เมื่อไรจะจบ

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เช่นเดียวกับหลายๆ คนที่ณรงค์ บุณยสงวน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม มีโอกาสหยุดพักผ่อน เพื่อเติมพลังในการต่อสู้กับภารกิจอันหนักหน่วงต่อไปในเทศกาลมหาสงกรานต์

ขณะที่หลายๆ คนมีโอกาสหยุดต่อยาวจนถึงวันที่ 17 เมษายน แต่บ่ายวันนั้นณรงค์ได้รับแจ้งจากทำเนียบรัฐบาลว่า ให้เตรียมตัวเข้ารายงานสถานการณ์บางจากต่อนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่ง ณ เวลานั้น ณรงค์ยังไม่มีรายละเอียดใหม่เลย แต่เขาไม่ได้ลำบากใจ เพราะสามารถนำข้อมูลที่มีอยู่แล้วไปนำเสนอ

เช้าวันถัดมา ณรงค์เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลด้วยความมั่นใจ โดยเฉพาะโอกาสที่จะเห็นบางจากดำเนินกิจการต่อไป แต่ก่อนที่จะถึงเวลาอันสำคัญยิ่งต่ออนาคตของบางจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้บอกให้โทรศัพท์ไปตาม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ไม่มีตำแหน่งอะไรในบางจาก แต่มาในฐานะ "คนรักบางจาก" เข้ามาร่วมปรึกษาด้วย

การที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อ พล.ต.จำลอง เนื่องเพราะในปีที่บางจากได้จัดตั้งขึ้นในช่วงปี 2528 พล.ต.จำลอง ดำรงตำแหน่งเลขานุการ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลที่เข้าใจบางจากอย่างลึกซึ้ง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจึงคิดว่าจำเป็นที่จะต้องคุยกับฝ่ายคนรักบางจากด้วย

บรรยากาศภายในห้องทำงานของนายกรัฐมนตรี เต็มไปด้วยความอบอุ่นและเป็นกันเองอย่างมาก โดยข้อมูลที่ณรงค์นำเสนอในวันนั้น บทสรุปอยู่ที่การมองไปในวันข้างหน้าว่า บางจากจะดำเนินการอย่างไรเพื่อความอยู่รอด ซึ่งรายงานเล่มนี้เป็นเพียงขั้นตอนแรกตามที่ที่ปรึกษาปรับโครงสร้าง McKinsey & Company ศึกษาไว้ โดยกรอบการพิจารณาอยู่ที่บางจากควร "ดำเนินการหรือปิดกิจการ" ในที่สุดที่ปรึกษาได้เลือกข้อแรก แต่มีข้อแม้ว่าบริษัทต้องทำการเพิ่มทุนปรับโครงสร้างทาง การเงินให้เร็วที่สุด

ข้อมูลและตัวเลขที่กรรมการ ผู้จัดการใหญ่บางจากนำเสนอ ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะการตัดสินใจไม่นำเงินจำนวน 300-400 ล้านเหรียญสหรัฐไปลงทุนในการกลั่นน้ำมันแบบ Craking หากทำเช่นนั้น วันนี้จะไม่มีชื่อบางจากอีกต่อไป

"บางจากสู้ได้ทุกสถานการณ์ จะเอารูปแบบไหนมาสู้ก็สู้ได้" ณรงค์บอกกับนายกฯ

"โรงกลั่นในไทยทุกแห่งขาดทุนทั้งหมด" นายกรัฐมนตรีชี้

"แต่บางจากขาดทุนน้อยที่สุด" ณรงค์กล่าว

"แล้ว scale เป็นอย่างไร" นายกรัฐมนตรีถาม

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงกลั่น 5 แห่ง โดยบางจากมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 1.2 แสนบาร์เรลต่อวัน ที่เหลือเฉลี่ยมีกำลังการกลั่น 1.5 แสนบาร์เรลต่อวันต่อโรงกลั่น รวมแล้วทุกวันนี้ภายในประเทศมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ใช้กันอยู่ระดับประมาณ 6.3 แสน บาร์เรลต่อวัน

ข้อมูลพื้นฐานที่ณรงค์รวบรวมแล้วนำมาอธิบายให้นายกรัฐมนตรีและพล.ต.จำลองฟังนั้น ถ้าหากจะดูเฉพาะรายละเอียดของบางจากแห่งเดียวอาจจะไม่ยุติธรรม ดังนั้นการเปรียบเทียบกับคู่แข่งจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงสภาวะธุรกิจโรงกลั่นโดยรวม หากพิจารณากันแล้วโรงกลั่นอื่นๆ ขาดทุนมากกว่าบางจากประมาณ 2 เท่า นับตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ และในปีสุดท้ายแห่งยุคเจริญรุ่งเรือง บางจากมีกำไรสูงสุด

"หากสถานการณ์เป็นอย่างนี้บางจากสามารถแข่งขันกับรายอื่นได้" นายกรัฐมนตรีให้ความเห็น

ความเข้าใจในความง่อนแง่นของบางจากที่นายกรัฐมนตรีแสดงออกคือ ยกย่องการทำงานของพนักงานโรงกลั่นแห่งนี้ "เก่งนะที่อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้และสามารถแข่งกับโรงกลั่นอื่นๆ ได้"

สิ่งที่ผู้นำรัฐบาลปัจจุบันมั่นใจในอนาคตของบางจาก เพราะมองเห็นความแข็งแกร่งทางการเงินแม้จะมีภาระหนี้สินอยู่ 23,994.43 ล้านบาท แต่ยังไม่มีปัญหาเรื่องการชำระดอกเบี้ยต่อปี ซึ่งสูงถึง 1,300 ล้านบาท แต่ด้วยความหวังในการเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นจะส่งผลให้ภาระหนี้ลดลง

แม้ว่าการเข้าพบนายกรัฐมนตรีครั้งนี้จะเป็นการรายงานสถานการณ์บริษัทธรรมดาๆ แต่ในฐานะที่บางจากเป็นรัฐวิสาหกิจที่ฝ่ายรัฐบาลถือหุ้นข้างมาก ความกังวลในฐานะผู้นำรัฐบาลจึงมีค่อนข้างมากในธุรกิจน้ำมันแห่งนี้ แต่โดยลึกๆ แล้ว บางจากต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จากฝ่ายรัฐบาล กรณีการค้ำประกันออกหุ้นกู้ 6,000 ล้าน บาท ซึ่งปีที่ผ่านมารัฐบาลช่วยเหลือแล้ว 3,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หลังออกจากห้องนายกรัฐมนตรีในวันที่ 18 เมษายน ฝ่าย พล.ต.จำลองออกมาอธิบายถึงประเด็นการพูดคุย โดยปฏิเสธว่าไม่ได้มาขอเงินจากรัฐบาล "ผมมาขอความเป็นธรรมเท่านั้นเอง ว่าทำไมรัฐบาลสามารถใส่เงินเข้าไปในโรงกลั่นแห่งอื่นในรูปแบบต่างๆ กัน แต่กับบางจาก ทำไมไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ความสามารถในการแข่งขันแทบไม่มีเลย"

เช่นเดียวกับณรงค์ที่เชื่อมั่นถึงการเข้ามาโอบอุ้มจากฝ่ายรัฐบาล แต่ปัญหาอยู่ที่จะหาเม็ดเงินมาจากไหนกรณีบางจากเพิ่มทุน ที่สำคัญงบประมาณปี 2545 ได้ผ่านไปแล้ว ดังนั้น เร็วที่สุดที่ดำเนินการได้ต้องรอปีงบประมาณ 2546 ฉะนั้นปีนี้กระบวนการหาเงินจะเป็นอะไรที่ไม่ใช่ช่องทางการเพิ่มทุนแน่นอน หรือข้อจำกัดจากกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สามารถค้ำประกันเงินกู้ได้เพียง 6 เท่าของส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่เบ็ดเสร็จ

นับตั้งแต่บางจากเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2528 เป็น ต้นมา ได้เติบโตขั้นเรื่อยๆ มีกำไรตั้งแต่ระดับร้อยล้านบาทจนถึงพันล้านบาท ขณะที่รัฐบาลให้เงินมาเพียง 2,350 ล้านบาท ตั้งแต่เริ่มต้นถึงสิ้นปี 2539 บริษัทคืนเงินให้กับรัฐบาลในรูปปันผล 4,116 ล้านบาท ภาษีเงินได้ 3,057 ล้านบาท

จุดเปลี่ยนแห่งความหายนะของบางจากเริ่มต้นใน ปี 2540 พร้อมๆ กับวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ลางร้ายได้จุดประกายขึ้นเมื่อรัฐบาลในช่วงปี 2534 มีนโยบายเปิดเสรีโรงกลั่นจากความสดใสทางด้านสภาวะเศรษฐกิจ ในขณะนั้น

เหตุการณ์อาจจะไม่รุนแรงหากรัฐบาลอนุญาตให้สร้างโรงกลั่นเพียงแห่งเดียว แต่สุดท้ายกลับให้มีถึง 2 แห่ง เมื่อการตัดสินออกมาในรูปดังกล่าว ผู้คร่ำหวอดในวงการน้ำมันรู้เลยว่า ลางร้ายกำลังเข้ามาเยือน แต่ด้วยความหวังว่า เศรษฐกิจจะดีตลอดไปการมองโลกในแง่ร้ายจึงถูกขจัดออกไปจากความรู้สึกทันที แต่วิกฤติเกิดขึ้นในปี 2540 ก็ได้ตอบคำถามทุกอย่างชัดเจน

เนื่องด้วยบางจากมีเงินกู้ในรูปสกุลเงินต่างประเทศ และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ใช้ผลประกอบการไปกู้มาอย่างเดียว แม้ว่าในปี 2540 จะมีกำไรเกิดขึ้นประมาณ 1,200 ล้านบาท แต่บริษัทโดนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็นผลกระทบโดยตรง ไม่ใช่ทางบัญชี ทำให้สภาพคล่องหายไปทันที และไม่สามารถหาเงินในรูปดอลลาร์เข้ามาต่อชีวิตได้ ถ้าหากรัฐบาลไม่เข้ามาค้ำประกันเงินกู้จากการเรียกร้องของฝ่ายสถาบันการเงิน

บางจากไม่รู้เลยว่าจะทำอย่างไรที่จะให้รัฐบาลมาช่วยเหลือด้านการค้ำประกันเงินกู้ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาต้องนำเงินสดไปซื้อดอลลาร์เพื่อนำไปคืนเงินกู้ และที่สำคัญไปกว่านั้น ฝ่ายรัฐบาลไม่รู้ว่าจะเข้ามาจัดการกับปัญหานี้ด้วยวิธีการอย่างไร เนื่องจากยังตั้งตัวไม่ติดกับวิกฤติ

ขณะที่โรงกลั่นอย่างน้อย 2 แห่งประกาศพักชำระ หนี้ แต่ในฐานะรัฐวิสาหกิจอย่างบางจากไม่สามารถใช้วิธีเดียวกันนี้ได้ ส่งผลให้ปี 2540 บางจากขาดทุนสุทธิ 3,785 ล้านบาทเป็นครั้งแรกนับแต่จัดตั้งบริษัท และนับตั้งแต่ปี 2539 ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเรื่อยๆ จากผลขาดทุน พอถึงปี 2542 โรงกลั่นแห่งอื่นๆ เริ่มเพิ่มทุนให้กับตนเอง โดยมีรัฐบาลสมัยนั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่บางจากนับตั้งแต่ตั้งรัฐบาลยังไม่ได้ใส่เงินเข้ามา

นับตั้งแต่ณรงค์เข้ามารับผิดชอบบางจากตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนปีที่ผ่านมา ได้รู้ถึงสภาพบริษัทว่าย่ำแย่ขนาดที่ไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาวิธีสร้างความแข็งแกร่ง และการเข้าพบและเสนอความเป็นไปได้ต่อนายกรัฐมนตรีไม่ใช่โอกาสเดียวที่เขาทำ

ในฐานะผู้มีดีกรีปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคลุกคลีกับสายงานปฏิบัติในเอสโซ่ แสตนดาร์ด (ประเทศไทย) มาโดยตลอดจนกระทั่งได้รับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการด้านการตลาด จากนั้นได้เข้ามาทำงานร่วมกับบางจากตั้งแต่ปี 2539 จากคำชวนของโสภณ สุภาพงษ์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ ขณะนั้นในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายกิจการโรงกลั่น และถูกโยกมาดูแลงานการตลาด ทำให้เป็นบุคคลหนึ่งที่เข้าใจดีกับธุรกิจโรงกลั่น โดยเฉพาะสถานการณ์บางจากยุคปัจจุบัน

ด้วยกำลังการกลั่นภายในประเทศ มากกว่าความต้องการทำให้โรงกลั่นใช้กำลังการผลิตไม่เต็มที่ ภารกิจแรกที่ณรงค์ในฐานะแม่ทัพของบางจาก คือ เดินไปหาโรงกลั่นแห่งอื่นเพื่อจ้างกลั่นน้ำมันเตาที่บริษัทผลิตได้ 30% ของกำลังการผลิตรวม ซึ่งจะได้น้ำมันใสออกมาแล้วแบ่งกันฝ่ายละครึ่ง ทุกวันนี้บางจากใช้บริการโรงกลั่นไทยออยล์ และเอสโซ่

"การทำงานแบบนี้จะมีไปอีกหลายปี" ณรงค์กล่าว การทำเช่นนี้ได้เพราะน้ำมันเตามีราคาต่ำกว่าน้ำมันดิบประมาณ 2-3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ผลลัพธ์ที่ได้คือ น้ำมันใสซึ่งมีราคาประมาณ 24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล "ไม่มีใครอยากซื้อน้ำมันดิบ ทุกวันนี้เราไม่มีน้ำมันเตาป้อนโรงกลั่นอื่นๆ ได้เพียงพอ"

การดำเนินการในรูปแบบดังกล่าว ไม่สามารถทำให้บางจากดีขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากสภาวะธุรกิจน้ำมันโลกตกรูดลง มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา โดยเฉพาะแถบเอเชียแปซิฟิก ที่มีกำลังการผลิตล้นเกินวันละ 2 ล้านบาร์เรล ทำให้บางจากขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง

"นอกเหนือไปจากความตกต่ำของอุตสาหกรรมน้ำมัน ยังเจอกับเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายนที่สหรัฐอเมริกา และอีก 4 เดือนถัดมาเราต้องซื้อน้ำมันดิบราคาแพงแล้วขายน้ำมันสำเร็จรูปถูกตลอด" ณรงค์เล่า

จากเหตุการณ์ดังกล่าวบางจากสูญเสียเงินไปราว 1,565 ล้านบาท และปี 2544 ขาดทุนทั้งสิ้น 2,995 ล้านบาท แม้ว่าจะขายน้ำมันผ่านสถานีจำหน่ายตามริมถนนกว่า 600 แห่ง และผ่านสถานีสหกรณ์อีกประมาณ 500 แห่งก็ตาม

สิ่งที่ณรงค์ต้องการมากที่สุด คือ การปรับปรุงโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งเป็นที่มาของการว่าจ้าง McKinsey เข้ามาหาความชัดเจนทางด้านการเงินและผลที่ออกมาบางจากต้องเพิ่มทุน ขณะเดียวกันต้องหารายได้เพิ่ม ลดค่าใช้จ่าย หากจะอยู่ในธุรกิจนี้ต่อไป และหากทำสำเร็จอาจจะมีพันธมิตรสนใจร่วมทำงานด้วย

"หน้าตาบางจากในวันนี้ไม่มีใครอยากเป็นพาร์ตเนอร์ ด้วย จะต้องทำกำไรขึ้นและให้ภาพของรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนชัดเจนก่อน" เป็นความเห็นของฝ่าย McKinsey

นอกเหนือจากนี้บางจากต้องดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุน โดยณรงค์ได้เสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะกรรมการของบางจากนั่งประชุมอยู่ด้วย และจากข้อเสนอของฝ่ายบางจากเพียงพอที่จะทำให้สมใจนึกมองในแง่ดีต่อกิจการโรงกลั่น เพียงแต่มีความสงสัยว่าจะทำอย่างไรในการดูแลด้านการเงิน

"ถ้าบางจากไปเจรจาหนี้กับใครผมจะไปด้วย" ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว นั่นหมายความว่าฝ่ายรัฐบาลมีจุดยืนชัดเจนสำหรับอนาคตของบางจาก

มีคำถามเกิดขึ้นว่า ทำไมบางจากไม่สามารถเพิ่มทุนได้ นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นและเห็นผลชัดเจน บางจากมีความพยายามที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ด้วยการขายหุ้นในส่วนที่เป็นหน่วยงานรัฐบาลออกไป ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่จะได้พันธมิตรทางธุรกิจใหม่ แต่จากความขัดแย้งเชิงความคิดระหว่างฝ่ายบางจากที่ต้องการขายหุ้นให้กับคนไทยทั้งหมด ส่วนรัฐบาลอยากเปิดโอกาสขายหุ้นให้กับนักลงทุนต่างชาติด้วย

ท่ามกลางสถานการณ์ที่หนักหน่วงรุนแรงส่งผลให้บางจากได้รับผลกระทบระดับเดียวกัน และในที่สุดไม่สามารถดำเนินการได้จากสภาพตลาดที่ซบเซา และราคาหุ้นบางจากทรุดลงอย่างต่อเนื่อง

นับจากนั้นเป็นต้นมาบางจากอยู่ในหลุมอากาศมาโดยตลอด เนื่องเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในทุกๆ กรณี ประกอบกับกลไกตลาดอุตสาหกรรมน้ำมันโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทอยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แม้ว่ากระทรวงการคลังจะค้ำประกันเงิน ที่บริษัทออกหุ้นกู้แบบเฉพาะเจาะจงจำนวน 3,000 ล้านบาท เมื่อปลายปี 2544 ก็ตาม "กว่าฝ่ายรัฐบาลจะเข้ามาวันเวลาได้ผ่านไปนานแล้ว" ณรงค์ชี้

ปัจจุบันปัญหาเร่งด่วนที่บริษัทต้องการ คือ เงินจำนวน 2,660 ล้านบาท ที่ต้องนำไปชำระหนี้ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ รัฐบาลยังอยู่ในช่วงการพิจารณาทางออกอันเหมาะสม ซึ่งบางจากจะต้องได้มาด้วยการค้ำประกันเงินกู้หรือการเพิ่มทุน แม้ว่าณรงค์จะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้รับผิดชอบบางจากโดยตรงเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

แต่วราเทพได้เสนอแนะช่องทางอื่น นั่นคือ การค้ำประกันจากรัฐบาล หรือ bid finance เป็นช่องทางการหาเม็ดเงินมาให้รัฐวิสาหกิจในอัตราดอกเบี้ยต่ำคล้ายกับวงเงิน O/D ที่รัฐวิสาหกิจสามารถกู้โดยตรงจากกระทรวงการคลังมาใช้ก่อนที่จะได้เงินกู้เข้ามา

"ถ้าไม่พูดถึงการเพิ่มทุน ก็ต้องพิจารณาการค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งเราจะต้องแบกภาระอัตราดอกเบี้ยสูงๆ" ณรงค์ ชี้ "หากเป็นเช่นนี้บริษัทไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้แล้วเมื่อไรผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินปันผล"

นับตั้งแต่ณรงค์เข้ารับภาระสำคัญยิ่งในชีวิตการทำงาน ได้พยายามจะไม่ใช้วิธีเดิมในการขจัดอุปสรรค แต่จะใช้วิธีจากผลการศึกษาของ McKinsey ที่มองถึง business solution เพื่อให้ธุรกิจแข็งแรงในเวลาอันรวดเร็ว โดยเงื่อนไข ก็คือ บางจากต้องมีกำไรภายในปีหน้า ผลลัพธ์ถ้าหากบริษัท ไม่เพิ่มทุนที่ปรึกษารายนี้เชื่อว่าจะเห็นตัวเลขกำไร ปีละ 2,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบางจากมีความเป็นไปได้ที่จะอยู่รอด แต่อย่าลืมประเด็นที่ บมจ.ปตท. ออกมาพูดถึงการขายหุ้นบางจากออกไปซึ่งจะนำไปสู่การปิดกิจการ และยังมีเหตุผลอื่น อาทิ โรงกลั่นตั้งอยู่ในเขตชุมชนเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่ฟังขึ้น ขณะที่ณรงค์กลับมองว่าการปิดกิจการ สิ่งสำคัญต้องดูตัวบริษัทเองว่าสามารถแข่งขันต่อไปได้หรือไม่

"ผมเรียนกับนายกฯ ว่า หากพบว่าไม่สามารถแข่งขัน ได้ ท่านนายกฯ ไม่ต้องสั่งการ ผมจะปิดกิจการด้วยตัวเอง"

ด้วยสถานการณ์อุตสาหกรรมน้ำมันโลกประกอบกับปัญหาภายในบางจาก และการตัดสินใจของฝ่ายรัฐบาลเป็นเรื่องราวที่ไม่มีใครคาดเดาถึงอนาคตที่แท้จริงได้ มีสิ่งหนึ่งที่ณรงค์และพนักงานรับรู้มาโดยตลอด นั่นคือ วันนี้ไม่มีใครอยากแบกรับภาระอันหนักนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.