ธุรกิจการศึกษานั้นมีนานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดด้านแบบเรียนและหนังสือประกอบการเรียน
ที่เกิดขึ้นมานับตั้งแต่รัฐบาลเปิดให้มีเอกชนเข้ามาผลิตและจำหน่ายแบบเรียนในตลาดได้
แต่รัฐบาลก็มีข้อกำหนดไว้ว่า แบบเรียนในระดับประถมซึ่งมีทั้งหมด 5 หมวดวิชาจะให้องค์การค้าคุรุสภาเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย
ยกเว้นหนังสือประกอบการเรียน เช่น แบบฝึกหัด หนังสือคู่มือครู หรือ หนังสือเฉลย
หนังสือนอกเวลา
สำหรับในระดับมัธยมนั้น จะให้สิทธิกับองค์การค้าคุรุสภาเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายวิชาบังคับ
3 วิชา คือ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่รัฐบาลต้องการให้เด็กเรียนรู้เสมอภาคกัน
ทางด้านเอกชนนั้นก็สามารถหันไปผลิตแบบฝึกหัด หรือ หนังสือนอกเวลาได้ รวมทั้งแบบเรียนในวิชาอื่น
เช่น สุขศึกษา สังคม ภาษาอังกฤษ ซึ่งหนังสือที่จะผลิตและจำหน่ายได้นั้นจะต้องได้รับการตรวจและรับรองจากกรมวิชาการ
เอกชนที่เป็นเจ้าตลาดหนังสือแบบเรียนคือไทยวัฒนาพานิช (ทวพ.) ซึ่งจะมีนักวิชาการ
อดีตอาจารย์ ครูเข้ามาร่วมงานจำนวนมาก หนังสือของ ทวพ. จึงเป็นที่นิยมในตลาด
ประกอบกับเวลานั้นยังมีคู่แข่งขันไม่มาก
เวลาต่อมาวัฒนาพาณิชย์ก็ถือกำเนิดขึ้นมา โดยมุ่งเน้นไปที่หนังสือประกอบการเรียนประเภทแบบฝึกหัด
และก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ในตลาดเคียงคู่กับ ทวพ. มาแบบติดๆ
จนกระทั่งในปี 2514 อักษรเจริญทัศน์ (อจท.) บริษัทน้องใหม่ก็เกิดขึ้นมาในตลาดอีกราย
และมุ่งเน้นแบบเรียนในระดับมัธยม
ในเวลาเพียงไม่กี่ปี อักษรเจริญทัศน์ก็เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และกลายมาเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดที่มียอดขายเป็นอันดับ
1 แซงหน้าวัฒนาพาณิชย์ที่หล่นมาอยู่อันดับสอง และตามด้วยไทยวัฒนาพานิชที่ตามมาเป็นอันดับสาม
แหล่งข่าวในวงการศึกษาเล่าว่า สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะไทยวัฒนาพานิชยังคงยึดรูปแบบการบริหารแบบเดิมๆ เหมือนเมื่อครั้งไม่มีคู่แข่ง คือ เน้นบริการเพื่อสังคมมากกว่าจะมุ่งเน้นเรื่องการตลาด
ทางด้านอักษรเจริญทัศน์ ภายใต้การนำของสุรพล เทวะอักษร เริ่มนำเอายุทธวิธีการตลาดมาใช้
แต่เดิมแบบเรียน หรือหนังสือนอกแบบเรียน จะมีอยู่ 2 ช่องทาง คือขายผ่านร้านค้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ
ช่องทางที่สอง คือ ไดเร็กต์เซล คือ ส่งพนักงานขายตรงไปถึงโรงเรียน
ในขณะที่ทุกคนมุ่งมั่นระบบช่องทางจำหน่ายทั้ง 2 แบบ แต่สุรพลคิดไปถึงขั้นตอนที่สาม
คือ การสร้างร้านค้าแนวร่วม โดยอาศัยกลไกของรัฐมาเป็นเครื่องมือในการขาย
ด้วยการนำเอาบุคลากรในส่วนราชการที่มีทั้งอาจารย์ และศึกษานิเทศก์ มาเป็นตัวแทนขายให้กับโรงเรียนที่อยู่ตามต่างจังหวัด
โดยเฉพาะในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ที่ร้านค้าตัวแทนจำหน่าย หรือ พนักงานขายไปไม่ถึง
การเพิ่มยอดขายในลักษณะนี้ เท่ากับว่าอักษรเจริญทัศน์มีร้านค้าเพิ่มขึ้นทันที
300-400 ร้าน ที่สำคัญทำรายได้ในแต่ละปีหลายร้อยล้าน
นอกเหนือจากตลาดแบบเรียนแล้ว ตลาดทางด้านคุรุภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการเรียนการสอน
ก็มีมูลค่าสูง และมีการแข่งขันอย่างรุนแรงมาตลอด ซึ่งอักษรเจริญทัศน์ก็เป็นผู้ที่เข้าไปมีส่วนร่วมและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
แต่เดิมที่งบจัดซื้ออุปกรณ์การศึกษา หรือ คุรุภัณฑ์ส่วนใหญ่จะจัดซื้อที่ส่วนกลางคือ
สำนักงานในกรุงเทพฯ หรือ สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาจังหวัด (สปจ.) ที่เป็นระดับจังหวัด
แต่ในระยะหลังมีการพยายามผลักดันให้กระจายไปถึงระดับอำเภอ
เพราะผลจากการผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจการจัดซื้อในลักษณะนี้ นอกจากภาพที่ปรากฏออกมาภายนอกจะดูดีแล้ว
ในอีกทางหนึ่งยังเป็นการล้มเจ้าเก่าที่ครองตลาดอยู่เดิม เพราะเจ้าเก่านั้นจะมีคอนเนกชั่นอยู่กับผู้มีอำนาจในระดับ
สปจ. ของแต่ละจังหวัด เมื่อมีการกระจายอำนาจออกไป ก็ทำให้มีการวิ่งล็อบบี้ผูกสายสัมพันธ์ในระดับอำเภอได้ยาก
เพราะอำนาจการตัดสินใจถูกกระจายออกไปในระดับกว้าง
ว่ากันว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันนี้ก็คือ อักษรเจริญทัศน์
ช่วงนั้นเอง อักษรเจริญทัศน์ ก็ได้กลายมาเป็นเจ้าตลาดในด้านของอุปกรณ์คุรุภัณฑ์
เรียกว่ามีการประมูลครั้งใดจะมีชื่อของ อบจ. ทุกครั้ง มักจะเป็นผู้ชนะประมูล
เพราะมักจะเป็นรายเดียวที่เสนออุปกรณ์ได้ตรงสเป็ก ตามที่กำหนดอยู่เพียงรายเดียวเสมอ
แต่หลังจากครองตลาดได้ระยะหนึ่ง อักษรเจริญทัศน์ก็เริ่มถอนตัวออกจากตลาดประมูลคุรุภัณฑ์
สาเหตุมาจากถูกโจมตีอย่างหนักจากคู่แข่ง และบนหน้าหนังสือพิมพ์ว่า มีการเข้าไปกำหนดสเป็กประมูลอย่างไม่โปร่งใส
จนภาพลักษณ์ของอักษรเจริญทัศน์เสียหายไปมาก
สาเหตุสำคัญอีกประการ คือ ค่าใช้จ่ายที่ตามมาจากการเข้าประมูล แน่นอนว่าจะต้องอาศัยคอนเนกชั่นในทุกระดับ
ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากจนไม่สามารถควบคุมได้ นับแต่นั้นอักษรเจริญทัศน์ก็หันมาทำหนังสือประกอบการเรียนแต่เพียงอย่างเดียว
หลังจากอักษรเจริญทัศน์ถอนตัวออกมา โรงพิมพ์ "เม่งฮั้ว" ราชาทำสมุดแบบเรียน
ก็เริ่มหันเข้ามาทำตลาดสินค้าอุปกรณ์คุรุภัณฑ์ และมีพันธมิตร คือ บริษัททิชชิ่งทอย
ซึ่งเจ้าของเป็นอดีตผู้จัดการแผนกอุปกรณ์ของวัฒนาพาณิชย์ และลาออกมาตั้งบริษัทเป็นของตัวเอง
และเป็นพันธมิตรกับเม่งฮั้วและจับตลาดการประมูลของ สปช. มาตลอดแข่งกับรายย่อย
จนกระทั่งการมาของสุขวิช รังสิตพล ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ที่มาพร้อมกับนโยบายปฏิรูปการศึกษา ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจการศึกษาเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล
และถูกจับจ้องมากที่สุดเวลานี้
ภายใต้นโยบายนี้ก็นำพาเอาแกรมมี่ แห่งธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ที่พรั่งพร้อมทั้งพลังเงินทุน
พันธมิตร
สมรภูมิธุรกิจการศึกษาคงต้องพลิกโฉมกันอีกครั้ง!