Business is a Contact Sport


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

หลักการสำหรับการบริหารความสัมพันธ์

การบริหารความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ ที่บริษัทมีกับฝ่ายต่างๆ ถ้าหากสามารถทำได้ดี จะสามารถแก้ไขปัญหาหลายอย่าง ที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ได้ ใน Business is a Contact Sport ผู้เขียนคือ Tom Richardson และ Augusto Vidaurreta ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วชื่อ Systems Consulting Group ได้พัฒนาหลักการพื้นฐานหลายประการ ที่จะทำให้คุณสามารถบริหารความสัมพันธ์ต่างๆ ที่บริษัทของคุณมีอยู่ ทำให้ความสัมพันธ์เหล่านั้นมีคุณค่าเทียบได้กับสินทรัพย์อย่างหนึ่งของบริษัท และสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของบริษัทของคุณ

ในหนังสือระบุว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่บริษัทเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานลาออกบ่อย ความสัมพันธ์กับลูกค้าเลวลง ปัญหาวุ่นวายในการจัดหาวัตถุดิบ การมีคดีความที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย หรือแม้กระทั่งคำนินทาว่าร้าย เหล่านี้สามารถจะรับมือได้หากบริหารความสัมพันธ์กับฝ่ายต่างๆ ให้ดีขึ้น เมื่อมีการจัดตั้งทีมสนับสนุนซึ่งสมาชิกในทีมประกอบด้วยคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กร ข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่ายจะเกิดขึ้นได้ ปัญหาสามารถหลีกเลี่ยงได้ และเครือข่ายความสัมพันธ์ที่มีความ ไว้วางใจกันในระยะยาวก็สามารถเกิดขึ้น

เพื่อช่วยให้องค์กรได้รับประโยชน์สูงสุดจากการติดต่อสัมพันธ์กับบุคคล จากสายสัมพันธ์และจากความร่วมมือ หนังสือ เล่มนี้ได้นำเสนอหลักการพื้นฐานที่จะช่วยให้องค์กรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับฝ่ายต่างๆ และช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่าย ต่างๆ สามารถสร้าง รักษา และใช้ความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อยังประโยชน์ร่วมกัน หลักการดังกล่าวเห็นว่าความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ที่องค์กรมีอยู่ ตั้งแต่กับพนักงาน กับผู้จัดหา กับลูกค้า กับผู้ถือหุ้น ไปจนถึงกับผู้นำชุมชน ล้วนเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งของบริษัท นอกจากนี้ หลักการดังกล่าวยังเสนอแนะวิธีที่จะทำให้ผู้จัดการและผู้ประกอบการ สามารถบริหารความสัมพันธ์ได้อย่างประสบความสำเร็จ

หลักการ 12 ข้อ

คณะผู้ประพันธ์ได้รวบรวมหลักการ 12 ประการที่พวกเขาเชื่อว่าจะสามารถช่วยให้บริษัทสามารถดึงดูด รักษา และจูงใจพนักงานที่มีคุณภาพดีกว่า เพิ่มยอดขายและการจัดจำหน่าย อย่างได้ผล มีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับชุมชน ปรับปรุงโอกาสทางธุรกิจ และปรับปรุงประสิทธิภาพทางการเงิน หลักการ 3 ข้อ แรกคือ

1. เห็นว่าความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ ที่บริษัทมีอยู่คือสินทรัพย์ที่มีค่าอย่างหนึ่งของบริษัท คงจะสายเกินไปถ้าคุณจะคิดมีเพื่อนเอาเมื่อตอนเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว ดังนั้นคงจะเป็นการดีกว่าแน่ ถ้าคุณคิดจะสร้างมิตรภาพเสียก่อนหน้านั้น

การสร้างความสัมพันธ์กับบริษัทคู่แข่งสามารถจะช่วยธุรกิจคุณได้ โดยเฉพาะถ้าบริษัทคุณเป็นบริษัทขนาดกลางหรือขนาดย่อม การเขียน "แผนผังความสัมพันธ์ของบริษัท" โดยให้องค์กรของคุณอยู่ตรงกลางผัง แล้วโยงเส้นความสัมพันธ์จากองค์กรไปยังลูกค้า สาธารณชน ผู้ขาย พนักงาน สื่อมวลชน นักวิเคราะห์ พันธมิตรธุรกิจ และคู่แข่ง จะช่วยให้คุณสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ต่างๆ ที่บริษัทคุณมีได้ชัดเจน และบริหารความสัมพันธ์เหล่านั้นจนบรรลุเป้าหมายธุรกิจได้ จำไว้ว่าทุกๆ ฝ่ายล้วนสำคัญต่อบริษัทคุณ และความสมดุลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

2. กำหนดเป้าหมาย ทุกคนที่บริษัทของคุณรู้จัก และทุกคนที่สามารถช่วยให้บริษัทของคุณประสบความสำเร็จ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ "จักรวาลแห่งความสัมพันธ์" ของคุณ

การวิเคราะห์ช่องว่างระหว่างที่บริษัทคุณเป็นอยู่กับเป้าหมาย จะช่วยให้คุณสามารถมองเห็นระยะห่างระหว่างตำแหน่งที่บริษัทของคุณเป็นอยู่ในเวลานี้ กับเป้าหมายที่ต้องการจะบรรลุถึงได้ชัดเจน รวมทั้งมองเห็นด้วยว่าบริษัทต้องการสร้างความสัมพันธ์ใดที่จำเป็นเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น การวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์จะช่วยให้บริษัทรักษาสมดุล ระหว่างต้นทุนที่ใช้ไปในการพัฒนาความสัมพันธ์กับวิธีอื่นๆ ที่ใช้ในการบรรลุเป้าหมาย และใช้เปรียบเทียบระหว่างการบริหารความสัมพันธ์กับการบริหารแบบเดิมๆ ที่ไม่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์

กลยุทธ์ทุกอย่างของบริษัท ซึ่งรวมถึงกลยุทธ์ทางการเงินและการดำเนินงาน ต้องคำนึงถึงการบริหารความสัมพันธ์ด้วย เสมอ เพราะความสัมพันธ์คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้ดำเนินกลยุทธ์ ต่างๆ เหล่านั้นได้

3. การบริหารความสัมพันธ์ต้องมีผู้รับผิดชอบความสัมพันธ์ทุกรูปแบบที่องค์กรมีอยู่ จะต้องมีผู้ที่รับผิดชอบดูแล หนังสือเล่มนี้แนะนำให้ตั้งตำแหน่ง "ประธานเจ้าหน้าที่บริหารความสัมพันธ์" (chief relationship officer : CRO) ขึ้นมา ก็จะ ช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินยุทธศาสตร์บริหารความสัมพันธ์อย่างได้ผล แม้ว่ารูปแบบความสัมพันธ์แต่ละรูปแบบที่องค์กร มีอยู่ จะมีพนักงานรับผิดชอบอยู่ชั้นหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ CRO จะรับผิดชอบเรื่องสภาพแวดล้อมของความสัมพันธ์โดยรวม การจ้าง CRO ที่ทำงานเต็มเวลา จะทำให้บริษัทมีคนที่จะทำหน้าที่สอนฝึก และแนะนำพนักงานในเรื่องการบริหารความสัมพันธ์คุณสมบัติของ CRO คือจะต้องมีวุฒิภาวะรวมถึงวุฒิภาวะทางอารมณ์ด้วย มีความซื่อสัตย์ มีทักษะการสื่อสาร รักการติดต่อสัมพันธ์กับคน และมีความสามารถในการสร้างสถานการณ์แบบ "ชนะ-ชนะ"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.