ซีพีเดิมพันเลิกสัญญากล้ายาง


ผู้จัดการรายวัน(25 พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ผอ.สกจ.น่าน แฉกล้ายางที่กรมวิชาการเกษตรแจกให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกยางล้านไร่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ให้วงการเพราะออกดอกออกผลมากถึง 20-30% กระจายอยู่ทั่วทั้งเหนือ- อีสาน เผยกล้ายางที่เตรียมแจกในปีนี้ไม่เพียงพอมีปัญหาปั่นป่วนแน่ กลุ่มเกษตรกรเริ่มเคลื่อนไหวทวงกล้ายาง หวั่นได้รับช้ามีปัญหาเหมือนปีก่อน ผู้บริหารเครือซีพีปฏิเสธไม่มีปัญหายางตาสอย โบ้ยภัยแล้งทำให้พืชทุกชนิดออกดอก แต่ไม่กล้ารับประกันหากอนาคตไม่มีน้ำยาง เดิมพันส่งยางไม่ทันปีนี้พร้อมเลิกสัญญา

นายสานิตย์ รัฐกาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยางจังหวัดน่าน (สกจ. น่าน) เปิดเผยว่า ขณะนี้กล้ายางที่กรมวิชาการเกษตรรับซื้อจากเครือซีพีแจกให้แก่เกษตรกรในโครงการปลูกยาง 1 ล้านไร่ ในเขตภาคเหนือและอีสานเมื่อปีที่แล้วมีปัญหาออกดอกออกผลกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะที่ จ.น่าน ปรากฏว่ามีต้นยางที่ออกดอกและติดผลปะปนไปมากถึง 20-30% ของแต่ละรายที่ได้รับแจกไป ทั้งที่เพิ่งปลูกไปได้แค่ 7-8 เดือนเท่านั้น

"ผมทำงานด้านยางมา 32 ปี ไม่เคยเจอปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน พื้นที่ปลูกก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ผมเสียใจมากที่เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น" นายสานิตย์ กล่าว

เจ้าหน้าที่ สกจ.น่าน ซึ่งลงพื้นที่สำรวจแปลงยางที่นำปลูกทุกแปลง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากจะพบยางออกดอกติดผลในแปลงปลูกทั่วไปเกือบทุกรายแล้ว ยังเจอกล้ายางที่อยู่ในยางชำถุงออกดอกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เห็นมาก่อนในชีวิตที่ทำงานด้านยางมากว่า 30 ปีแล้ว

"แปลงกิ่งตายางไม่ใช่สร้างกันวันสองวัน ต้องเตรียมเป็นปีและแต่ละปีก็ได้ไม่กี่ตา เมื่อเตรียมการไม่พร้อมก็เป็นอย่างนี้ เพราะมียางตาสอยเข้ามาปะปน" เจ้าหน้าที่ สกจ.น่านกล่าว

แหล่งข่าว สกจ.หนองคาย กล่าวในทำนองเดียวกันว่า พบยางที่เกษตรกรรับไปปลูกปีที่แล้วออกดอกประปราย แต่ยังไม่ได้สำรวจอย่างละเอียด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับตั้งแต่ทำงานด้านยางกว่า 30 ปี ยางที่ออกดอกออกผลจะทำให้เปลือกบาง ต้องใช้ปุ๋ยบำรุงมากขึ้น และมีโอกาสที่ยางจะไม่เกิดหน้ารอบที่สอง ขณะที่การปลูกยางจะคุ้มหรือไม่ก็อยู่ในช่วงการกรีดรอบสอง หากยางมีหน้าเดียวกรีดรอบเดียวไม่มีเปลือกใหม่เกิดขึ้นมาให้กรีดอีกก็เจ๊ง

"หลักวิชาการปลูกยางก็เพื่อให้ได้เปลือกหนา นิ่ม กรีดง่าย ไม่ใช่พืชที่ต้องการดอกผล เปลือกแข็งไม่ได้น้ำยาง" แหล่งข่าว สกจ.หนองคายกล่าว

ซีพีโทษภัยแล้ง

ด้านนายสุเมธ ภิญโญสนิท กรรมการผู้จัดการเขตประเทศไทย กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวถึงประเด็นข้างต้นระหว่างการนำคณะสื่อมวลชมเยี่ยมชมโรงเรือนต้นยางชำถุงเพื่อดูกระบวนการผลิตกล้ายางของบริษัทในพื้นที่ อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ว่ากรณียางที่ จ.น่าน ซึ่งออกดอกก่อนกำหนดนั้นทางบริษัทได้เข้าไปดูในพื้นที่แล้วไปดูด้วยตาตัวเองมาแล้ว และมีการถ่ายรูปเก็บไว้หมดแล้ว ซึ่งมีปัญหาไม่เยอะมาก แต่น่าสังเกตว่าปัญหามันน่าจะเกิดมากจากปีนี้มันแล้งมากจริง ๆ

"มันเป็นหลักการเดียวกับพืชโดยทั่วไป พอแล้งจัดๆ แทนที่มันจะโตมันก็ออกดอก ซึ่งมันตกใจคิดว่าจะตายมันจึงเตรียมแพร่พันธุ์ อย่างข้าวโพดแทนที่ 60 วันจะออกดอก พอแล้งมากๆ แค่ 20 วันก็ออกดอก วิธีแก้ปัญหานี้คือให้เกษตรกรเด็ดดอกทิ้ง มันก็จะเจริญเติบโตต่อไปได้ พอถึงฤดูฝนก็โตขึ้นมาใหม่ ไม่ต้องตกใจว่าทำไมยางถึงออกดอก" นายสุเมธกล่าว

ไม่รับประกันผลผลิตยาง

นายสุเมธยังกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่ากล้ายางของซีพีไม่ได้มาตรฐานที่อาจจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตในอนาคตว่า ในภาวะปกติคือถ้ามีระบบชลประทาน จะทำให้ได้ผลผลิตตามหนังสืออย่างแน่นอน โดยความเสี่ยงหลักของผลผลิตในอนาคตนั้น ประกอบด้วย เรื่องพันธุ์ยาง ภัยแล้ง หรือมีโรคทำลาย ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือเรื่องพันธุ์กับน้ำ แต่ถ้าจะให้ไปรับประกันปริมาณผลผลิตบริษัทไม่กล้ารับประกันเพราะพืชเป็นสิ่งมีชีวิต และคงไม่มีใครกล้ารับประกัน

ในกรณีของพันธุ์ยางที่นำมาใช้ในภาคอีสานของซีพีนั้น เป็นพันธุ์ที่ทางสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยเพื่อให้ใช้กับทางภาคอีสานโดยเฉพาะ คือพันธุ์ RRIM 600 กับ RRIT 251 ดังนั้นถ้าเกษตรกรปลูกพันธุ์นี้ จะต้องทำให้ได้ผลผลิตดีอย่างแน่นอน นอกจากนี้ในการปลูกยางทางภาคอีสานยังได้เปรียบ มากกว่าภาคใต้อีกด้วย เนื่องจากฝนตกน้อยจึงมีจำนวนวันกรีดยางได้มากกว่า

ดังนั้น ในส่วนของพันธุ์ยางทางบริษัทรับประกันได้ 100% เพราะได้ผ่านการตรวจดีเอ็นเอ โดยกรมวิชาการเกษตรและทางบริษัทเองก็ทำการร่วมสุ่มตรวจด้วย ซึ่งบริษัทเองก็ไม่กล้าไปปล่อยให้ผ่านออกไป เพราะอีก 7 ปีข้างหน้า ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ ถ้าทำธุรกิจมีกำไรแต่ถูกสังคมประณามก็ไม่มีความสุข

"ถ้าในอีก 7 ปีจะกรีดยางไม่ออกจะให้บริษัทรับผิดชอบมันเป็นไปไม่ได้เลย เพราะถ้าเป็นเพราะพันธุ์ยาง มันจบตั้งแต่ Nursery นี้แล้ว มีการตรวจรับรองแล้ว แต่ในอีก 7 ปี ก็ไม่รู้ว่าเขาจะดูแลอย่างไร ปุ๋ยใส่ไหม พรวนดินไหม ตัดหญ้าไหม ถ้าเกิดว่า 7 ปีไม่ทำเลย แล้วบอกว่ายางไม่ออก แล้วมาให้บริษัทรับผิดชอบ บริษัทจะไม่ทำเลยละงานนี้" นายสุเมธกล่าว

ในประเด็นนี้ แหล่งข่าวกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ยางพันธุ์ RRIM 600 และ RRIM 251 เป็นพันธุ์ที่วิจัยเพื่อเพาะปลูกในพื้นที่ทั่วไปไม่ได้พัฒนาพันธุ์เฉพาะสำหรับภาคอีสาน แต่พันธุ์ RRIM 251 จะให้น้ำยางมากกว่าพันธุ์ RRIM 600 ประมาณ 100 กก./ไร่ ซึ่งยางที่แจกในโครงการล้านไร่ ใช้พันธุ์ RRIM 600 มากถึง 99% ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสที่จะได้รับพันธุ์ที่ดีกว่าเพราะในการประมูลไม่ได้กำหนดให้ชัดเจนลงไป แต่กำหนดกว้างๆ ให้ใช้ได้ทั้งสองพันธุ์

โต้ไม่มียางตาสอย

นายสุเมธกล่าวตอบโต้ "หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน" ที่ตีพิมพ์ข่าวว่าทางบริษัทใช้กิ่งตาที่กรีดยางแล้วหรือยางสอยมาทำเป็นพันธุ์ยางว่า ในกระบวนการทำกล้ายางไม่จำเป็นที่จะต้องไปปีนต้นใหญ่สอยลงมาทำกล้ายาง และถ้าสอยลงมาก็ไม่สามารถติดตาได้ เพราะตามันแก่แล้ว ซึ่งทางบริษัทก็มีแปลงต้นพันธุ์เป็นของบริษัทเอง ตามที่แจ้งกับกรมวิชาการเกษตร ที่ จ.กำแพงเพชร จำนวน 200 ไร่ จึงไม่มีความ จำเป็นต้องไปสอยลงมา

"ถ้ามีการใช้ยางสอยจริง ตามหลักแล้วสามารถสังเกตได้ ผู้เชี่ยวชาญมาดูก็สามารถบอกได้แล้ว ขณะเดียวกันยางที่ไปสอยลงมาจะไม่เจริญเติบโตตามปกติ ซึ่งมันแตกยอดช้าหรือไม่แตกเลย ดังนั้นถ้าไม่แตกก็ไม่ผ่านการตรวจจากกรมวิชาการเกษตรอยู่แล้ว" นายสุเมธ กล่าว

"ผู้จัดการรายวัน" ตรวจสอบข้อมูลจากทำเนียบแปลงขยายพันธุ์ต้นยางเพื่อการค้า ประจำปี 2546 ของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร (1 มกราคม 2546 - 31 ธันวาคม 2546) ซึ่งเป็นช่วงที่ซีพีแสดงหลักฐานต่อกรมวิชาการฯ ว่าบริษัทมีความพร้อมด้านคุณสมบัติในการเข้าประมูล ปรากฏว่า ที่จ.กำแพงเพชร ไม่มีบริษัทในเครือซีพี ขึ้นทะเบียนแปลงต้นยางพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตร แต่อย่างได

แจกกล้ายางปี 48 ส่อเค้าป่วน

นายสานิตย์ รัฐกาญจน์ สกจ.น่าน ยังกล่าวว่า การแจกกล้ายางให้เกษตรกรปลูกในปีนี้คงมีปัญหาเหมือนปีที่ผ่านมาเพราะกล้ายางไม่เพียงพอ โดย จ.น่าน มีความต้องการกล้ายางปีนี้ 429,660 ต้น จำนวน 4,774 ไร่ ซึ่งเดือนพ.ค.นี้ต้องจ่าย 42,966 ต้น แต่กรมวิชาการฯ มีให้แค่ 3,000 ต้น ส่วนเดือนมิ.ย. ต้องจ่าย 171,864 ต้น แต่มีให้แค่ 3,707 ต้น และเดือนก.ค. อีกแสนกว่าต้น ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีแจกจ่ายแค่ไหน

"สรุปแล้วจะปลูกได้แค่พันกว่าไร่เท่านั้น ตอนนี้เกษตรกรรวมกลุ่มกันมาถามทุกวันว่าจะได้ยางเมื่อไหร่ ผมก็ให้คำตอบไม่ได้เพราะขอไปแล้วแต่กรมฯยังเฉย กองทุนฯ เป็นทัพหน้าที่ต้องคอยรับและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เวลานี้ชาวบ้านก็รอเพราะขุดหลุมเตรียมไว้แล้ว" นายสานิตย์ กล่าว

แหล่งข่าว สกจ. หนองคาย กล่าวถึงการแจกจ่ายกล้ายางในปีนี้ว่า ยังน่าเป็นห่วงเพราะเพิ่งชำถุง ซึ่งจะได้ต้นแข็งแรงก็ต้องใช้เวลา 2 เดือนคือปลายเดือนก.ค. ซึ่งใกล้หมดฝนถึงจะจ่ายให้เกษตรกรได้ โดยที่หนองคายต้องการกล้ายางปีนี้รวมกับที่ตกค้างจากปีก่อนรวม 5.4 ล้านต้นไม่นับยางชดเชยที่ปลูกในเดือนก.ย.ที่ยังไม่มีคำตอบว่าจะได้เมื่อไร

ซีพีเดิมพันส่งไม่ทันยอมเลิกสัญญา

นายสุเมธ กล่าวถึงการส่งมอบกล้ายางในปี 2548 ว่าจากการตระเวนตรวจแปลงกล้ายางชำถุงของบริษัททั้ง 107 แห่งทั่วประเทศด้วยตัวเอง ตลอดเดือนที่ผ่านมา ทำให้มีความมั่นใจกว่า 99.99% ว่าทางบริษัทจะสามารถส่งมอบกล้ายางได้ครบกำหนดทั้ง 27 ล้านต้นได้อย่างแน่นอน แต่ถ้าบริษัทไม่สามารถส่งมอบได้ทันครบกำหนดสัญญาในปีนี้ บริษัทก็พร้อมที่จะให้กรมวิชาการเกษตรยกเลิกสัญญา

สำหรับการชดเชยให้แก่เกษตรกรในกรณีที่เกิดความเสียจากการปลูกยางในปีที่ผ่านมานั้น นายสุเมธกล่าวว่า ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน ในกรณีที่อยู่ในสัญญา หรือส่งมอบก่อนเดือนส.ค.หากเกิดความเสียหาย เกษตรกรจะต้องซื้อกล้ายางไปปลูกซ่อมเอง แต่ถ้าเป็นการส่งนอกสัญญา หรือในช่วง 1-15 ก.ย. ซึ่งในส่วนนี้บริษัทจะรับผิดชอบในการจัดหากล้าพันธุ์ให้เกษตรกรใหม่ โดยขณะนี้ดำเนินการปลูกซ่อม ให้กับเกษตรกรแล้วกว่า 50% ของยอดความเสียหาย แต่จะให้รับผิดชอบในส่วนค่าเสียโอกาสและค่าเตรียมดินนั้น บริษัทไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเกษตรกรจะต้องร่วมรับความเสี่ยงด้วย

นายสุเมธ กล่าวถึงกลไกการบริหารแปลงกล้ายางว่า เดิมทีก็มีเกษตรกรที่ทำอาชีพเพาะกล้ายางขายอยู่ก่อนแล้ว ทางบริษัทก็คัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมงาน โดยยึดตามมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด โดยซีพีเปรียบเสมือนผู้บริหารโครงการ หรือเป็นผู้ว่าจ้างแรงงาน โดยทุก Nursery จะต้องมีผู้จัดการของซีพี 1 คน ประจำอยู่ เพื่อคอยรายงานการปฏิบัติการต่อหน่วยงานกลาง ดังนั้นจึงมีแตกต่างจากลักษณะของโบรกเกอร์ ตรงที่โบรกเกอร์จะมีลักษณะซื้อมาขายไป เพื่อทำกำไรจากส่วนต่าง แต่ลักษณะการบริหารโครงการนี้ พันธุ์กล้ายางเป็นของซีพี ต้นทุนของซีพี โรงเรือนก็เป็นของซีพี เจ้าของแปลงเดิมก็เปลี่ยนสภาพจากคนเพาะกล้ายางขายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญของบริษัท และต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนด

เกษตรกรตั้งตารอกล้ายาง

นายทรงศักดิ์ ประจงจัด กรรมการสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จ.เลย กล่าวว่า เวลานี้เกษตรกรที่มีปัญหากล้ายางตายยังไม่ได้ รับกล้ายางมาปลูกซ่อมเลย รวมถึงเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ในปีนี้ก็ยังไม่รับกล้ายาง เมื่อปลูกพืชหลักคือยางไม่ได้ ก็ลงพืชเสริม เช่น ข้าวโพด ไม่ได้ ตอนนี้ชาวบ้านกังวลว่าจะมีปัญหาเหมือนปีที่ผ่านมา

ส่วนการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบปัญหากล้ายางตายที่รมว.กระทรวงเกษตรฯ ให้สัมภาษณ์หากพบว่าเป็นยางไม่ตรงสเปกตามมาตรฐาน ซีพีต้องชดใช้นั้น นายทรงศักดิ์กล่าวว่า ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่มาตรวจสอบแต่อย่างใด มีเพียงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ประกาศผ่านเสียงตามสายให้ชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายถ่ายรูปเอาไปส่ง

"ผมอยากให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงพื้นที่ดูความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เวลานี้ชาวบ้านกำลังตั้งตารอกันอยู่ พวกเขายังไม่ได้ทำลายหลักฐาน อย่ารอฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ แล้วมาโทษว่าชาวบ้านปลูกไม่เป็น โทษภัยแล้ง โยนให้เกษตรกรเป็นแพะรับบาป" นายทรงศักดิ์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.