|
IBMปรับกลยุทธ์ธุรกิจไอจีเอสรับแนวโน้มใหม่
ผู้จัดการรายวัน(27 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ไอบีเอ็มปรับแผนใหม่ในกลุ่มไอจีเอส รองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและแนวโน้มเทคโนโลยีที่กำลังมา มุ่งเจาะ 3 กลุ่มธุรกิจใหม่ พร้อมจัดงานสัมมนาให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เผยผลวิจัยระบุเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่แรงงานมีความยืดหยุ่น และสร้างแรงจูงใจได้ดีที่สุดในโลก
นายยศ กิมสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการธุรกิจบริการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจอยู่ด้วยกัน 6 อย่างคือ 1.มีการเติบโตของตลาดไอทีที่ต่างกันระหว่างตลาดที่อิ่มตัว เช่น สิงคโปร์ กับตลาดที่มีอัตราการโตสูง เช่น อินเดีย 2. การลงทุนระบบไอทีเน้นเรื่องผลตอบแทนที่ให้ความคุ้มค่ากับการลงทุน 3. การแข่งขันด้านราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องอย่างฮาร์ดแวร์ เช่น พีซี หรือโน้ตบุ๊ก 4. คู่แข่งทั้งระดับโลกและท้องถิ่นมีการขยายไลน์มากขึ้น เช่น จากเดิมที่ขายเพียงฮาร์ดแวร์ก็ขายซอฟต์แวร์ด้วย 5. การนำเสนอแพกเกจของซอฟต์แวร์อีอาร์พีตามความต้องการของลูกค้า 6. ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ เช่น ความผันผวนของราคาน้ำมัน
จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ไอบีเอ็ม โกลบอล เซอร์วิส หรือไอจีเอส ต้องมีการปรับกลยุทธ์การตลาดด้านบริการโดยยุบกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจ กับการทำเอาต์ซอร์สซิ่ง หรือเอสโอ รวมเข้ากับกลุ่มไอทีแวลู ให้บริการด้านไอที เซอร์วิส การติดตั้งระบบ และการทำเอาต์ซอร์สซิ่ง เนื่องจากมีงานบางอย่างที่ซ้ำซ้อนกัน อีกอย่างจะเป็นการรวมทีมงานให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น อีกกลุ่มคือ บีซีเอสซึ่งเป็นกลุ่มที่ดำเนินการเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจ
พร้อมกันนี้ ไอบีเอ็มยังได้มีการนำระบบไอทีที่มีการพัฒนามาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เร็วขึ้น อิมพลิเมนต์ด้วยนวัตกรรมที่ดี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้า รวมถึงการรับผิดชอบหรือบริการหลังการขายด้วย
ส่วนธุรกิจที่ไอบีเอ็มเห็นเป็นโอกาสและเชื่อว่ากำลังมาแรงมีด้วยกัน 3 อย่างคือ 1. เทคโนโลยีที่ระบุตัวตนด้วยคลื่นความถี่วิทยุ หรืออาร์เอฟไอดี ซึ่งเทคโนโลยีตัวนี้แนวโน้มอาจจะเข้ามาแทนการใช้บาร์โค้ด ที่ติดกับสินค้าในธุรกิจค้าปลีก หรือซูเปอร์สโตร์ 2. ระบบกริด คอมพิวติ้ง และ 3. ดิจิตอล มีเดีย
นอกจากนี้ ไอบีเอ็มยังจะมีการจัดสัมมนาในเรื่องของ ไอบีเอ็ม โกลบอล เซอร์วิส โซลูชัน เดย์ 2005 ขึ้นในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ซึ่งเป็นการจัดให้ลูกค้า กลุ่มเป้าหมายประมาณ 300-400 ราย เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
นอกจากการปรับกลยุทธ์ใหม่แล้ว ไอบีเอ็มยังได้เปิดเผยถึงผลการวิจัยระดับโลก ประจำปี 2548 ที่ได้ศึกษาเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลระดับสูง (CHROs) กว่า 300 คน ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอพี จากอุตสาหกรรมโทรคมนาคม การจัดจำหน่าย บริการด้านการเงิน ภาครัฐและด้านอุตสาหกรรม ซึ่งพบว่า 39% ขององค์กรสามารถจัดสรรแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการ ขององค์กรในเชิงรุกเมื่อเทียบกับยุโรป ที่มีประมาณ 21% และอเมริกาเหนือที่มี 29% การจัดระดับขีดความสามารถของ CHROs ในเอพี 35% ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆเมื่อเทียบกับอเมริกาเหนือที่มีอยู่ประมาณ 12% และยุโรป 10% การจัดลำดับความสำคัญของระบบการใช้ผลตอบแทนของ CHROs ในแต่ละทวีป พบว่าเอพีให้ความสำคัญเรื่องผลตอบแทนตามผลงานสูงสุดถึง 82%
ขณะเดียวกันผลวิจัยยังระบุว่า เอพีเป็นภูมิภาคที่แรงงานมีความยืดหยุ่นและสร้างแรงจูงใจได้ดีที่สุดในโลก และการรักษาผู้บริหารเป็นอุปสรรคสำคัญที่รั้งความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ขณะที่ระบบทรัพยากรบุคคลยุคใหม่คือหัวใจของแรงผลักดันในการขยายตลาด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|