ถึงเวลาที่แกรมมี่จะต้องทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

นั่นเป็นคำกล่าวของ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการบริษัทแกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่เคยได้กล่าวไว้เมื่อปีที่ผ่านมากับกลุ่มสื่อมวลชนในงานแถลงข่าวครั้งหนึ่งของแกรมมี่ฯ ว่า เมื่อบริษัทมีความแข็งแรงและมั่นคงจนถึงระดับที่น่าพอใจแล้ว

"เมื่อวันนั้นแกรมมี่ก็จะทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมและเรื่องยาเสพย์ติด ซึ่งตอนนี้มันแย่ลงทุกที ลูกหลานเรายังต้องอยู่ที่นี่ไปอีกนาน ถึงเวลาที่จะต้องช่วยกันคนละไม้ละมือแล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของใครหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งอย่างเดียวอีกแล้ว"

ไพบูลย์ เล่าว่าก่อนหน้านี้เขาเคยได้คุยกับแสงชัย สุนทรวัฒน์ ไว้ว่าจะทำเรื่องยาเสพย์ติด โดยเริ่มจากให้เข้าไปสอดแทรกในรายการเพลงของเครือแกรมมี่ก่อน ซึ่งจะส่งเสริมให้ป้องกันเรื่องยาเสพย์ติดกันได้อย่างไร แล้วอาจจะไปขอความร่วมมือกับองค์กรอื่น ที่เขามีความประสงค์ไปในทิศทางเดียวกับที่เราตั้งไว้ เช่นการไปขอเบอร์จากเทเลคอมเอเชียแล้วแกรมมี่เป็นคนสนับสนุนเรื่องเงิน ตั้งเป็นคณะทำงาน 24 ชั่วโมงรับร้องทุกข์ให้คำปรึกษาต่างๆ เป็น DRUG LINE จนกระทั่งมีหมอจิตวิทยามาให้คำแนะนำเรื่องของการบำบัดรักษา แต่ท่านมาเสียชีวิตไปก่อน

ซึ่งผู้ใหญ่หลายท่านทราบเรื่องก็เห็นด้วยเช่น พลเอกแป้ง มาลากุล ที่ชอบแนวความคิดนี้มากช่วยสนับสนุนให้เกิดให้ได้ และขณะนี้ก็เกิดโครงการในลักษณะแบบนี้ขึ้นแล้วภายใต้ชื่อโครงการว่า JUST SAY NO! ซึ่งมีทรงวิทย์ จิรโศภินเป็นคนดำเนินการ และจะมีโครงการอะไรที่เป็นประโยชน์แบบนี้เกิดขึ้นมาอีกหลายโครงการ

ไพบูลย์ บอกว่าหลังจากที่เขาแสดงเจตนารมณ์นี้ออกมาต่อสาธารณชน ก็มีคำถามตามมาว่าทำเพื่อภาพพจน์ของบริษัทเองมากกว่าคือเป็น SOFTSALE หรือว่าจะตั้งใจช่วยสังคมจริงๆ "ผมตอบได้เลยว่าทั้งสองอย่าง" ไพบูลย์กล่าว

"ผมไม่อยากเสแสร้งครับ ผมต้องการทั้งสองอย่างแต่ทุกอย่างต้องชัดเจน คือเพื่อภาพพจน์ของบริษัทด้วย มันเป็นแบบ CORPORATE IMAGE เราทำอย่างนี้เพราะเกี่ยวพันกับมหาชนหรือ MASS เราควรจะทำอะไรเพื่อสังคมให้เขามีความรู้สึกที่ดีกับเรา แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อบริษัทและเรารู้ตัวอยู่ว่าจะทำอะไร ผมนิยมชมชอบที่ไทยรัฐทำโรงเรียนไทยรัฐวิทยามาก ตรงนั้นเขาชัดเจนคือทั้งภาพพจน์และก็บุญกุศลจริงๆ ผมพยายามทำให้ได้อย่างนั้น" ไพบูลย์กล่าวถึงความตั้งใจของเขา

ในที่สุดแกรมมี่ฯ ก็ได้ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบงานทางด้านนี้ โดยเฉพาะตามความตั้งใจดั้งเดิมของไพบูลย์ โดยใช้ชื่อบริษัทแกรมมี่ โซเชี่ยลวิชั่น มีทรงวิทย์ จิรโศภินเป็นพ่องาน ทรงวิทย์ได้เล่าถึงปฐมเหตุในการทำงานด้านกิจกรรมสังคมว่า

"คือเป็นความตั้งใจของไพบูลย์อยู่แล้วส่วนหนึ่งที่ท่านเห็นว่าเราอยู่ในศักยภาพที่ทำได้ ก่อนหน้านี้เราก็ทำของเราอยู่แล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนอย่างนี้ เช่นทำรายการสารคดีสั้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น โลกสวยด้วยมือเรา ซึ่งก็ได้รับความสนใจดีและได้รับรางวัลต่างๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อมอยู่บ่อยๆ บางทีก็มีหน่วยงานรัฐมาขอให้ช่วยทำบ้างเป็นครั้งคราว ก็เลยเห็นว่ามันน่าสนใจ ทุกคนควรจะตื่นตัวในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคมกันได้แล้ว จึงตั้งเป็นหน่วยงานที่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมารับผิดชอบโดยตรงเลยดีกว่า"

ทรงวิทย์เล่าว่าประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการได้ให้นโยบายไว้กว้างๆ ว่าแต่ละโครงการที่ทำขอให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และให้เป็นองค์กรที่ไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไรเป็นหลัก กล่าวคือขอให้เป็นองค์กรเล็กๆ ที่ไม่ต้องใหญ่โตมาก มีทีมงานประมาณ 20 คนและยืนได้ด้วยขาของตนเอง ขาดเหลืออะไรทางผู้ใหญ่ก็จะช่วยสนับสนุนบ้างตามความเหมาะสม

"ก็อยู่กันเหมือนพี่เหมือนน้อง ดูแลกันทั่วถึงและสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระขององค์กรเท่านั้นพอแล้ว คือรายรับกับรายจ่ายสมดุลยกันก็เป็นสิ่งที่เราพอใจแล้ว ซึ่งผมเห็นว่าน่าจะเป็นโครงการที่มีอนาคต อยู่ไปได้เรื่อยๆ ไม่หวือหวามากนัก"

ไพบูลย์ได้ยกตัวอย่างถึงโครงการปลดโซ่ช้างให้ฟังว่า นั่นเป็นความคิดของเขาโดยมีแรงบันดาลใจจากการที่พาลูกไปเที่ยวเขาดิน แล้วรู้สึกตกใจมากที่เขาดินตอนที่ตนยังเป็นเด็กเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว กับเขาดินวันนี้ยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรใหม่ในทางที่ดีขึ้นเลย ช้างเคยถูกล่ามโซ่อย่างไร ก็ยังถูกล่ามอยู่ ก็เลยเสนอตัวเข้าไปสร้างทับช้าง เพื่อให้ช้างมีบ้านอยู่ไม่ต้องไปถูกล่ามโซ่อีก ผู้ใหญ่หลายท่านก็เห็นด้วย เอกชนอื่นๆ เขาก็สนใจกันซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

"พลตรีเลิศรัตน์ รัตนวานิช ท่านเป็นประธานองค์การสวนสัตว์อยู่ ท่านบอกว่านี่ถ้าเอกชนให้ความสนใจแบบนี้ แล้วช่วยกันคนละไม้คนละมือตามกำลังความสามารถ ทุกอย่างจะดีขึ้นมากเพราะรัฐเองก็ไม่มีงบประมาณเพียงพอ นอกจากเรื่องของช้างแล้ว เรื่องอื่นๆ ก็ยังมี เช่น กรงสัตว์ใหญ่อื่นๆ ที่กำลังทรุดโทรม บริษัทห้างร้านไหนพอมีงบก็มาช่วยได้ สังคมจะสวยงามกว่านี้มาก"

สำหรับในส่วนของกิจกรรมสังคมนั้น ทรงวิทย์ได้อธิบายถึงโครงการที่เตรียมจะจัดทำทั้งหมดนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น 6 โครงการ และบางโครงการก็ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว

คือ 1. โครงการ JUST SAY NO ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์และสร้างภูมิคุ้มกันเยาวชนในเรื่องยาเสพย์ติด 2. โครงการภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์ทางด้านวัฒนธรรมที่กำลังใกล้จะหายสาบสูญไป โดยเป็นพระราชดำริริเริ่มของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และแกรมมี่ฯ มาสานต่อเจตนารมณ์ของท่าน 3. โครงการกรุงเทพฯ เมืองสะอาด หรือ BANGKOK CLEAN SOCIETY 4. โครงการฝุ่นและมลพิษ 5. โครงการโรคเอดส์ และ 6. โครงการในหลวงสอนเรา ซึ่งเป็นโครงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.