SSIลงขันโรงถลุงเหล็ก ฟันสองต่อลดต้นทุน-ดันเข้าตลท.เพิ่มมูลค่า


ผู้จัดการรายวัน(30 พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

SSI เผยอยู่ระหว่างพิจารณาจัดสัดส่วนการเข้าลงทุนของบริษัทในเครือสหวิริยาในบริษัทใหม่ที่จะดำเนินโครงการโรงถลุงเหล็ก มูลค่าโครงการเฟสแรก 9 หมื่นล้านบาท ที่อำเภอบางสะพาน รวมทั้งกำลังพิจารณาใช้เทคโนโลยีใหม่ระหว่างยุโรปกับจีน ระบุหลังได้ 3 ใบอนุญาต บีโอไอ- สิ่งแวดล้อม-โรงงาน เดินหน้าโครงการภายใน 18 เดือน ระบุสถาบันทั้งในและ ต่างประเทศติดต่อให้กู้เงินแล้วอยู่ระหว่างการเจรจา พร้อมดันหุ้นโรงถลุงเหล็ก เข้าจดทะเบียนใน ตลท. ด้านนักวิเคราะห์คาด ส่งผลดีต่อ SSI ระบุช่วยลดต้นทุน

นายมารวย ผดุงสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI กล่าวถึง โครงการลงทุนโรงถลุงเหล็กครบวงจรของกลุ่มสหวิริยาว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาการจัดหาเทคโนโลยีจากต่างประเทศสำหรับโครงการถลุงเหล็กครบวงจร จากที่เบื้องต้นกำหนดให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้เทคโนโลยีจากยุโรปหรือจากประเทศจีน ซึ่งประเทศจีนก็มีเทคโนโลยี

ทั้งนี้โครงการโรงถลุงเหล็กครบวงจรมูลค่า 5 แสนล้านบาท ระยะเวลา 15 ปี โดยการดำเนินการจะแบ่งเป็นทั้งหมด 5 เฟสด้วยกัน รวมกำลังการผลิต 30 ล้านตัน เฟสแรกกำลังการผลิต 5 ล้านตัน ใช้เงินลงทุน 9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ 6 หมื่นล้านบาท การระดมทุนจากในเครือสหวิริยา 3 หมื่นล้านบาท โดยโครงการนี้จะตั้งอยู่ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

การระดมจากในเครือสหวิริยามูลค่า 3 หมื่นล้านบาท จะเป็นการลงทุนในลักษณะการเข้าถือหุ้นในบริษัทที่จะจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อดำเนิน โครงการโรงถลุงเหล็กดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้นว่า แต่ละบริษัทในเครือสหวิริยาจะลงทุนในสัดส่วนเท่าใด ขณะที่เงินลงทุนที่ในส่วนเงินกู้ 6 หมื่นล้านบาทนั้น ไม่มีปัญหาเนื่องจากได้รับการติดต่อจากสถาบันการเงินจากต่างประเทศและในประเทศในการให้วงเงินกู้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากัน นอกจากนี้ในส่วน ของการใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีใหม่อาจจะได้รับเครดิตอีก

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการขณะนี้จะต้องรอให้ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ พิจารณาการขอส่งเสริมการลงทุนซึ่งจะมีการพิจารณาในวันที่ 3 มิถุนายน 2548 นี้ นอกจากนี้จะต้องได้รับอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อม และใบอนุญาตโรงงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อได้รับใบอนุญาตครบ 3 ประเภทแล้ว จะสามารถดำเนินการเฟสแรกภายใน 18 เดือน จากนั้นจะนำบริษัทดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป

นายมารวย กล่าวว่า การลงทุนในเฟสแรก 5 ล้านตันนั้น หากใช้เฉพาะในกลุ่มสหวิริยาก็ไม่พอแล้ว เนื่องจากทั้งกลุ่มมีความต้องการใช้เหล็กดังกล่าว 7 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการในประเทศทั้งหมดมี 13 ล้านตัน ดังนั้นในแง่ของความต้องการใช้จึงถือว่ายังมีอยู่สูง นอกจากนี้ความต้องการใช้ในอนาคตของทั้งประเทศจะมีถึง 40-50 ล้านตัน เมื่อโครงการโรงถลุงเหล็กของกลุ่มสหวิริยาดำเนินการเสร็จใน 15 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้จึงมากพอหรือมีตลาดในประเทศรองรับอยู่แล้ว

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งกล่าวว่า การที่บริษัทเครือสหวิริยาจะมีการลงทุนในการโครงการถลุงเหล็กนั้น จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้ 200 ล้านบาทต่อปี เมื่อเฟสแรกเสร็จที่มีกำลังการผลิต 5 ล้านต้น เพราะในไตรมาส 1/2548 บริษัทมีการสต๊อกสินค้าจำนวนที่สูงถึง 21,000 ล้านบาท และจะต้องใช้เงินกู้ประมาณ 200-300 ล้านบาท ซึ่ง ณ ไตรมาส1/48 มีการเงินกู้สำหรับการซื้อวัตถุดิบ คือ Slap ถึง 8,000 ล้านบาท โดยจะมีความเสี่ยงเพราะอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

ดังนั้นจึงทำให้ลดต้นทุนในการสต๊อกสินค้า ต้นทุนทางการเงิน ซึ่งสามารถลดภาระดอกเบี้ย และประหยัดพลังงานได้ เนื่องจากการที่นำเข้า Slap จากต่างประเทศ Slap จะเย็นทำให้เมื่อจะมีการ รีดเหล็กจะต้องทำให้ Slap ร้อนก่อน แต่หากบริษัทสามารถผลิตได้เอง ทำให้สามารถนำไปรีดได้ในช่วงที่ยังร้อนอยู่ และสามารถที่จะกำหนดได้ว่าจะผลิตจำนวนเท่าไร ให้เพียงพอกับความต้องการใช้

"ทั้งนี้หากเฟสแรกเสร็จในปี 2550 นั้น จะสามารถประหยัดต้นทุนในการการสต๊อกสินค้า ต้นทุน การเงิน พลังงาน ได้ 200 ล้านบาทต่อปี และจะลดต้นทุนได้เพิ่มขึ้นหากทั้งโครงการสำเร็จ"

สำหรับสัดส่วนในการเข้าถือหุ้นในบริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารโครงการถลุงเหล็กนั้นขึ้นอยู่กับสัดส่วนการที่พันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมลงทุน โดยเงินลงทุนเฟสแรกนั้นจะใช้เงิน 90,000 ล้านบาท จะมาจากเงินกู้ 60,000 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากนอกประเทศและในประเทศ และเงินลงทุนในบริษัทในเครือ 30,000 ล้านบาท

นักวิเคราะห์ บล.นครหลวงไทย จำกัด กล่าวว่า การที่โครงการถลุงเหล็กเสร็จจะช่วยให้บริษัทสามารถลดทุนในการดำเนินงานได้พอสมควร เนื่องจากไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูงเพราะต้องอ้างอิงกับราคาตลาดโลก เพราะขณะนี้บริษัทมีการ นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท ที่จะจัดตั้งใหม่ยังไม่มีการเปิดเผยจาก SSI

ทั้งนี้บริษัทคาดว่ารายได้ปี 2548 ประมาณ 50,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่มีรายได้ 36,874 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิประมาณ 4,200 ล้านบาท ลดลง 21.22% จากปี 2547 เนื่องจากส่วนต่างราคาจำหน่ายลดลง เพราะราคาเหล็กมีการปรับตัวลดลง ทำให้มีมาร์จิ้นลดลง ซึ่งบริษัทแนะนำซื้อสะสม ราคาเป้าหมายปีนี้ 2.9 บาท

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน จำกัด กล่าวว่า หากโครงการดังกล่าวสำเร็จก็ส่งผลดีกับ SSI ในด้านที่จะทำให้ลดต้นทุนในการผลิตได้ เพราะ ขณะนี้บริษัทดังกล่าวจะต้องนำเข้า Slap จาก ต่างประเทศซึ่งมีราคาที่สูง เพราะต้องอ้างอิงจากราคาตลาดโลก ซึ่งหากสามารถผลิตเองได้จะทำให้มีต้นทุนที่ลดลง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.