ใช่...ผู้หญิงญี่ปุ่น

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าสังคมญี่ปุ่นจะได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็น Male Dominant Society มาอย่างยาวนาน แต่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเงื่อนเวลาปัจจุบัน ผู้หญิงญี่ปุ่นกำลังกลายเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนกลไกทางสังคมและเศรษฐกิจที่ทวีบทบาทอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ก่อนหน้านี้บทบาทของ ผู้หญิงญี่ปุ่นอาจถูกจำกัดไว้เพียง การเป็นแม่บ้านที่ต้องดูแลความเรียบร้อยภายในบ้านและเลี้ยงดูกุลบุตรกุลธิดา ขณะเดียวกันก็ได้รับการประเมินค่าเป็นเพียงเพศที่อ่อนแอ ซึ่งต้องได้รับการพิทักษ์ปกป้อง เมื่อกฎหมายแรงงานที่ประกาศใช้ในปี 1947 กำหนดให้สตรีสามารถทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน หรือไม่เกิน 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พร้อมกับข้อกำหนดห้ามสตรีทำงานในช่วงกลางคืน และสามารถลาหยุดงานพิเศษในแต่ละเดือน ในช่วงที่มีประจำเดือนได้อีกด้วย

ข้อกำหนดในกฎหมายฉบับดังกล่าว นอกจากจะสะท้อนทัศนะคิดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ส่วนใหญ่เป็นบุรุษเพศ และเป็นผู้พิจารณาผ่านกฎหมายที่เห็นว่าผู้หญิงมีความอ่อนด้อยทางกายภาพแล้ว กฎหมายแรงงานฉบับนี้ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชน ไม่เต็มใจที่จะจ้างหรือรับผู้หญิงเข้าทำงาน เพราะไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานเพศชาย

ขณะเดียวกันรูปแบบการจ้างงานของญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเน้นการจ้างงานตลอดชีพ (life-time employment) ไม่ได้เอื้อให้ผู้หญิงสามารถเติบโตในวิชาชีพได้มากนัก เพราะเมื่อสตรีที่แต่งงานและมีลูกต้องลาออกจากงาน ก็ยากที่จะกลับเข้ามาทำงานในระบบนี้ได้อีก

ความเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในช่วงทศวรรษที่ 1950 และทศวรรษที่ 1960 ที่ได้ก่อให้เกิดชนชั้นทางสังคมลักษณะใหม่ที่ได้รับการเรียกขานในฐานะ Salary Man ซึ่งเป็นประหนึ่งอุดมคติในการดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่นในขณะนั้น จึงเป็นเรื่องราวที่ผูกขาดอยู่เฉพาะแรงงานบุรุษเพศ ขณะที่บทบาทของสตรีเพศในสังคมญี่ปุ่น ถูกผลักให้จำกัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ หรือเป็นเพียงฉากหลังของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้เท่านั้น

แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายแรงงานที่ระบุถึงสิทธิสตรีในการเข้าทำงาน ภายใต้เงื่อนไขที่เท่าเทียมกับเพศชาย มาตั้งแต่เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กฎหมายที่เปิดโอกาสในการจ้างงานอย่างเสมอภาค (Equal Employment Opportunities Law) เพิ่งผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาญี่ปุ่น เมื่อปี 1985 หรือเพียง 20 ปี ที่ผ่านมา

โอกาสดังกล่าวส่งผลให้ผู้หญิงญี่ปุ่นไม่ต้องตกอยู่ในภาวะที่ต้องยอมจำนนอยู่เพียงการเป็นแม่บ้าน ที่ต้องพึ่งพิงรายได้จากสามีที่เป็น Salary Man เช่นในอดีต หากผู้หญิงญี่ปุ่นเริ่มผันตัวเองเข้าสู่ตลาดแรงงาน และสามารถยืนหยัดเลี้ยงตัวเองได้มากขึ้น โดยมีสถานะของการเป็น Office Ladies หรือ OLs เป็นภาพจำลองที่กระตุ้นเร้าให้ผู้หญิงเข้าทำงานในระบบอย่างต่อเนื่อง

การเกิดขึ้นของกลุ่มผู้หญิงทำงานในสำนักงานหรือ OLs ซึ่งถือเป็นชนชั้นใหม่ในสังคมญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ ของญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้ม ความนิยมที่จะครองความเป็นโสดของสตรีญี่ปุ่น รวมถึงการยอมรับสถานะของการเป็น Single Parent ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

แต่อิสรภาพที่ได้มาจากการปลดเปลื้อง พันธนาการของการพึ่งพิงรายได้จากสามีของกลุ่มผู้หญิง OLs เหล่านี้ ในอีกด้านหนึ่งหมายถึงภาระทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

บทเรียนจากประสบการณ์ที่ได้ผ่านยุคเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการกล่าวถึงในฐานะ employment ice age ส่งผลให้กลุ่มผู้หญิง OLs มีวิถีการดำเนินชีวิตที่น่าสนใจติดตามไม่น้อย เพราะแม้ว่ากลุ่มผู้หญิง OLs เหล่านี้ จะมีประพฤติกรรมที่ถูกระบุว่าเป็นกลุ่มคนที่มีลักษณะ self satisfaction อย่างสุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเลือกซื้อครีมบำรุงผิวรักษาความงามที่มีราคาต่อกรัมสูงกว่าราคาทองคำ หรือสินค้าแบรนด์เนมชื่อดังราคาแพงทั้ง Hermes และ Louis Vuitton ในลักษณะที่ล้นหลามถึงขนาดต้องเข้าแถวซื้อจนได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น Louis Vuitton Nation แต่พวกเธอกลับเป็นกลุ่มที่มีอัตราการออมเงินสูงที่สุดกลุ่มหนึ่งในสังคมญี่ปุ่นในคราวเดียวกัน

เพราะในขณะที่ผู้หญิง OLs ใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อการเสริมสร้างความมั่นใจในการเข้าสู่สังคม สินค้าประเภทเครื่องอุปโภคบริโภคทั่วไป รวมถึงเครื่องใช้ภายในบ้านกลับถูกเลือกสรรจากปัจจัยด้านราคาอย่างระมัดระวัง

ลักษณะการบริโภคในแบบ bipolarization กลายเป็นรูปแบบสำคัญที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจในญี่ปุ่นต้องปรับตัวเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของตลาด โดยมีกลุ่มผู้หญิง OLs ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่มีศักยภาพในการบริโภคเป็นเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการดำเนินความพยายามที่จะกระตุ้นให้กลุ่มผู้หญิงเพิ่มการบริโภคและใช้จ่ายเงินให้มากขึ้น

ตัวอย่างของปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถสังเกตได้จากการปรับตัวของ Amusement Park ทั้งในส่วนของ Universal Studios Japan หรือ Tokyo Disneyland และ Tokyo Disney Sea ที่พยายามนำเสนอสันทนาการสำหรับผู้หญิงมากขึ้น ควบคู่กับการเสริมสร้างบรรยากาศที่เน้นเอื้อต่อการพักผ่อนของครอบครัว

ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการและรสนิยมของผู้หญิงมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมให้พนักงานผู้หญิงเข้ามามีส่วนในการออกแบบ และวิจัยพัฒนาการตกแต่งอุปกรณ์ภายในรถยนต์เหล่านี้ด้วย

ไม่นับรวมการสื่อโฆษณาสินค้าอีกหลากหลายชนิด ที่มีจุดเน้นอยู่ที่ผู้หญิง OLs อย่างโดดเด่น ด้วยการสร้างให้เกิดสัญลักษณ์ ที่ระบุถึงความมั่นใจและความเป็นตัวเอง ซึ่งเป็นลักษณะหลักของผู้หญิงกลุ่มนี้ หรือแม้กระทั่งการกำหนดส่วนลดและบริการพิเศษสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ของผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

นอกจากนี้ความพยายามที่จะเอาใจผู้ใช้บริการที่เป็นเพศหญิงอย่างออกหน้าออกตาของผู้ประกอบการรถไฟหลายรายที่กำหนดให้ตู้รถไฟบางส่วนเป็น women only car ได้สร้างให้เกิดความไม่พึงพอใจในหมู่บุรุษเพศอย่างหนักหน่วง เพราะกรณีดังกล่าว เป็นประหนึ่งสัญลักษณ์แห่งการผลักให้พวกเขากลายเป็นพลเมืองชั้นสองในการเข้ารับบริการสาธารณะของสังคมไปโดยปริยาย

บทบาทของผู้หญิงญี่ปุ่นยังก้าวล่วงไปสู่การเป็นผู้ส่งทอดวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อพวกเธอหันมาให้ความสนใจที่จะแต่งกายด้วยชุด yukata และ kimono ซึ่งถือเป็น luxurious attire ที่เดิมถูกจำกัดให้ใช้ในงานพิธีสำคัญและวาระพิเศษซึ่งกำลังจะเลือนหายไปกับกระแสธารของวัฒนธรรมตะวันตก ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับชุด kimono อย่างเอิกเกริก

ความนิยมในการแต่งชุด kimono ดังกล่าว ในด้านหนึ่งเป็นการสะท้อนทัศนะคิดในแบบ individualistic และความรู้สึก being myself ของสตรีชาวญี่ปุ่นอย่างชัดเจน เพราะนอกจาก kimono แต่ละชุดจะได้รับการออกแบบและตัดเย็บตามความต้องการของผู้สวมใส่อย่างเป็นเอกเทศแล้ว kimono ยังเกี่ยวพันกับการเติบโตขึ้นในแต่ละช่วงวัยของผู้หญิงแต่ละคนอย่างแยกไม่ออก ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องบ่งบอกสถานะทางสังคมของพวกเธอด้วย

ขณะเดียวกันผู้หญิงญี่ปุ่นยังเป็นกลุ่มคนที่เปิดตัวเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ อย่างกระตือรือร้น ไม่ว่าจะเป็นพิธีชงชาแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น หรือกิจกรรมสาธิตการประกอบอาหารนานาชาติ โดยทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานที่เริ่มต้นมาจาก sense of self ที่ขยายตัวไปสู่การสร้าง personal value ซึ่งมีผลต่อการประเมินคุณค่าและการก่อรูปทางวัฒนธรรมญี่ปุ่นโดยองค์รวมครั้งใหม่ไปพร้อมกัน

หากคำกล่าวที่ว่า โลกใบนี้มีมือของสตรีค้ำจุนอยู่ครึ่งหนึ่ง จะมีส่วนจริงอยู่บ้าง ดูเหมือนว่ามือของผู้หญิงญี่ปุ่นกำลังขยายเข้าค้ำประคองเศรษฐกิจและสังคมญี่ปุ่นไว้มากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ทุกขณะ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.