ยุ่นเจี๊ยะ

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

คงจะเป็นเรื่องยากที่จะหลบเลี่ยงความช่วยเหลือ (ที่ไม่ได้ร้องขอ) ของ Fudousanya-san หากคิดจะซื้อหรือเช่าบ้านในญี่ปุ่น

Fudousanya-san ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการติดต่อทำสัญญาเช่า-ซื้อขายระหว่างเจ้าของอสังหาริมทรัพย์กับผู้ที่ต้องการเช่า-ซื้อ หรืออาจจะเรียกง่ายๆ ว่า "นายหน้า" ในความหมายเดียวกันกับนายหน้าค้าบ้านและที่ดินที่ใช้กันในภาษาไทยและยังกินความไปถึงผู้แนะนำการเช่าบ้านซึ่งมีบทบาทมากไปกว่านายหน้าในบ้านเรา

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นดำเนินไปโดยมีส่วนสัมพันธ์กับ Fudousanya-san อย่างแน่นแฟ้นโดยเฉพาะในเรื่องของการเช่าบ้านเจ้าของบ้านจะลงโฆษณาผ่านบริษัทนายหน้าและปล่อยให้เป็นธุระจัดการทั้งหมดเป็นของ Fudousanya-san แน่นอนว่าเจ้าของบ้านมักจะเลือก Fudousanya-san ที่สามารถดูแลผลประโยชน์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในทางกลับกัน Fudousanya-san ก็ได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าของบ้านอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเช่นกัน

ลูกค้าจะมีโอกาสได้พบปะกับเจ้าของห้องก็ต่อเมื่อตกลงจะเช่าห้องแล้ว Fudousanya-san จึงจะนัดวันและเวลาให้ทั้งสองฝ่ายมาเจอกันเพื่อทำสัญญา

สัญญาเช่าบ้านจะเขียนไว้อย่างรัดกุมแน่นหนาและตรงไปตรงมาซึ่งปกติจะมีอายุ 2 ปี การเช่าบ้านในญี่ปุ่นก็มีลักษณะเดียวกันกับการเลือกซื้อสินค้าราคาแพงสักชิ้น สำหรับใครที่เคยมีประสบการณ์ทำธุรกิจกับบริษัทญี่ปุ่นหรือคนที่เคยมา shopping ในญี่ปุ่นคงทราบดีว่าสามารถจับจ่ายสินค้าได้อย่างไร้กังวล (ว่าจะถูกโกง) โดยทั่วไปแล้วคนญี่ปุ่นนั้นมีความซื่อสัตย์และรักษาชื่อเสียงของตนยิ่งกว่าเงินเพียงหยิบมือที่ซิกแซ็กได้มาเพียงครั้งเดียวและหากมองลักษณะประจำชาตินี้ให้ถี่ถ้วนก็จะเข้าใจได้ว่าการที่ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้นั้นมีพื้นฐานสำคัญมาจากประชากรที่ได้รับการพัฒนาแล้วนั่นเอง

โดยทั่วไปห้องเช่าในญี่ปุ่น แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ apartment (ในภาษา ญี่ปุ่นเรียกว่า apato) และ mansion ซึ่งแตกต่างกันตามขนาดและโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้าง ราคาของ apato จะถูกกว่า mansion ห้องเช่าทั้งสองประเภทจะเป็นห้องเปล่าไม่มีเฟอร์นิเจอร์

ราคาห้องเช่าขึ้นอยู่กับทำเลเป็นสำคัญ เป็นต้นว่าอยู่ห่างจากสถานีรถไฟมากน้อยเพียงใด การเดินทางสะดวกแค่ไหน นอกจากนี้ความเก่าใหม่ของตึกและสภาพห้อง รวมทั้งการหันทิศทางหน้าต่างที่สามารถรับแสงแดดได้ดีหรืออับแสง ชนิดของห้องว่าเป็นห้องแบบญี่ปุ่นที่ปูด้วยเสื่อทาตามิ หรือเป็นห้องแบบตะวันตกที่ปูพื้นไม้ รายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ต้องสำรวจให้ดีก่อนตัดสินใจ เนื่องจากการเช่าบ้าน แต่ละครั้งจะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งการย้ายบ้านบ่อยๆ เป็นเรื่องที่ไม่น่าภิรมย์นัก

ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจนอกเหนือจากความลงตัวของห้องที่ถูกใจกับราคาที่พอรับไหว คือ เงินค่ามัดจำ (shikikin) และเงินค่าขอบคุณ (reikin) ขึ้นอยู่กับ Fudousanya-san จะกำหนด

shikikin คือเงินค่ามัดจำสำหรับเป็นหลักประกันให้กับเจ้าของห้องในกรณีที่ผู้เช่าแอบย้ายหนีออกไปโดยไม่ยอมจ่ายค่าเช่าห้องเดือนสุดท้าย นอกจากนี้ยังเป็นส่วนที่สำรองเก็บไว้เป็นค่าทำความสะอาดเวลาย้ายออก ถ้าหากมีส่วนชำรุดเสียหายผู้เช่าต้องจ่ายค่าซ่อมแซมเองโดยหักจาก shikikin ที่จ่ายไว้ ซึ่งในบางครั้งอาจต้องจ่ายเพิ่มหากไม่พอ ส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าต่างๆ นานา เรียบร้อยแล้วจึงจะได้รับเงินคืน

reikin เป็นเงินสำหรับขอบคุณเจ้าของบ้านที่ (กรุณา) ให้เช่าบ้าน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ฟังดูไม่ค่อยจะขึ้นสักเท่าไร เงินส่วนนี้จะไม่ได้รับคืนเมื่อยกเลิกสัญญาคืนห้องไม่ว่ากรณีใดๆ

การเช่าบ้านยังต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาอาคารเพิ่มเติมเป็นรายเดือนประมาณ 1,000-5,000 เยน เพื่อใช้เป็นค่าดูแลความสะอาดไฟฟ้าบริเวณทางเดิน ค่าเก็บขยะในบางแห่งรวมถึงค่ารักษาความปลอดภัยด้วย

ปกติ shikikin และ reikin จะกำหนดไว้ที่ 2+2 หมายถึง shikikin 2 เดือนและ reikin 2 เดือน หากลองคิดคร่าวๆ ว่า ถ้าค่าเช่าห้อง เดือนละ 70,000 เยน เมื่อแรกเข้าต้องจ่ายค่าเช่าและค่าบำรุงรักษาอาคารของเดือนแรก บวกกับ shikikin reikin (2+2) เบ็ดเสร็จรวม 5 เดือน ตกเป็นเงินกว่า 350,000 เยน (อัตราแลกเปลี่ยนเดือนมิถุนายน 2005 ประมาณ 100 เยน = 37 บาท) หากอาศัยตามเมืองใหญ่ๆ ที่มีค่าครองชีพสูงอย่างโตเกียวหรือโยโกฮามาแล้ว ค่าห้องพักที่ดีมักจะแพงกว่า 70,000 เยน

ในสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยหรือช่วงเวลากลางปีหรือในบางพื้นที่เช่นบริเวณรอบๆ มหาวิทยาลัย อัตราค่า shikikin และ reikin อาจจะถูกลง เป็นต้นว่า 2+1, 1+2, 1+1, 2+0 แล้วแต่ Fudousanya-san กำหนด

ค่ายุ่นเจี๊ยะนี้หาใช่จะหยุดลงแค่เดือนแรกไม่ เมื่อครบทุกๆ 2 ปี ผู้เช่าจะต้องจ่ายค่าขอบคุณ (reikin) อีก 1 เดือน เพื่อเป็นการขอบคุณที่ให้ต่อสัญญาเช่า ในกรณีที่มีการขึ้นค่าเช่าบ้าน Fudousanya-san จะต้องแจ้งให้ทราบก่อนจะต่อสัญญาและแน่นอนว่า reikin จะต้องจ่ายในอัตราใหม่

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีบางวิธีที่จะหลีกหนีไม่ต้องจ่ายค่ายุ่นเจี๊ยะได้โดยเช่าห้องพักตาม (1) weeklymansion หรือ monthly mansion ซึ่งเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการอยู่อาศัยชั่วคราวโดยเฉพาะคนต่างชาติที่มาอยู่ในญี่ปุ่นระยะสั้น นอกจากไม่ต้องพบพานกับค่ายุ่นเจี๊ยะแล้ว ยังได้ห้องสวย ทำเลดี และมีเฟอร์นิเจอร์ครบในลักษณะ modern service apartment หากแต่มีราคาค่าเช่าที่สูงกว่า mansion ทั่วไปเป็นเงาตามตัวจึงไม่เหมาะกับการอยู่ระยะยาว

(2) koudan เป็น mansion ซึ่งมักจะเป็นห้องเช่าสำหรับครอบครัวขนาด 2DK ขึ้นไป ที่ดำเนินการโดยรัฐจึงไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายค่า reikin ทั้งแรกเข้าและทุกๆ 2 ปี อีกทั้งไม่ต้องกังวลเรื่องการขึ้นค่าเช่า koudan ถือเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการที่รัฐจัดสรรให้กับข้าราชการและ/หรือพนักงานวิสาหกิจบางหน่วยงานที่มีรายได้มากกว่า 3,000,000 เยนต่อปี และ (3) หอพักของมหาวิทยาลัย, บริษัทเอกชน, สมาคมช่วยเหลือชาวต่างชาติ

ยุ่นเจี๊ยะในญี่ปุ่นนั้นมีมานานแล้ว ไม่ว่าคนญี่ปุ่นเองหรือคนต่างชาติที่จะเช่าห้องพักคงต้องยอมจ่ายค่ายุ่นเจี๊ยะไปไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

การเรียนรู้และยอมรับเกี่ยวกับยุ่นเจี๊ยะ นั้นถือเสียว่า "รู้ไว้ใช่ว่าก่อนมาญี่ปุ่น"

หมายเหตุ : ยุ่นเจี๊ยะเป็นคำที่ผู้เขียนบัญญัติขึ้นมาเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.