เมื่อแบงก์ชาติเป่านกหวีด เปิดเกมการแข่งขันบัตรเครดิต

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

การเปิดเสรีให้ธนาคารพาณิชย์สามารถพิจารณาออกบัตรเครดิตให้กับลูกค้า โดยไม่กำหนดรายได้ขั้นต่ำของผู้ขอทำบัตรเครดิต ที่แบงก์ชาติประกาศออกมาเมื่อปลายเดือนเมษายน ได้ปลุกให้การแข่งขันในตลาดบัตรเครดิตมีความคึกคักขึ้นอย่างทันตาเห็น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวมีการประกาศออกมา ในช่วงก่อนที่จะมีการจัดงานมหกรรมการเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ซึ่งจัดโดยวารสารการเงินธนาคาร เพียง 2 สัปดาห์ทำให้หลายธนาคารตื่นตัวและสรรหาลูกเล่นทางการตลาดใหม่ๆ ที่ดึงดูดใจให้ผู้ที่เข้าไปชมงานมาเป็นลูกค้าบัตรเครดิตได้มากขึ้น

หลังการประกาศกฎเกณฑ์ใหม่ของแบงก์ชาติ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ได้ลดเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำของผู้ขอทำบัตรเครดิตลงมาจากเดิมที่เคยกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท เหลือ เพียง 1 หมี่นบาท

โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทย ที่สร้างความตกตะลึงให้กับวงการพอสมควร เพราะกำหนดเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำของผู้ขอทำบัตรเครดิต เหลือเพียง 7,500 บาทเท่านั้น

ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง มองถึงตลาดล่าง ที่ก่อนหน้านี้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร เช่น จีอีแคปปิตอล และอิออน ธนสินทรัพย์ ได้เปิดช่องทางรุกเข้าไปในตลาดนี้ก่อน ด้วยการพิจารณาออกบัตรให้กับคนที่มีรายได้ต่ำสุดเพียง 5,000 บาทเท่านั้น

การที่สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเหล่านี้ สามารถทำได้ เพราะไม่อยู่ในระเบียบบังคับจากธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้นจึงมีข้อเรียกร้องจากธนาคารพาณิชย์ให้แบงก์ชาติพิจารณาถึงระเบียบข้อนี้ใหม่ เพราะทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเหล่านั้น

แต่เมื่อแบงก์ชาติยอมตามข้อเรียกร้องของธนาคารพาณิชย์ โดยการประกาศไม่กำหนดเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำของผู้ขอทำบัตรเครดิต ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูจากมวลหมู่นักวิชาการตามมาว่า นโยบายเช่นนี้จะทำให้คนไทยเกิดการใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่มีเสถียรภาพ

หากมองในมุมของแบงก์ชาติ การเปิดเสรีดังกล่าว ก็ไม่แตกต่างจากนโยบายธนาคารคนจนของรัฐบาล เพราะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ จากกลุ่มชนชั้นรากหญ้า และการบริโภคภายในประเทศดังกล่าว ก็จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญ อีกตัวหนึ่งที่จะสามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโดยรวมมีการขยายตัวต่อไปได้

มุมมองที่แตกต่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายนักวิชาการที่เป็นห่วงเรื่องการใช้จ่าย กับฝ่ายรัฐที่ต้องการพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะว่าไปแล้วก็ไม่มีใครผิด แต่ผลที่จะเกิดขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ถึงความถูกต้องแนวคิดที่ปรากฏออกมาเป็นนโยบายนั้น คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรทีเดียว

กว่าที่จะถึงจุดนั้น ธุรกิจบัตรเครดิต ก็คงมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดไปแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.