|

4P ของพรานทะเล
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
การทำตลาดสินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง (ready to cook) ของพรานทะเล เป็นสิ่งใหม่ของสังคมไทยที่ผู้บริโภคยังไม่คุ้นเคย การจะสร้างแบรนด์และตัวสินค้าไปพร้อมๆ กับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องตีให้แตก หลัก 4P ที่เป็นคัมภีร์เบื้องต้นทางการตลาดถูกนำมาใช้วิเคราะห์และหาทางปิดจุดอ่อนไปทีละข้อ
Product - UFP มีความชำนาญอยู่แล้วทั้งในด้านการผลิตที่ได้มาตรฐานและการหาวัตถุดิบที่หลากหลาย จากกองเรือที่มีอยู่ 14 ลำในปัจจุบัน
Price - พรานทะเล เริ่มต้นจากสินค้าที่ราคาไม่แพง เพื่อให้ผู้บริโภคทดลองซื้อได้ง่าย รอจังหวะให้สินค้าติดตลาดแล้วค่อยเพิ่มหมวดสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นในภายหลัง
Promotion - ธงชัยเลือกใช้ทีมงาน JWT ให้ดูแลการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งหมด
"ตอนที่ JWT ทำแผนงานมาให้ดูว่าต้องใช้งบประมาณทั้งหมด 100 ล้าน ผมเหงื่อตกเลย เพราะตอนนั้นทุนจดทะเบียนบริษัทมีอยู่ 100 ล้านเท่ากันเลย แต่มาถึงตอนนี้แล้วก็เอา ต้องลุย เพราะเป็นจังหวะที่ดีที่สุด ยังไม่มีแบรนด์ไหนอยู่ในตลาด" ธงชัยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
Place - P ตัวสุดท้ายและเป็นตัวที่ธงชัยหนักใจมากที่สุด เพราะโมเดิร์นเทรดที่เขาตั้งใจจะใช้เป็นช่องทางจำหน่ายนั้นขึ้นชื่อมากในเรื่องความยากในการ deal
Food Lion เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกที่รับสินค้าพรานทะเลเข้าไปวางจำหน่ายและเมื่อถูก Tops ซื้อกิจการไปก็ได้นำพรานทะเลไปวางจำหน่ายใน Tops ด้วย หลังจากนั้นเมื่อโฆษณาของพรานทะเลออกอากาศและผู้บริโภคพูดถึงก็ช่วยให้การเข้าซูเปอร์สโตร์และซูเปอร์มาร์เก็ตรายอื่นง่ายขึ้น
ที่ว่ามาแล้วนั้นเป็น 4P ที่พรานทะเลนำมาใช้ก่อนวางตลาด และเมื่อเปิดตัวเข้าสู่ตลาดแล้วก็ยังไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะ Product และ Place ที่ดูจะโดดเด่นที่สุด
ในส่วน Product ของพรานทะเลมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสินค้าอาหารแช่แข็งพร้อมปรุง (ready to cook) ก็ขยายไลน์มาสู่อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งพร้อมรับประทาน (ready to eat) เช่น ข้าวต้มซีฟู้ดและซีฟู้ดแพนเค้ก และกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (take home) อาทิ ปลาทูเลิศรส ทูน่าเลิศรสและทูน่าน้ำแดง รวมทั้งล่าสุดก็เพิ่งเปิดตัวสินค้าใหม่ในกลุ่ม ready to eat เป็นเมนูอาหารกลางวันแช่แข็งพร้อมรับประทาน 19 ชนิด เช่น ข้าวแกงฮังเลทูน่า ข้าวทูน่าคั่วกลิ้ง ข้าวลาบปลาแซลมอน และข้าวผัดต้มยำกุ้ง เพื่อเจาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศและคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายและประหยัดเวลา
ผลตอบรับจากเมนูอาหารกลางวันที่เพิ่งเปิดตัวไปนี้จะนำไปเป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาสินค้าตัวใหม่ออกมาอีก ซึ่งได้แก่ เมนูอาหารเย็นแช่แข็งพร้อมรับประทาน
"เรากำลังดูว่าเมนูมื้อเย็นอาจจะต้องเพิ่มปริมาณให้มากขึ้น เพื่อให้เหมาะกับการรับประทานทั้งครอบครัว แต่ไม่ต้องมีข้าวเพราะสามารถซื้อหรือหุงเองได้" อนุรัตน์ โค้วคาสัย ผู้จัดการทั่วไปและผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าว
สำหรับ Place ของพรานทะเลก็มีการเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านจำนวนและช่องทางใหม่ๆ โดยปัจจุบัน พรานทะเลมีวางขายทั้งใน Tesco Lotus Carrfour BigC Tops The Mall และ Lotus Express รวมทั้งหมดกว่า 230 จุดทั่วประเทศ และยังเปิดเป็นร้านจำหน่ายสินค้าแช่เย็นโดยเฉพาะอีก 2 แห่ง คือ ที่หัวลำโพง และสถานีรถไฟฟ้า BTS อ่อนนุช
พรานทะเลยังเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ด้วยการเปิดร้านพรานทะเล ฟาสต์ซีฟู้ด สาขาแรกที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว เป็นร้านอาหารที่มีพ่อครัวปรุงสด มีทั้งอาหารทะเลและซูชิ ซึ่งไม่เพียงสร้างรายได้และการรับรู้ในแบรนด์พรานทะเลเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการทดลองเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการเปิดร้านแฟรนไชส์ของพรานทะเลในต่างประเทศได้อีกด้วย นอกจากนี้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ยังจะเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวในบริเวณฟู้ดคอร์ตของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว อีกด้วย
"เราอยากจะเอาสินค้าเข้าไปในทุกกลุ่มผู้บริโภคโจทย์ของเราคือจะทำอย่างไรให้พรานทะเลเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคได้ครบ" อนุรัตน์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|