เจ้าของเว็บชี้กม.ฉบับใหม่ทำต้นทุนเพิ่ม


ผู้จัดการรายวัน(18 พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กลุ่มเว็บมาสเตอร์หนุนร่างกฎหมายความผิดบนคอมพิวเตอร์ "กะปุก" มองเป็นกฎหมายที่ดี แต่เจ้าของเว็บจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และคนอาจแห่ไปใช้บริการรับฝากข้อมูลในต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐต้องรณรงค์ให้ผู้ใช้เข้าใจในความผิดที่จะเกิดขึ้น เพราะอาจได้รับโทษโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขณะที่ "พันทิป" ติงต้องให้คำจัดกัดความเรื่องความมั่นคงให้ชัด เพราะกว้างเกินไป ด้าน "ครูหยุย" ชมกม.ดี แต่ไม่มั่นใจว่าเอาจริงเพราะที่ผ่านมารัฐบาลมองปัญหาสังคมเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย แถมคนในรัฐบาลก็ทำธุรกิจด้านนี้เยอะ

จากการที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาแก้ไขร่างว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยในร่างกฎหมายมีบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรงนั้น

นายปรเมศร์ มินศิริ อุปนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย และเจ้าของเว็บ kapook.com กล่าวแสดงความคิดเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อคนใน 3 กลุ่มคือ 1. ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไป 2. กลุ่มผู้ให้บริการ คือ ไอเอสพี และผู้ให้บริการพื้นที่รับฝากข้อมูลบนเว็บไซต์ คือไม่ได้เป็นเจ้าของเว็บเอง แต่ข้อกฎหมายก็อาจมาถึงตัวได้ และ 3. เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้มีอำนาจในการเข้าตรวจสอบการจราจรบนเครือข่าย

ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้จริง ภาครัฐควรมีการสร้างการรับรู้เพื่อให้ผู้ใช้เข้าใจอย่างแท้จริงว่ามีผลอย่างไรบ้าง ซึ่งบางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่ชอบฟอร์เวิร์ดเมลบางคนอาจไม่ทราบว่านับจากนี้ต่อไปต้องได้รับความผิด

"หากมีการประกาศใช้จริงน่าจะมีระยะเวลาสัก 90 วัน ที่จะรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน เพราะเรื่องฟอร์เวิร์ดเมลเป็นเรื่องที่คนทำผิดได้ง่ายที่สุด บางครั้งการกระทำผิดเช่นส่งข้อมูลไปเพื่อนเราไม่ทราบว่ามีไวรัสติดอยู่ อาจมีผลให้เกิดความเสียหายได้ หากส่งไปที่โรงพยาบาลและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ คนส่งอาจถูกประหารได้ด้วย ซึ่งต้องมีการชี้แจงให้ทราบกันก่อน"

พร้อมทั้งมีความเห็นความว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ควรครอบคลุมไปถึงเรื่องฟิชชิ่งและสไปแวร์ด้วย โดยฟิชชิ่งจะหมายถึงการหลอกลวงว่าธุรกิจที่เว็บไซต์ธนาคารแต่ตามจริงแล้วมิใช่เป็นเว็บไซต์ของผู้อื่นที่หลอกทำข้อมูลไป ส่วนสไปแวร์จะไม่ทำความเสียหายอะไรแต่ส่งข้อมูลออกมา ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นตัวใหม่ของการกระทำความผิดร่างกฎหมายนี้จึงน่าจะคุมถึง 2 เรื่องนี้ด้วย เพราะแม้ข้อมูลจะไม่ได้หายไปไหนแต่ก็มีคนลักลอบเข้ามาดู

ในส่วนผู้ให้บริการ นายปรเมศร์กล่าวว่า ไม่น่าจะได้ผลกระทบมากเท่าไรนัก แต่ผู้ให้บริการรับฝากข้อมูลบนเว็บไซต์น่าจะได้รับผลกระทบกว่า ในกรณีที่คนนำเว็บไม่ดีมาใส่ซึ่งตามร่างกฎหมายนี้ผู้ให้บริการรับฝากข้อมูลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ต้องลบข้อมูลในทันที มิเช่นนั้นจะมีโทษเท่ากับผู้กระทำผิด ซึ่งหมายถึงต้องกระทบกับต้นทุนผู้ให้บริการต้องสูงขึ้นเพราะต้องคอยมอนิเตอร์ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็อาจส่งผลให้มีการไปใช้บริการรับฝากข้อมูลในต่างประเทศมากขึ้นเพราะกฎหมายไทยไปไม่ถึง ขณะเดียวกับเจ้าของเว็บไซต์ก็ต้องมีต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น

สำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เป็นส่วนที่น่าจับตามองเช่นกัน โดยกระทรวงไอซีทีมีสิทธิแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อดูแลทราฟฟิกที่ส่งผ่านหรือเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้ โดยส่วนนี้ต้องการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้มีคุณธรรม และจริยธรรมในการดูข้อมูลของบุคคลอื่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้า และข้อมูลส่วนบุคคล โดยอาจออกเป็นกฎหมายลูกควรดูแลโดยตรง ควรมีการออกกระบวนการให้ชัดเจนลงรายละเอียดว่าเจ้าหน้าที่ระดับใด ควรมีสิทธิดูข้อมูลได้แค่ไหน สิทธิในการยึดคอมพิวเตอร์ควรอยู่ในหลักเกณฑ์ไหน ควรให้มีกระบวนการโปร่งใส่ในการยึด

"ไม่น่ามองเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่มองเป็นการคุ้มครองผู้เสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากกว่า อย่างการฟอร์เวิร์ดเมล โดยกฎหมายฉบับนี้ลงลึกไปถึงการดัดแปลงและทำให้ผู้เสียหายตีความกว้างกว่า เช่น ภาพล้อเลียนทางหนังสือพิมพ์ถ้าเป็นการล้อเลียนกฎหมายเดิมไม่เอาผิด แต่ในกฎหมายใหม่มองว่าเป็นการทำให้ผู้อื่นอับอาย ฉะนั้นผู้ที่ชอบเอารูปผู้อื่นมาตกแต่งก็ต้องดูกันให้ดี ถ้าเกิดมีการตีความว่าเขาอับอาย"

อย่างไรก็ตาม นายปรเมศร์กล่าวว่า ในที่สุดแล้วก็อยากให้มีกฎหมายนี้ออกมา เพราะปัจจุบันยังมีบางเว็บไซต์ที่ไม่ได้สังกัดสมาคม ผู้บริหารขาดการดูแลเว็บไซต์ ซึ่งในความเป็นจริงควรยึดหลักการที่ว่า เมื่อเปิดเว็บไซต์ขึ้นมาได้ก็ควรดูแลให้ได้

ด้านนายวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ pantip.com กล่าวว่า ในความรู้สึกส่วนตัวแล้ว มองว่าร่างกฎหมายฉบับนี้น่าจะมีการปรับใหม่เล็กน้อย อย่างเรื่องมาตรา 13 ที่พูดถึงการกระทำความผิดโดยการเขียนข้อความ 3 ลักษณะ อย่างหนึ่งคือเรื่องความมั่นคงของชาติ และเรื่องภาพลามกอนาจาร โดยเรื่องภาพลามกอนาจารเป็นเรื่องเข้าใจง่าย แต่เรื่องความมั่นคงของชาติไม่มีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า คนที่จะตีความว่าข้อความลักษณะไหนเรียกว่ากระทบ ความมั่นคงของชาติ หากมีใครสักคนพยายามใช้ช่องว่างนี้มิให้เกิดการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีก็ย่อมทำได้

ส่วนนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภากทม. ให้ความเห็นว่า หากกฎหมายฉบับนี้สามารถออกมาใช้จริงได้จะมีผลดีอย่างมาก จะช่วยป้องกันภาพและข้อความลามกอนาจารได้เยอะ เพราะที่ผ่านมาก็ได้พยายามผลักดันมาตลอด 2 ปี แต่ พ.ร.บ.ดังกล่าวค่อนข้างติดขัดในขั้นตอนการออกกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องตั้งคำถามก็คือ รัฐบาลจริงใจแค่ไหนในการดูแลเรื่องของสังคม เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเอาเรื่องสังคมเป็นเรื่องรองมาตลอด นอกจากว่าจะวิกฤตจริงๆ ถึงจะมาขยับ

"ผมไม่ค่อยเชื่อมั่นในตัวรัฐบาลเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะตัวรัฐบาลเองก็เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้เยอะ ส่วนในเรื่องการใช้พ.ร.บ.นี้ ในแง่ของกฎหรือโทษ มันหนักอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือการนำไปบังคับใช้จริง ผมเห็นว่าการบังคับใช้ในไทยมันแย่มาก กระบวนการทางกฎหมายนั้นไม่ได้ใช้จริง ทำให้คนไม่กลัวในการทำผิด"

สำหรับนางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการกลุ่มสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงข้อดีของกฎหมายนี้ว่า การอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งคิดว่าบทลงโทษที่กำหนดน่าจะเหมาะสมแล้วเพราะจะทำให้คนไม่คิดทำ แต่อีกจุดที่ต้องดูแลด้วยก็คือเว็บไซต์ต่างประเทศ เพราะเข้าใจว่าคงบล็อกไม่ได้ทั้งหมด

ด้านอาจารย์วิลาสินี พิพิธกุล อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษากลุ่มตาสับปะรดที่ทำงานเด็ก กล่าวว่า กฎหมายเป็นวิธีหนึ่งในการควบคุมสื่อลามก แต่ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะมาตรการต่างๆหลายครั้งเขียนขึ้น แต่ไม่มีการปฏิบัติจริง ทำให้เปิดช่องให้มีการฉกฉวยผลประโยชน์ได้

นอกจากนี้ การจัดการบนพื้นที่อินเทอร์เน็ตก็เป็นเรื่องยาก เพราะตลอดมาเราปล่อยให้คนในสังคมใช้พื้นที่อย่างเต็มที่ การนำ พ.ร.บ. ออกมาวิ่งไล่จับคงไม่สามารถทำได้หมด ดังนั้น จึงต้องทำควบคู่กับขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.