"ชินแซท"ยันยิงไอพีสตาร์Q2 ต่อคิวอเมริกาและอินโดนีเซีย


ผู้จัดการรายวัน(18 พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ชินแซทมั่นใจจัดส่งไอพีสตาร์ได้ภายในปลายไตรมาส 2 ปีนี้ หลังประชุมวางแผนปฏิบัติการส่งดาวเทียมขั้นสุดท้ายเสร็จ รอคิวต่อจากดาวเทียมของสหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซีย ส่วนไทยคม 5 เตรียมส่งขึ้นสู่วงโคจรภายในไตรมาสแรกปีหน้า รองรับการขยายฐานลูกค้าจากไทยคม 1, 2 และ 3 ล่าสุดเซ็นสัญญากับยูบีซีในการเช่าช่องสัญญาณกว่า 50% ของย่านความถี่เคยูแบนด์

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีวิชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาดและการขาย บริษัท ชินแซทเทลไลท์ กล่าวถึงความคืบหน้าของการจัดส่งดาวเทียมไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์ขึ้นสู่วงโคจรว่า ขณะนี้ได้รับการอนุมัติจากบริษัท สเปซ ซิสเต็ม ลอเรล ผู้สร้างไอพีสตาร์ ให้นำตัวดาวเทียมไปที่ฐานจัดส่งที่เมืองคูรู จังหวัดโพ้นทะเลเฟรนช์กิอานา ประเทศฝรั่งเศส ทวีปอเมริกาใต้ และคาดว่าจะสามารถส่งขึ้นสู่วงโคจรในตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกได้ประมาณปลายไตรมาส 2 ปีนี้

สำหรับไอพีสตาร์มีน้ำหนักประมาณ 6.5 ตัน ได้ผ่านการทดสอบทุกขั้นตอนอย่างสมบูรณ์ และเตรียมที่จะจัดส่งขึ้นสู่วงโคจรหลังมีการประชุมวางแผนปฏิบัติการส่งดาวเทียมขั้นสุดท้ายแล้ว จากนั้นบริษัท แอเรียน สเปซ ซึ่งเป็นผู้จัดส่ง จะได้เตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ ในการส่งดาวเทียม แต่ยังต้องรอคิวต่อจากดาวเทียมของสหรัฐอเมริกากับอินโดนีเซียที่มีกำหนดการจะจัดส่งก่อน

การให้บริการของไอพีสตาร์จะคลุมพื้นที่ใน 14 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย ไต้หวัน ลาว อินเดีย พม่า จีน ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เวียดนาม นิวซีแลนด์ เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งขณะนี้มีการตั้งเกตเวย์แล้วใน 7 ประเทศคือ ไทย ไต้หวัน ลาว อินเดีย พม่า จีน ออสเตรเลีย และมีการใช้งานแล้ว 9 ประเทศ

นอกจากนี้ ชินแซทยังมีแผนจะจัดส่งไทยคม 5 ซึ่งเป็นดาวเทียมที่ออกแบบให้มีการใช้งานต่อเนื่องจากไทยคม 3 เนื่องจากขีดความสามารถในการรองรับการใช้งานหรือคาปาซิตี้ของไทยคม 1, 2 และ 3 เต็ม ซึ่งคาดว่าประมาณไตรมาสแรกของปี 2549 จะสามารถส่งขึ้นสู่วงโคจรได้

ไทยคม 5 มีน้ำหนักประมาณ 3 ตัน มีช่องสัญญาณที่เป็นย่านความถี่ซี-แบนด์ 24 ทรานสปอนเดอร์ เคยู-แบนด์ 14 ทรานสปอนเดอร์ มีพื้นการ ให้บริการครอบคลุม 4 ทวีปคือ เอเชีย ยุโรป แอฟริกา และออสเตรเลีย รวมกว่า 120 ประเทศ

ดร.ดำรง เกษมเศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร ชินแซท กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องของไทยคม 5 อยู่ระหว่างการเตรียมเรื่องเกี่ยวกับการเจรจากับซัปพลายเออร์ เพื่อนำเข้าบอร์ดพิจารณา หลังมีมติให้เดินหน้าโครงการไปแล้วก่อนหน้านี้

"หลักๆ ดาวเทียมไทยคมทั้งหนึ่ง สอง สาม ห้า ถูกออกแบบให้ใช้เกี่ยวกับธุรกิจทีวี มีเพียงไทยคมสี่ หรือไอพีสตาร์ที่เป็นดาวเทียมแบบสื่อสารสองทาง เช่น บริการไอพีทีวี ซึ่งดาวเทียมดวงนี้ถูกออกแบบเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์โดยเฉพาะ"

นายยงสิทธิ์กล่าวเสริมในเรื่องของไทยคม 5 ว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะมาจากผู้ใช้บริการไทยคม 1, 2 และ 3 เพราะคาปาซิตี้เต็ม และต้องการขยายการให้บริการ ซึ่งขณะนี้มีฐานลูกค้าส่วนหนึ่งอยู่แล้วในอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ รวมถึงไทยด้วย

"หลังจากการจัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรหลายดวง การทำงานของเราก็จะเป็นแบบฟีด แมเนจเมนต์หรือการบริการจัดการกองดาวเทียม เพราะดาวเทียมบางดวงที่ให้บริการไปก่อนหน้านี้ก็จะหมดอายุการใช้งานก็จะมีดวงอื่นๆ ขึ้นแทน ซึ่งการควบคุมดาวเทียมมากกว่าหนึ่งดวงมีอยู่แล้วทั่วโลก"

ล่าสุดบริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือยูบีซี ได้ลงนามในสัญญาเช่าช่องสัญญาณไทยคม 5 จำนวน 50% ของความถี่ย่าน เคยูแบนด์ ซึ่งลูกค้ารายใหญ่รายแรกที่ย้ายการใช้งานจากไทยคม 3 ไปไทยคม 5 นอกจากนี้ ยูบีซียังจะได้รับการจัดสรรช่องสัญญาณเพิ่มขึ้นอีก 88% จากเดิมที่ได้รับจัดสรรช่องสัญญาณ 36 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 4.25 ทรานสปอนเดอร์บนดาวเทียมไทยคม 3 เป็น 36 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 5 ทรานสปอนเดอร์ และ 54 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ทรานสปอนเดอร์ บนดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเพิ่มช่องรายการและขยายบริการต่างๆ ของยูบีซี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.