว่าไม่ค่อยเป็นที่ประทับใจบรรดาแฟนเพลงสมกับที่ตั้งใจคอย ส่วนคริสติน่า
อากีลาร์ ออกอัลบัมใหม่ชุด "รหัสร้อน" โชว์ทำนอง DANCE MUSIC ซึ่งเป็นจังหวะเต้นรำใหม่ที่เริ่มได้รับความนิยมกันมากโดยเฉพาะในหมู่แขก
ก็ดูเหมือนจะเป็นการรีบร้อนออกเพื่อไล่กวดตลาดให้ทัน เหตุเพราะกลัวค่ายอื่นๆ ชิงตลาดไปหมดในทำนองที่คล้ายๆ กัน …ใช่หรือไม่?
จะว่าไปแล้วทำนองเพลงชุดใหม่ของคริสติน่านี้ คล้ายเหมือนอัลบัมชุดเมกาแด๊นซ์ของค่ายนิธิทัศน์
ซึ่งมีดอน สอนระเบียบ ก้อย และกุ้ง ตวงสิทธิ์เป็นผู้ร้อง และหากจะค้นไปหาต้นตอของการแพร่ระบาดแนวดนตรีทำนองนี้
ซึ่งกำลังเร่าร้อนและฮิตสุดขีด กลับพบว่ามีต้นตอมาจากค่าย "ออนป้า"
ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยมีค่ายสมาร์ทบอมบ์นำแนวดนตรีนี้มาทำก่อนในอัลบัมของอัญมณี
จนได้รับการตอบสนองจากผู้ฟังเท่าที่ควร ซึ่งหากจะกล่าวว่าทำนองเหล่านี้ล้วนลอกเลียนแบบมาจากเพลง
BROKEN HEART WOMEN หรือ CAN'I HELP FALLING IN LOVE อย่างไม่มีผิดเพี้ยน
ก็ไม่น่าจะผิดไปจากความเป็นจริง
คำถามจึงมีอยู่ว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ยอดขายของอัลบัมชุดซน อันเป็นแคมเปญพิเศษนี้ทางแกรมมี่คาดการณ์ว่า จะได้รับความนิยมจากตลาดอย่างมากมาย
มีการตั้งเป้าหมายเอาไว้สูง แต่ผลที่ออกมายอดขายไปได้เพียงครึ่งหนึ่งของเป้าหมายเท่านั้น
หมายความว่าอัลบัมชุดซนซึ่งเป็นทีเด็ดครบรอบ 10 ปียังไปไม่ถึงดวงดาว แล้วอัลบัมชุดอื่นๆ จะเป็นเช่นไร
"อัลบัมหลายชุดของแกรมมี่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ กำลังถึงยุคเสื่อมสลาย
หรือจุดอับแสงเข้าทุกที อัสนี-วสันต์ชุดล่าสุดขายไม่ออก เพลงไม่ติดหู แอมพอไปได้
ไมเคิล หว่อง เคลื่อนไหวช่วงแรกแล้วก็หยุด ใหม่กับเจเป็นตัวเด่น ยอดขายเดินเรื่อยๆ ศรัณย่าได้นิดหน่อย ส่วนขจรศักดิ์กับจิ๊บวสุไม่ต้องพูดถึง ไม่มีการถามหา
ตกม้าตายไปตั้งแต่เริ่มออกแล้ว ซึ่งการดูว่าอัลบัมแต่ละชุดจะขายได้หรือไม่นั้น
ประมาณ 1 เดือนหลังจากวางตลาดและโปรโมทอย่างหนักมาแล้ว ก็จะรู้ผลทันที"
แหล่งข่าวในวงการเทปรายใหญ่คนหนึ่ง แสดงทรรศนะถึงความเคลื่อนไหวของสินค้าเทปค่ายแกรมมี่
การเติบโตของแกรมมี่มีวัฏจักรเหมือนอโซน่าในอดีตที่ดังสุดขีดเป็นขาใหญ่ของวงการ
แต่อโซน่าก็ดังอยู่ได้ไม่นาน ในที่สุดก็ดับลง โดยมีค่ายนิธิทัศน์เข้ามาดับรัศมีความยิ่งใหญ่ของอโซน่าได้สำเร็จ
สามารถลบชื่ออโซน่าให้ตกไปจากเวทีอันดับ 1 ได้ นิธิทัศน์ครองบัลลังก์เวทีแชมป์หลายสมัยเอาชนะใจคนฟังได้ยาวนานพอสมควร
จนกระทั่งในปี 2531 ชื่อของแกรมมี่ก็ถูกจารึกไว้ในวงการธุรกิจเทปว่าสามารถล้มนิธิทัศน์
ขึ้นไปยืนอยู่บนแป้นอันดับ 1 ของวงการได้อย่างงดงาม (ซึ่งในช่วงปี 2531 นี้เป็นช่วงที่แกรมมี่เริ่มทำตลาดเทปด้วยตนเอง)
นักการตลาดท่านหนึ่งกล่าวว่า แกรมมี่เคยรุ่งเรืองสุดขีดเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นจุดสูงสุดยอดที่สุดแล้ว แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ อาจเรียกได้ว่าแกรมมี่เริ่มตกต่ำลงก็คงไม่ผิดนัก
นักฟังเพลงโดยเฉพาะตลลาดวัยรุ่นซึ่งเป็นตลาดของแกรมมี่โดยเฉพาะ และเป็นตลาดที่สร้างขึ้นมาเองเริ่มลดความนิยมลง
โดยตลาดกลุ่มนี้หันไปฟังเพลงของค่ายอื่นแทน
"เมื่อ 5 ปีก่อน แกรมมี่โชคดี ได้เบิร์ดเข้ามาในสังกัด อัลบัมแต่ละชุดของเบิร์ดมียอดขายเกินเป้าหมาย
และชุดล่าสุดก่อนที่เบิร์ดจะหยุดการออกอัลบัมนั้น สามารถทำยอดขายได้ถึง 1.5
ล้านตลับ ซึ่งเป็นยอดขายสูงสุด อัสนี-วสันต์ได้ล้านตลับ แม้แต่เจชุดแร้บก็ได้
8 แสนตลับ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ยังไม่เคยมีใครทำได้ล้านตลับอีกเลย ยอดขายที่ได้เหล่านี้นับว่าแกรมมี่ประสบความสำเร็จสูงสุด
ณ ปีนั้น แต่ 2 ปีที่ผ่านมานี้อัลบัมส่วนใหญ่ไม่ได้ตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นคริสติน่า
นูโว ไมโคร อัสนี-วสันต์ แอม หรือนันทิดาเป็นต้น ยอดขายที่พอไปได้ดีจะมีก็แต่ใหม่และเจที่เป็นตัวชูโรงให้เท่านั้น
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา"
อย่างไรก็ตามทั้งเจและใหม่ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ว่ากันว่าทั้งคู่กำลังจะหมดสัญญากับแกรมมี่
หากดาวเด่นทั้งคู่ของแกรมมี่ในขณะนี้ผละจากไปเหมือนที่ฐิติมา สุตสุนทร หรือ
บิลลี่ โอแกนเคยเดินออกไปแกรมมี่จะทำอย่างไร
คำถามที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่นักฟังเพลงต้องการคำตอบจากแกรมมี่ ทว่าผู้ที่ต้องการคำตอบมากที่สุดในเวลานี้คือ
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้บริหารสูงสุดของแกรมมี่นั่นเอง หรือว่าการแตกแขนงบริษัทในเครือภายใน
2 ปีได้กว่า 10 บริษัทที่เกิดขึ้น จะเป็นการกาคำตอบของไพบูลย์อยู่ในขณะนี้!!!
แกรมมี่ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2526 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 แสนบาท และหลังสุดได้เพิ่มทุนเป็น
25 ล้านบาทเมื่อปี 2533 การก่อตัวในขั้นต้นนั้น ไพบูลย์เล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟังว่า เขามีความตั้งใจที่จะเข้าไปทำรายการทีวีอันเป็นความถนัดและความชอบ
โดยมีการทำธุรกิจเทปเพลงเข้ามาเสริม ซึ่งการทำธุรกิจเทปเพลงของแกรมมี่ในช่วงแรกเป็นลักษณะโปรโมทเทปให้กับทุกค่าย
จนกระทั่งได้พบกับเรวัติ พุทธินันท์ ซึ่งก่อนหน้าที่จะได้ร่วมกันก่อสร้างแกรมมี่ขึ้นมา
เรวัติได้นำเสนอแนวเพลงดนตรีตะวันตก เที่ยวเร่ขายให้ค่ายต่างๆ หลายค่าย
แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
เรวัติเล่าว่า ก่อนนี้เขาเป็นนักดนตรีที่ฮาวายซึ่งเป็นที่ที่ดีที่สุดของผู้มีอาชีพนักดนตรี
เพราะเป็นแหล่งรวมเกี่ยวกับธุรกิจดนตรี เขาใช้เวลา 1 ปีที่นี่ ตอนนั้นเรวัติอายุเพียง
24 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นเขาก็ย้ายไปอยู่ที่ยุโรป ไปเป็นนักดนตรีอยู่ที่นั่นโดยใช้ชื่อวง
"ดิ อิมพอสซิเบิล" ทัวร์ไปรอบยุโรป ส่วนใหญ่จะเล่นในดิสโก้ เธคและไนท์คลับ
ขณะที่อยู่ในยุโรป เขาได้ซึมซับวิธีการทำธุรกิจดนตรีตะวันตกมามาก และเมื่อกลับมาเมืองไทยจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้เขาคิดที่จะทำธุรกิจดนตรี
ความคิดของเรวัติขณะนั้นคือ เมืองไทยยังมีบริษัทเทปที่ไม่กระจาย การตลาดไม่พัฒนา
กระจุกตัวอยู่แต่ใน กทม. และมีความเป็นแนวเพลงลูกทุ่งเยอะไม่มีใครมองแนวร็อค
หรือแนวป๊อบแบบที่เขามอง
"ผมกับเรวัติมีความคิดที่ตรงกันในเรื่องของแนวเพลงและการทำธุรกิจ
ซึ่งจะต้องมีการตลาดนำ เรวัติมองว่าดนตรีในเมืองไทยน่าจะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต
และมีแนวโน้มที่จะออกไปสู่นานาชาติได้เพราะดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม
และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเหมือนอาหารและเสื้อผ้า ดนตรีก็มีการพัฒนาตามวิถีชีวิต
สะท้อนให้เห็นว่าโลกเล็กลงทุกวัน สื่อกันได้ทั่วโลก หากแนวความคิดเช่นนี้ผสมผสานกันระหว่างความเป็นนักโฆษณา
และการตลาดแกรมมี่ก็น่าจะไปได้สวย" ไพบูลย์กล่าว
แกรมมี่เริ่มต้นฉายแววไปได้สวยจากศิลปินคนแรกของเขาคือ พญ. พันทิวา สินรัชตะนันท์
ตามด้วยชุดของเรวัติ พุทธินันท์ ซึ่งแนวเพลงเป็นการเล่าเรื่องราว ไม่มีสัมผัสเหมือนเพลงยุคก่อนๆ ทั้ง พญ. พันทิวาและเต๋อ 1 เต๋อ 2 ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ตามด้วย นันทิดา
แก้วบัวสาย ฐิติมา สุตสุนทร บิลลี่ โอแกน ชรัส เฟื่องอารมณ์ เป็นต้น
ณ วันนี้แกรมมี่มีศิลปินในสังกัดมากมาย ทั้งใหม่และเก่า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นศิลปินที่มีคุณภาพมากพอๆ กับแกรมมี่มีโปรดิวเซอร์มือดีอยู่ในมือมากมายเช่นกัน บุคลากรเหล่านี้ล้วนผลิตผลงานให้กับแกรมมี่
โดยผ่านการกรองก่อนออกสู่สาธารณชนจากเรวัติและไพบูลย์ทั้งสิ้น
หากย้อนไปพิจารณาการโปรโมทศิลปินในชุดแรกของเขา ไพบูลย์ใช้ความเป็นนักการตลาดและนักโฆษณาเข้าช่วย
โดยการเป็นผู้ริเริ่มทำมิวสิควิดีโอ เผยแพร่ทางทีวีเป็นค่ายแรก สินค้าจากค่ายแกรมมี่จึงประสบความสำเร็จ
และมีการพัฒนาคุณภาพของงานเพลงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำดนตรี เนื้อหาของเพลง
บุคลิกของศิลปินและการทำมิวสิควิดีโอ
โดยเฉพาะมิวสิควิดีโอนั้น ว่ากันว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการเป็นผู้ริเริ่มเป็นรายแรกของวงการ
ในการทำมิวสิควิดีโอเพื่อโปรโมททางทีวีตั้งแต่ครั้งนั้น ทำให้ค่ายอื่นๆ
ต้องโดดลงมาเล่นเต้นตามเพลงทำมิวสิควิดีโอโปรโมทเพลงไปกับแกรมมี่ด้วย
"การเป็นผู้ริเริ่มในการทำสิ่งใหม่ย่อมทำได้ง่ายพอๆ กับการได้ขึ้นเป็นสุดยอดของวงการ
แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือ การที่จะต้องเป็นผู้ริเริ่มไปให้ได้ตลอดในการเป็นผู้นำ
ไม่ใช่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ซึ่งเป็นความยากพอๆ กับการรักษาระดับสุดยอดให้คงอยู่ดังเดิม
ก็เหมือนกับแกรมมี่เมื่อมาใหม่ริเริ่มทำสิ่งใหม่ คนตื่นตัว แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วเขาเริ่มไว้อย่างไร
ณ วันนี้ แกรมมี่ก็ยังคงเป็นอยู่เช่นนั้น เหมือนกำลังหยุดนิ่งอยู่กับที่
หรือเหมือนกำลังอยู่ในวังน้ำวน หาหนทางออกไม่เจอ และคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าขณะนี้แกรมมี่ไม่มีอะไรใหม่
เป็นแต่เพียงพัฒนาเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ไปอีกนานละก้อ แกรมมี่จะยังคงรักษาระดับสูงสุดของวงการเอาไว้ไม่ได้อย่างแน่นอน"
คนในวงการแสดงทรรศนะด้วยความเป็นห่วงเป็นใย"
ทรรศนะดังกล่าวสอดคล้องกับนักการตลาดท่านหนึ่ง ซึ่งวิเคราะห์สถานะของแกรมมี่ในปัจจุบันว่าไม่ต่างอะไรจากเมื่อแรกตั้ง
ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของไพบูลย์ ที่ยังคงต้องเป็นกระบี่มือหนึ่งของแกรมมี่หรือผู้ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย
หรือผลงานเพลงที่ออกสู่ตลาด ณ วันนี้ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
10 ปีที่ผ่านมาจึงดูไม่ยิ่งใหญ่อย่างที่คิด ปีที่ 11 จึงกลายเป็นการสร้างภาพลวงตาให้สาธารณชนเชื่อถือในความยิ่งใหญ่ของตนเอง
ปัญหาในขณะนี้ของแกรมมี่คือ 1. แกรมมี่ไม่มีศิลปินใหม่ในมือ หรือมีศิลปินใหม่แต่เพลงไม่ส่งก็ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด
2. โปรดิวเซอร์เก่งๆ ออกไปจากแกรมมี่หลายคน ส่วนที่เหลืออยู่ก็เริ่มวนหาจุดยืนไม่ได้
3. การวางโปรโมชั่นอัดเต็มแรงเกิดเพื่อให้อัลบัมชุดนั้นดังติดหูคนฟัง เช่นชุดของมอสซึ่งไม่เป็นที่ประทับใจวัยรุ่นดังคาด
ในขณะที่แกรมมี่ต้องเสียค่าโปรโมทไปกว่า 10 ล้านบาท ยอดขายที่ได้กลับมาไม่ถึง
1.5 แสนตลับซึ่งถือเป็นมาตรฐานของจุดคุ้มทุนในการทำเพลงแต่ละอัลบัมของศิลปินหน้าใหม่
แม้ว่าแกรมมี่จะมีสื่อของตนเอง อย่างไรก็ตามหากคิดตามหลักการตลาดแล้ว การรับภาระค่ามีเดียที่ถือไว้อยู่ในมืออย่างมากมาย
ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ฉุดรั้งการเติบโตขององค์กรให้เดินผิดแนวหรือหยุดอยู่กับที่ได้เช่นกัน
โดยทั่วไปการทำธุรกิจเทปประสบความสำเร็จได้อยู่ที่ปัจจัยสำคัญ 4 ประการคือ
1. ศิลปิน 2. โปรดิวเซอร์ 3. โปรโมชั่น 4. การวางตลาด แกรมมี่จะประสบความสำเร็จได้เพราะมีทั้ง
4 ปัจจัยประกอบและพัฒนาคุณภาพของปัจจัยทั้ง 4 ดังกล่าวตลอดเวลาหรือไม่
คำตอบนี้คือใช่เมื่อ 5 ปีก่อน และไม่ใช่ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แหล่งข่าวในวงการต่างวิเคราะห์กันว่า
ถึงเวลานี้ก็นับว่าแกรมมี่เริ่มสอบตกหากยึดเอา 4 ปัจจัยเป็นหลัก ในการพิจารณา
ในขณะที่ไพบูลย์แย้งว่า
"เรามีพัฒนาการทั้ง 4 ปัจจัยไม่ว่าจะเป็นตัวศิลปิน โปรดิวเซอร์ การโปรโมทหรือการวางตลาดก็ตาม"
ไพบูลย์ยืนยันเช่นนั้น เพราะปัจจัยทั้ง 4 ต่างมีผู้รับผิดชอบตามหน้าที่ เช่นการตลาด
เอ็มจีเอจะเป็นผู้วิเคราะห์สถานการณ์หรือประเมินตลาด สรุปแนวโน้มเพื่อป้อนให้กับฝ่ายผลิต
หรือฝ่ายโปรโมชั่น โปรดิวเซอร์และศิลปินจะมีเรวัติเป็นผู้ดูแล หรือแม้แต่คุณภาพของเพลง
แกรมมี่ก็ได้มีการพัฒนาคุณภาพมาโดยตลอด
เพราะเหตุแห่งการพัฒนาคุณภาพของผลงานเพลงนี่เอง ได้กลายเป็นคมดาบคืนกลับมายังแกรมมี่
ไพบูลย์และเรวัติเป็นผู้มีความสามารถ เขามีความต้องการที่จะพัฒนาผลงานเพลงออกมาให้ได้คุณภาพ
จนลืมนึกไปว่า ตลาดที่ตนเองสร้างไว้แต่แรกนั้นคือตลาดแนวเพลงแบบเรียบง่าย
ฟังโดยไม่ต้องคิดเป็นคำพูดที่ตรงๆ และนำมาพูดเล่นติดปากกันตลอดเวลา แม้ว่ากลุ่มเป้าหมายแรกของตนเองจะโตขึ้นหรือกลุ่มเป้าหมายใหม่เข้ามาแทน
ก็ไม่ได้หมายความถึงความเปลี่ยนแปลงรสนิยมในการฟังเพลง หูคนฟังไม่ได้พัฒนาคุณภาพตามเพลง
หากกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงรสนิยมการฟังให้เหนือกว่าระดับเดิม
นั่นหมายความว่า พวกเขาจะต้องเปลี่ยนแนวหรือสไตล์ไปโดยสิ้นเชิง
สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ผลงานเพลงของขจรศักดิ์ ที่ออกสู่ตลาดนั้น
เป็นการพัฒนาคุณภาพของเนื้อหาและท่วงทำนอง ซึ่งความต้องการของแกรมมี่คือพัฒนาเพลงสำหรับวัยรุ่นให้มีระดับเพิ่มขึ้น
ไม่ใช่ฟังง่ายเพียงกลองดังประโคมลั่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และนี่เองคือคำตอบที่ว่า
ทำไมวัยรุ่นจึงคลั่งไคล้บอยสเก๊าต์ นักร้องวัยรุ่นค่ายอาร์เอสที่มีบุคลิกแบบปอน…ปอน
ปนคิขุอโนเนะหรือเต๋า เข็มกลัดมากกว่า ขจรศักดิ์ หรือจิ๊บวสุเสียอีก
จะว่าไปแล้วหากพิจารณาการเจริญเติบโตของแกรมมี่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้น่าจะเป็นการเจริญเติบโตอย่างมีระบบ
ภายใต้การกำหนดนโยบายและการวางแผนอย่างมีหลักการ แต่ในความเป็นจริงแกรมมี่ไม่มีระบบที่แน่นอนตายตัวตามหลักสากล
ไม่มีการกำหนดนโยบายที่เป็นรูปแบบชี้เฉพาะและไม่มีการวางแผนล่วงหน้า
แกรมมี่เติบโตภายใต้การบริหารงานและการตัดสินใจของไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทแต่เพียงผู้เดียว
ซึ่งเรื่องนี้ไพบูลย์ยอมรับว่าเขาเป็นผู้ตัดสินใจในทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องงานเพลงเป็นหน้าที่ของเรวัติจะเป็นผู้ตัดสินใจ
เขาไม่มีระบบการบริหารแบบสากลเข้ามาช่วยเช่นบริษัทอื่นๆ และไพบูลย์เองก็เชื่อว่าในทุกค่ายเพลงหรือในวงการธุรกิจเทปเพลงด้วยกันแล้ว
ไม่มีค่ายใดที่มีระบบการบริหารงานแบบสากล ทุกค่ายล้วนมีนายคนเดียวเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ
ไม่ว่าจะเป็น อาร์เอสซึ่งบริหารโดยสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ นิธิทัศน์ โดยวิเชียร
อัศว์ศิวะกุล หรือค่ายเล็บโซ่น้องใหม่แห่งวงการเพลงก็เห็นมีวิศาล เลาแก้วหนู
เป็นผู้ตัดสินใจอยู่คนเดียว เป็นต้น
นั่นหมายความว่า แกรมมี่โตขึ้นมาได้อย่างไร้ระบบ และการแตกแขนงออกเป็นกว่า
10 บริษัทของแกรมมี่ (ดูรายละเอียดบริษัทในเครือจากผังโครงสร้าง) ก็เป็นการแตกแขนงแบบไร้กระบวนท่าเช่นเดียวกัน
จะว่าไปแล้วการแตกแขนงของบริษัทในเครือทีเดียวหลายบริษัทในเวลาที่ไล่เลี่ยกันนี้
นับว่าเป็นประเด็นที่น่าพิจารณาลงไปลึกๆ อยู่ไม่น้อย
อย่างไรก็ตามนับจากนี้ต่อไป แกรมมี่จะไม่มีแม่ทัพคือไพบูลย์เพียงคนเดียวในการนำทัพแบบรวมศูนย์อีกต่อไป
เพราะขณะนี้แกรมมี่ได้แบ่งแยกกระบวนทัพแตกแขนงออกไปหลายขบวน ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องมีขุนพลนำทัพแต่ละเหล่าแต่ละฝ่าย
เพื่อไปให้บรรลุถึงเป้าหมาย เช่น เอ็มจีเอ มีเรวัติ เป็นผู้นำ แกรมมี่ไดเร็ค
มี สาธินี โมกขเวช เป็นผู้นำเป็นต้น
การปรับกระบวนทัพแต่งหน้าตาใหม่ของแกรมมี่ให้เป็นระบบมาตรฐาน การบริหารงานครั้งนี้ว่ากันว่าเป้าหมายลึกๆ ก็เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ในการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้ได้
ขณะเดียวกันก็เป็นทางออกทางหนึ่งของแกรมมี่ ในการขยายกิจการเพื่อหาหลักที่มั่นหลักต่อไป
นอกเหนือจากธุรกิจเพลงซึ่งนับวันจะเป็นธุรกิจที่ทำยากมากขึ้นทุกวัน อันมีสาเหตุมาจากความเห็นของเรวัติที่ว่า
โลกเล็กลง สามารถสื่อกันได้เร็ว หมายความว่า การมีเคเบิล มีดาวเทียม ทำให้ผู้ฟังมีหนทางเลือกมากกว่าเดิม
การป้อนเพลงฝรั่งเข้าสู่ตลาดเมืองไทย จะทำให้เพลงฝรั่งเหล่านี้กลับเข้ามาติดตลาดเมืองไทยอีกครั้ง
เหมือนเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
นอกจากนี้มูลค่าตลาดเทปเพลงในปัจจุบันซึ่งอยู่ระหว่าง 2,500-3,000 ล้านบาทต่อปีนั้นปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง
เทปเป็นสินค้าที่มีอายุสั้น หมายความว่าตลาดจะมีการเคลื่อนไหวนับจากอัลบัมชุดใหม่ออกวางตลาดไม่เกิน
6 เดือน และใช้เวลาในการโปรโมท 1 เดือนเต็มจึงจะรู้ผลว่าตลาดยอมรับหรือไม่
ในขณะที่ต้องใช้เวลาในการผลิตที่ยาวนาน 8-10 เดือนเป็นอย่างต่ำ ขณะเดียวกันก็มีค่ายเทปเกิดขึ้นใหม่หลายค่าย
ไปรอดบ้างไม่รอดบ้าง ส่วนค่ายใหญ่ๆ ซึ่งครบวงจรและมีสายป่านยาวก็ชิงกันปีนสู่ยอด
โดยกว้านหาศิลปิน โปรดิวเซอร์มือดี และจังหวะของตลาดเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด
กันอยู่ไม่น้อย
ว่ากันว่าแกรมมี่ครองส่วนแบ่งการตลาดในปีที่ผ่านมาประมาณ 50% ของตลาดเพลง
โดยมีฐานอยู่ที่ตลาดระดับและกลาง ตามด้วยอาร์เอส และนิธิทัศน์ตามลำดับ แต่ในปี
37 นี้ คนในวงการวิเคราะห์กันว่า ค่ายแกรมมี่อาจจะต้องลงจากเวทีอันดับ 1
โดยมีค่ายอาร์เอสขึ้นแทนที่ได้อย่างงดงาม เพราะอาร์เอสส่งเต๋าจับตลาดล่างโดยเฉพาะกลุ่มเด็กช่างกลซึ่งเป็นฐานที่ใหญ่
หรือบอยสเก๊าต์จับตลาดวัยรุ่นแรกรเริ่ม ก็นับว่าเป็นตลาดที่มีฐานใหญ่เช่นเดียวกัน
ในขณะที่ขจรศักดิ์จับตลาดสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายนี้เริ่มหันเหรสนิยมการฟังเพลงไปบ้างแล้ว
จึงทำให้แกรมมี่สูญเสียฐานของตนเอง ส่วนนิธิทัศน์ก็จับตลาดต่างจังหวัด จะว่าไปแล้วตลาดต่างจังหวัดนี้เป็นตลาดที่มีฐานใหญ่และมั่นคง
จึงเท่ากับว่านิธิทัศน์ทุกวันนี้ยังคงเป็นน้ำซึมบ่อทรายที่ไม่มีวันเหือดแห้ง
ทว่าไม่เอ่อล้นเร็วอย่างที่คิด
จะด้วยสาเหตุของตลาดที่เริ่มมีการแข่งขันสูง และนับวันการสร้างสรรค์เพลงจะยากมากขึ้นทุกวันนี้หรือไม่
ทำให้ค่ายแกรมมี่เริ่มสนใจที่จะผลักดันบริษัทตนเองเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อหาฐานที่มั่นคงและขยับขยายฐานไปทำอย่างอื่นนอกเหนือจากวงการบันเทิงเท่านั้น??
ไพบูลย์กล่าวว่า โดยความเป็นจริงแล้ว เขาไม่มีความสนใจที่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
เหมือนเช่นบริษัทอื่นเขาทำกัน ซึ่งล้วนมีเป้าหมายในการระดมเงินทุนเพื่อมาขยายกิจการ
แต่แกรมมี่ไม่มีความจำเป็นต้องระดมเงินทุนมากมายเช่นนั้น
"ทุกวันนี้ผมยังคิดไม่ออกว่าจะนำเงินที่ได้มาทำอะไร เพราะเงินที่นำมาลงทุนในการผลิตเทปเพลงแต่ละชุดหรือรายจ่ายประจำของพนักงาน
ส่วนหนึ่งเป็นเงินสดหมุนเวียนที่ได้จากการขายสินค้าของเรา จะมีเงินกู้อยู่บ้างก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น"
นอกจากนี้สินทรัพย์ของแกรมมี่เองก็มีไม่มาก ที่มีอยู่ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินได้คือ
ลิขสิทธิ์เพลงเก่าๆ ที่ผลิตสู่ตลาดไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนับรวมได้กว่า
2,000 เพลง ไพบูลย์มองว่า เพลงเก่าเหล่านี้เป็นอมตะที่มีมูลค่าอยู่ในตัวของมันเองตลอดเวลา
หยิบขึ้นมาใช้เมื่อไรก็สามารถทำเงินได้เมื่อนั้น และนอกจากลิขสิทธิเพลงเก่าแล้วก็ยังมีที่ดินและตึก
ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานแกรมมี่ที่สุขุมวิทซอย 39 ในปัจจุบันนี้เท่านั้นที่ถือว่าเป็นทรัพย์สินมีค่า
เพราะที่ดินแถวนี้มูลค่าเพิ่มขึ้นทุกวัน ก็น่าจะนับว่าเป็นทรัพย์สินที่นับวันสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้
อย่างไรก็ตามปีนี้เขาก็วางแผนเอาไว้ว่า ธุรกิจที่จะมุ่งเน้นให้มากที่สุดนั้นไม่ใช่แกรมมี่เอนเตอร์เทนเม้นท์
แต่จะเน้นไปที่ธุรกิจกีฬาคือ แกรมมี่สปอร์ตขายสินค้าเกี่ยวกับเครื่องกีฬา
โดยเฉพาะเครื่องกีฬากอล์ฟ เป็นจุดใหญ่ โดยให้เรวัติเป็นผู้ดูแล ขณะเดียวกันด้านมีเดีย
หรือรายการทีวีก็จะเป็นสิ่งที่แกรมมี่จะพัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนตัวไพบูลย์เองเขามีความฝันที่ต้องการจะทำหนังสือพิมพ์รายวัน
อันเป็นความใฝ่ฝันในชีวิตที่อยากจะทำหนังสือพิมพ์ดีๆ ขึ้นมาหนึ่งฉบับ ที่ไม่ใช่ลักษณะสาดโคลนเข้าใส่กัน
หรือเขียนด่าเขาวันนี้พรุ่งนี้เช้าก็ตามแก้ข่าว โดยกำหนดในการทุ่มทุนให้กับการทำหนังสือพิมพ์รายวันนี้อย่างต่ำปีละ
100 ล้านบาท วางเป้าหมาย 3 ปี หากภายใน 3 ปีขาดทุนไป 300 ล้านบาทแล้วไม่ได้ผลก็อาจจะเลิก
แต่ถ้าหากไปต่อได้ก็จะเดินตามอุดมการณ์ที่วางไว้ไม่เสื่อมถอย
"ผมเป็นคนมีอุดมการณ์ แต่ผมก็ยังไม่ได้นำอุดมการณ์ของตนเองออกมาใช้
ก็หวังว่าในปีนี้หากทุกอย่างลงตัวคงจะสร้างหนังสือพิมพ์รายวันขึ้นมาฉบับหนึ่ง
และลงมือทำด้วยตนเอง"
นี่คือคำตอบของคำถามแรกในการหาเส้นทางสายใหม่ ที่แยกออกจากถนนสายดนตรีของแกรมมี่