SET Webboard หลักการลงทุนยามหุ้นผันผวน

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ในช่วงกลางปีที่หุ้นผันผวนเช่นนี้ นักลงทุนหรือเก็งกำไรทั่วไปที่ตัดสินใจวูบไหวไปตามกระแสอารมณ์ตลาดบ่อยครั้งมักจะได้รับผลลบมากกว่าผลบวก และการถือหุ้นอยู่เฉยๆ โดยไม่ตัดสินใจทำอะไรก็อาจเป็นผลเสียเช่นกันหากหุ้นนั้นไม่ได้ผ่านการตัดสินใจเลือกซื้อมาอย่างรอบคอบ ในภาวะนี้เองที่ "หลักการ" บางอย่างน่าจะมีประโยชน์ให้ผู้ลงทุนมีจุดยืนและระบบคิดตัดสินใจที่แน่นอนชัดเจน

หลักการที่ว่านี้อาจจะมาจากผู้เชี่ยวชาญหรือตำราทั้งต่างประเทศในประเทศเคยว่าไว้ และก็อาจจะมาจากการสั่งสมประสบการณ์ของผู้ลงทุนเอง ตลาดหุ้นไทยนั้นก็มีลักษณะเฉพาะหลายอย่าง ดังนั้นหลักที่สั่งสมจากประสบการณ์ร่วมยุคร่วมสมัยของ "เพื่อนร่วมสนามรบ" ย่อมน่าสนใจ เราจึงคัดเลือก 5 กระทู้เด่นจากเว็บบอร์ดของกลุ่ม Thai Value Investor ในเว็บ thaivi.com มานำเสนอ

1. "หลักการลงทุน"
thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=10145
อยากรู้ว่าเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ มีหลักในการลงทุนกันอย่างไร เช่น เลือกหุ้นจากไหน ศึกษาจากอะไร และตัดสินใจจากอะไร ทั้งนี้รวมเรื่องการขายด้วย เอาทั้งการเก็ง กำไรและลงทุน ไม่จำเป็นต้องแบบ VI ก็ได้

คำตอบที่น่าสนใจ (เพียงบางส่วน ยังมีคำตอบอื่นๆ อีกมาก)

- ทุกวันนี้แบ่งพอร์ตเป็น 2 ส่วน

1. ลงทุนแนว VI ถือหุ้นอยู่ 80% ไม่น่าเชื่อ รับปันผลมา 2 ปีแล้ว มีทั้ง gain ด้วยสบายใจ

2. แนวเก็งกำไร เกร็งจริงๆ พอร์ตไม่แน่นอน แดงๆ เขียวๆ อาศัยเทคนิคอลเข้าซื้อเป็นหลัก อ่านข่าวบ้าง วิธีคือ เมื่อซื้อแล้วตั้งจุดขายทันที เช่น ซื้อหุ้น xx ที่ 10 บาท ขายทิ้งถ้าลงถึง 9.5 ขายทำกำไรครึ่งหนึ่ง ถ้าขึ้นถึง 11 บาทอีกครึ่งหนึ่งรอดู ถ้ายังดีถือต่อ ถ้าดูไม่ดีเท่าไรก็ขาย

2 ปีที่ผ่านมา พอร์ตนี้หวือหวามาก บางทีกำไรมากจนอยากเอาเงินมาซื้อรถ แต่ตอนนี้คืนให้ตลาดไปเกือบหมดแล้ว เลยซึ้งสัจธรรมว่าเล่นแบบนี้พอร์ตโตยากในระยะยาว เล่นหันเหใจมาฝักใฝ่แนวลงทุน VI เริ่มศึกษาปวดหัวจี๊ดเหมือนกัน เงื่อนไข ปัจจัยต่างจากเก็งกำไรมาก วิธีการเข้าซื้อด้วย

- เลือกซื้อหุ้น

1. ชอบ ดูมีเสน่ห์

2. มีแบรนด์ มีแฟรนไชส์ที่แข็งแกร่ง ผูกขาด

3. กระแสเงินสดเป็นบวก หนี้น้อย ลงทุนไม่มาก ปันผลพอสมควร

4. เงียบเหงา ไม่มีคนสนใจ คนมองว่าราคาแพง ไม่แตกพาร์ยิ่งดี

5. ราคาเหมาะสม (คำนวณว่าถ้าหากซื้อทั้งบริษัท น่าซื้อไหม แพงไปไหม)

ขายหุ้น
ขายหมด เมื่อตรงข้ามกับข้อ 1 ข้างบน
ขายบ้าง เมื่อราคาขึ้นแรงและเร็ว คนสนใจมากราคาแพงไปมากๆ

- 1. ค่อนข้างแน่ใจว่าบริษัทนั้นกำไรจะเพิ่มขึ้นพอสมควรในระยะ 12 เดือนข้างหน้า
2. PE ต่ำกว่า 7 ในผลการดำเนินงานปัจจุบัน

2. "จังหวะ สำคัญที่สุด"
thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=10323

การซื้อหุ้น ขายหุ้น กลับกลายเป็นความรู้เป็นเรื่องรอง จังหวะในการซื้อสำคัญกว่า เช่น รู้ว่าหุ้นดี แต่ราคาไม่ลงมา สักที หรือราคาลงมาแล้ว แต่เงินหมด

สรุปคือ จังหวะที่จะได้เลือกซื้อหุ้นดีๆ ในราคาที่เหมาะสม + ต้องมีเงิน

การรอ คือ การเอาชนะใจตัวเอง ซึ่งยากเสียด้วย บุคคลที่ประสบความสำเร็จ ล้วนแล้วแต่รอเก่ง อย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ปีที่แล้วเหลือเงิน 46 พันล้านเหรียญ เพราะไม่มีหุ้นดีๆ ให้ซื้อ เพื่อนๆ คิดว่าไงครับ

คำตอบที่น่าสนใจ

- technical analysis ชั้นสูง คำนวณช่วงเวลาที่เข้าซื้อ ไม่ใช่ราคา

Turtle Trading บอกไว้ว่า "การจะเป็นเต่าต้องอดทน รอเวลาที่เหมาะสม บางทีคุณอาจจะไม่ได้ทำอะไรไป 8 เดือน หรือเป็นปีๆ เลยก็ได้ ถ้าไม่มีสัญญาณที่เหมาะสมว่าถึงเวลาซื้อหรือขายแล้ว"

VI พันธุ์แท้บอกไว้ว่า "รอเข้าซื้อหุ้นในเวลาที่ต่ำกว่ามูลค่ากิจการ"

นักเก็งกำไรพันธุ์แท้บอกไว้ว่า "ซื้อเมื่อถึงเวลาซื้อขายเมื่อถึงเวลาขาย อย่าดื้อ"

DSM ว่าไว้ว่า "ขายตามแผนการ ซื้อตามแผนการ อย่าโลภ อย่ากลัว อย่าเร่ง"

ความอดทนและการรอคอยจังหวะดูเหมือนจะเป็นตัวหารร่วมน้อยของการเล่นหุ้นทุกประเภท

- จุดอ่อนผมเลยแหละ มีตังค์แล้วต้องซื้อเลย ไม่เคยทนรอได้นานเกินเดือน

- สำหรับผม ถ้าไม่มีความรู้ ก็คงไม่สามารถหาจังหวะเวลาซื้อหรือขายได้

การลงทุน คุณไม่จำเป็นต้องซื้อราคาต่ำสุด ขายในราคาสูงสุด เพียงคุณค้นหารอบการเข้าออกใหญ่ๆ ได้สักรอบ สองรอบ ชีวิตคุณก็สบายไปตลอดชีวิตแล้วครับ

ค้นหาแค่รอบใหญ่ๆ ชีวิตจะได้ไม่เครียดครับ มัวแต่เฝ้าดูรอบเล็กๆ จะเครียดเอานะครับ ผมดูกราฟไม่เป็นครับ การหารอบใหญ่ๆ ก็คือการหารอบของเศรษฐกิจประเทศไงครับ

3. "ข้อห้าม สำหรับ VI"
thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=10345

เท่าที่ติดตามมา ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่ควรกระทำควรปฏิบัติ แล้วข้อห้าม (ศีลทางการลงทุน) สำหรับ VI มีอะไรบ้างครับ

คำตอบที่น่าสนใจ

- หุ้นปั่นผมไม่แน่ใจว่านับเป็นข้อห้ามไหม แต่มีความเป็นไปได้ว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง หุ้นปั่นอาจเป็นหุ้นน่าลงทุนก็ได้

- ห้ามโลภเกินความรู้ที่มี

- ห้ามซื้อเพราะคิดแค่ว่าราคาจะขึ้นไป เพราะจะกลายเป็นการเก็งกำไร

ห้ามซื้อเพราะเห็นว่าราคาลงมาถูกมากแล้ว โดยไม่ได้เปรียบเทียบกับมูลค่าที่แท้จริง ซื้อแล้วไม่ขายกล้าซื้อรึเปล่า ถ้าไม่กล้า ห้ามซื้อ

- อย่าซื้อหุ้น โดยไม่ได้ดูหรือไม่ได้ประเมินมูลค่า

- การซื้อขายหุ้นแบบ Net Settlement หักกลบลบหนี้หุ้นตัวเดียวกันในวันเดียวกัน เป็นเรื่องของการเก็งกำไรล้วนๆ จากการขึ้นลงของราคาหุ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับพื้นฐานของกิจการน้อยมาก เป็นการทำผิดศีลข้อที่หนึ่ง ซึ่งเป็นบาปขั้นรุนแรงที่ไม่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง

การลงทุนในหุ้นที่ร้อนแรงเนื่องจากการปั่น หรือการเก็งกำไรอย่างไร้เหตุผล เช่นการซื้อหุ้นของบริษัทที่มีค่า PE สูงเป็น 70-80 เท่า ค่า PB เป็น 10 เท่า และมูลค่าของกิจการ สูงเป็นหมื่นล้านบาทโดยที่บริษัทมิได้มีสถานะที่โดดเด่นเหนือคู่แข่งขันหรือมีอำนาจผูกขาดในธุรกิจที่กำลังเติบโตเร็วมาก ก็น่าจะถือเป็นบาปที่หนักหนาอีกอย่างหนึ่ง

ถ้าได้ยินข่าวลือว่าจะมีการแตกพาร์หรือมีการแจกวอร์แรนต์ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมแล้ว คุณเข้าไปซื้อหุ้นโดยไม่ได้ดูคุณภาพหรือราคาหุ้นเลย พฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เพราะการแตกพาร์กับการแจกวอร์แรนต์ให้ผู้ถือหุ้นเดิมนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่ตัวธุรกิจ

พฤติกรรมการซื้อขายหุ้นเป็นประจำ เช่น ซื้อขายเกือบทุกวันหรือเกือบทุกสัปดาห์ แม้ว่าหุ้นที่ซื้อขายจะเน้นไปที่หุ้น Value ก็เป็นพฤติกรรมนอกรีต เพราะการซื้อแล้วขายภายในระยะเวลาอันสั้นนั้น ผลกำไร-ขาดทุน จะมาจากความผันผวนของราคาหุ้นมากกว่าที่จะมาจากพื้นฐานของกิจการ ซึ่งเป็นหลักในการลงทุนของ Value Investment แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือจะทำให้ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นมากเสียจนผลตอบแทนที่จะได้จากการลงทุนไม่เพียงพอที่จะมาชดเชยได้

นักลงทุนที่ไม่กล้าซื้อหุ้นที่มีราคาสูงเป็น 100 บาทขึ้นไป แต่ชอบซื้อหุ้นราคา 2-3 บาท เพราะคิดว่าเป็นหุ้นที่มีราคาถูกและราคาจะไม่ตกลงมามากนั้นคงจะเป็น Value Investor ได้ยาก เพราะแสดงให้เห็นว่ายังไม่เข้าใจความหมาย ของความถูกความแพงของหุ้นซึ่งต้องวัดด้วยค่า PE ค่า PB และอื่นๆ ไม่ใช่ราคาหุ้นที่ซื้อขายกัน การไม่รู้ว่าอะไรคือความถูกหรือแพงนั้นถือว่าเป็นเรื่องของความไม่รู้ที่ร้ายแรงมาก เพราะในหลักการของ Value Investment นั้น หุ้นอะไรก็ไม่น่าซื้อ ถ้าราคาไม่จูงใจ

นักลงทุนหลายคนมองหาหุ้นถูกที่มีค่า PE ต่ำ PB ต่ำ เป็นกิจการที่ดูแล้วดีพอใช้ มีการจ่ายปันผลดี เขาก็ซื้อหุ้น และคิดว่าเขาทำตามหลักการของ Value Investment แต่ซื้อแล้วหุ้นก็ไม่ไปไหนเป็นเวลานาน บางตัวกลับขาดทุน ทั้งๆ ที่ตลาดหุ้นก็กำลังปรับตัวขึ้น เขาค้นหาเหตุผลก็พบว่า กำไรของบริษัทลดลง รายได้ก็ไม่ประทับใจ ความเห็นผมก็คือ เขาน่าจะเป็น Value Investor ได้ ปัญหาของเขาก็คือ เขาอาจจะศึกษาและเข้าใจธุรกิจที่ลงทุนไม่ลึกซึ้งพอก่อนตัดสินใจ

4. "อีกมุมมองหนึ่ง จากบัฟเฟตต์"
thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=10178

เขาบอกว่า

1. ผมมองหาธุรกิจที่แม้แต่คนโง่ๆ ก็สามารถบริหารงานให้มีกำไรได้

2. ผู้บริหารที่เก่งๆ แต่ไปอยู่ในอุตสาหกรรมที่แย่ๆ สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือชื่อเท่านั้นเอง

คำตอบที่น่าสนใจ

- ให้เลือกลงทุนบริษัท ในอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งที่ไอ้ตูดหมึกที่ไหน (any ass hole) ก็สามารถดูแลบริหารกิจการได้ เพราะไม่แน่ว่าวันใดวันหนึ่ง เราอาจได้ไอ้ตูดหมึกมาเป็นผู้บริหารก็ได้

- ผมกลัวผู้บริหารเก่งแต่จริยธรรม (integrity) ไม่ดีมากกว่าครับ

5. "ซื้อหุ้นทั้งที ต้องดูนามสกุลกรรมการด้วยหรือ"
thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=10128

ตอนนี้มีข่าวเรื่องการเมืองค่อนข้างเยอะ และมีเรื่องติดสินบนอีก การจะซื้อหุ้นตัวไหน ต้องไปดูรายชื่อหรือนามสกุลของกรรมการบริษัทนั้นๆ ว่าไปตรงกับของนักการเมืองหรือเปล่า ?

คำตอบที่น่าสนใจ

- รายชื่อกรรมการหรือผู้บริหารเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งในการตัดสินใจลงทุน ถามว่า ถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจจะจ้างผู้จัดการร้านมาคอยดูแลให้ คุณจะดู profile หรือ resume ด้วยรึเปล่าครับ หรือใครก็ได้ที่มาสมัครก็รับเลย

- จากสถิติการเก็งกำไรจะเป็นสูตร 80/20 ครับ คือ 80% จะขาดทุน 20% รอด (เท่าทุน 10% และเหลือคนกำไร 10%) คนที่กำไรนั้น คุณว่าจะเป็นใครบ้างครับ เจ้ามือ ญาติเจ้ามือ เพื่อนสนิทเจ้ามือ มาร์เก็ตติ้งคู่ใจเจ้ามือที่แอบซื้อตาม นักวิเคราะห์ (ที่ถูกควรเรียกว่านักเชียร์) ฯลฯ นับๆ ดูก็เกือบครบ 10% แล้วนะครับ ทีนี้รายย่อยจะไปอยู่ส่วนไหนดีล่ะครับ เลือกเอาเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.