ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์ เป็นนามแฝงของนักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัย
ซึ่งนอกเหนือจากความเชี่ยวชาญในงานประจำด้านจิตเวชและจิตวิทยาแล้ว ยังมีความสนใจด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
เขาจะเสนอมุมมองและสาระความรู้ที่น่าสนใจในคอลัมน์ "จากฝั่งพรานนก"
ถ้าคุณผู้อ่านยังพอจำได้ถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับบริษัทโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่สองค่ายในบ้านเราอัดแคมเปญชิงลูกค้ากัน
จนสุดท้ายคงไม่มีอะไร จะทำ เลยงัดเอาประเด็นของความปลอดภัยของแต่ละระบบขึ้นมาอัดกันแทน
ดูเหมือนว่าแต่ละค่ายต่างก็เป็นห่วงสุขภาพ ของลูกค้าผู้ใช้มือถือ แต่ในท้ายที่สุดก็เลิกพูดประเด็นนี้ด้วยกันทั้งสองค่าย
อาจจะรู้ตัวว่าพูดมาก ไปผู้ใช้จะตื่นตัวกับผลเสียที่อาจเกิดจากโทรศัพท์มือถือ
แล้วหันกลับมาโปรโมตเรื่องการโทรฟรี (แต่ เสียสตางค์) อีก บรรดาลูกค้าที่ดีทั้งหลายก็ดูเหมือนจะลืมประเด็นเรื่องนี้ไป
แต่ที่เมืองนอกไม่ได้เป็นเช่นนั้น ไม่ต้องรอให้บริษัทผู้ค้ามาแสร้ง ทำเป็นห่วงสุขภาพของลูกค้า
เพื่อบลั๊ฟอีกบริษัทหนึ่งอย่างที่ทำกันในบ้านเรา แต่ของเขามีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่รับผิดชอบความปลอดภัยของผู้บริโภค
เช่น Cellular Telecommunications Industry Association (CTIA) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานของโทรศัพท์มือถือ
ซึ่งรวมไปถึงค่าความเข้มของการแพร่กระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาว่าไม่ควรเกินกว่าเท่าไร
หรือ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภค
และก็มีอำนาจมากทีเดียวเรียกว่าถ้าผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของ FDAได้ก็ไม่ต้องห่วงอะไร
ไม่เหมือนบ้านเราที่ผ่านหน่วยงานของรัฐแล้วก็ยังไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัยจริงหรือไม่
เมื่อเร็วๆ นี้ ทาง CNN ได้นำเสนอเกี่ยวกับ เรื่องของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถือว่าเป็นข่าวที่น่าสนใจ
ข่าวหนึ่งทีเดียว ตามรายงานของ CNN กล่าวว่าเฉพาะในอเมริกาเองมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือถึง
90 ล้านเครื่อง และในแต่ละวันมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น 30,000 ราย
ปัญหาที่คนกลับมากังวลกันอีก ก็คือ โทรศัพท์มือถือปลอดภัยพอที่จะเป็นอุปกรณ์
ที่เราพกติดตัว และใช้กันจนเสมือนเป็นอวัยวะส่วน หนึ่งหรือไม่ ปัญหาการใช้โทรศัพท์มือถือเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องเล็กๆ
คือ การใช้กันอย่างไม่บันยะบันยัง แม้ในที่สาธารณะ หรือกระทั่งในสถานที่ที่ควรจะเงียบ
เช่น ห้องประชุม หรือโรงภาพยนตร์ กลายเป็นเรื่องของการรบกวนความสงบสุขของคนที่อยู่ใกล้เคียง
ถึงกับในต่างประเทศ มีการเสนอให้ออก กฎหมายห้ามการใช้โทรศัพท์มือถือในที่สาธารณะ
และร้านอาหารบางแห่งก็มีการห้ามโทรศัพท์เหมือนกับการห้ามสูบบุหรี่ เรื่องที่ดูเหมือนจะใหญ่โตและ
ได้รับความสนใจมากกว่าก็คือ เรื่องของการห้ามใช้โทรศัพท์ในขณะขับขี่ยานพาหนะ
ซึ่งเบี่ยงเบนสมาธิของผู้ขับ ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในหลายแห่งก็มีกฎหมายออกมาแล้ว
ส่วนบ้านเราเอง กฎหมายออกมาแล้ว แต่ยังไม่บังคับใช้ ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าจะต้องรออะไรอีกจึงจะบังคับใช้กฎหมายนี้
แต่นี่ก็เป็นเรื่องของความกังวลว่าผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจะก่ออุบัติเหตุให้เป็นอันตรายต่อผู้อื่น
และตนเอง (ซึ่งตัวผู้ใช้ก็คงจะไม่ค่อยใส่ใจประเด็นนี้นัก เพราะส่วนใหญ่คนเรามักจะไม่เชื่อว่าตนเองจะเป็นผู้ก่ออุบัติเหตุ)
ก่อนหน้านี้ท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้อ่านข่าวต่างประเทศที่กล่าวถึงแพทย์ท่านหนึ่ง
(ดูเหมือนเหตุการณ์จะเกิดขึ้นที่ฝรั่งเศส) คุยโทรศัพท์ในท่าเอียงคอแนบกับไหล่เป็นเวลานานร่วมชั่วโมง
ภายหลังเหตุการณ์เขาก็พบว่า เกิดอาการชาบริเวณใบหน้าเป็นเวลานาน เหตุการณ์นั้นพอจะสรุปได้ว่า
การคุยโทรศัพท์ในท่าดังกล่าวที่เอียงคอจนใบหูแนบกับไหล่ส่งผลให้เกิดการกดทับของเส้นเลือดบริเวณคอ
และทำให้สมองบางส่วนขาดเลือดแต่นั่นก็เป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรามองเห็น
หรืออธิบายได้ แต่สิ่งที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือน่าจะเป็นกังวลก็คือ จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนว่า
คลื่นรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกมาจากเครื่องโทรศัพท์มีอันตราย หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพของ
ผู้ใช้หรือไม่ มีรายงานการศึกษาจำนวนมากที่บ่งไปในทางว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกมาจากการใช้
โทรศัพท์มือถือมีผลต่อสุขภาพของผู้ใช้ แน่นอนว่าไม่ได้ระบุว่าเป็นระบบ GSM
หรือ Worldphone 1800 โดยเฉพาะเรื่องที่เคยฮือฮากันมาพักหนึ่งในบ้านเราว่า
อาจทำให้เกิดเนื้องอกของสมอง
อย่างไรก็ตาม พอมีรายงานที่บ่งไปในทิศทางว่าโทรศัพท์มือถือก่อให้เกิดปัญหา
ก็มักจะมีรายงานที่ให้ผลสรุปไปในทิศทางตรงกันข้ามว่า โรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับการใช้โทรศัพท์มือถือ
ผลก็คือ ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนว่า อันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มีหรือไม่
ผลที่ตามมาคือยังไม่มีการจำกัดการใช้ หรือ ตั้งเงื่อนไขพิเศษเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์จนกระทั่งต้นปีนี้เองที่มีรายงานวิจัยสองชิ้นระบุถึงความเกี่ยว
ข้องของการแผ่รังสีจากโทรศัพท์มือถือกับการป่วย โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุถึงความเกี่ยวข้องนี้กับโรคเนื้องอกในสมองชนิดที่พบได้ไม่บ่อยนัก
ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิดการทำลายของ DNA ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการถ่าย
ทอดลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์ โดยการทำลายของ DNA นี้เกิดขึ้นกับเซลล์ของเม็ดเลือดแดงที่ได้รับรังสีจากโทรศัพท์มือถือในขนาดสูงๆ
FDA หลังจากที่ทำการศึกษางานวิจัยสองชิ้นนี้แล้วก็ออกมาสรุปเหมือนที่ผ่านมา
คือ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ยังต้องรอการศึกษาอื่นๆ อีก แต่ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยเริ่มเพิ่มมากขึ้น
สองเดือนที่ผ่านมาคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้น โดยรัฐบาลอังกฤษมีข้อเสนอให้ผู้ผลิตและจำหน่าย
โทรศัพท์มือถือจะต้องระบุถึงปริมาณการแผ่รังสีของโทรศัพท์แต่ละรุ่นให้ผู้บริโภครับทราบ
ในขณะที่ CTIA (Cellular Telecommunications Indus-try Association) ก็เริ่มมีข้อกำหนดตั้งแต่ต้นเดือน
สิงหาคมให้บริษัทผู้ผลิตที่ต้องการการรับรอง มาตรฐานจาก CTIA ส่งข้อมูลดังกล่าวที่เรียกว่า
SARs (Specific Absorbed Radiation) ให้กับ CTIA และข้อมูลดังกล่าวจะถูกระบุไปพร้อมกับโทรศัพท์ที่ออกวางจำหน่าย
เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบ และเลือกใช้ หากต้องการใช้โทรศัพท์ ที่มีค่า
SARs ต่ำที่สุด
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลการศึกษาจะเป็นเช่นไร ค่า SARs ที่ต่ำและปลอดภัยที่สุดมีค่าเท่าไร
FDA ก็ยังคงมีข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยสำหรับบรรดาคนรุ่นเก่าและใหม่ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ
เป็นปัจจัยที่หก คือหลีกเลี่ยงจากการใช้โทรศัพท์โดยตรง นั่นคือ การใช้ Headset
หรือ Handfree จะช่วยให้สมองลดการสัมผัสกับคลื่นรังสีที่แผ่ออกมาจากเครื่องโดยตรง
พยายามใช้โทรศัพท์ที่มีเสาอากาศอยู่นอกเครื่อง โทรศัพท์ที่มีเสาอากาศอยู่ในตัวเครื่องจะเพิ่มความเข้มของรังสีที่แผ่ออกมาในขณะใช้
และเนื่องจากระยะเวลาที่ใช้โทรศัพท์เป็นเวลานานมากเท่าใด โอกาสที่เราจะได้รับการแผ่
รังสีในปริมาณมากก็เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ ลดการใช้โทรศัพท์มือถือลงทั้งในแง่ของความถี่บ่อย
และระยะเวลาในการใช้แต่ละครั้ง ประเด็นสุดท้ายนี้ ถือเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด
แต่สำหรับบ้านเรากลับทำให้เห็นได้ว่า มาตรการส่งเสริมการขายของบริษัทยักษ์ใหญ่
คิดแต่เพียงการเพิ่มยอดขาย โดยไม่ได้เป็นห่วงว่าการโปรโมตประเภทโทรฟรี (แต่จ่ายคงที่)
หรือจ่ายน้อยแต่โทรได้มากในช่วงของการโปรโมชั่น จะทำให้ผู้บริโภคทั้งหลายได้รับการแผ่รังสีจากโทรศัพท์มากเกินกว่าที่ควรจะเป็นในช่วงของการโปรโมต
1-2 ปี แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้น เพราะผู้ซื้อเครื่องใหม่ภายหลังจากหมดโปรโมชั่นโทรแบบบ้าเลือดแล้ว
มักจะติดนิสัยการใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยเกินความจำเป็น นั่นคือปริมาณรังสีที่ได้รับภายหลังจากช่วงโปรโมชั่นอาจจะไม่ลดลง
ยิ่งอภิมหาโปรเจ็กต์ของรัฐบาลที่ต้องการให้ชาวบ้านได้ใช้โทรศัพท์มือถือราคาถูกอาจจะเป็นตัวเสริมให้การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น
ส่งผลให้โปรโมชั่นการโทรฟรีแบบบ้าเลือดหนักหน่วงขึ้น โดยที่รัฐและหน่วยงานไม่ได้ให้ความสนใจกับการระแวดระวังปัญหานี้
บางทีอีก 1-2 ปีข้างหน้า FDA ของอเมริกาอาจสรุปได้ว่า การแผ่รังสีจากโทรศัพท์มือถือมีอันตราย
จริง โดยอาศัยรายงานการศึกษาจากผู้ป่วยในเมืองไทยก็เป็นได้ ใครจะรู้...