|
Dulwich
โดย
วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เรื่องราวของ Dulwich International School (DIC) ที่ภูเก็ต ประเทศไทย มีบทเรียนที่น่าสนใจหลายมิติ ที่สำคัญมากมิติหนึ่ง ว่าด้วยความหมายของธุรกิจการศึกษา
ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า การเกิดขึ้นอย่างครึกโครมที่สุดในโลกของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยในช่วงทศวรรษมานี้มาจากแรงบันดาลใจทางธุรกิจ
ที่สำคัญ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ และ Dulwich College สร้างประวัติการณ์หลายอย่างในฐานะผู้บุกเบิก ขณะเดียวกัน ต้องเผชิญปัญหาในฐานะผู้บุกเบิกที่มากกว่าผู้มาทีหลังมากมายนัก
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ กับกลุ่มประสิทธิ์พัฒนา ถือว่ามีประสบการณ์ธุรกิจที่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ในฐานะเจ้าของเครือข่ายโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยเอกชน น่าจะเป็นสูตรความสำเร็จที่ดีในการบุกเบิกลงทุนครั้งใหญ่จัดตั้งโรงเรียนนานาชาติแห่งใหม่ ในฐานะผู้นำขบวนเปิดเสรีการศึกษาระบบนี้ครั้งแรกในเมืองไทย
ว่าไปแล้วตอนนั้นก็มีการลงทุนครั้งใหญ่ของโรงเรียนนานาชาติในเมืองไทยในระยะก่อนหน้าและใกล้เคียงกันถึง 3 โครงการ รวมมูลค่านับพันล้านบาท การลงทุนย้ายที่ตั้งโรงเรียนออกไปชานเมืองของโรงเรียนนานาชาติชั้นนำที่มีอยู่เดิม และขยายรับนักเรียนอย่างเปิดกว้าง International School Bangkok (ISB) มาที่นนทบุรี Bangkok Patana School มาที่ ซอยลาซาล Ruamrudee International School มาที่มีนบุรี
ดร.อาทิตย์ประกันความเสี่ยงในฐานะผู้มาใหม่อย่างดี ด้วยการชักนำให้โรงเรียนชั้นนำของอังกฤษออกนอกประเทศครั้งแรก เลือกโรงเรียนที่มีความสัมพันธ์กับชนชั้นนำของไทยเสียด้วย (โดยเฉพาะอานันท์ ปันยารชุน ในฐานะทั้งคนที่ออกนโยบายเปิดเสรีโรงเรียนนานาชาติ และศิษย์เก่า Dulwich ด้วย) ประกอบกับกระแสของอังกฤษค่อยๆ กลับมาฟื้นฟูอีกครั้งในสังคมไทย หลังจากถอยร่นในช่วงสงครามเวียดนาม โดยเฉพาะ การเข้ามาลงทุนของบริษัทอังกฤษในประเทศไทยจากนั้นมา
การลงทุนที่ภูเก็ตที่ถือว่าเป็นเมืองนานาชาติ ก็น่าเป็นการตัดสินใจที่ฉลาด อีกทั้งเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของโรงเรียนในปีนังของมาเลเซีย ซึ่งคนไทยภาคใต้นิยมไปเรียนด้วย
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ จึงคาดหวังความสำเร็จไว้มาก พร้อมๆ กับแรงกดดันด้วยเช่นเดียวกัน
ดูเหมือนแรงกดดันจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก มาจากความสำเร็จในเชิงธุรกิจของผู้มาทีหลังในฐานะคู่แข่ง
ISB ไม่เพียงมีความสำเร็จอย่างต่อเนื่องเท่านั้น ผลพวงนั้นได้สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ขึ้น แม้ว่า ISB จะไม่ได้ประโยชน์โดยตรงก็ตาม โครงการที่อยู่อาศัย นิชดาธานี สร้างชุมชนต่างชาติขึ้น เป็นความสำเร็จของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ชักชวนให้ ISB ย้ายมาอยู่ในที่ของเขาได้ เป็นโมเดลธุรกิจแยกส่วนที่น่าสนใจ
โมเดลธุรกิจนี้ได้พัฒนาเป็นโมเดลที่ชัดเจนและสมบูรณ์ เมื่อ Harrow Asia เจ้าของแฟรนไชส์ Harrow School ในประเทศไทย ที่ใช้เวลาไม่นานนักในการสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ในย่านดอนเมือง และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว มีนักเรียนเข้าเรียนมากกว่า Dulwich ที่ภูเก็ต เท่านั้นยังไม่พอ เจ้าของโรงเรียนแห่งนี้ มีพื้นที่จัดเตรียมไว้ที่อยู่ในบริเวณโรงเรียนได้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยราคาแพงขึ้น เพื่อตอบสนองผู้ปกครอง เป็นการวางแผนที่เชื่อมโยงกันอย่างกลมกลืนและแนบเนียน เป็นผลสำเร็จทางธุรกิจโดยรวมที่เสริมมาจากโรงเรียนนานาชาติ
มีอีกโครงการหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว Shrewsbury International School ของชาลี โสภณพนิช ที่เข้ามาทดแทนพอดีกับฐานเดิมในย่านกลางเมืองของ Harrow ที่ย้ายออกมานอกเมือง เป็นความสำเร็จที่รวดเร็วที่สุดในฐานะโรงเรียนนานาชาติแห่งใหม่ ขณะเดียวกันชาลีก็เตรียมที่ดินใกล้ๆ ไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อสร้างโครงการที่สนับสนุนกับโรงเรียนต่อไป
ภาพนี้สร้างแรงกดดันต่อผู้บุกเบิกอย่างมากทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น หากพิจารณากันอย่างลึกแล้ว DIC เผชิญปัญหาทางธุรกิจหลายประการ ไม่เพียงเผชิญกับวิกฤติการณ์ในปี 2540 เท่านั้น หากมีปัญหาในตัวเองด้วย การลงทุนที่ค่อนข้างสูง ทั้งอาคาร สถานที่ และอาจารย์ การเติบโตของโรงเรียนในภูเก็ตช้ากว่าที่ควรจะเป็น การประเมินความเป็นเมืองนานาชาติที่มีเพียง ผู้คนผ่านไปมาในฐานะนักท่องเที่ยว คนละเรื่องกับคนเรียนโรงเรียนนานาชาติ สถานที่ตั้งของโรงเรียนอยู่กลางเกาะไม่สามารถจะสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ต่อเนื่องได้ เพราะที่ภูเก็ตบ้านพักราคาแพงมักอยู่ชายทะเล
ความจริงแล้วมองในระยะปานกลาง DIC มีอนาคตมากทีเดียว แต่เพราะ "ความคาดหวัง" และ "แรงกดดัน" ทั้งภายนอกและภายในดูมีอิทธิพลอย่างมาก
สุดท้ายเมื่อแรงปะทะระหว่างความเชื่อมั่นของธุรกิจครอบครัวไทยกับความอนุรักษนิยมที่มีค่าของโรงเรียนประจำอังกฤษเกิดขึ้น จึงกลายเป็นเรื่องที่รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|