|
คลังกันงบฯซื้อที่ดินไทยเมล่อนมูลค่าหักต้นทุน3.4พันล.-บสท.ผ่อน6เดือนจ่ายเงิน
ผู้จัดการรายวัน(19 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กระทรวงการคลังเตรียมเสนอรัฐบาลกันงบประมาณซื้อที่ดินไทยเมล่อน 616 ไร่ ผุดคอม เพล็กซ์ รัฐสภา คาดบสท.ขายที่ดินหลังหักต้นทุนทางการเงิน ค่ารื้อถอนอาคารและโรงงาน รวมมูลค่าประมาณ 3,400-3,500 ล้านบาท ด้านบสท.กำหนดเวลาชำระเงิน 6 เดือน พร้อมเปิดประมูลผู้รับเหมารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง
โครงการศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ มูลค่าการลงทุนกว่า 21,000 ล้านบาท เป็นโครงการนำร่องหนึ่งในแนวคิดการย้ายหน่วยงานราชการจากส่วนกลางออกไป ขณะเดียวกันการใช้พื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์บนถนนแจ้งวัฒนะ ยังก่อประโยชน์ในเชิงการสร้างมูลค่าเพิ่มของการพัฒนาสินทรัพย์ของกรมธนารักษ์ในด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ขณะที่ความคืบหน้าการหาสถานที่สร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่มีความคืบหน้าตามลำดับ โดยนายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา ระบุก่อนหน้านี้พื้นที่ของบริษัท ไทยเมล่อน โพลีเอสเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TMP ซึ่งมีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ เป็นพื้นที่เหมาะสมต่อการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ เพราะมีเนื้อที่กว้างถึง 600 ไร่
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน" นับตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ โครงการต่างๆ ของรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินจำนวนมากในการพัฒนา เช่น โครงการศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร การแก้ไขความยากจนให้แก่ประชาชน การสร้างศูนย์ขนส่ง (ลอจิสติกส์) ทำให้ที่ดินของรัฐบาลที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด ดังนั้นทางกระทรวงการคลังจึงได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์เป็นผู้ดำเนินการหาที่ดิน ซึ่งได้เข้าไปเจรจากับผู้บริหารของบสท. และมีการนำเสนอที่ดินจำนวน 5 แปลง มาให้พิจารณา เช่น คอนโดมิเนียมพร้อมที่ดินที่เมืองทองธานี, ที่ดินย่านบางปะอิน จำนวน 1,034 ไร่ และที่ดินของบริษัท ไทยเมล่อนฯ ย่านรังสิต จำนวน 616 ไร่ อยู่ตรงกันข้ามกับโรงกษาปณ์ บนถนนวิภาวดีฯ เป็นต้น
"ที่ดินไทยเมล่อนเหมาะสมต่อการก่อสร้างอาคารรัฐสภา และสามารถรองรับการใช้ประโยชน์ของรัฐบาล เช่น ทำศูนย์ลอจิสติกส์ เป็นจุดเชื่อมต่อกรุงเทพฯตอนบนได้ ทั้งนี้ในส่วนของราคาซื้อขาย ทางกรมฯได้เจรจากับบสท.มาอย่างต่อเนื่อง ในเบื้องต้นบสท.จะคิดคำนวณ ค่าที่ดินบวกสิ่งปลูกสร้าง ส่วนนี้คาดจะมีต้นทุนรวมประมาณ 4,000 ล้านบาทเศษ จึงได้เจรจาต่อรองขอไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้างเพราะไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้แล้ว และหักต้นทุนทางด้านการเงินที่ผ่านมา เนื่องจากราคาหนี้ของไทยเมล่อนฯจะอยู่ที่ 3,700 ล้านบาท สุดท้ายราคาที่ค่อนข้างเห็นพ้องประมาณ 3,400-3,500 ล้านบาท" แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับรูปแบบของแหล่งเงินที่จะถูกนำมาใช้ แหล่งข่าวกล่าวว่าจะมีการเสนอต่อรัฐบาลให้กันงบประมาณของปี 2548 หรืองบประมาณของปี 2549 มาใช้ในการซื้อที่ดินและพัฒนาก่อสร้างอาคารรัฐสภา และการใช้หลักการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นตราสาร หรือการทำซีเคียวริไทเซชัน (Securitization) เช่นออกพันธบัตร เพื่อซื้อที่ดินและสร้างอาคาร
"ถามว่าแบบไหนจะดีกว่ากัน คงต้องเลือกการกันงบประมาณมาดำเนินการ เพราะส่วนนี้ต้นทุนทางการเงินจะต่ำกว่า ขณะที่การทำซิเคียว ริไทเซชัน ต้นทุนทางการเงินจะสูง สุดท้ายก็ต้องใช้งบประมาณของรัฐฯ มาดำเนินการอยู่ดี" แหล่งข่าวกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่ของบริษัทไทยเมล่อนฯ รวมสิ่งปลูกสร้าง จะมีประมาณกว่า 400,000 ตารางเมตร โดยทางบสท.จะกำหนดระยะเวลาการชำระเงินภายใน 6 เดือน ทั้งนี้การซื้อขายดังกล่าวไม่มีการจัดประมูล เนื่องจากเป็นการซื้อขายระหว่างหน่วยงานของรัฐฯด้วยกัน สำหรับในส่วนของอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ทางบสท.จะเป็นผู้ดำเนินการและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยจะมีการประมูลให้บริษัทเอกชนเข้ามารื้อถอนอาคารที่มีอยู่
หากจะพูดถึงเจ้าพ่อในวงการธุรกิจสิ่งทอในอดีต ไม่มีใครไม่รู้จัก นายสุกรี โพธิรัตนังกูร ที่ปลุกปั้นให้บริษัทไทยเมล่อนฯ ยิ่งใหญ่ขึ้นมา โดยมีธนาคารกรุงเทพ (BBL) ในอดีต เป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อ จากความรุ่งโรจน์ทำให้มีการขยายอาณาจักรของบริษัทฯอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ต้นทุนที่สูงขึ้น ค่าแรง และปัญหาเรื่องการมุ่งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ แทนที่จะขยายให้ครบวงจร กลายเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ แม้ว่าจะมีการดิ้นเพื่อหาพันธมิตร ทั้งจากญี่ปุ่น และฝรั่งเศส แต่ดูเหมือนทุกๆ อย่างไม่สามารถผลักดันให้องค์กรขยับไปข้างหน้าได้ ด้วยภาระหนี้สินกว่า 14,000 ล้านบาท ขณะที่ตอนนั้นทรัพย์สินมีแค่ 100 ล้านบาท โดยมี BBL เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่กว่า 7,000 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ยื่นฟ้องล้มละลายเป็นเจ้าหนี้ประมาณ 4,100 ล้านบาท และสุดท้ายได้มีการโอนหนี้ มายัง บสท.ตามนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้านี้
รัฐสภาที่ครบวงจรจุดเชื่อมศูนย์ราชการ
แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์กล่าวว่า หากพิจารณาไปแล้ว ที่ทำการอาคารรัฐสภาที่มีอยู่เดิมค่อนข้างมีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ และการจราจรที่ค่อนข้างมีปัญหาในเวลามีการประชุม ขณะที่พื้นที่ของบริษัทไทยเมล่อนฯจะสามารถรองรับการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา มีห้องทำงานที่มากขึ้น และยังสามารถเพิ่มการบริการให้แก่ประชาชนที่เข้ามาร้องเรียนปัญหาต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์กว่าเดิม เป็นการมองไปในอนาคตที่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใส่ลงไป
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนของอาคารัฐสภาเดิม หากมีการนำมาปรับปรุงเพื่อใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเชิงประวัติศาสตร์ และวิวัฒนาการทางด้านการปกครองกฎหมายของไทยที่ผ่านมา ให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ถึงความเป็นมา ขณะที่สถานที่โดยรอบอาคารรัฐสภาเดิม ยังมีแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อน เช่น สวนสัตว์เขาดิน, สวนอัมพร และพระที่นั่งอนันตสมาคม (รัฐสภา) เป็นต้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|