Paul Krugman's Warning เศรษฐกิจโลกเครียด-ไม่สมดุล-ไร้ผู้นำ


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ ศ.ดร.Paul Krugman เดินทางมาประเทศไทย แต่ครั้งนี้มาในฐานะแขกสำคัญของกลุ่ม นสพ.ผู้จัดการ และบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม ซึ่งจิตตนาถ ลิ้มทองกุล CEO ดำริจัด Seminar Forum ระดับ Worldclass ในหัวข้อ 'Warning System : Positioning of Thailand & South East Asia" ในวันที่ 17-18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

หากเริ่มจากบทเรียนวิกฤติการณ์การเงินที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจเอเชียระหว่างปี 2539-2540 ดร.ครุกแมนเล่าว่าตั้งแต่ปี 2538 เขาเห็นสัญญาณอันตรายจากตัวเลขความไม่สมดุลชัดเจน แต่การพังทลายมันร้ายแรงเกินกว่าที่คาดไว้ และผลกระทบรุนแรงก็ยังส่งผลถึงปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจของบางประเทศยังไม่ฟื้นตัว และยังมี NPL อยู่

แต่ถึงกระนั้น นักเศรษฐศาสตร์ได้ทำโมเดลเศรษฐกิจเพื่อคาดการณ์อนาคต ก็พบว่าประเทศกำลังพัฒนายังไม่มีปัญหา แต่ถ้าเมื่อไรนำเอาโมเดลของสหรัฐฯ เข้ามาใส่ด้วย จะเห็นว่าสหรัฐฯ ตกอยู่ในปัญหาที่น่ากลัวมากคือ การขาดดุลทางการค้า 6% ของ GDP กับ 3 กลุ่มการค้ากับสหรัฐฯ คือ ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศผลิตน้ำมัน และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (ASIA Emerging)

'ผมตำหนินโยบายการคลังของสหรัฐฯ เสมอ เพราะการขาดดุลการค้าหลายปีมานี้ของสหรัฐฯ ไม่น่าจะเดินต่อไปได้ และที่น่าสนใจคือเงินหายไปไหน ซึ่งบอกได้เลยว่า เงินหายไปในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตอนนี้มีราคาสูงเกินจริง 50% ที่ไม่ได้มาจากการสร้างของนักธุรกิจ แต่เป็นเรื่องซื้อขายของคนธรรมดาเหมือนขายหุ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวมากสำหรับฟองสบู่ครั้งนี้ และน่าแปลกที่เห็นอังกฤษก็มีฟองสบู่นี้เช่นกัน และมีเงินจากจีนไหลออกไปลงทุนซื้อตราสารหนี้สหรัฐฯ ทั้งๆ ที่ได้ดอกเบี้ย 0% ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เราเห็นว่าเป็นการใช้เงินที่แปลกมาก เหมือนเราเห็นน้ำไหลขึ้นภูเขา แทนที่ประเทศพัฒนาจะนำเงินไปลงทุนในจีนที่มีค่าแรงถูกสูงขึ้น เรากลับเห็นเงินไหลออกจากประเทศจีนเพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์กลัวคือว่า คราวนี้ไม่เหมือนเก่า เราไม่มีระบบ ไม่มีคนเก่งในรัฐบาลสหรัฐฯ และมองไปในระยะยาวโลกไร้ผู้นำที่แท้จริง"

อย่างไรก็ตาม วิกฤติโลกนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้น ดร.Paul Krugman กล่าวว่าไม่รู้คล้ายๆ สึนามิเกิด แต่ภายใต้ความไม่สมดุล เครียดและเต็มไปด้วยแรงกดดันที่ทางสหรัฐฯ ให้จีนปรับค่าเงินหยวน และกดดันเรื่องโควตาส่งออกสิ่งทอ ฯลฯ มีคำถามว่า โลกจะทนรับไปได้นานแค่ไหน?

'เราอาจจะไม่มีเวลา 5 ปี ผมคิดว่าปัญหานี้จะทนอยู่ได้ไม่เกินสิ้นทศวรรษนี้ มันมาแน่นอน"

สำหรับคนต่างชาติที่เคยลิ้มลองอาหารไทยต้มยำกุ้งมาแล้ว ย่อมตระหนักดีว่า การสูญเสียความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจพริบตาเดียวที่เกิดวิกฤติ การณ์ทางการเงินในอดีตนั้นให้บทเรียนที่ไม่ควรซ้ำรอยประวัติศาสตร์อีกแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.