|
บ้านน้ำปิง ความกลมกลืนโดยบังเอิญ
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการปลูกบ้านไว้อยู่เองริมแม่น้ำ ทำให้การวางผังตลอดจน landscape ของบ้านน้ำปิง ถูกกำหนดเอาไว้
ไม่ให้ทำลายทัศนียภาพ ยิ่งเมื่อเจ้าของเป็นคนชอบปลูกต้นไม้ ยิ่งทำให้ boutique resort แห่งนี้ กลมกลืนเข้ากับธรรมชาติไปได้โดยบังเอิญ
แม่น้ำปิงช่วงอำเภอสารภี รอยต่อระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับลำพูน ไม่กว้างมากนัก พื้นที่ส่วนใหญ่ริมแม่น้ำเป็น แปลงผัก ทำให้บรรยากาศโดยรวมดูเงียบ สงบ มีเพียงเสียงเครื่องบินซึ่งกำลังลดระดับเพื่อลงจอดยังสนามบินเชียงใหม่เท่านั้นที่เข้ามาให้ได้ยินบ้างเป็นบางช่วง แต่ก็ถือว่าเล็กน้อย เพราะระยะของเครื่องบินถือว่าอยู่ไกล จึงไม่เป็นการรบกวน
ณ หทัย ตั้งกิตติวุฒิกุล เลือกใช้พื้นที่บริเวณนี้ ซึ่งเป็นที่ดินริมแม่น้ำ เนื้อที่ 3 ไร่เศษ เป็นสถานที่ตั้งของ boutique resort ระดับหรูที่มีชื่อว่า "บ้านน้ำปิง"
ในกลุ่ม Hotel de Charm ณ หทัย ถือว่าอยู่ในรุ่นกลางๆ เธออายุน้อยกว่าอมรดิษฐ์ สมุทรโคจร กับไพโรจน์ โกสุมขจรเกียรติ์ หลายปี แต่ก็ถือเป็นพี่ๆ ของน้องๆ ที่เหลือ
ณ หทัยเป็นคนสารภีโดยกำเนิด เรียนจบมัธยมต้นจากโรงเรียนเรยีนา เชรี และมัธยมปลายจากปรินส์ รอยแยลส์ วิทยาลัย ก่อนจะสอบติดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พื้นฐานครอบครัวทางบ้านทำสวนลำไย และมารดาทำธุรกิจจัดสรรที่ดิน
หลังจบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2531 ณ หทัยเข้ามาทำงานกับบริษัท KS&S ซึ่งทำธุรกิจเอเย่นต์ขายตั๋วเครื่องบินอยู่ในกรุงเทพฯ 2 ปี ก็นำประสบการณ์จากที่นี่ ขึ้นมาเปิดธุรกิจขายตั๋วเครื่องบินเป็นของตัวเองที่บ้านเกิด ในอำเภอสารภี โดยมีกลุ่มลูกค้าประจำ เป็นผู้บริหาร และพนักงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน
จนเมื่อ 3 ปีก่อน เธอเริ่มมองหาที่ดินริมแม่น้ำ เพื่อปลูกบ้านพักอาศัยให้กับตัวเอง
ตอนซื้อที่ตอนแรกตั้งใจแค่ต้องการปลูกบ้าน แล้วส่วนตัวก็เป็นคนชอบสะสมพันธุ์เฮลิโคเนีย และบ้านเดิมที่มีอยู่ก็ล้นแล้ว จึงอยากหาที่ใหม่ ตอนแรกก็ปลูกเป็นบ้านหลังเดียวเล็กๆ ต่อมาอยู่หลังเดียวมันเหงา ก็เลยเปลี่ยนมาทำเป็นรีสอร์ต เพราะเห็นว่าทำเล ใช้ได้กะว่าจะทำเป็นรีสอร์ตเล็กๆ สบายๆ เธอเล่า
ก่อนตัดสินใจซื้อที่ดินแปลงนี้ ณ หทัยเดินทางมาดูหลายครั้ง ทั้งในช่วงของน้ำขึ้น และน้ำลง เพื่อที่จะดูว่าหากเป็นช่วงน้ำลง จะลงลึกไปถึงที่สุดแค่ไหน
ด้วยความที่วัตถุประสงค์ตั้งแต่แรกเริ่มก่อสร้าง ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นสถานที่เพื่อรับนักท่องเที่ยว ดังนั้นการวางแปลน ตลอดจนการจัด landscape จึงทำตามใจของผู้ที่ต้องการเข้ามาอยู่เอง เมื่อผนวกกับความที่เป็นคนชอบปลูกต้นไม้เป็นทุนเดิม หลังเปลี่ยน วัตถุประสงค์จากบ้านมาเป็น boutique resort บ้านน้ำปิงจึงจัดเป็นรีสอร์ตหรูแห่งหนึ่งที่ไม่รบกวนธรรมชาติ
ตลอดแนวยาว 289 เมตร เลียบฝั่งแม่น้ำ นอกจากล็อบบี้ที่อยู่ตรงกลางแล้ว มีบ้านปลูกเรียงรายอยู่เพียง 8 หลัง ระดับความห่างจากริมตลิ่งถึงตัวบ้าน ก็ลดหลั่นกันไป
เมื่อไปยืนมองจากฝั่งตรงข้ามของ แม่น้ำ บ้านที่ถูกสร้างขึ้นมาแต่ละหลัง เมื่อผสมผสานกับต้นไม้ที่ ณ หทัยเลือกหามาปลูกใหม่ จึงดูกลมกลืนไปกับทัศนียภาพบริเวณชายฝั่ง จนบางคนแทบ ดูไม่ออกว่าที่นี่เป็นสถานที่พักอาศัยของนักท่องเที่ยว
เฟอร์นิเจอร์ที่นำมาใช้ ณ หทัยจะเป็นผู้ไปเลือกซื้อด้วยตนเอง และทุกชิ้น เธอจะต้องทดลองใช้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ
บ้านน้ำปิงเพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงไฮซีซัน ของปีที่แล้ว ดังนั้นอายุของรีสอร์ตแห่งนี้จึงไม่ถึง 1 ปี เพิ่งผ่านการต้อนรับนักท่องเที่ยวมาเพียงฤดูกาลเดียว แต่ยอดของคนที่เข้ามาพัก จัดอยู่ในระดับที่ ณ หทัยพอใจไม่น้อย โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ 2548 จากที่รีสอร์ตแห่งนี้สามารถ รับคนได้เต็มที่ประมาณ 20 คน แต่กลับมีคนเข้ามาพักถึง 35 คน ทุกห้องเต็มจนล้น
"ลูกค้าฝรั่งที่มาที่นี่ บอกว่าเขาชอบที่นี่ เพราะเป็นธรรมชาติ และดูไม่เหมือนว่าเป็นโรงแรม บางคนยังจองล่วงหน้าเอาไว้จนถึงเดือนธันวาคมนี้"
คำว่าไม่เหมือนโรงแรมที่สะท้อนออกมาจากปากของลูกค้า ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากอัธยาศัยที่ผู้เป็นเจ้าของมีให้กับลูกค้า
"คือการบริการ เราไม่ได้คิดว่าเป็นแขกที่ต้องคิดจุกจิกทุกอย่าง อย่างน้ำดื่มนี่ให้ฟรีตลอด ชา กาแฟก็ฟรี บางทีมีขนมอะไรก็มาแบ่งแขกกิน คือไม่ได้ชาร์จทุกอย่าง ทุกเมนู"
บ้านน้ำปิงเข้ามาอยู่ในกลุ่ม Hotel de Charm จากการแนะนำของไพโรจน์ โกสุมขจรเกียรติ์ ที่รู้จักกับ ณ หทัยมาก่อนตั้งแต่ยังอยู่สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ และเห็นว่าบ้านน้ำปิง มีบุคลิกและคุณสมบัติตามที่กลุ่ม Hotel de Charm ต้องการ
ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของลูกค้า เพราะหลายครั้งที่มีการส่งลูกค้าผ่านจากโรงแรมในกลุ่มที่อยู่ในเมืองมาที่บ้านน้ำปิง หากลูกค้ามีความประสงค์จะหาที่พักริมแม่น้ำ และหลายครั้งอีกเช่นกัน ที่ ณ หทัยแนะนำลูกค้าให้ไปพักที่ Tamarind Village หากต้อง การเข้าเมือง หรือรับประทานอาหารเย็นที่เก๊าไม้ล้านนา หรือสวายเรียง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|