|
คอมพิวเตอร์ช่วยทำงานอะไรให้ 3 เอ็ม สัมภาษณ์เปิดใจ สัมฤทธิ์ ประทีป ณ ถลาง ฝ่ายคอมพิวเตอร์ 3 เอ็มประเทศไทย
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2526)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลิตภัณฑ์ของ 3 เอ็มนั้น เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็น “ของคุณภาพ” และนอกเหนือจาก “ของคุณภาพ” นี้แล้ว การให้บริการลูกค้า ก็ยังจะต้องยอมรับอีกด้วยว่า 3 เอ็ม พร้อมในด้านความเที่ยงตรงรวดเร็ว ไม่แพ้คุณภาพของสินค้า
แน่นอน เบื้องหลังของการให้บริการที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพนั้น เป็นจุดเด่นอีกจุดหนึ่ง ซึ่งถ้าได้มองเจาะลึกลงไปแล้ว ก็คงจะเป็นเรื่องแยกไม่ออกจากการตัดสินใจนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยงาน
3 เอ็ม คิดอย่างไรจึงตัดสินใจเรื่องนี้ และพัฒนาระบบงานที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ออกไปอย่างไร สำเร็จหรือล้มเหลวมากน้อยแค่ไหน กระทั่งแต่ละระบบงานที่ใช้ได้ก่อให้เกิดประโยชน์หรือบั่นทอนอะไรบ้าง นับเป็นรายละเอียดที่น่าสนใจไม่น้อย
“ผู้จัดการ” มีโอกาสได้คุยซักถามปัญหาเหล่านี้กับคุณสัมฤทธิ์ ประทีป ณ ถลาง ผู้จัดการฝ่ายคอมพิวเตอร์ ของ 3 เอ็ม (ชื่อจริง ๆ ของฝ่ายนี้ คือ IS & DP หรือ information service and data processing) ซึ่งคุณสัมฤทธิ์ก็ได้ช่วยเล่าความเป็นมา และเป็นไปให้ฟังอย่างละเอียดทีเดียว
“ผู้จัดการ” เชื่อว่า เรื่องของ 3 เอ็ม ประเทศไทยนี้ นอกจากทำให้ทราบถึงเบื้องหลังของการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยงานในบริษัทการค้าบริษัทหนึ่งแล้ว คงจะยังประโยชน์ให้กับธุรกิจอื่นๆ หรือบริษัทอื่นๆ ที่กำลังเริ่มต้นนำคอมพิวเตอร์เข้าไปใช้ หรือกำลังอยู่ระหว่างการชั่งใจอีกด้วย
ผู้จัดการ: 3 เอ็ม เริ่มนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ตั้งแต่เมื่อใด
สัมฤทธิ์: ก่อนอื่นผมอยากแนะนำสักนิดว่า 3 เอ็มนั้น มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซนต์พอล รัฐมินเนโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา กิจการที่เขาสร้างเขามีนี่ก็เบิกบานกันมาเรื่อย จนเขาต้องออกมาตั้งสาขาในต่างประเทศมากมาย ปัจจุบันก็มีกว่า 100 ประเทศ ผลิตภัณฑ์หลักของเรา เอาที่สำคัญๆ นะ ก็ได้แก่ พวกบรรดากาวทั้งหลาย เราสามารถพูดได้ว่า บริษัทเรานี่มีผลิตภัณฑ์กาวที่ดีที่สุดในโลก นอกจากนั้นก็มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับกระดาษทราย ที่เป็นพวกเครื่องจักรนี่ก็ได้แก่พวกเครื่องถ่ายเอกสาร พวกโอเวอร์เฮต โปรเจกเตอร์
ผู้จัดการ: 3 เอ็ม เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายด้วย
สัมฤทธิ์: ครับ 3 เอ็ม เป็นผู้ผลิตและจำหน่าย ส่วนมากแล้วเป็นผลิตภัณฑ์ที่ 3 เอ็ม ผลิตเองทั้งหมด นอกจากนี้ก็มีพวกเครื่องมือเครื่องไม้ที่ใช้เกี่ยวกับทางการแพทย์ พวกอิเล็คทรอนิกส์โปรดักส์ทั้งหลาย พวกแผ่นป้ายสะท้อนแสง พวกที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า สก็อตซ์ ทั้งหลายนี่ผลิตภัณฑ์ของ 3 เอ็ม . .. เมื่อมีการเปิดสาขาไปนอกประเทศ นอกจากสหรัฐฯ ยกตัวเอย่างเช่น ในประเทศไทย คือบ้านเรานี่ 3 เอ็ม เข้ามามีบทบาท มาตั้งสาขา 15 หรือ 16 ปีมาแล้ว ในระยะแรกๆ นั้นเนี่ยบริษัทก็ยังเล็กอยู่ ปริมาณงานอะไรก็ยังมีอยู่เล็กๆ น้อยๆ ไม่มาก พอเราเติบโตขึ้น มีปริมาณการขายมากขึ้น ในขณะเดียวกันจำนวนคนก็จะต้องเพิ่มขึ้นมา ก็เกิดความจำเป็นที่จะต้องนำเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในระยะแรกๆ นั้น เราพยายามก้าวไปทีละนิดละหน่อย คือเรานำเอาระบบงานอันดับแรกที่เข้ามาใช้ก็คือ งานที่เกี่ยวกับลูกหนี้ หรือแอคเคาท์รีซีฟเวเบิ้ล ในตอนแรกนี้เราพัฒนาระบบงานของเราขึ้นมา เพียงแต่เราไปเช่าเครื่องจากภายนอกเขาใช้ ซึ่งใช้แบบนี้ภาษาคอมพิวเตอร์เขาเรียกว่า ใช้ระบบ “เซอร์วิส บิวโรว์” บริษัทหนึ่งเขาใช้อยู่ระยะหนึ่ง
ผู้จัดการ: ตอนเริ่มนั้นปีไหน และใช้เครื่องอะไร
สัมฤทธิ์: ปี 1974 เป็นเครื่องไอบีเอ็มซีสเต็ม 3 ในปีนี้เราเช่าเครื่องคนอื่นใช้เพื่อทำงานระบบเดียวกัน คือ แอคเคาท์ รีซีฟเวเบิ้ล เท่านั้น มันมีความเจริญอยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้าเราจะนำเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในสำนักงานของเราเนี่ย งานที่จะเอามาใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น จะมีเพียงหนึ่งงานหรือสองงานไม่ได้ เพราะว่ามันไม่คุ้มกับการที่จะต้องลงทุน เพราะฉะนั้นในระยแรก ส่วนใหญ่ก็เหมือนกับทาง 3 เอ็ม คือค่อยๆ เริ่มไปทีละแอบพลิเคชั่น จนเห็นว่ามีจำนวนแอพพลิเคชั่นเพียงพอที่จะนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้อินเฮ้าส์ เราถึงจะเริ่มใช้เครื่องใหม่ ทีนี้หลังจากปี 1974 จากแอคเคาท์รีซีพเวเบิ้ล เราก็ค่อยๆ พัฒนาออกไปเป็นในแอพพลิเคชั่นถัดไปก็คือ เซล อะนาลีซีสต์ นะครับ ทางด้านการขาย แล้วหลังจากนั้น เราก็มีระบบออร์เดอร์ โปรเซสซิ่งเข้ามา ออร์เดอร์ โปรเซสซิ่ง นี่ก็คือการควบคุมการทำงานในระบบการขายของบริษัท เริ่มต้นจากคีย์เดสคือออร์เดอร์ใดๆ ที่มาจากเลแมน หรือมาจากเคาน์เตอร์ข้างล่างเข้าไป แล้วปล่อยให้เครื่องทำงานโดยอัตโนมัติ เป็นต้นว่า ให้เครื่องทำการจองหรืออโลเคตอินเวนโทรี่ ว่ามีของหรือไม่ มีเช็กเครดิตให้ว่าควรจะผ่านหรือไม่ผ่าน จนถึงขั้นตอนที่จะพิมพ์ออกไปเป็นชิปปิ้ง ทิกเก็ต หรือเป็นตั๋วในการที่จะจ่ายของจากแวร์เฮาส์ออกไปให้ลูกค้า หลังจากนั้นก็จะมีการคอนเฟิร์มจำนวนที่จะชิบได้นี้ออกมา เพื่อที่จะได้ออกอินวอยช์ตามหลังไปอีกครั้งหนึ่ง ระบบออร์เดอร์โปรเซสซิ่งนี่เป็นระบบที่ใช้กันอยู่
ผมพยายามที่จะตอบคำถามแรกของคุณที่ถามว่า เราเอาคอมพิวเตอร์มาใช้อย่างไร และเมื่อใด สรุปแล้วก็คือ เราเอาระบบมาใช้ก่อน โดยยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ ในระยะแรกเราเอาระบบ แอคเคาท์ รีซีฟเวเบิ้ล มาใช้ แล้วหลังจากนั้น คือปี 1977 เราก็นำเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ ช่วงนั้นเราเอาเครื่องไอบีเอ็มซีสเต็ม 32 เข้ามาใช้ แล้วหลังจากนั้นมาเราก็พัฒนาระบบงานเรามากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไอบีเอ็มซีสเต็ม 32 ไม่พอเพียงที่จะเก็บข้อมูลของเราแล้ว เราก็เปลี่ยนจากซีสเต็ม 32 มาเป็นซีสเต็ม 34 เมื่อปี 1979 คือประมาณ 3 ปีให้หลัง
ผมมีเรื่องเล่าต่ออีกนิดคือ เริ่มแรกระบบที่เราทำนั้นเป็น “แบทซ์โปรเซสซิ่ง” หมายความว่า เราจะต้องอาศัยการคอยข้อมูลจากภายนอกจากยุสเซอร์ เข้ามาเก็บรวบรวมแล้วคีย์เข้าไป โดยใช้พนักงานคอมพิวเตอร์ของเราเอง หลังจากเราพัฒนาตามขั้นตอนแล้ว ประมาณปี 1979 ตอนที่เราติดตั้งเครื่องซีสเต็ม 34 เราก็เริ่มพัฒนาระบบออนไลน์ ระบบออนไลน์ของเรานั้นเริ่มที่ระบบออนไลน์ออร์เดอร์ โปรเซสซิ่ง คือหมายความว่า ทางด้านคัสโตเมอร์เซอร์วิสข้างล่างนั้น หรือเซลส์นั้น สามารถคีย์เดต้าเข้ามาในระบบอินเตอร์แอคทีฟ แล้วการโปรเซสไม่ว่าจะเป็นอินเวนโทรี่ โอโลเกชั่น หรือว่าการพิมพ์ตั๋วทิกเก็ตนี่ สามารถทำให้ทุกๆ นาที แทนที่จะคอยอย่างแบทซ์แบบเมื่อก่อน อันนี้สามารถจะทำติดต่อกันได้โดยตลอด
ผู้จัดการ: ออร์เดอร์ โปรเซสซิ่ง เราดีเวลล็อปโปรแกรมขึ้นมาเอง หรือว่าเรามีแพ็กเกจด้านนี้อยู่พร้อมแล้ว
สัมฤทธิ์: ในเรื่องที่เกี่ยวกับโปรแกรมนั้น เรามีโปรแกรมแยกเป็น 2 อย่าง คือหนึ่ง เป็นแพคเกจโปรแกรมมาจากเมืองนอกที่เซนต์พอล คือที่สำนักงานใหญ่เรามีเซ็นเตอร์ที่จะดีเวลล้อปของเราเอง ทางด้านคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ แผนกนี้เขาจะทำการเซอร์เวย์ แล้วดูว่าความต้องการของแต่ละซับซิแดรี่ มีอะไรบ้าง แล้วเขาก็จะพัฒนาระบบของเขา แล้วเอาระบบที่พัฒนาเสร็จแล้วมาใช้
ผู้จัดการ: เขาศึกษาทุกๆ ซับซิเดรี่ โดยเฉพาะเลยใช่ไหม เพราะแต่ละแห่งก็อาจจะมีปัญหาที่ต่างกัน
สัมฤทธิ์: จริงๆ แล้ว เขาศึกษาโดยทั่วๆ ไป คือไอ้เจนเนรัลนั้นเนี่ยมันควรจะไปในทิศทางใด แล้วก็พยายามที่จะบริ้งอัพเข้ามาเป็นสแตนดาร์ด เพื่อที่ทุกซับซิแดรี่จะได้ใช้ในสแตนดาร์ดเดียวกัน ทั้งนี้เขาก็มองในอนาคตว่าถ้าเป็นสแตนดาร์ดเดียวกัน ต่อไปก็จะสามารถที่จะคอมมิวนิเคทในแต่ละซับ และจากซับทั้งหลายไปสำนักงานใหญ่ อันนั้นคือแพ็กเกจโปรแกรมทั้งหลายที่เขาส่งมาออนไลน์ออร์เดอร์ โปรเซสซิ่ง หรือออนไลน์ อินเวนโทรี่ หรือว่าออนไลน์แอคเคาท์รีซีฟเวเบิ้ล พวกนี้เป็นโปรแกรมที่เป็นแพ็กเกจเข้ามา การที่จะอินสตอลแพ็กเกจโปรแกรมพวกนี้ ก็จะเป็นการอินสตอลร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของเราเอง กับเจ้าหน้าที่ด้านเซนต์พอลที่ถูกส่งเข้ามาช่วยเหลือเราจนกว่าจะเสร็จเรียบร้อย ซึ่งปกติแล้วแอพพลิเคชั่นหนึ่งๆ ก็จะใช้เวลาประมาณ 1 หรือ 2 อาทิตย์ นั่นเป็นโปรแกรมพวกแรก อันที่สองคือ ในแต่ละซับซิแดรี่เราก็มีโลคอลรีไควร์เมนต์ของเราเอง อย่างเช่นงานพวกเปย์โรว์ มันเกี่ยวกับการคำนวณภาษีเงินได้ส่วนบุคคล เป็นเรื่องของเราเอง เพราะฉะนั้นก็มีอยู่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของโปรแกรมทั้งหมด ซึ่งถูกพัฒนาโดยคนของเราเอง เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่เรามีเซ็นทรัลดีเวลลอปเมนต์ก็เพราะถ้าเราจะต้องพัฒนาระบบของเราด้วยตนเองในแต่ละซับซิแดรี่ นี่ก็อย่างแรกที่มองเห็นก็คือจำนวนโปรแกรมเมอร์ หรือบุคลากรที่เราต้องใช้นี่ จำเป็นที่ต้องมีมากมาย นี่เรามีทั้งหมดเพียง 5 คน แต่เราก็มีแอพพลิเคชั่นทั้งหลายซึ่งอยู่ในระดับมาตรฐาน ที่จะสร้างหรือที่จะสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ให้เป็นประโยชน์ได้พวกบรรดาคอมมอนซีสเต็มได้ครบถ้วน ซึ่งอาจจะแตกต่างจากบริษัทอื่นที่ว่า บริษัทอื่นจะทำให้ได้ในระดับนั้นเนี่ย ต้องใช้โปรแกรมเมอร์หรือบุคลากรมากเป็นสิบๆ คน เหตุผลอย่างที่สองก็คือว่า สมมุติว่าเรามีแพ็กเกจโปรแกรมในแบบนี้ เราก็สามารถที่จะคอมมิวนิเคตกับทุกซับฯ ได้ เวลามีปัญหาหรือแม้กระทั่งเฮดควอเตอร์ สรุปแล้วก็คือทำให้เราเซฟคนได้ เราใช้คนน้อย
ผู้จัดการ: ปัจจุบันมีพนักงานประมาณกี่คน
สัมฤทธิ์: ประมาณ 200 คนครับ
ผู้จัดการ: เมื่อแรกที่ตัดสินใจนำคอมพิวเตอร์เข้ามานี่ เป็นการตัดสินใจของใคร และมีเหตุผลอย่างไร
สัมฤทธิ์: การนำเข้ามาใช้นี่เป็นเหตุผลที่เกิดขึ้นร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย คือ ทางฝ่ายเฮดควอเตอร์หลังจากได้ดูปริมาณงานของเรา แล้วเป็นผู้เสนอเข้ามาว่า เราควรจะใช้คอมพิวเตอร์ได้แล้วหรือยัง แต่การจะใช้หรือไม่ใช้ก็ขึ้นอยู่กับการรับรองของแมเนจเมนต์ภายในของเราด้วย แมเนจเมนต์ของเราอาจจะไม่เห็นความจำเป็นในระยะแรกก็ได้...
ผู้จัดการ: พอจะบอกถึงปริมาณงานได้ไหมว่า ตอนเริ่มระบบแรกคือแอคเคาท์รีซีฟเวเบิ้ลนั้นมีมากขนาดไหนซึ่งทำให้ตัดสินใจเริ่มใช้คอมพิวเตอร์
สัมฤทธิ์: คือเรามีความคิดอยู่อย่างหนึ่งคือว่า เราต้องการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เรามักจะจ้างคนที่มีควอลลิฟฟายน์ในการทำงาน มีความสามารถเฉพาะตัวเป็นหลัก ผมอาจตอบไม่ตรงคำถามทีเดียว แต่เหตุผลสำคัญที่นำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ บางทีอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับวอลุ่มของงานเพียงอย่างเดียว หมายความว่า 3 เอ็ม ต้องการทำงานอย่างสมาร์ท เตรียมพร้อมสำหรับในอนาคต อย่างตอนที่เราเริ่มอาจจะมีปริมาณงานไม่มาก คือยังใช้คนทำอยู่ เพียงแต่ทำกันมากขึ้น หรืออาจจะต้องมีการเพิ่มคนในปีสองปีต่อมา 3 เอ็ม คำนึงว่าในอนาคตคอมพิวเตอร์จะมีความสำคัญมาก จะต้องถูกนำมาใช้ในวงการธุรกิจหรือบริษัทขนาดเรา สำหรับในระยะแรกแล้ว วอลุ่มของงานไม่ใช่เหตุผลสำคัญ เรามีเหตุผลสำคัญในแง่ของการมองไปข้างหน้า คือผมว่าเมื่อใดก็ตามที่เครื่องคอมพิวเตอร์ถูกนำเข้ามาใช้แล้ว ประสิทธิภาพการทำงานของคนมันจะสูงมากขึ้น ความล้มเหลวของคนมันจะสูงมากขึ้น ความล้มเหลวของการใช้คอมพิวเตอร์บางทีก็ขึ้นอยู่กับคน คือถ้าคนไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะทำงานกับคอมพิวเตอร์ได้แล้ว เมื่อนั้นก็เป็นจุดที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ มันมีเหตุผลอีกอย่างหนึ่ง คือ เพื่อปรับปรุงคุณภาพคนของเรา แล้วเหตุผลที่ตามมาก็คือ เพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้ามาทำงานแทนการทำงานของคน อันนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะเลิกจ้างพนักงานในตอนนั้น เพียงแต่เราหวังว่าจะไม่ต้องจ้างใหม่ในอนาคต
ผู้จัดการ: ตอนนำเข้ามาใหม่ๆ โดนต่อต้านจากคนงานบ้างไหม
สัมฤทธิ์: ผมเข้าใจว่าก็คงจะแก้ปัญหาเหมือนกับที่อื่นๆ นั่นก็คือว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่กระทบคนหมู่มาก เขาก็อดคิดไม่ได้ว่าเอาคอมพิวเตอร์เข้ามานี่เพื่อจะไล่เขาออก ถ้าว่าเฉพาะ 3 เอ็ม คือผมเข้ามาหลังจากที่เขาเริ่มไปได้ 1 ปี ก็มีปัญหาด้านผู้ใช้บ้าง แต่ไม่ได้มากมายอะไร คืออย่างที่บอกไว้ว่า คนของเราส่วนมากมีควอลลิฟายที่ดี แมเนจเมนต์ของเราก็แข็ง เราจึงใช้เวลาไม่นานนัก เขาให้ความสำคัญ เห็นความจำเป็น แล้วนโยบายของฝ่ายอาจจะไม่เหมือนกับคนอื่นๆ คือผมถือว่า ความสำเร็จของแผนกคอมพิวเตอร์ของผมนั้นไม่ใช่เราเก่งทางด้านโปรแกรม หรือเรามีเครื่องที่ดีเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับว่า ผู้ใช้สามารถใช้งานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเขาได้ดี หรือเป็นประโยชน์ได้มากมายเท่าไหร่ ผมมองเห็นความสำคัญของผู้ใช้มาก หรือพอๆ กับความสำคัญของแผนกของผม เพราะฉะนั้นในแง่นี้เราพยายามกระจายงานออกไปให้ผู้อื่น เราก็ต้องให้เขาคุ้นเคยกันก่อน ผมถือเอาการเทรนนิ่งยูสเซอร์มาใช้เป็นหลัก ต้องพยายามเข้าไปใกล้พวกเขา พยายามฟังว่าความต้องการที่แท้จริงของเขานั้นเป็นอย่างไร แนะนำเขาช่วยให้ความต้องการของเขาประสบผลให้ได้ ในบางครั้งมันอาจจะขัดกับสแตนดาร์ดใดๆ ที่เราเคยมีอยู่ แต่แน่นอนที่สุด ผมถือว่าผมทำงานให้กับ 3 เอ็ม ถ้าพนักงานของ 3 เอ็มไม่สามารถใช้สแตนดาร์ดโปรแกรมใดๆ ได้ ก็เป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องทำให้ได้ หรือบางทีเราก็ต้องพบกันครึ่งทาง
ผู้จัดการ: เราได้วิเคราะห์ไหมว่า หลังจากนำคอมพิวเตอร์เข้ามาแล้วเราได้ประหยัดอะไรบ้าง
สัมฤทธิ์: ผมคงต้องตอบคำถามโดยขอพูดว่า ปัจจุบันเรามีงานอะไรบ้าง เพื่อจะสรุปว่าเราได้ช่วยอะไรบ้าง ซึ่งก็คงพอให้วินิจฉัยได้ว่ามันช่วยเซฟอะไร ปัจจุบันงานที่เรามีอยู่ทั้งหมดนี่ พูดได้ว่ามันสามารถครอบคลุมพวกคอมมอนซีสเต็มทั้งหลายได้ ที่สำคัญๆ ก็ได้แก่ออนไลน์ ออร์เดอร์โปรเซสซิ่ง ออนไลน์ อินเวนโทรี่ เมนเทอร์เน้นท์ แล้วก็มีอินเวนโทรี่ เมนเทอร์เน้นท์, อินเวนโทรี่ คอนโทรล อินเวนโทรี่เมนเทอร์เน้นท์ นี่ต่างกับอินเวนโทรี่ คอนโทรลตรงที่อันแรกเป็นการควบคุมการเข้าออกของออนแฮนด์ของจำนวนสินค้าที่มีอยู่ในคลัง ขณะที่อินเวนโทรี่ คอนโทรล พยายามที่จะเข้าไปวิเคราะห์สถานะของสต๊อกแต่ละตัวว่าจะสั่งเท่าไหร่ ควรจะkeepไว้เท่าไหร่ เป็นโปรแกรมที่พาวเวอร์ฟุลมาก
นอกจากนี้แล้ว เราก็ยังมีพวกบิลลิ่งซีสเต็ม ออกอินวอยซ์ และบอกสถานะของอินวอยซ์ได้ แล้วเรามีออนไลน์แอคเค้ท์รีซีฟเวเบิ้ล ซึ่งจะรู้สถานะของลูกค้า นอกจากนี้ก็มีเซลอะนาลีซีสต์ หรือเซลสเตสติก ซึ่งสามารถที่จะวิเคราะห์ได้ในหลักการที่สำคัญ 6 อย่างที่ผมเล่าให้ฟังไปแล้ว คือดูว่าสินค้า 3 อย่าง ที่เราขายในปัจจุบันนี่เป็นอย่างไร อะไรขายได้สูงสุด อะไรที่ยังไม่ได้ขาย ดูแล้วก็วิเคราะห์ลูกค้าที่ซื้อว่า ลูกค้าตลาดนี้เป็นอย่างไร เฉพาะรายนี่เป็นอย่างไร มีประวัติการซื้อขายเป็นอย่างไร ควรจะติดตามหรือว่าควรจะทำอย่างไรก็ว่ากันไป อย่างลูกค้าคนนี้ซื้อขายกันมานานแล้ว เวลานี้ยอดขายเพิ่มขึ้นเท่านี้ ควรจะขยายเครดิตอะไร นี่เป็นต้น หรือติดต่อมานานแล้ว แต่หลังๆ นี่ห่างกันไป ก็เป็นเรื่องทางด้านเซลส์จะต้องติดตาม คอมพิวเตอร์สามารถช่วยให้อินฟอร์เมชั่นอย่างนี้ได้เป็นอย่างดี ในเรื่องที่เกี่ยวกับบัญชีลูกหนี้ เราสามารถคำนวณว่า แอคเคาท์รีซีฟเวเบิ้ลอินเด็กซ์เป็นอย่างไร ในปัจจุบันนี้ช่วงของการขายออกไป จนลูกค้าได้รับสินค้าของเราแล้ว กับช่วงที่เขาจ่ายเงินมานี่ มันนานเท่าไหร่ มีอะไรหรือเปล่า นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญๆ เกี่ยวกับแอคเคาท์รีซีฟเวเบิ้ล ส่วนทางเซลสเติสติกเราก็วิเคราะห์ลูกค้าที่ซื้อเรา แล้วที่สำคัญอีกอย่างก็คือ เราวิเคราะห์ตลาดหรือเทอริเทอรี่ของเราว่า เซลส์แมนแต่ละคนไปอยู่ในตลาดนั้นตลาดนี้ สามารถที่จะทำเงินได้มากเท่าไหร่ มีจุดไหนที่ควรทำการปรับปรุง มีจุดไหนที่ต้องติดตามมากขึ้น และก็เทอริเทอรี่ที่เราพูดถึงนั้นเนี่ย จุดซึ่งเราพยายามจะเข้าไปหาเพื่อวิเคราะห์ด้านมาร์เก็ตติ้ง ว่ามาร์เกตติ้งอินฟอร์เมชั่นในปัจจุบันนี้เรามีอะไรบ้าง มีอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้การขายเป็นไปอย่างราบลื่นมีประสิทธิภาพ แล้วเราก็มีระบบอื่นๆ ที่เป็นไมเนอร์ซีสเต็มอยู่พอสมควร ได้แก่ระบบเปย์โรว์ สามารถที่จะคำนวณรายได้ของพนักงานออกมาเก็บตัวเลขไว้ได้ ดูว่าตัวเลขเขาเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ตัวเงินดือนเท่าไหร่ รายได้จากทางอื่นเท่าไหร่ และเราสามารถคำนวณภาษีเงินได้โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในแต่ละเดือนจนครบปี แล้วคอมพิวเตอร์ก็จะคอยคอนโทรลไม่ให้ตัวเลขของภาษีนั้นโอเวอร์ หรืออันเดอร์ไปจากตารางภาษีว่าต้องไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเรามีไฟแนนเชียลซิสเต็ม ซึ่งตอนนี้ทำเป็นระบบแททซ์อยู่ ภายในสิ้นเดือนเราก็จะพัฒนาเป็นระบบออนไลน์ หรือกึ่งออนไลน์ นั่นหมายความว่า เราสามารถจะทราบถึงยอดกำไรขาดทุนได้เร็วกว่าที่ควรจะเป็น
ในขณะเดียวกันจะเป็นการปรับปรุงให้ระบบของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอนนี้พวกข้อมูลที่จะถูกรวบรวมเข้ามาคีย์แต่ละเดือนเราก็จะติดจอไว้ ทางพนักงานบัญชีสามารถจะคีย์ทรานเซกชั่นใดๆ ได้เป็นรายวัน ไม่จำเป็นต้องคอยป้อนมาให้เครื่อง ทำให้สามารถวิเคราะห์กำไรขาดทุนของบริษัทได้ตามเซลลิ่งออร์แกนในเซกชั่น คือตามมาร์เก็ต เช่น ชุดนี้หรือในกลุ่มกำไรขาดทุนเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นจะเป็นการเจาะดิ่งลึกลงไปว่า นอกจากจะค้างทางด้านโททัลคอมปะนีแล้ว ยังดิ่งลงไปว่ากำไรขาดทุนในตลาดเป็นเท่าไหร่เลย
ผู้จัดการ: ขณะที่ทำเป็นเบทซ์โปรเซสซิ่งงานด้านนี้ กว่าผลจะออกมาช้าไหม?
สัมฤทธิ์: เราสามารถจะพิมพ์กำไรขาดทุนได้จะตกราวๆ วันที่ 10 หรือ 11 ของแต่ละเดือน อย่างในกรณีรีบเร่งเช่นเดือนนี้ เพราะฟีสซิคอลเยียร์เราเริ่มต้นเดือนพฤศจิกายน ก็สามารถเร่งให้เร็วกว่านั้น คือเสร็จราววันที่ 3-4
ผู้จัดการ: ถ้าออนไลน์แล้วผลจะออกมาได้ทันที
สัมฤทธิ์: ผมเข้าใจว่า คือมันมีติดขัดอยู่นิดคือว่า มันขึ้นอยู่กับทรานแซกชั่น เขาจะใส่เข้าไปหมดวันไหน อย่างค่าใช้จ่ายบางอย่างมันต้องคอยถึงสิ้นเดือน เพื่อให้ทราบแน่นอนว่ามันหมดแล้วหรือยัง แต่มันจะให้ผลเร็วกว่า คือพูดง่ายๆ เมื่อไหร่ก็ตามคีย์บรรทัดสุดท้ายเสร็จ รีพอร์ตใดๆ จะต้องตามออกมามันก็เร็วขึ้น เพราะเราได้สำรองเดต้าคีย์เข้าไปแล้วเป็นรายวันตั้งแต่ต้นเดือน ผมว่าแม้จะเร็วขึ้นมากกว่าเดิมนิดหน่อย แต่ก็เป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาที่สำคัญของการใช้คอมพิวเตอร์มันมีอยู่จุดหนึ่ง คือถ้าบริษัทนั้นใช้การทำงานแททซ์ ก็รู้สึกว่าชีวิตการทำงานของพนักงานในส่วนอื่นๆ ถูกอินเทอร์รัปโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ มันจะคอยว่าเมื่อไหร่รีพอร์ตจะมา หรือเอาตัวเลขอะไรมาบาลานซ์ให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงจะนำเข้าไปรันกับคอมพิวเตอร์ บางทีก็ทำให้เป็นปัญหามากทีเดียว แต่นี่เราสามารถทำได้โดยดีเซนทรัลไลซ์ออกไป เอาเทอร์มินัลไปให้ยูสเซอร์แล้วให้เขาใช้ ให้เขาคุ้นเคยกับมัน จนมันกลายเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานประจำวันของเขา แทนที่จะต้องมานั่งขีดเขียน กลับคีย์เข้าไปในคอมพิวเตอร์ให้มันจัดการแทน คือให้เครื่องเดินแทนเขาบวกเลขแทนเขา จะได้นำความรู้ความสามารถที่เขาร่ำเรียนมาไปทำงานที่มันสร้างสรรค์มากขึ้น และนั่นคือความก้าวหน้าของบริษัท
นอกจากนั้นเราก็ยังมีระบบที่สำคัญอีกอย่างคือ ไซโคอินเวนโทรี่ หรือระบบการนับคลังหมุนเวียน ซึ่งอันนี้ดูไปแล้วมันแปลกๆ อยู่ คือว่า ขณะที่เราคีปอินเวนโทรี่อยู่นี่ปีหนึ่ง ส่วนมากทุกบริษัทจะต้องนับคลังกันสิ้นปี ทีนี้กว่าจะถึงสิ้นปี เรามานั่งนับคลังตรวจว่าอะไรขาดอะไรหาย บางทีมันก็จับมือใครดมไม่ได้แล้ว ระบบไซโคอินเวนโทรี่ของเรานี่ก็จะเข้ามามีบทบาทในเครื่องนี้ คือเครื่องมันจะจับเลยว่า จำนวนโปรดักส์ซิสเท็มของเรามีอยู่เท่าไหร่ แล้วกระจายออกมาเลยว่า เป็นเอไอเท็มเท่าไหร่ บีไอเท็มเท่าไหร่ ซีไอเท็มเท่าไหร่ เอในที่นี้เป็นไอเท็มที่ขาย หรือมีมูฟเมนต์สูงมาก บีเป็นพวกขายปานกลาง ส่วนซีก็น้อยหน่อย พวกเอไอเท็มนี่ต้องนับบ่อย โดยเครื่องมันจะพิมพ์บอกออกมาทุกอาทิตย์เลยว่า ตอนนี้ต้องนับไอเท็มนั้นตอนนี้ต้องไอเท็มนี้ เพราะฉะนั้นเราสามารถจะนับหมุนเวียนของเราได้โดยไม่จำเป็นจะต้องคอยถึงสิ้นปี ไอเท็มไหนที่มีแอคทิวิตี้สูง เราก็จะคอยนับกันอยู่บ่อยครั้ง ถ้าหายก็รู้กันเดี๋ยวนั่นว่างั้นเถอะ ถ้ามีไอเท็มที่ไม่สำคัญ เราก็อาจจะนับปีละครั้งเหมือนเดิม
ผู้จัดการ: รวมทั้งหมดแล้ว 3 เอ็ม มีระบบงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์กี่ระบบ
สัมฤทธิ์: ปัจจุบันนี้ตกประมาณ 30 ระบบ
ผู้จัดการ: 3 เอ็ม มียอดขายปีละประมาณเท่าไหร่
สัมฤทธิ์: ผมจำตัวเลขไม่ได้แน่นอนนะครับ ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทต่อปี
ผู้จัดการ: ทาง 3 เอ็มมีปัญหาเรื่องความรู้สึกของคนทำงานมากไหม ตอนที่นำคอมพิวเตอร์เข้ามาทำงานใหม่ๆ
สัมฤทธิ์: ผมว่าจะต้องพูดกันให้ละเอียดว่าการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์แต่ละครั้งเป็นระบบอะไร ในกรณีที่ระบบนั้นกระทบถึงคนหมู่มาก หรือทั้งบริษัทเลย ยกตัวอย่างเช่น ออนไลน์ออร์เดอร์โปรเซสซิ่ง นี่ปัญหาก็ย่อมจะมีมาก เพราะตราบใดที่มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีการรีแอคชั่นกันเป็นธรรมดา
วิธีการที่ฝ่ายผมพยายามแก้ปัญหานี่ก็คือ การเข้าไปหายูสเซอร์ และแน่นอน เทรนนิ่งโปรแกรมของเรานี่ต้องอเวเรียเบิ้ล บางทีอาจจะต้องมีการเรียกประชุม บางทีอาจจะต้องมีการปรับปรุง และถึงที่สุดก็คือ เราจะต้องฟังเขาว่ารีไควเมนต์ที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างไร ถ้าเราทำไม่ได้เราจะต้องชี้แจงว่ามันเพราะอะไร คือปกติแล้วนโยบายอีกอย่างหนึ่งของแผนกคอมพิวเตอร์ของเราคือว่า งานใดๆ ที่จะเข้ามาในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรานั้น จะใช้สำหรับส่วนรวม คือจะต้องเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งบริษัท เราไม่สามารถจะเสิร์ฟความต้องการเพียงหนึ่งครั้งสองครั้ง ของใครคนใดคนหนึ่งได้ คือเพียงแต่เขามักจะมองว่ามันมีประโยชน์แก่ตัวเขาหรือเปล่า เพราะฉะนั้นบางทีความต้องการอย่างนั้นจะต้องมีการคลาสซิไฟล์ออกมาว่า ถ้าทำอย่างนั้นมันจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือเปล่า ถ้าไม่เป็น แล้วเราก็อาจจะต้องอธิบายให้เขาฟังว่า มันเป็นไปไม่ได้
ผู้จัดการ: เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยไหม
สัมฤทธิ์: มีบ่อยครับ และผมคิดว่าทุกบริษัทคงเจอแบบนี้ อย่างไรก็ตาม ผมเองได้ทำความเข้าใจกับยูสเซอร์มาก จนตอนนี้ผมมาจนถึงจุดหนึ่ง คือสามารถทำให้ยูสเซอร์บางรายเป็นซีสเต็มอะนาลิสต์ไปแล้ว คือเขาสามารถจะบอกรีไควเมนต์เป็นภาษาเครื่องได้แล้ว เขาสามารถดีดไฟล์ออกมาเป็นระบบ เป็นไฟล์ออกมาให้เราดูได้ ทำให้เราสนุกขึ้น และเขาก็สนุกที่จะทำงานร่วมกับเรา เพราะเขาเห็นความสำคัญในการทำงานร่วมกัน คือคอมพิวเตอร์นี่จะไปโดดเดี่ยวคงไม่ได้ถ้ายูสเซอร์ไม่ดีด้วย ถ้าไปด้วยกันไม่ได้ก็จะถือเป็นความสำเร็จไม่ได้เหมือนกัน
ผู้จัดการ: อย่างออนไลน์ออร์เดอร์โปรเซสซิ่ง ตอนนี้มีงานเข้ามาวันละมากน้อยแค่ไหน
สัมฤทธิ์: ก็ตกวันละประมาณ 100 ออร์เดอร์ครับ แต่มันก็ประกอบเป็นสองส่วน คือเฮดเดอร์อินฟอร์เมชั่น อย่างลูกค้านัมเบอร์อะไร เซลส์นัมเบอร์อะไร เราใช้โค้ดดิ้ง และพาร์ทที่สองคือ ไลน์อินฟอร์เมชั่น สั่งสินค้าสต๊อกเบอร์อะไร ราคาเท่าไหร่ ในออร์เดอร์แต่ละใบบางทีมี 10 ไลน์ หรือบางทีมี 40-50 ไลน์ ถ้านับออร์เดอร์มันประมาณ 100 ออร์เดอร์ ..คือจริงๆ ทรานแซกชั่นที่ต้องถูกโปรเซสมันมากกว่านั้นในแต่ละออร์เดอร์
ผู้จัดการ: เครื่องไอบีเอ็มซีสเต็ม 34 ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ต้องต่อเทอร์มินัลออกไปกี่ตัว
สัมฤทธิ์: ขณะนี้มี 12 เทอร์มินัล ใน 12 ตัวนี้ มีแมททริกซ์ พรินเตอร์ หรือซีโรพรินเตอร์อยู่ 1 ตัว ใช้สำหรับพิมพ์ ชิปปิ้ง บิงเก้ต ที่แวร์เฮาส์ นอกจากนั้นเป็นดิสเพลย์เทอร์มินัล เครื่องซีสเต็ม 34 ของเรานี่ความจุของสมองจริงๆ แล้วแมกซิมัม 256 เคไบต์ ความจุของเดต้า 128 เมกกะไบต์ แล้วยังมีไลน์พรินเตอร์อีกตัวหนึ่ง สปีดของมันคือ 650 ไลน์เปอร์มินิท
ผู้จัดการ: เราสามารถต่อเทอร์มินัลออกไปได้สูงสุดกี่ตัว
สัมฤทธิ์: 16 ตัวครับ แต่สามารถขยายออกไปได้มากกว่านั้น ถ้าเราจะติดพวกแดบเตอร์อะไรเพิ่มเติม
ผู้จัดการ: ทาง 3 เอ็ม มีความจำเป็นที่จะต้องขยายแล้วหรือยัง
สัมฤทธิ์: ความจำเป็นอันใกล้นี้ก็คือ เราจะต้องเพิ่มเทอร์มินัลจนครบ 16 ตัว แล้วก็จะเพิ่มในจำนวนเดต้า สเตอเรจจาก 128 เป็น 256 เมกกะไบต์ คือเต็มที่ของมันเลย และอย่างที่ผมว่าเมื่อกี้นี้คือมันมี วันไทม์รีไควเมนต์อยู่เยอะ ซึ่งก็เป็นพรสเชอร์สำหรับเรา เพราะนิสัยคนไทยนี่มาขออะไรเยอะๆ ครั้ง ถ้าไม่ได้รู้สึกเสียเส้น เราก็จะพยายามหาทางออกคือ ไอ้ตัวที่เป็นซีสเต็มใหญ่ของเรานี่ เราจะใช้โปรเซสงานที่มันเป็นเมอร์เจอร์ทั้งหลาย แล้วเราได้สั่งซื้อแล้วนะครับ เป็นไมโครคอมพิวเตอร์อีก 2 ตัว เพื่อใช้กับยูสเซอร์ในบางส่วน เช่นด้านบัญชี เพื่อเขาจะได้เล่นของเเขาเอง เป็นเครื่องไอบีเอ็มพีซี
ผู้จัดการ: เท่าที่ประเมินดูระบบงานที่เราใช้อยู่ขณะนี้ เครื่องมันรับเต็มที่แล้วหรือยัง
สัมฤทธิ์: ผมว่าเราใช้ไปได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ แล้วเรายังสามารถขยายได้อีกสัก 10 เปอร์เซ็นต์ แล้วตอนนี้เรามีโครงการจะย้ายสำนักงานของเราไปอยู่ที่ใหม่ ซึ่งเราสร้างของเราเองนะครับ อยู่แถวหลักสี่ ใกล้ๆ เดลินิวส์ เราจะย้ายแวร์เฮาส์ของเราข้างล่างนี่ไปที่นั่นเดือนหน้า (ธันวาคม) แล้วหลังจากที่ออฟฟิศเสร็จ ซึ่งคงอีก 2 ปี เราก็จะมูฟทั้งหมดไปที่โน่น ในช่วงนี้เรามีปัญหาอยู่บ้างก็คือ เราย้ายแวร์เฮาส์ไปที่โน่น ขณะที่คอมพิวเตอร์อยู่ที่นี่ เราก็จะแก้ปัญหาโดยใช้รีโมต ซึ่งสามารถจะส่งเดต้าจากที่นี่ไปที่แวร์เฮาส์แห่งใหม่ผ่านทางโทรศัพท์
ผู้จัดการ: มูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเราได้วางโครงการที่จะเปลี่ยนเครื่องเป็นระบบใหญ่ขึ้นหรือยัง
สัมฤทธิ์: ผมลืมเล่าไปนิด คือซีสเต็ม 34 นี่เดิมเราเช่ามา เราเพิ่งซื้อขาดเมื่อสิ้นเดือนที่แล้วนี่เอง เพราะว่าเราได้คำนวณดูแล้ว อัตราของเงินที่เราต้องจ่ายเป็นค่าเช่านั้น เมื่อเปรียบเทียบคอมพิวเตอร์ เงินที่เราซื้อนั้นมันเซฟคอมพิวเตอร์ว่า อย่างปีแรกนี่คอมพิวเตอร์หลายหมื่นเหรียญแล้ว ต่อคำถามที่ว่าเราจะใช้เครื่อง 34 ไปได้อีกนานเท่าไหร่ ผมว่าเราจะใช้ได้อีกไม่เกิน 2 ปี โครงการในอนาคตคือในอีก 2 ปีข้างหน้า เราจะเปลี่ยนเป็นซีสเต็ม 36 หรือ 38 ของไอบีเอ็มอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งแนวโน้มนั้นคงจะไปทาง 36 คอมพิวเตอร์ จนกว่าไอบีเอ็มจะมีโมเดลที่ดีกว่านั้นได้ เรื่องเปลี่ยนเครื่องที่นี่ไม่มีปัญหา เพราะทางเมนเทนเนนต์เองก็คำนึงอยู่ตลอดเวลาในเรื่องนี้
ผู้จัดการ: อยากให้ช่วยขอความเห็นตรงนี้สักนิด คือทำไมครั้งแรกตัดสินใจเช่า และต่อมาค่อยตัดสินใจซื้อขาด
สัมฤทธิ์: มันมีแอดเวนเทจและดิสแอดเวนเทจเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ คือว่าในเรื่องที่เกี่ยวกับการเช่านี่เราไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่อง เพราะฉะนั้นในกรณีที่มีเครื่องเสียขึ้นมา ทางไอบีเอ็มผู้เป็นเจ้าของเครื่องเป็นผู้รับผิดชอบ และสิ่งที่สองที่ตามมาคือ มันไม่เป็นภาระผูกพันสำหรับเรา ถ้าอยากจะเปลี่ยนเครื่อง อย่างเช่นเราใช้ไปได้สัก 3-4 ปี ถ้าเราต้องการเปลี่ยนเครื่อง เพียงเราบอกไอบีเอ็มว่าเราจะคืนเครื่องเก่า จะเช่าหรือซื้อเครื่องใหม่เข้ามา ก็จะทำได้โดยไม่มีปัญหาเรื่องไฟแนนซ์เข้ามายุ่ง เหมือนกับมันเป็นเอสเซทของเรา ทีนี้ก็ตัดสินใจซื้อเครื่องนี่เป็นเหตุผลทางด้านบัญชีว่า อัตราที่เราต้องจ่ายเป็นค่าเช่านี่เมื่อคิดออกมาแล้ว บางทีเมื่อมาคำนึงด้านไฟแนนซ์แล้ว เงินมันมากเกินราคาที่แท้จริงของเครื่องอยู่ อย่างเช่ามา 3 ปีนี่ ซื้อเครื่องใหม่ได้แล้ว 2 เครื่อง เพราะฉะนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่ง คือไอบีเอ็มเขาดีอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าเราเช่าระยะยาว เขามีเครดิตออพชั่นให้เรา คือถ้าเช่านานมาก เครดิตออพชั่นจะให้สูง อาจจะเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ จะลดให้อะไรอย่างนี้ บางบริษัทพอเขาเช่ามาถึงจุดหนึ่ง ถ้าเขาจะซื้อตอนนั้นเขาจะได้ราคาถูก และเมื่อใดที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์เขาจะทำได้ 2 อย่างคือ หนึ่ง ขายต่อได้ในราคาใกล้เคียงกัน หรือถ้าไม่ขายจะใช้เครื่องนั้นเป็นแบ็กอัพเครื่องใหม่ที่จะเข้ามา มันมีเหตุผลอยู่อย่างนั้น และมันมีดิสแอดเวนเทจอยู่อย่าง คือกรณีที่เราซื้อคือมันเป็นทรัพย์สินของเราแล้ว เครื่องเสียนี่เราต้องซ่อม ซึ่งบางทีค่าอะไหล่ ค่าเช่า ค่าอะไรนี่ ไอบีเอ็มเขาคิดอัตราฝรั่งทั้งนั้น (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้เขาเรียกว่าเป็นเมนเทนเนนต์อะกรีเมนท์ คือสามารถจะจ่ายได้เป็นรายเดือน 20,000 บาท อะไรทำนองนี้ บางทีเครื่องเราอาจจะไม่เสียเลยแต่ก็ต้องจ่าย เพราะเราเองก็กลัวว่า ถ้าเกิดเสียชิ้นส่วนใหญ่ๆ ขึ้นมา เราต้องแบกหนักเหมือนกัน
ผู้จัดการ: ค่าเช่าตอนนั้นราคาเท่าไหร่
สัมฤทธิ์: ตกเดือนละแสนกว่าบาท หลังจากที่เราตัดสินใจซื้อ เราก็เพียงแต่จ่ายค่าเมนเทนเนนต์อะกรีเม้นท์ 20,000 กว่าบาท และค่าเช่าซอฟต์แวร์อีกเดือนละ 6-7 พันบาท แล้วจ่ายราคาเครื่องหลังลดแล้ว
ผู้จัดการ: ซิสเต็มนี้ราคาประมาณเท่าไหร่
สัมฤทธิ์: ประมาณ 2 ล้านกว่าๆ แต่เราซื้อมา 1 ล้านเศษๆ ประมาณ 1 ล้าน 9 เราได้ลดเยอะ
ผู้จัดการ: ระบบงานในอนาคตจะมีอะไรบ้าง
สัมฤทธิ์: จุดที่เราจะไปนั้นเนี่ย ที่สำคัญอันดับแรกคือ ระบบอินทรีเกทเต็ทเปอร์เซสซิ่งซีสเต็ม นั่นก็หมายความว่า ในลักษณะการทำงานของบริษัทเรานี่ เราไม่ได้ผลิตสินค้าเองนะครับ สำหรับภายในประเทศไทยเรามีแมนูแฟกเจอร์ริ่งของเรา แต่เราสั่งวัตถุดิบมาจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องติดต่อซื้อจากเฮดควอเตอร์ของเรา และซับฯ ที่มีการผลิต เช่นที่ญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นระบบการสั่งซื้อบางทีคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่ต้องมีการควบคุม ของที่เข้ามานั้นเข้ามาหรือยัง หรืออยู่ในเรือ เรือลำไหน จะได้เมื่อไหร่ เพราะบางทีเราต้องบอกลูกค้าว่าจะได้ของเมื่อนั้น เมื่อนี้ เพราะฉะนั้นระบบไอพีเอสของเรานี่สามารถคอมพิวเตอร์ ไลซ์และบอกสเตตัสของเราได้ แล้วอีกระบบที่เรากำลังจะนำมาใช้คือควิปเมนต์เมนเทนเมนต์ ซีสเต็ม หรือระบบอีเอ็มเอสนะครับ ไอ้นี่เป็นการคอนโทรลพวกเครื่องทั้งหลายที่เราขายให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องถ่ายเอกสาร หรือโอเวอร์เฮดโปรเจกเตอร์ เราจะบันทึกว่าเครื่องนั้นเครื่องนี้ขายให้ใคร ตำแหน่งอะไร วางอยู่ในโลเกชั่นไหน เราสามารถจะรักษาประวัติของแต่ละเครื่องได้ มีการซ่อมกี่ครั้ง มีการเมนเทนเมนต์กี่ครั้ง เราจะสามารถบอกแผนกช่างได้ว่า เครื่องนี้ถึงจุดที่จะต้องไปเมนเทนแล้วนะ เครื่องนั้นจะต้องไปเยี่ยมลูกค้าแล้วนะ เป็นต้น หรือเราสามารถจะบอกได้ว่า เครื่องนี้ใช้สแปพาร์ทไปทั้งหมดเท่าไหร่ ในทำนองเดียวกันเราก็สามารถควบคุมด้านบัญชีได้ว่า ในตลาดที่เกี่ยวกับพวกเครื่องจักรนี่กำไรขาดทุนมันเท่าไหร่ เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับต้นทุน อีกระบบที่จะตามเข้ามา คือระบบฮิวแมนรีซอร์ส อันนี้ก็คือว่า เรากำลังจะควบคุมด้านเปอร์ซอนแนลของเรา ว่าพนักงานคนนี้เงินเดือนขึ้นกี่ครั้ง เป็นต้น
ผู้จัดการ: การเทรนนิ่งผู้ใช้ซึ่งก็มีคนในหลายๆ แผนก ทางฝ่ายคอมพิวเตอร์เป็นผู้จัดให้ใช่ไหม
สัมฤทธิ์: ทางด้านเทรนนิ่งฝ่ายคอมพิวเตอร์เป็นผู้ทำ แต่ซัปพอร์ตใดๆ ที่เราอยากได้ อยากมี เราก็อาจจะต้องส่งพนักงานของเราไปเรียนที่ไอบีเอ็ม หรือจัดคลาสขึ้นมาที่นี่ แล้วก็หาสเปเชียลลิสต์มาคุยให้ฟัง มาพูดให้ฟัง คือเทรนนิ่งมีอยู่ 2 อย่าง เกี่ยวกับยูสเซอร์คอมพิวเตอร์เป็นอย่างนั้น ทีนี้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ โปรแกรมเมอร์ของเรากับคนภายในเรื่องนั้น คือฝ่ายเราจะต้องรู้ก่อน รู้ดี ไม่เช่นนั้นเราจะตอบคำถามอะไรไม่ได้
ผู้จัดการ: ขอเรียนถามสักหน่อยว่า ทำไมตัดสินใจใช้เครื่องของไอบีเอ็ม
สัมฤทธิ์: คือทางเฮดควอเตอร์เองก็ไม่ได้ระบุมา หรือว่าจะต้องใช้เครื่องไอบีเอ็ม ทีนี้ทำไมเราเลือกไอบีเอ็ม เหตุผลประการสำคัญคือ เราคำนึงว่าขีดความสามารถในการซัพพอร์ตไอบีเอ็มเขานำหน้า ไม่มีใครทำได้ดีและเร็วเท่า คืองานของเราเวลานี้ถูกป้อนเข้าไปหาคอมพิวเตอร์เกือบจะหมดแล้ว ถ้าเกิดเครื่องมันมีปัญหา เราแย่เลย
ผู้จัดการ: เราไม่มีเครื่องแบ็กอัพหรือ?
สัมฤทธิ์: ไม่มีครับ เรามีแบ็กอัพอะกรีเมนต์กับบริษัทอื่น แต่เราขอใช้เครื่องเขาเฉพาะในงานที่เป็นแบทซ์เท่านั้น ซึ่งอันนั้นถือเป็นความรับผิดชอบของไอบีเอ็ม ที่จะต้องจัดการอะไรบางอย่างให้เรา อย่างอาจจะต้องเอาเครื่องใหม่มาวางให้เราหากไม่สามารถซ่อมได้ คือโดยปกติแล้วมันมีข้อตกลงกันอยู่ว่า ภายใน 3 ชั่วโมง จะต้องทำกันอย่างไร ใน 6 ชั่วโมง ทำอย่างไร หรือ 24 ชั่วโมงทำอย่างไร เป็นอะกรีเมนต์กัน
ผู้จัดการ: เท่าที่คบกับกับไอบีเอ็มมาเป็นอย่างไรบ้าง
สัมฤทธิ์: มีบางส่วนที่ผมแฮปปี้ และมีบางส่วนที่ไม่แฮปปี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวอิควิปเมนต์นั้นเนี่ย ทางด้านช่างอะไรก็ดีในกรณีที่มีเครื่องเสีย สิ่งนั้นก็เป็นที่พอใจพอสมควร แต่ทีนี้มันมีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งที่อาจจะทราบกันคือ ไอบีเอ็มเขาขยายตลาดเร็วมาก เพราะฉะนั้นจำนวนลูกค้า และจำนวนเครื่องเขามีมาก ความสามารถในการซัพพอร์ตบางครั้งผมว่ามันเป็นเรื่องที่เขาจะต้องปรับปรุง แต่ผมก็เข้าใจเหมือนกันว่า ที่ไอบีเอ็มเขาจะเทรนคนมาสักคน เพื่อให้รู้เรื่องหนึ่งโดยเฉพาะมันต้องใช้เวลานาน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|