Peter T. Bauer (1915-2002)

โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ที. เบาเออร์ (Peter T. Bauer) หรือที่สภาขุนนางแห่งสหราชอาณาจักร (House of Lords) รู้จักกันในฐานันดรศักดิ์ "ลอร์ดเบาเออร์" (Lord Bauer) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2545 โลกวิชาการได้สูญเสียนักวิชาการที่ยืนอยู่ข้างประชาชน โดยเฉพาะคนจน และฝ่ายขวา ต้องสูญเสียหัวหอกทางปัญญาคนสำคัญ

ปีเตอร์ ที. เบาเออร์ เป็นชาวฮังการี เกิดในนครบูดาเปสต์ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2458 บิดามีอาชีพเป็นนักบัญชี เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยม เพื่อนบิดาส่งเสียให้ไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ในปี 2477 เบาเออร์เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สังกัด Gonville and Caius College เวลานั้นเบาเออร์มีปัญหาภาษาอังกฤษค่อนข้างมาก แต่สามารถเอาตัวรอด และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับที่หนึ่งในปี 2480 เบาเออร์เดินทางกลับฮังการี เพื่อศึกษาวิชานิติศาสตร์ที่ค้างไว้ให้จบและรับราชการทหารด้วย ในปี 2482 เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น เบาเออร์เดินทางไปอังกฤษ และทำงาน ในบริษัท Guthrie and Company ซึ่งมีธุรกิจการทำสวนยางในมลายา เบาเออร์เริ่มเรียนรู้วิถีชีวิตของประชาชนในโลกที่สามจากการทำงานกับบริษัทนี้

ในปี 2490 เบาเออร์เปลี่ยนอาชีพเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตรของมหาวิทยาลัยลอนดอน และเริ่มศึกษาอุตสาหกรรมการทำสวนยางในมลายาอย่างจริงจัง ผลงานปรากฏเป็นหนังสือชื่อ The Rubber Industry (1948) ซึ่งสร้างชื่อเสียงอย่างมาก ผลงานอีกเล่มหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้เบาเออร์ในฐานะนักวิชาการในระยะแรกเริ่ม ก็คือ West African Trade (1954)

เบาเออร์ย้ายจากมหาวิทยาลัยลอนดอนไปสู่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในปี 2491 ดำรงตำแหน่ง Lecturer ระหว่างปี 2491-2499 และดำรงตำแหน่ง Smuts Reader in Commonwealth Studies ระหว่างปี 2499-2503 แล้วจึงย้ายไปกินตำแหน่งศาสตราจารย์ ณ London School of Economics and Politics (LSE) จวบจนเกษียณอายุในปี 2526

เบาเออร์เพิ่งมีฐานันดรเป็น Lord Bauer ในปี 2525 ก่อนเกษียณจากอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยเพียงปีเดียว รัฐบาลนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) เป็นผู้เสนอขอฐานันดรดังกล่าวนี้ให้ เนื่องจากเบาเออร์มีจุดยืนทางเศรษฐกิจและการเมืองชิดใกล้กับพรรคอนุรักษนิยม

ผู้ที่ติดตามและศึกษาการเมืองอังกฤษ ย่อมต้องตระหนักถึงบทบาทและอิทธิพลของนักวิชาการเชื้อสายฮังการีในยุคทศวรรษ 2500 ถึงทศวรรษ 2520 อันได้แก่ นิโคลัส คาลดอร์ (Nicholas Kaldor) โธมัส บาล็อก (Thomas Balogh) และ ปีเตอร์ เบาเออร์ ทั้งสามเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เรียงลำดับจากฝ่ายซ้ายไปสู่ฝ่ายขวา คาลดอร์ แม้จะจบการศึกษาจาก LSE แต่ไปตั้งฐานที่มั่นทางวิชาการอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ บาล็อกอยู่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ส่วนเบาเออร์ปักหลักอยู่ที่ LSE สื่อมวลชนขนานนามบุคคลทั้งสามนี้ว่า The Three Hungarian Mafias เสมือนหนึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์และเศรษฐทรรศน์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ คาลดอร์และบาล็อกได้รับฐานันดรเป็นสมาชิกสภาขุนนาง ในยุคสมัยที่พรรคแรงงานเป็นรัฐบาล ส่วนเบาเออร์เพิ่งได้รับฐานันดรในยุครัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม

แม้ว่าปีเตอร์ เบาเออร์ เป็นศิษย์สำนักเคมบริดจ์ และศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในช่วงเวลาที่กำลังเกิดการปฏิวัติเศรษฐศาสตร์โดยจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynesian) หรือที่เรียกกันว่า Keynesian Revolution แต่เบาเออร์มิได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของกระบวนทัศน์เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ (Keynesian Economics) หากยังคงยึดโยงอยู่กับกระบวนทัศน์ของสำนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิก (Classical Economics) ซึ่งมีพื้นฐานจากปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม

ในยุคสมัยที่เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ครอบงำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ชีวิตทางวิชาการของเบาเออร์ในมหาวิทยาลัยนั้น คงต้องเผชิญกับสงครามทางความคิดระลอกแล้วระลอกเล่า และไม่น่าประหลาดใจที่จะมีการบอกเล่าว่าเบาเออร์เป็น 'แกะดำ' ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

แต่เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์มิได้มีอิทธิพลเฉพาะแต่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เท่านั้น หากยังแผ่อิทธิพลจนกลายเป็นกระบวนทัศน์แห่งมนุษยพิภพ ทั้งในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์และในกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ถีบตัวขึ้นมาเป็นเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่มีอิทธิพลอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างปี 2488-2516 นักเศรษฐศาสตร์ที่ยึดมั่นแนวความคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมดังเช่นเบาเออร์ จึงมีชีวิตทางวิชาการอย่างค่อนข้างโดดเดี่ยว

เมื่อเบาเออร์เริ่มต้นชีวิตนักวิชาการนั้น เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนา หรือ Development Economics ยังไม่ปรากฏเป็นรูปร่าง การเติบโตของสาขาวิชาดังกล่าวนี้เป็นปรากฏการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่ออาณานิคมจำนวนมากได้รับเอกราช และย่างก้าวสู่เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สหประชาชาติและองค์การชำนัญพิเศษ รวมทั้งรัฐบาลประเทศที่พัฒนาแล้ว พากันยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือประเทศในโลกที่สามเหล่านี้ เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาเริ่มมีพลวัตในการเติบโต เพราะต้องแสวงหาคำตอบว่า จะเลือกยุทธศาสตร์การพัฒนาอะไร จึงจะช่วยให้โลกที่สามหลุดพ้นจากกับดักแห่งความด้อยพัฒนา และกับดักแห่งความยากจน การก่อเกิดและการเติบโตของเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนา เกิดขึ้นในบริบทที่เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์กำลังทรงอิทธิพลยิ่ง ด้วยเหตุดังนั้น ทฤษฎีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก่อเกิดในช่วงนี้ จึงเน้นบทบาทของรัฐบาล และมิได้ให้ความสำคัญแก่บทบาทของภาคเอกชน เพราะมีฐานความคิดว่าด้วยความล้มเหลวของกลไกตลาด (Market Failure) โดยมองข้ามความล้มเหลวของกลไกแห่งรัฐ (Government Failure)

ฐานความคิดของเบาเออร์มาจากสำนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิก ประสบการณ์จากการใช้ชีวิตในโลกที่สาม ทั้งในมลายาและแอฟริกาตะวันตก ช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นในฐานความคิดดังกล่าวนี้ เบาเออร์เชื่อว่าประชาชนในโลกที่สามมีศักยภาพในการตัดสินใจด้วยตนเองได้ และสามารถตอบสนองสิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุดังนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนา มิควรให้ความสำคัญแก่บทบาทของรัฐบาลมากจนเกินฐานความเชื่อของเบาเออร์ จึงตรงกันข้ามกับเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ และทำให้เบาเออร์เป็นปรปักษ์ทางปัญญากับบรรดานักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ที่ถูกครอบงำโดยเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ เบาเออร์วิพากษ์และเสนอความคิดเห็นอันก่อให้เกิดวิวาทะในประเด็นสำคัญต่อไปนี้

(1) วัฏจักรแห่งความยากจน (Vicious Circle of Poverty) เบาเออร์ไม่เชื่อว่า ความยากจนจะสร้างวัฏจักรแห่งความยากจนชนิดไม่รู้จักจบจักสิ้น

(2) ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก มิได้สร้างความเสียหายแก่โลกที่สาม

(3) การพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่สาม มิจำต้องอาศัยการวางแผนและการควบคุมของรัฐบาลอย่างเข้มงวดและกว้างขวาง

(4) การเพิ่มขึ้นของประชากรและแรงกดดันจากปัญหาประชากร มิใช่อุปสรรคสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่สาม

(5) ประเทศโลกที่สามที่พยายามพัฒนาเศรษฐกิจ มิจำต้องเผชิญปัญหาดุลการชำระเงินระหว่างประเทศเสมอไป

(6) ความช่วยเหลือจากต่างประเทศมิใช่สิ่งที่ขาดมิได้ของโลกที่สาม

บทวิพากษ์เศรษฐศาสตร์การพัฒนาแบบเคนส์ของเบาเออร์ รวบรวมตีพิมพ์ในหนังสือ Dissent on Development (1971) Equality, the Third World and Economic Delusion (1981) และ The Deve-lopment Frontier : Essays in Applied Economics (1991)

ภายหลังวิกฤติการณ์น้ำมัน ปี 2516 เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์เริ่มเสื่อมอิทธิพล ลัทธิเสรีนิยมสมัย ใหม่ (Neo-Liberalism) กลายเป็นกระบวนทัศน์หลักในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ และในกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ จนก่อให้เกิดเมนูนโยบาย (Policy Menu) ที่มีชื่อว่า "ฉันทมติแห่งวอชิงตัน" (Washington Consensus) ด้วยการผลักดันของประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาและองค์กรโลกบาล ดังเช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก และองค์การการค้าโลก กระบวนการโลกานุวัตรของฉันทมติแห่งวอชิงตันขยายตัว จนกลายเป็นเมนูนโยบายของมนุษยพิภพ ลัทธิเสรีนิยมสมัยใหม่รุกคืบสู่สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาอย่างเด่นชัด นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา นักเศรษฐศาสตร์ต้องกลับไปอ่านงานของเบาเออร์ใหม่

ในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ ผู้ที่ยืนหยัดในแนวทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงในระดับแนวหน้า มีอยู่อย่างน้อย 3 คน คือ ฟรีดดริก ฟอน ฮาเย็ก (Friedrich Von Hayek) มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) และปีเตอร์ เบาเออร์ ฮาเย็กและฟรีดแมนได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ไปแล้ว โดยที่เบาเออร์มิได้รับรางวัลเกียรติยศอันสูงส่งใดๆ เมื่อ Cato Institute มอบรางวัล The Milton Friedman Prize for Advancing Liberty แก่เบาเออร์ จึงเป็นรางวัลเกียรติยศสำคัญที่เบาเออร์ได้รับ

Cato Institute เป็นองค์กรผลิตความคิด (Think Tank) สำคัญของฝ่ายขวาในสหรัฐอเมริกา ยึดกุมจุดยืนเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ และอนุรักษนิยมทางการเมือง Cato Institute สถาปนา The Milton Friedman Prize เพื่อเป็นเกียรติแก่มิลตัน ฟรีดแมน เสาหลักทางเศรษฐศาสตร์ของฝ่ายขวา โดยผู้รับรางวัลจะได้เงินจำนวน 500,000 ดอลลาร์อเมริกัน คณะกรรมการคัดสรรผู้รับรางวัลประกอบด้วยผู้ทรงเกียรติฝ่ายขวา ดังเช่น นางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ เป็นต้น คณะกรรมการตัดสินให้เบาเออร์เป็นผู้รับรางวัลนี้เป็นคนแรก โดยกำหนดพิธีการมอบรางวัลวันที่ 9 พฤษภาคม 2002 ณ นครวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา แต่อนิจจา เบาเออร์ถึงแก่อนิจกรรมก่อนงานรับรางวัลเพียงหนึ่งสัปดาห์

ภ า ค ผ น ว ก
งานวิชาการสำคัญของ Peter T. Bauer

1. The Rubber Industry (1948)

2. West African Trade (1954)

3. Economic Analysis and Policy in Underdeveloped Countries (1957)

4. The Economics of Underdeveloped Countries (1957)

5. Two Views on Aid to Developing Countries (1966)

6. Markets, Market Control and Marketing Reform (1968)

7. Dissent on Development (1972)

8. Class on the Brain (1978)

9. Equality, the Third World, and Economic Delusion (1981)

10. Reality and Rhetoric : Studies in the Economics of Development (1984)

11. Development Frontier : Essays in Applied Economics (1991)

12. From Subsistence to Exchange and Other Essays (2000)

ห ม า ย เ ห ตุ

1. รายงานข่าวอนิจกรรมของปีเตอร์ เบาเออร์ โปรดอ่าน

Sue Cameron, "Lord Bauer Dies Days Before Receiving Award", Financial Times (May 4, 2002)

Paul Lewis, "Peter Bauer, British Economist, Dies at 86", The New York Times (May 14, 2002)

2. การประเมินชีวิตและงานของลอร์ดเบาเออร์ โปรดอ่าน

Basil S. Yamey, "Peter Bauer : Economist and Scholar", Cato Journal, Vol.7, No.1 (Spring/Summer 1987), pp. 21-27

Gerald M. Meier and Dudley Seers (eds.), Pioneers in Development. Oxford : Oxford University Press for the World Bank, 1984

3. การประเมินเบาเออร์และรางวัลมิลตัน ฟรีดแมน โปรดอ่าน

"A Voice for the Poor", The Economist (May 4, 2002), p.76

4. ข้อมูลเกี่ยวกับ The Milton Friedman Prize for Advancing Liberty ดู www.cato.org



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.