ชุมพล ณ ลำเลียง COMMUNICATION STRATEGIST


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ความพยายามของคนบางคนในการทำความเข้าใจบทเรียน และความคิดสำคัญของชุมพล ณ ลำเลียง ในการบริหารเครือซิเมนต์ไทย ที่เป็นเสาหลักของภาคการผลิตไทยในการผ่านอุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านมา รวมทั้งวิกฤติการณ์ครั้งร้ายแรงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาของสังคมเศรษฐกิจไทยด้วย

ชุมพล ณ ลำเลียง มีความสัมพันธ์อย่างดีกับผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทยทุกคนในช่วงที่เขายังเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และเมื่อเป็นผู้จัดการใหญ่ เขาก็มีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการคนปัจจุบัน "ดร.จิรายุเชื่อในความคิดคุณชุมพลมากที่สุด ผมคิดว่ามากกว่าเชื่อคุณธารินทร์ด้วย" คนที่รู้จักทั้ง 3 คนที่กล่าวถึงเป็นอย่างดีให้ความเห็น

เช่นเดียวกับที่เขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับบัญชา ล่ำซำ และต่อมาถึง บรรยงค์ ล่ำซำ ในฐานะตระกูลล่ำซำเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทิสโก้ เป็นความสัมพันธ์ยาวนานต่อเนื่อง เมื่อบรรยงค์เข้าไปลงทุนในกิจการร่วมทุนอื่นๆ กับต่างประเทศ เช่นกับ DOLE แห่งสหรัฐฯ เพื่อร่วมทุนผลิตสับปะรดกระป๋องในประเทศไทย เมื่อ 20 ปีก่อน จุมพลก็ช่วยเหลือเต็มที่

ปัจจุบันเขายังเป็นกรรมการบริษัทโดล (ประเทศไทย) ด้วย และปัจจุบัน บรรยงค์ ล่ำซำ ก็คือที่ปรึกษาคณะกรรมการคนเดียวของปูนซิเมนต์ไทย

เช่นเดียวกับที่เขาสนิทสนมกับประธานบริษัทใหญ่ๆ ในญี่ปุ่น ที่ร่วมทุนด้วย หรือแม้กระทั่งประธาน Dow Chemical แห่งสหรัฐฯ ที่เป็น Strategic Partner ในธุรกิจปิโตรเคมี

"ต้นๆ เดือนมีนาคมทุกปี เขาจะไปเล่นสกีน้ำแข็งกับประธาน Dow Chemical ที่เมือง Aspen ใกล้มลรัฐ อริโซน่า ซึ่งทั้งสองชอบกีฬานี้เหมือนกัน เขาเรียกว่า Aspen Meeting" ผู้ใกล้ชิดและรู้เรื่องดีแย้มให้ฟัง

Aspen เมืองสกีน้ำแข็ง ที่สวยงามของสหรัฐฯ มีความหมายสำคัญสำหรับ ชุมพล ณ ลำเลียง มากทีเดียว เพราะอยู่ใกล้ๆ กับแหล่งพำนักใหม่มารดาของเขา ซึ่งหลังจากเธอแยกทางกับบิดาของเขานานแล้ว เธอก็มาปักหลักใช้ชีวิตกับครอบครัวใหม่ที่อริโซน่า การเดินทางไป Aspen Meeting นอกจากจะสร้างความเข้าใจอันดีกับหุ้นส่วนสำคัญ เขาก็ถือโอกาสไปเยี่ยมเยือนมารดาของเขาด้วย

เขามีความสนิทสนมกับ บันเทิง ตันติวิท ประธานกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ มาตั้งแต่เขาชักชวนคนคนนี้เข้าทำงานในทิสโก้เมื่อ 30 ปีก่อน บันเทิงก็ยังเป็นที่ปรึกษา และเป็นคนดูแลการลงทุนส่วนตัวของชุมพลเสมอ ตั้งแต่ทรัพย์สินชิ้นสำคัญแรกๆ ของเขา ที่เป็นคอนโดมิเนียมพักอาศัย ซึ่งเขาอาศัยมานับสิบปีที่ชิดลม ก็เป็นโครงการที่บันเทิง ตันติวิท พัฒนาขึ้นนานมา แล้วรวมไปถึงการลงทุนใหม่ๆ ที่ร่วมลงทุนกับเพื่อนๆ โดยเฉพาะกลุ่ม ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ในธุรกิจสนามกอล์ฟ ไม่ว่าที่ลำลูกกา สุภาพฤกษ์ และเลคพาร์ค บันเทิง ตันติวิท ก็เป็นผู้ดูแล

เขาเป็นผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทยคนแรก ที่มีหุ้นของกิจการที่ตัวเองบริหารในฐานะมืออาชีพมากที่สุด

สิ่งที่เขาลงทุนในช่วงวิกฤตินอกจากจะเป็นการลงทุนที่ชาญฉลาดซื้อหุ้นช่วงราคาต่ำมากแล้ว ยังเป็นการสื่อความหมายว่า เขามีความเชื่อมั่นต่ออนาคตของเครือซิเมนต์ไทยอย่างมาก

นี่คือกลยุทธ์ของ Communication Strategist ตัวยง

เรื่องราวความสัมพันธ์กับยศ เอื้อชูเกียรติ กรรมการบริหารปูนซิเมนต์ไทย และที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินฯ หรือธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ในฐานะผู้ร่วมลงทุน รัฐมนตรีคลัง และประธานคณะกรรมการสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็คงไม่จำเป็นต้องอรรถาธิบายมากมายนัก

ที่สำคัญของเรื่องนี้ก็คือ ยุทธศาสตร์ของการปรับตัวเพื่อเปิดเผยข้อมูล เพื่อการสื่อสารกับนักลงทุนกับตลาดที่มีอิทธิพลต่อกิจการระดับภูมิภาค เช่นเครือซิเมนต์ไทย โดยเฉพาะการปรับตัวเพื่อสื่อสารกับโลกตะวันตก ซึ่งมีอิทธิพลต่อสังคมธุรกิจระดับโลกอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในยุคกองทุนการเงินระหว่างประเทศมีอิทธิพลต่อเมืองไทยอย่างมากในเวลานี้

"อิทธิพลตะวันตกมีมาก Market Driven" อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ ทีมงานของชุมพล ณ ลำเลียง ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา

การเดินแผน Non-Deal Roadshow ของเครือซิเมนต์ไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ชุมพล ณ ลำเลียง บอกว่าการเปิดเผยข้อมูลจำเป็นมากเมื่อกิจการมีปัญหา หากกิจการดำเนินไปอย่างราบรื่น ผลกำไรดี ผู้ถือหุ้นมักไม่มีคำถาม เมื่อสถานการณ์ผิดปกติ เครือซิเมนต์ไทยก็จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น

"เราได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการดำเนินธุรกิจใหม่ ก็ควรจะทำหน้าที่ที่ควรจะไปเล่าให้กับผู้ถือหุ้น ไม่ใช่ทำเฉพาะเมืองนอก เราก็เล่าให้ผู้ถือหุ้นในเมืองไทยด้วย ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ต้องเล่า เพราะอยู่ในคณะกรรมการอยู่แล้ว เขารู้ความเป็นมาต่างๆ เหลือเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อยๆ เรามีหน้าที่เล่าให้ฟังว่าทิศทางใหม่ของเราเป็นอย่างไร นโยบายใหม่ของเราจะเป็นอย่างไร แนวคิดใหม่การบริหารคำนึงถึง Shareholder Value รวมทั้งเรื่อง Disclosure Transparency หรือ Good Governance" ทีมงานของชุมพล ขยายความความคิดของชุมพลให้ดูเป็นจริงเป็นจัง และเป็นระบบเชิงปรัชญามาก ขึ้น

อีกประการหนึ่ง ธุรกิจเครือซิเมนต์ไทยเป็นธุรกิจใหญ่มีลักษณะซับซ้อน (Complex) การเข้าใจธุรกิจอย่างถ่องแท้ค่อนข้างยาก จึงมีความจำเป็นต้องให้ข้อมูลเพิ่มขึ้นชัดเจนขึ้น

นี่คือสิ่งที่เครือซิเมนต์ไทยไปสัญญากับผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะตะวันตกเหล่านั้นไว้

ความเคลื่อนไหวสำคัญนี้ของเครือซิเมนต์ไทย เป็นการปรับตัวทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ทีเดียว นอกจากสถานการณ์จะบีบบังคับให้เครือซิเมนต์ไทยต้องแข่งขันทางธุรกิจในระดับภูมิภาคแล้ว อิทธิพลของตลาดการเงินตะวันตกที่มีมากขึ้นๆ อย่างมากมาย ก็ทำให้ชุมพล ณ ลำเลียง ผู้นำเครือซิเมนต์ต้องปรับตัวให้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับตลาดการเงินเหล่านี้ สายสัมพันธ์ที่ว่านี้ก็คือ การสื่อสารอย่างเป็นระบบกับนักลงทุนต่างๆ นั่นเอง ทันทีที่คณะกรรมการอนุมัติโครงสร้างธุรกิจใหม่ ทีมงานที่นำโดยชุมพลก็ออกเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อทำ Non-Deal Roadshow ทันทีระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-15 ธันวาคม 2541 เป็นการเดินทางที่ต่อเนื่องจากสิงคโปร์ ฮ่องกง ได้พบนักลงทุนที่มีสำนักงานอยู่ที่นี่เกือบๆ 40 ราย แล้วต่อไปที่อังกฤษ ในเมืองที่สถาบันการลงทุนจาก Ebinburgh 8 ราย และที่ลอนดอนอีก 23 ราย แล้วปิดท้ายที่สหรัฐฯ เพื่ออรรถาธิบายการปรับโครงสร้างเครือซิเมนต์ไทยอย่างเป็นระบบ จาก Sanfrancisco Los Angeles Ft.Lauderdale Boston และ New York รวม 30 กว่าราย

ทั้งหมดมีการประชุมมากกว่า 50 ครั้ง กับนักลงทุนรวมทั้งสิ้น 102 ราย

Non-Deal Roadshow ก็คือ การเปิดเผยข้อมูลสำหรับนักลงทุนโดยไม่มีการเสนอขายหุ้น หุ้นกู้ หรือตราสารทางการเงินใดๆ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของเครือซิเมนต์ไทย ที่เปิดเผยข้อมูลอย่างมากที่สุดให้กับประชาคมเศรษฐกิจโลก "คุณชุมพลมองไกลกว่านั้น " นักสังเกตการณ์บางคนแสดงความเห็น

ธุรกิจเครือซิเมนต์ไทย เริ่มต้นจากการผูกขาดในประเทศไปสู่สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ เข้าสู่การแข่งขันมากขึ้นๆ จากประเทศไทยสู่ระดับภูมิภาคในขณะนี้

อีกด้านหนึ่ง "ข้อจำกัด" ในการถือหุ้นใหญ่ของสำนักงานทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์ จากที่เคยเป็นจุดแข็ง ณ วันนี้ มีจุดอ่อนมากขึ้นในโลกธุรกิจที่ต้องการความยืดหยุ่นในการปรับตัวรับกับการแข่งขันที่รุนแรง ยากที่คาดเดาในระดับโลก การระดมทุนอย่างหลากหลายมีความจำเป็นมากขึ้น

"จริงๆ แล้ว สำนักงานทรัพย์สินฯ มีแต่สินทรัพย์ ไม่มีเงินสดมากมาย เมื่อเทียบกับกองทุนระดับโลก ถือว่าเป็นหน่วยงานลงทุนที่เล็กมาก ยิ่งเมื่อเจอปัญหาวิกฤติการณ์คราวนี้ ยิ่งลำบากมากขึ้น" นักสังเกตการณ์คนหนึ่งตั้งข้อสังเกต

Non-Deal Roadshow นอกจากจะ€ป็นการแสดงว่าเครือซิเมนต์ไทย ยอมรับการเข้าเป็นส่วนใหญ่ของเครือข่ายของโลกธุรกิจยุคใหม่แล้ว ยังถือโอกาสเปิดตัวเองให้สังคมธุรกิจโลกรู้จัก และยอมรับเครือซิเมนต์ไทยมากขึ้น

จากนั้นโอกาสใหม่ทางธุรกิจก็เกิดขึ้นเอง

นี่คือการเปลี่ยนเชิงแนวความคิดของเครือซิเมนต์ไทย โดยเฉพาะชุมพล ณ ลำเลียง อย่างสำคัญของการปรับโครงสร้างในช่วง 1 ปีเศษนี้

เขาพัฒนาความเป็น Communication Strategist ไปอีกระดับหนึ่งจากมีความสัมพันธ์ และสื่อสารที่ดีกับผู้ถือหุ้นใหญ่เครือซิเมนต์ไทย แวดวงธุรกิจที่เกื้อหนุนเขาในการทำงานอย่างบรรลุผล ไปสู่สังคมธุรกิจระดับโลกในธุรกิจรวมทุน และสุดท้ายสังคมชั้นสูงของธุรกิจโลกก็คือ สังคมของสถาบันการลงทุน ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมาก โดยเฉพาะอิทธิพลต่อวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในเอเชียที่ผ่านมา

ต่อมาไม่นานชุมพล ณ ลำเลียง ก็เปิดเผยยุทธศาสตร์ของเขาอย่างชัดเจนมากขึ้น ด้วยการเสนอเพิ่มทุนบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งแรกในรอบ 25 ปี โดยพยายามเสนอชิมลางดึงนักลงทุนต่างประเทศ แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นที่คาดเดากันว่าแผนการทั้งหมดของเขามีเป้าหมายที่แน่ชัดอย่างยิ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.