เมืองในจินตนาการ

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

สายน้ำที่ไหลไปตามคูน้ำสายเล็กๆ ผ่านหน้ารีสอร์ตทุกหลังส่งเสียงจ๊อกๆ ท่ามกลางบรรยากาศอันเงียบสงบ คือจุดสำคัญในการตามไปยังวิธีคิดที่น่าสนใจของ สุเชฎฐ์ สุวรรณมงคล ผู้ก่อตั้งโรงแรมดาราเทวี

สายน้ำยังคงไหลเอื่อยผ่านท้องทุ่งนาที่กำลังเขียวขจี และต้นมะพร้าวสูงลิบลิ่ว ผ่านบ้านเรือนที่โอ่อ่างามไปด้วยสถาปัตยกรรมของชาวล้านนา ภาพวิถีชีวิตของชาวบ้าน ในอดีตผุดขึ้นมา ก่อนที่จะถูกบดบังด้วยภาพภายในตัวบ้านที่เต็มไปด้วยความหรูหราไฮเทคของโรงแรมระดับห้าดาว ซึ่งเป็นวิถีชีวิตจริงๆ ของคนยุคนี้ผุดขึ้นมาแทน

จากความคิดที่จะทำรีสอร์ตเล็กๆ เพียง 40 กว่าหลังบนถนนสันกำแพง-เชียงใหม่ ท่ามกลางธรรมชาติของเมืองเหนือ กลายเป็นจินตนาการที่กว้างขึ้นทุกทีๆ จนเป็นวิธีคิดที่แตกต่างไม่เหมือนใครพร้อมๆ กับซื้อที่ดินผืนแรก 40 ไร่ตรงกาดดารา ซึ่งต่อเชื่อมกับร้านอาหาร Le Grand Lanna และหลังจากนั้นก็ทยอยซื้อเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นที่ดินผืนใหญ่กว่า 150 ไร่ 60 กว่าโฉนด

ในขณะที่เรื่องราวของดาราเทวี กลายเป็น Talk of the town ของผู้คนในวงสังคม แต่ดูเหมือนว่าสุเชฎฐ์ สุวรรณมงคล เจ้าของผู้ก่อตั้งโรงแรมดาราเทวี ตั้งใจจะปิดตัวเงียบไม่ยอมให้สัมภาษณ์กับสื่อฉบับใด แม้ในวันเปิดตัวโรงแรมเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทีม Senior Management กับภรรยาและลูก คือคนที่คอยต้อนรับแขกอย่างออกหน้าออกตา

ในนามบัตรที่สวยงามของเขา มีเพียงชื่อและโลโกของบริษัทดาราเทวี แต่ไม่ปรากฏตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น

"ตอนนี้แมนดาริน กรุ๊ป เข้ามาเป็นผู้บริหาร ผมต้องการให้ข่าวออกมาทางเขามากกว่า" สุเชฎฐ์บอกกับ "ผู้จัดการ" บนโต๊ะอาหารเช้าที่รีสอร์ตของดาราเทวี ซึ่งมองเห็นต้นข้าวเขียวขจี เป็นเหตุผลเดียวที่เขามักเอ่ยกับใครๆ

ในแง่มุมหนึ่งคือ วิธีคิดเดียวกับตระกูลกรรณสูต เจ้าของโรงแรมโอเรียนเต็ล กรุงเทพ ที่ไม่เคยออกมาให้สัมภาษณ์ในเรื่องกิจการของโรงแรมและไม่ก้าวก่ายในงานบริหาร แต่อีกมุมหนึ่งคงเป็นเหตุผลส่วนตัวที่ตัวเขาเองเท่านั้นจะรู้จริง

สุเชฎฐ์เป็นนักธุรกิจชาวจังหวัดปัตตานี อายุประมาณ 50 ปี ที่หลงใหลเสน่ห์เมืองเหนือ เขาทำธุรกิจทางด้านรถยนต์มาตลอด ไม่เคยทำโรงแรมมาก่อนเลยในชีวิต แต่จากการพบกันในช่วงเวลาไม่นานนัก 2 ครั้ง เห็นได้ว่าเขาทุ่มเทให้กับงานศิลปะในโครงการอย่างมาก

"ผมใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ตระเวนไปทั่วทั้งเชียงใหม่ เชียงราย แม่สะเรียง หาบ้านไม้เก่า หาช่างที่มีฝีมือในเรื่องต่างๆ ช่างปูน ช่างหล่อ ช่างเขียน ช่างปิดทองใครเก่งเรื่องไหนตามมาช่วยกันสร้างงานในโครงการเรา"

การจำลองห้องพระจากวัดไหล่หินหลวง เป็นภูมิปัญญาของสล่าท้องถิ่น เช่นเดียวกับงานสลักเสลาเนื้อไม้ด้วยลวดลายตามจินตนาการของช่างฝีมือ การประดิษฐ์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังจากกระจกเงาหลากสี งานแกะสลักเสาไม้ขนาดใหญ่ในห้องอาหารฝรั่งเศส หรือ "DHEVA SPA" เรือนไม้ขนาดใหญ่สไตล์มัณฑะเลย์ ที่ประดับประดาส่วนต่างๆ ของอาคารด้วยไม้สักทองแกะสลัก เป็นลวดลายวิจิตรบรรจงด้วยฝีมือของสล่าหญิงชาวเหนือ

นอกจากเป็นนักสะสมรถโบราณที่จอดเรียงรายไว้บริการแขกด้านหน้าโรงแรมแล้ว สุเชฎฐ์ยังเป็นนักสะสมของเก่าคนหนึ่ง บางชิ้นถูกนำมาประดับในโรงแรม ในขณะเดียวกันของโบราณของเก่าหายาก ยังถูกซื้อหามาประดับไว้ตามห้องพักและห้องอาหาร แต่ละชิ้นมีเรื่องราวความเป็นมา บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองด้านวัฒนธรรมและความประณีตในงานศิลปะเมื่ออดีตกาล เช่น เครื่องเขิน เครื่องเงิน ในห้องอังคาร ที่ร้านเลอกรองด์ลานนา ประดับด้วยภาพงานศิลปะ รูปภาพ บทกวี ของอังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินที่สุเชฎฐ์ชื่นชอบ และเก็บผลงานมาโดยตลอด

วันนี้สุเชฎฐ์กำลังรวบรวมภาพและเรื่องราวของตกแต่งต่างๆ เหล่านี้เก็บไว้เป็นหนังสือ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับแผนก Art & Culture ของโรงแรม ที่จะต้องคอยอธิบายให้แขกฟังด้วย

วิธีการขนย้ายต้นไม้ 7,000 กว่าต้นเข้ามาปลูกในโครงการ เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ต้องเก็บเกี่ยวไว้เป็นประสบการณ์ถึงแม้เขาจะบอกว่าภาพที่เห็นตอนนี้เหมือนสงครามที่สงบแล้ว ต้นไม้กำลังเติบโตอย่างแข็งแรง แต่ก่อนหน้านี้มีไม่ต่ำกว่าพันต้นที่ต้องตายไป

"คุณต้องหลับตานึกให้ได้ว่าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ตรงนี้เป็นท้องนา ไม่มีต้นไม้ใหญ่พอเราลงมือทำโครงการทุกอย่างต้องถูกถมราบเรียบไปหมด หลังจากนั้นเราถึงเอาต้นไม้ใหญ่มาลงถึง 7,000 กว่าต้น ทุกต้นเป็นต้นไม้หายาก และเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา"

ดงต้นงิ้วที่กำลังรอเวลาแตกใบใหม่เพื่อสร้างร่มเงา พร้อมกันออกดอกแดงฉาน เมื่อย่างเข้าหน้าหนาว สลัดดอกออกจากต้นเมื่อเข้าสู่หน้าร้อน เรียงราย 2 ข้างทางถนนที่คดเคี้ยวไปสู่สปาและล็อบบี้ขนาดเล็ก ส่วนต้นโพ ต้นสาละ ต้นก้ามปู และอีกมากมายกำลังแตกกิ่งก้านสาขาจนไม่น่าเชื่อว่าผ่านการขนย้ายมาจากที่อื่น

ต้นใหญ่ที่สุดคือต้นโพหน้าวัดไหล่หินหลวงจำลองที่มีขนาดหลายคนโอบ หนัก 58 ตัน ใช้เครน 2 ตัวยกมาทั้งรากจากอำเภอป่าซาง

ภาพในจินตนาการของสุเชษฎฐ์ ถูกถ่ายทอดให้นัดดาธร ธรรมบุตร และราเชนทร์ อินทวงศ์ สองสถาปนิกหนุ่มรุ่นใหม่รับภาระหนักไปรวบรวมรายละเอียด และช่างฝีมือทั้งหลายมาสานต่อความฝัน ส่วนลั่นฟ้า เทพหัสดิน ณ อยุธยา, อนุรักษ์ กองวงศ์ คือสองมัณฑนากรที่สรรหาของตกแต่งให้สอดคล้องกับงานสถาปัตยกรรม

ปลายปีนี้เมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้น สุเชฎฐ์คงต้องตื่นจากความฝัน และร่วมมือกับแมนดาริน กรุ๊ป บริหารโรงแรมในโลก แห่งความเป็นจริงต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.