"ศุภชัย" ชี้รัฐมี 2 ทางเลือกแข่งเสรีโทรคมซื้อสัมปทานคืนกับแปรสัญญาสัมปทาน


ผู้จัดการรายวัน(26 พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

" ศุภชัย" ย้ำชัดรัฐจะแข่งเสรีในกิจการโทรคมนาคมมี 2 ทางออกคือ ซื้อสัมปทานที่ให้เอกชนไปคืนเหลือไลเซนส์เดียวกับแปรสัญญาสัมปทาน ส่วนสงครามราคามือถือตีกันคู่แข่งหากลงมาบี้ มีโอกาสดัมป์ราคาอีก ล่าสุดวัดดวงกับธุรกิจเน็ตคาเฟ่รูปแบบใหม่ หวังเสริมบริการบรอดแบนด์ ตั้งเป้าปีหน้า 100 สาขา

นายศุภชัย เจียรนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงกรณีที่ไทยจะมีการเปิดเสรีด้านโทรคมนาคมว่า หากองค์กรรัฐทั้งทีโอที และกสท โทรคมนาคม จะเข้ามาแข่งขันอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้มี 2 ทางเลือกคือ 1. ซื้อสัญญาสัมปทานที่ให้กับเอกชนไปทั้งหมดคืนเพื่อให้เหลือ เพียงใบอนุญาตหรือไลเซนส์เดียว ซึ่งก็จะกลับไปสู่การผูกขาด 2. ต้องแปรสัญญาสัมปทาน ไม่เช่นนั้นถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องผู้ได้รับใบอนุญาตอย่างทีโอทีหรือกสท หากไม่แปรสัญญาก็จะยังคงมีการเก็บค่าสัมปทาน หรือส่วนแบ่งรายได้จากผู้ให้บริการที่เดิมเป็นคู่สัญญาแล้วไปลงทุนแข่ง จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม และเกิดขั้นตอน หรือเลเยอร์ของการซื้อสินค้าแพงของผู้บริโภคอีกระดับหนึ่งด้วย

"ถ้ารัฐให้ไลเซนส์แล้วให้บริการ แข่งด้วย ในโลกนี้ไม่มีประเทศไหน ทำเพราะผิดกฎหมายโดยอัตโนมัติ"

นายศุภชัยย้ำว่าการให้ไลเซนส์ ต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เนื่องจากเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการเปิดเสรีโทรคมนาคม นอกจากนี้หากไม่แปรสัญญา ใบอนุญาตที่กทช.จะออกให้เอกชนอย่างกลุ่มทรูก็จะต้องสามารถมีสิทธิ์เหมือนทีโอที คือ สามารถให้ซับไลเซนต์ต่อได้ทั้งด้านเลขหมายและความถี่

ขู่คู่แข่งอย่าลงมาบี้ราคา

ส่วนการแข่งขันเกี่ยวกับธุรกิจมือถือที่ล่าสุดทีเอ ออเร้นจ์ได้ลดราคาลงมาเหลือนาทีแรก 1 บาท นาทีต่อไปนาทีละ 25 สตางค์นั้น นายศุภชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องของกลไกตลาด และถือเป็นช่วงที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของผู้ให้บริการแต่ละรายว่าจะมีการปรับกลยุทธ์อย่างไรให้เข้ากับสถานการณ์

"เรื่องของสงครามราคาถามว่า จะปรับขึ้นหรือไม่ก็อาจจะมีตามสถานการณ์ แต่ถ้าถามว่าจะไปมากกว่านี้มั้ย มันก็ไม่แน่ ถ้าคู่แข่งลงมาบี้ เพราะเราก็ต้องการรักษาโพสิชันของเราไว้ เพราะเป็นผู้ประกอบการเบอร์สามในตลาด"

จากการแข่งขันราคาที่รุนแรง ทำให้เกิดวิกฤตของการขาดแคลนเลขหมายในการให้บริการของออเร้นจ์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำตอบจาก ทีโอที กับกสท

"ปัญหาอย่างนี้ไม่เคยเกิดมาก่อน หากรัฐจะออกมาแข่งก็ต้องแข่งบนความเป็นธรรม ซึ่งกทช.ต้องแสดงบทบาทหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ เพราะเป็นการทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน อย่าไปคิดว่าทำให้แก่โอเปอเรเตอร์รายใดรายหนึ่ง"

ปัจจุบันออเร้นจ์มีผู้ใช้บริการประมาณ 4 ล้านราย ส่วนสิ้นปีจะเพิ่มเป็นเท่าไหร่ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่ยังเชื่อว่าจะมีลูกค้าเข้ามาอีกทั้งที่มาจากระบบอื่นและที่เป็นลูกค้าใหม่

เปิดเน็ตคาเฟ่รูปแบบใหม่

พร้อมกันนี้กลุ่มทรูจะมีการเปิดไลฟ์สไตล์ของอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ รูปแบบใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ "ทรู-สเตชัน" ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน หวังสร้างไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้ รองรับทิศทางวิถีชีวิตของสังคมออนไลน์ โดยเน้นบริการที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย

เน็ตคาเฟ่รูปแบบใหม่ของทรูได้ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์ ที่ย้ายมาจากมาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) เพื่อนั่งในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ของกลุ่มทรู ซึ่งจะรับผิดชอบโครงการนี้โดยตรง

ทรู สเตชันจะเปิดให้บริการภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทั้ง 11 แห่ง โดยจะมีบริการหลักผ่านไฮสปีด อินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเกมออนไลน์ เทคโนโลยีสื่อสารที่มีคุณภาพสูง ระบบการบริการที่สร้างความประทับใจสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ และเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์การเป็นผู้ให้บริการที่ตอบสนองแต่ละไลฟ์สไตล์ได้ชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเครื่องดื่มและเบเกอรี่ภายใต้แบรนด์ทรูไว้คอยให้บริการด้วย

ผู้บริหารของทรูเชื่อว่ารูปแบบใหม่ของทรูสเตชันจะเป็นอีกกลยุทธ์ หนึ่งที่จะเชื่อมโยงแบรนด์ทรูให้เข้าถึงผู้บริโภค และเสริมธุรกิจอินเทอร์
เน็ต และบรอดแบนด์ของกลุ่มทรู ซึ่งขณะนี้มีผู้ใช้บริการอยู่ 2 ล้านราย เป็นลูกค้าบรอดแบนด์ประมาณ 2.1-2.2 แสนราย และมีแผนจะสร้างโครงการนี้ให้เป็นบริการหลักอีกตัวหนึ่งในกลุ่มทรูด้วย

การเปิดทรูสเตชันระยะแรก จะเริ่มที่ 3 สถานีหลักคือสุขุมวิท จตุจักร และพหลโยธิน เนื่องจากเป็นสถานีที่เชื่อมต่อที่สำคัญที่จะมีกลุ่มคนที่หลากหลายสัญจรไปมาตลอดทั้งวัน และมีแผนจะขยายในรูปแบบ ของแฟรนไชส์ด้วย โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2549 จะมีทั้งหมด 100 สาขา เป็นแฟรนไชส์ 20 สาขา และมีการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น หากได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ส่วนงบการลงทุนคาดว่า จะใช้ประมาณ 6-7 ล้านบาทต่อแห่ง ในสาขาที่ทำเป็นต้นแบบ

"5 ชอปแรกเราคงเป็นต้นแบบลองผิดลองถูกที่เหลือจะเป็นอีโคโนมี ออฟ สเกล และเชื่อว่าจะมีผลตอบแทนการลงทุนกลับมาไม่ต่ำกว่า 14% จาก 4-5 ชอปแรก ไม่เช่นนั้นไม่คุ้มทุนแน่" นายศุภชัย กล่าว

สำหรับร้านทรู ชอป ที่ให้บริการในปัจจุบันมีรายได้ประมาณ 1.5-2 แสนบาทต่อเดือนต่อชอป คิดเป็นกำไรขั้นต่ำ 5-10% ซึ่งทรูชอปนี้กลุ่ม ทรูจะมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นเน็ตคาเฟ่รูปแบบใหม่ในลักษณะทรู สเตชันด้วย

นายศุภชัยกล่าวว่า ปัจจุบันมี เน็ตคาเฟ่ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ประมาณ 6,000 รายทั่วประเทศ และที่ปรับปรุงบ้าน ห้องแถว ให้เป็นเน็ตคาเฟ่อีกประมาณ 4,000 แห่ง รวมแล้วเป็นหมื่นแห่ง ซึ่งเน็ตคาเฟ่เหล่านี้ต้องการจะเป็นแฟรนไซซี่ก็สามารถ เข้ามาซื้อจากทรูได้

"จากจำนวนเน็ตคาเฟ่ที่มีทำให้เราเห็นศักยภาพและเป็นไปได้ ของเน็ตคาเฟ่แบบใหม่ เพราะสิ่งที่อยู่เบื้องหลังคือความต้องการของประชาชนที่ต้องการเข้าถึงเน็ตความเร็วสูง แต่อาจไม่พร้อมเรื่องพีซี หรือเน็ตไฮสปีดที่จะเข้าถึงบ้าน"

สำหรับทรู สเตชันจะให้บริการในความเร็วระดับ 10 เมกะบิตต่อวินาที ค่าบริการตั้งแต่ 25-40 บาทต่อชั่วโมง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.