|
ฟินิกซ์พัลพ์...มะเร็งร้ายของอุตสาหกรรมกระดาษ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2526)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อใดก็ตามที่โครงการเริ่มต้นเพียงเพราะมีความด่วนทางการเมืองมาเกี่ยวพัน แทนที่จะใช้วิจารณญาณด้านความเป็นไปได้ของโครงการแล้ว เมื่อนั้นโครงการก็จะเริ่มกำหนดวันมรณะได้ตั้งแต่วันเริ่มต้น
โครงการเยื่อกระดาษฟินิกซ์ พัลพ์ (Phoenix pulp paper) เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด
1. โครงการเริ่มบนพื้นฐานของการทดลองมากกว่าที่จะใช้สิ่งพิสูจน์ได้แล้วว่าทำได้เข้ามาทำ ในกรณีนี้คือการตัดสินใจของฟินิกซ์ พัลพ์ ที่จะเริ่มผลิตเยื่อกระดาษจากปอ ซึ่งเป็นการผลิตแห่งเดียวในโลก การตัดสินใจเช่นนี้เป็นการเสี่ยงจนเกินไป จริงอยู่การกระทำอาจจะสำเร็จ แต่ถ้าไม่สำเร็จล่ะ ธรรมดาแล้วการเริ่มทำโครงการโดยวัตถุดิบที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าทำได้จริงๆ นั้น มักจะเป็นโครงการทดลองในแผนกค้นคว้าและพัฒนา (R&D) ของบริษัทที่มีงานมากๆ เช่น IBM ฯลฯ มากกว่าจะเริ่มกับบริษัทใหม่ๆ เช่นนี้
2. โครงการนี้ตั้งอยู่บนการคาดการณ์ว่า ราคากระดาษต่างประเทศจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่พอเกิดภาวะเยื่อกระดาษตกลงมา ปัญหาของต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าราคาเยื่อกระดาษก็ถูกแก้อย่างง่ายๆ ด้วยการขอให้รัฐบาลขึ้นภาษีของเยื่อกระดาษนอก และบังคับให้โรงงานกระดาษซื้อเยื่อกระดาษจากตัวเองเป็นอัตราส่วน 3 ส่วน กับ 1 ส่วน ของเยื่อกระดาษนอก เพียงเพื่อให้โครงการนี้อยู่รอดโดยเอากำไรมาจากราคาที่ประชาชนต้องซื้อกระดาษแพงขึ้นกว่าเดิม มาสนับสนุนโครงการที่ไม่ควรจะเริ่มมาตั้งแต่แรก
3. โครงการนี้ต้องการจะตั้งขึ้นมาในตลาดเสรี แต่กลับมีเงื่อนไขที่ขัดต่อหลักการของตลาดเสรี เพราะตัวเองต้องการจะอยู่รอด โดยให้ผู้ใช้กระดาษเป็นคนเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และเมื่อโครงการนี้อยู่รอด ผู้ลงทุนก็จะสามารถได้กำไรอยู่บนราคาสินค้าที่แพงขึ้นมา เพียงเพราะความไม่ประสีประสาของผู้เริ่มโครงการทั้งหลาย
ความจริงแล้ว โครงการเยื่อกระดาษฟินิกซ์ พัลฟ์ ได้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี 2519 และเป็นการร่วมลงทุนระหว่างฝ่ายต่างประเทศและฝ่ายไทย โดยมีฝ่ายต่างประเทศถือหุ้นรวมกันกว่า 60% ส่วนที่เหลือก็เป็นของรัฐบาลไทย 7% และพวกกลุ่มคนไทยและกลุ่มธนาคารประมาณ 21% และบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 6 % รวมทุนจดทะเบียนประมาณ 500 ล้านบาท ความจริงทุนจดทะเบียนครั้งล่าสุดเพิ่มจากของเก่าที่มีอยู่ 400 ล้านบาท อีก 100 ล้านบาท
เริ่มเดินเครื่องจริงๆ เมื่อสมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร และหลังจากนั้นมาสำเร็จกันจริงๆ ในสมัย เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกฯ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลยุคเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต้องการที่จะให้มีโครงการใหญ่ๆ สักโครงการ ไปเริ่มก่อตั้งบริเวณด้อยพัฒนา เช่นบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงนั้น นายกฯ เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เลยขอร้องให้บุญชู โรจนเสถียร ซึ่งเป็นนายกสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ดำเนินการช่วยเหลือให้โครงการนี้ดำเนินไปได้ และปีนั้นก็เป็นปี 2521 โครงการ ฟินิกซ์ พัลพ์ ซึ่งมีฝรั่งเป็นเจ้าของโครงการก็ฉลาดพอที่จะพึ่งรัฐบาลไทยเข้าไปร่วมลงทุนด้วยเป็นเงิน 35 ล้าน ประมาณ 8.7% และดึง บ.เงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 30 ล้านบาท เป็นจำนวนกว่า 7.5% ส่วนผู้ถือหุ้นรายอื่นก็เป็นบริษัท บัลลาร์ เพอร์ ของอินเดีย ซึ่งถือหุ้นอยู่ประมาณ 117.5 ล้านบาท หรือประมาณ 23.9%
ในระหว่างปี 2521 นั้น เป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำถึงขั้นสุดขีด การลงทุนจากต่างประเทศตกต่ำลงไปมาก ต้นทุนของพลังงานที่สูงทำให้การส่งสินค้าออกขายต่างประเทศประสบอุปสรรค และราคาพืชผลก็ตกลงเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าโครงการเช่นฟินิกซ์จะดูสมเหตุสมผลว่าน่าจะเป็นไปได้ แต่บรรดาธนาคารทั้งหลายที่ถูกดึงเข้ามาร่วมด้วย ล้วนแต่ตั้งข้อสงสัยทั้งสิ้น จะมีเพียงแต่ธนาคารแหลมทองเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งมีความเชื่อมั่นในโครงการนี้มาก ถึงกับเข้าไปถือหุ้นร่วมด้วย
ในที่สุดโรงงานผลิตกระดาษฟินิกซ์ พัลพ์ ก็ได้กำเนิดขึ้นจริงในเดือนธันวาคม 2524 เสร็จก่อนกำหนดถึงสิบเดือน แต่ก็อย่างที่ว่าไว้ตอนต้นถึงความไร้เดียงสาของผู้เขียนโครงการ ราคาเยื่อกระดาษทั่วโลกตกลงอย่างฮวบฮาบ จากราคาที่เคยสูงถึงตันละ 16,000 บาท ในปี 2521 ราคาตกลงมาเหลือเพียงตันละ 5,500 บาท ในปี 2524 แน่นอนที่สุด ราคาเยื่อกระดาษที่ผลิตจากโรงงานฟินิกซ์ ซึ่งเฉพาะต้นทุนการผลิตเองของฟินิกซ์ ก็ตกอยู่ประมาณราคาตันละ 9,200 บาท ก็เลยทำให้ไม่มีทางสู้ราคาเยื่อกระดาษนอกได้ นอกจากนั้นแล้ว ตัวโรงงานก็มีปัญหาความไม่สมบูรณ์ของเครื่องจักร และปัญหาของเครื่องจักรที่ทำผิดสเป็กออกมา ปัญหาอื่นๆ ที่เข้ามา ก็มีปัญหาแรงงาน ซึ่งเดิมทีโรงงานนี้ต้องจ้างพนักงานมาจากอินเดียถึง 200 คน ในอัตราค่าแรงที่สูงกว่าคนไทยมาก จากปัญหาเหล่านี้เองในปี 2525 ฟินิกซ์ พัลพ์ ขาดทุนสุทธิ ถึง 240.35 ล้านบาท เฉพาะดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับสถาบันการเงินก็ตก 4 ล้านบาทแล้ว นอกจากนั้น ตัวบริษัทเองยังต้องแบกภาระหนี้สินระยะยาวถึง 1,220 ล้านบาท ปัญหาได้ลามไปจนถึงการไม่มีเงินที่จะจับจ่ายใช้สอยวันต่อวันเสียด้วยซ้ำ
ในที่สุดการประชุมเพื่อรักษาโรคให้กับบริษัทฟินิกซ์ พัลพ์ ก็เกิดขึ้น โดยเป็นการประชุมระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลาย ประกอบไปด้วยสถาบันการเงินในไทย ก็มีธนาคารกรุงเทพ ธนาคารแหลมทอง และบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ส่วนสถาบันต่างประเทศก็มี ธนาคารกรินซ์โลย์ เงินทุนของออสเตรเลีย ชื่อ จิโรเซ็นเรล ธนาคารต่างชาติยินดีที่จะต่ออายุระยะเวลาการจ่ายเงิน คือเพิ่มขึ้นให้อีกสองปีครึ่ง นอกจากนั้นก็ยังให้กู้เพิ่มขึ้นอีก 247 ล้านบาท ซึ่งตัวบริษัทเองก็ได้ใช้เงินก้อนนี้ไปแล้วเกือบครึ่ง แต่มีเงื่อนไขว่า ธนาคารในเมืองไทยจะต้องเห็นด้วยกับการช่วยชีวิตบริษัทครั้งนี้ และจะต้องออกเงินมาให้ก้อนหนึ่ง เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของฟินิกซ์ พัลพ์
เมื่อต้นปีนี้ สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ในฐานะที่เป็นนายกสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการผู้จัดการธนาคารแหลมทอง และประธานกรรมการบริษัท ฟินิกซ์ พัลพ์ ได้เรียกประชุมบรรดาธนาคารทั้งหลาย เพื่อที่จะขอเงินลงขันจากบรรดา 16 ธนาคาร อีก 300 ล้านบาท ให้เป็นเงินทุนดำเนินการ สมบูรณ์พูดว่า “ผมคงไม่ขอร้องให้พวกคุณช่วย ถ้าหากบริษัทนี้ไม่มีอนาคต แต่บริษัทนี้กำลังป่วยหนัก และต้องการเยียวยาอย่างทันที คนไข้ถึงจะหายป่วย เราไม่สามารถที่จะให้โครงการนี้ล้มได้ ตราบใดที่เราคิดว่าโครงการนี้ยังมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ”
ธนาคารส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถึงแม้จะมีคนไม่เห็นด้วยและคิดว่าโครงการนี้ไม่สมควรจะได้รับการช่วยเหลืออีกต่อไป แต่ในที่สุด การประชุมครั้งหลังสุดได้มีข้อตกลงสุภาพบุรุษออกมาว่า ทุกคนจะกระโดดเข้าไปร่วมวงไพบูลย์ด้วย “เราคงไม่ปรารถนาที่จะให้ธนาคารกรุงเทพและธนาคารแหลมทองต้องแบกภาระ อยู่ฝ่ายเดียว เราก็เลยตกลงเข้าร่วมด้วย”
แต่รายงานล่าสุดยืนยันมาว่า อย่างน้อยก็มีอีกสองธนาคารที่ยังไม่ยอมจ่ายเงินก้อนนี้ และก็ยังจะต้องมีการประชุมอีกครั้งหนึ่งกว่าสองธนาคารนี้จะยอมจ่าย
สำหรับเงิน 300 ล้านบาทก้อนใหม่นี้ 150 ล้านบาท จะเป็นเงินที่ธนาคารกรุงเทพและธนาคารแหลมทองจะร่วมมือกันรับผิดชอบ ในอัตราส่วน ธนาคารกรุงเทพ 112.5 ล้านบาท ธนาคารแหลมทอง 37.5 ล้านบาท ส่วนอีก 150 ล้านบาทหลัง ก็จะแบ่งไปในระหว่าง 14 ธนาคารตามอัตราส่วน เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่ได้ค้ำประกันเงินกู้ไปในครั้งแรก ในจำนวนเงิน 501 ล้านบาท
สำหรับคนที่ดีใจที่สุด นอกจากสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ แล้ว น่าจะเป็นผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติและบริษัทต่างชาติ เพราะการถลำตัวเข้ามาของธนาคารในประเทศ อย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้การลงทุนของเขามีโอกาสพบกับการสูญเสียน้อยลง
แน่นอนที่สุด เมื่อการลงทุนมหาศาลถึงขนาดนี้ และการลงขันของธนาคารก็มีถึง 16 ธนาคาร รวมทั้งการเข้าหุ้นจากรัฐบาลไทยด้วย เป็นอันแน่ชัดว่า บริษัทฟินิกซ์ พัลพ์ ต้องการอภิสิทธิ์ หรือสิทธิพิเศษอะไรในการค้าเยื่อกระดาษ ก็ย่อมได้รับการตอบสนองทันที เพียงเพราะโครงการนี้ไม่สามารถจะล้มได้ ส่วนการที่บริษัท ฟินิกซ์ พัลพ์ จะอยู่ได้บนความเดือดร้อนของอุตสาหกรรมกระดาษทั่วไปในประเทศไทยนั้น ดูเหมือนว่าบรรดาผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไปจนถึงรัฐบาล แทบจะไม่มีใครสนใจเลย
แรกเริ่มแล้ว ที่บริษัท ฟินิกซ์ พัลพ์ ได้เริ่มปิดโรงงาน ได้ขึ้นราคาเยื่อกระดาษจากราคาตันละ 8,500 บาท ในเดือนกันยายน 2525 มาเป็นตันละ 9,500 บาท ในเดือนมีนาคม 2526 และขึ้นเป็นตันละ 10,600 บาท ในเดือนเดียวกัน และขึ้นมาอีกเป็น 12,000 บาทในเดือนมิถุนายน สรุปแล้วขึ้น 4 ครั้ง ในระยะเวลาเพียง 10 เดือนเท่านั้น!!! ในขณะที่ราคาเยื่อกระดาษจากต่างประเทศอยู่ในอัตราประมาณตันละ เพียง 6,000 บาทเท่านั้น จะเห็นได้ชัดว่า จากการที่โรงงานผลิตเยื่อกระดาษราคาแพงจากโรงงานฟินิกซ์ พัลพ์ เป็นการทำให้ราคากระดาษภายในประเทศมีราคาสูงขึ้นโดยไม่มีความจำเป็น และประชาชนผู้ใช้กระดาษก็ต้องซื้อกระดาษแพงขึ้น เพราะฟินิกซ์จะล้มไม่ได้
นอกจากนั้นแล้ว บริษัท ฟินิกซ์ พัลพ์ ยังได้ดำเนินการจนกระทั่งกระทรวงการคลังเรียกเก็บภาษี เซอร์ชาร์จ อากรขาเข้าเยื่อกระดาษ โดยเพิ่มจากเรียกเก็บ 3% มาเป็น 10% ทำให้ราคาเยื่อกระดาษที่เข้ามาจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้นอย่างไม่จำเป็น และล่าสุดบริษัทฟินิกซ์ พัลพ์ ก็ขอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนบังคับให้โรงงานผลิตกระดาษในประเทศต้องซื้อเยื่อกระดาษจากฟินิกซ์ พัลพ์ และจากต่างประเทศในอัตราส่วน 3 ต่อ 1
พินิกซ์ พัลพ์ จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ฟินิกซ์ พัลพ์ อยู่รอด ส่วนราคากระดาษที่ประชาชนจะต้องใช้อยู่ทุกวันเป็นประจำจะเพิ่มขึ้นอย่างไรนั้น พินิกซ์ พัลพ์ และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจะไม่ให้ความสนใจเลย
ปัญหาของฟินิกซ์ พัลพ์ เป็นปัญหาที่ขัดแย้งในตัวของมันเอง ในฐานะที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อให้ลดการสั่งเข้า แต่ถ้าอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมนั้น ไม่สามารถที่จะผลิตสินค้าออกมาได้ในราคาที่ถูกกว่า หรือเท่าเทียมกับสินค้าที่นำเข้าจากนอก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งรัฐบาลแทนที่จะหันกลับมาดูผลเสียของการส่งเสริมอุตสาหกรรมนั้น กลับมุ่งมั่นที่จะปกป้องรักษาอุตสาหกรรมนี้ให้อยู่รอดตลอดไปบนความเดือดร้อนของประชาชน และบริษัท ฟินิกซ์ พัลพ์ ก็คือตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ ตัวอย่าง ซึ่งแสดงถึงความไม่เป็นงานของผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ได้พูดว่าบริษัทนี้เหมือนคนไข้ที่ต้องการเยียวยาอย่างด่วนที่สุด แต่สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ลืมที่จะบอกทุกๆ คนว่า บริษัทนี้จะเป็นมะเร็งที่ร้ายแรงมาก ซึ่งไม่มีทางที่จะเยียวยาได้ สมบูรณ์กลับขอเรี่ยไรเงินจากประชาชนที่จนอยู่แล้ว เพียงเพื่อมารักษาคนที่เป็นมะเร็งเพียงคนเดียว ซึ่งไม่มีทางจะรักษาให้หายได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|