The Man Behind…

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เจริญ สิริวัฒนภักดี เขาอยู่เบื้องหลังการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2002 ด้วยมูลค่า 300 ล้านบาท โดยการถ่ายทอดสดจากประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น แบบไม่มีโฆษณาคั่น กลยุทธ์นี้ได้สร้างความนิยมอย่างสูงแก่แฟนบอลที่ต้องทนคับข้องใจกับภาวะจำยอมเดิมๆ

แต่ในโลกทุนนิยม ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ เพราะการที่เจริญซื้อใจแบบ pay it forward ครั้งนี้ เขาสามารถหวังผลลูกโซ่ของการให้กลับคืนมาแบบคนไทยได้เลยว่า ส่วนแบ่งการตลาดจากยอดขายน้ำเมาจะเพิ่มขึ้น ไม่ว่า เบียร์ช้าง เบียร์คาร์ลสเบอร์ก เหล้าค่ายแสงโสม แสงทิพย์ และหงส์ทอง

ในฐานะเจ้าพ่อน้ำเมาที่กรำศึกแม่โขง สีเลือดและหงส์กระหายเลือดมาอย่างโชกโชน จนถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายต่างบอบช้ำจนต้องรวมกิจการกัน ซึ่งนิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเมษายน 2528, ฉบับกรกฎาคม 2531 และฉบับตุลาคม 2532 นี้ เจริญเป็นตัวอย่างของคนที่ดันตัวเองและธุรกิจสัมปทานผูกขาดนี้ขึ้นมา ด้วยเงิน อำนาจ และโอกาสที่จับต้องได้ โดยแสวงหาทุกช่องทางโอกาสจากโครงสร้างอำนาจทุกยุค ตั้งแต่ยุคเผด็จการทหารมาสู่ระบบเปิดเสรีธุรกิจน้ำเมา ที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 100,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยตลาดสุรา 60,000 ล้านบาท ตลาดเบียร์ 46,000-48,000 ล้านบาท และตลาดไวน์ 1,500-2,000 ล้านบาท

ในชีวิตมหาเศรษฐีที่รวยเงียบๆ ของเจริญวันนี้ มีอยู่ 2 คนที่เขาต้องระลึกถึงบุญคุณตลอดเวลา นั่นคือ พ่อตา-กึ้งจู แซ่จิว ผู้มีแต่ให้ และเถลิง เหล่าจินดา ผู้เป็น role model ของเจริญ ในธุรกิจน้ำเมามูลค่ามหาศาลนี้

ปมความหลังที่ยากจนวัยเด็กของเจริญหรือชื่อจีน "เคียกเม้ง แซ่โซว" ได้เพาะบุคลิกอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นนักสู้ที่ขยัน อดทน และมีไหวพริบทางการค้า ขณะเจริญเรียนที่โรงเรียนเผยอิงถึง 8 ปี เขาก็ค้าขายของเล็กๆ น้อยๆ ไปด้วยจนจบ ป.4 ก็ออกมาขายแรงงาน รับจ้างเข็นรถแถวสำเพ็งและทรงวาด บางครั้งก็หาบของเร่ขายตามฟุตปาธ จนกระทั่งเป็นลูกจ้างร้านย่งฮะเส็งและห้างแพนอินเตอร์ จัดส่งของให้กับโรงสุราบางยี่ขัน ต่อมาตั้งร้านโชวห่วยขายของจิปาถะแก่บริษัทสุรามหาคุณ ที่ซึ่งเขาได้รับใช้ใกล้ชิดกับเถลิง เหล่าจินดา ได้รู้จักจุล กาญจนลักษณ์ ผู้ปรุงสุราแม่โขงในปี 2505 และได้พบรักกับวรรณา ลูกสาวกึ้งจู เศรษฐีเก่าชาวจีนที่รวยเงียบๆ จากธุรกิจซัปพลายโรงสุราบางยี่ขัน

ชีวิตของเจริญเปลี่ยนไป เมื่อกลุ่มเถลิง-เจริญแยกตัวจากบริษัทสุรามหาคุณ ตั้งแต่ปี 2518 เจริญได้เรียนรู้วิทยายุทธจากเถลิงเกี่ยวกับธุรกิจสัมปทานเหล้า และได้สร้างอาณาจักรธุรกิจของตนอย่างก้าวกระโดดด้วย การซื้อกิจการ

เจริญเป็นนักซื้อที่แท้จริง เขารู้ว่าอะไร มีค่าควรกับการจ่ายเพื่อซื้ออนาคต ไม่ว่าธุรกิจสัมปทานสุรา ที่ดิน ธนาคาร สถาบันการเงิน ตลาดหุ้น โรงงานน้ำตาล โรงงานกระดาษ แต่หลังจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจไทยล่มสลาย ปี 2540 เจริญสูญเสียอย่างประมาณมิได้ในรูปความรู้สึกที่ผูกพันกับมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมด ในกลุ่มของเขาที่ลดลงมหาศาล โดยเฉพาะการสูญเสีย บงล.มหาธนกิจ ซึ่งเป็นสมบัติเก่าของพ่อตา กึ้งจู และธนาคารมหานครที่เขาไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้เลย

ภายใต้สถานการณ์ไม่แน่นอน เจริญได้พลิกฐานะจากวิกฤติเป็นโอกาส โดยปี 2541 เจริญปักหลักสู้ที่ฐานที่มั่นธุรกิจค้าเบียร์และเหล้าอย่างเต็มที่ ปรับตัวรับนโยบายเปิดเสรีน้ำเมา หลังจากหมดสัมปทานสุดท้ายของกลุ่มสุรามหาราษฎรในปี 2542 กลุ่มบริษัทของเจริญชนะประมูลที่แข่งกับค่ายบุญรอด บริวเวอรี่ และยังตั้งบริษัทแอลเอสพีวี ทำธุรกิจดูแลสต็อกเหล้าที่บรรจุขวดแล้ว ซึ่งสต็อกเหล้าจำนวน 4-5 หมื่นนี้ได้กลายเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการออกหุ้นกู้ของกลุ่มบริษัทแสงโสม

ปลายปี 2544 กลุ่มบริษัทของเจริญเทกโอเวอร์บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์จากบริษัท เฟิร์ส แปซิฟิค ด้วยมูลค่า 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเหตุผลที่ต้องการซื้อกิจการบริษัทอุตสาหกรรมเครื่องแก้วไทย ซึ่งผลิตขวดเบียร์และเหล้ารายใหญ่ นี่คือยุทธศาสตร์เติบโตของธุรกิจน้ำเมา ที่น่าจับตาในอนาคตว่า ค่ายเบียร์ช้างจะเป็นผู้ชนะชิงนำส่วนแบ่งตลาดได้ ใน 5 ปีข้างหน้าอย่างไร?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.