|
ฟื้นชีวิตตึกภาษีร้อยชักสาม
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
อีกไม่นานตำนานเรื่องใหม่ของโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งบนที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม หรืออาคารศุลกากร ซึ่งเคยสวยงามและทรงคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรมมานานกว่า 100 ปี
อาคารหลังนี้มีพื้นที่ตั้งติดกับสถานทูตฝรั่งเศสต่อเชื่อมกับ โรงแรมโอเรียนเต็ลและตึกอี๊สต์เอเชียติ๊ก ปัจจุบันเป็นที่ทำการของตำรวจน้ำ และสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก และด้วยข้อจำกัดของงบประมาณในการดูแลรักษา ตัวอาคารเลยดูเก่าแก่ร่วงโรย ความสวยงามที่เคยเป็นที่เลื่องลือเห็นได้แต่เพียงรางเลือน
ทางกรมธนารักษ์ประกาศให้เอกชนเข้าร่วมประมูล เพื่อพัฒนามาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยมีบริษัทพัฒนาที่ดินกลุ่มที่ทำคะแนนขับเคี่ยวกันมาโดยตลอดคือ กลุ่มแนเชอรัล พาร์ค (ประกอบไปด้วยบริษัทอามันรีสอร์ท เซอร์วิสเซลลิมิเต็ด และบริษัทซิลเวอร์ลิงค์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด) และกลุ่มที.ซี.ซี.โฮลดิ้ง ของเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งเป็นเจ้าของตึกอี๊สต์เอเชียติ๊ก และศูนย์การค้าโอ.พี.เพลส ในซอยโอเรียนเต็ลในบริเวณริมน้ำอยู่แล้ว
ในที่สุดกรมธนารักษ์ได้คัดเลือกให้กลุ่มแนเชอรัล พาร์ค เป็นผู้ได้รับสิทธิและทำการลงนามในสัญญาร่วมทุน เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2548 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่า เสนอผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด และมีแนวคิดของรูปแบบในการพัฒนารวมทั้งแผนด้านการตลาดน่าสนใจที่สุด
โดยจ่ายเงินให้ทางกรมธนารักษ์ในเรื่องค่าธรรมเนียมจัดหาผลประโยชน์ 125 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารชดเชยกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังมูลค่าประมาณ 153 ล้านบาท ผลตอบแทนค่าเช่ารายปี รวมเวลา 30 ปี 1,346.3 ล้านบาท
ในพื้นที่ประมาณ 5 ไร่นี้ แนเชอรัล พาร์ค จะพัฒนาเป็นโรงแรมหรูในเชิงอนุรักษ์โบราณสถาน (Heritage Development) ที่ต้องถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม ขนมธรรมเนียมประเพณีของไทย และมีจำนวนห้องพักไม่มากนักเพียง 33 ห้อง โดยหวังลูกค้ากลุ่มเป้าหมายระดับเอบวก
โรงแรมใหม่นี้ชื่อว่า 'อามันรีสอร์ท กรุงเทพ" ประกอบด้วยอาคารโบราณเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 หลัง และสร้างใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 อาคาร อาคารเดิมหลังแรกสูง 4 ชั้น มีพื้นที่ทั้งหมด 1,080 ตารางเมตร จัดให้เป็นห้องแสดงสินค้าโอทอป (OTOP) ห้องแสดง งานศิลปะ ร้านอาหาร และสปา หลังที่ 2 สูง 4 ชั้น มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,200 ตารางเมตร เป็นห้องอาหาร ห้องประชุม ห้องสมุด ห้องฝึกโยคะ ห้องทำสมาธิ รวมทั้งห้องสวีตหรู จำนวน 3 ห้อง หลังที่ 3 สูง 2 ชั้น พื้นที่เพียง 520 ตารางเมตร ถูกจัดให้เป็นส่วนบริการต่างๆ
ส่วนอาคารที่สร้างใหม่หลังแรกสูง 4 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น พื้นที่ทั้งหมด 9,800 ตารางเมตร ทอดยาวไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ประกอบไปด้วยห้องสวีตหรู 30 ห้อง พื้นที่แต่ละห้อง เฉลี่ยแล้วไม่เกิน 100 ตารางเมตร
หลังที่ 2 เป็นส่วนสำนักงานสูง 5 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น พื้นที่ 750 ตารางเมตร มีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานไปกับอาคารโบราณเดิม
Edward Tuttle สถาปนิกที่มีชื่อเสียงของกลุ่มอามันรีเข้ามาเป็นที่ปรึกษาทางด้านการออกแบบร่วมกับบริษัท Tandem Architects ผลงานของ Edward เช่น โรงแรมอามันปุรีที่ภูเก็ต โรงแรมอามันกิลาที่อินโดนีเซีย หรือการบูรณะโรงแรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้กลับมาใช้งานที่สอดคล้องกับรูปลักษณ์อาคารอีกครั้งหนึ่งของโรงแรม พาร์ค ไฮแอท มิลาน
เมื่อได้ 'แบรนด์" ของอามันรี ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นหนึ่งในผู้บริหารโรงแรมหรูแห่งหนึ่งของโลก เข้ามาร่วมทุนและบริหาร เสริมสิน สมะลาภา กรรมการผู้จัดการบริษัทแนเชอรัล พาร์ค จึงมั่นใจว่ามูลค่าการลงทุน 1,120 ล้านบาทนั้น สามารถคืนทุนได้ในเวลาไม่เกิน 10 ปี โดยจะเริ่มลงมือก่อสร้างเร็วๆ นี้ และใช้เวลาไม่เกิน 2 ปีในการพัฒนา
และเมื่อถึงเวลานั้นหากไม่มีอะไรผิดพลาด ภาพความรุ่งเรืองแห่งอดีตของอาคารที่เคยใช้เป็นที่เลี้ยงต้อนรับแขกต่างประเทศ เป็นสถานที่เต้นรำเมื่อคราวพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งงานสมโภชเมื่อพระองค์เสด็จนิวัตจากยุโรปครั้งที่ 2 ก็จะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|