พิลาศพงษ์ ทรัพย์เสริมศรี กรรมการผู้จัดการ คอมพิวเตอร์ยูเนียน จำกัด


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2526)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้จัดการ: คอมพิวเตอร์ยูเนียนเล็งเห็นอย่างไร จึงเป็นตัวแทนจำหน่ายไอบีเอ็ม พีซี

พิลาศพงษ์: เครื่องเปอร์ซอนนอลคอมพิวเตอร์ ถ้ามองดูแล้วตอนนี้เอามาขายกันเยอะแยะไปหมด เครื่องที่ขายดีที่สุดในโลก ขายกันแพร่หลายมากที่สุดก็คือเครื่องไอบีเอ็ม เราก็เห็นแล้วว่าไอบีเอ็มพอเขามุ่งจริงจัง มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไอบีเอ็มตอนนี้ในตลาดโลกขาย 45 เปอร์เซ็นต์ แล้วบริษัทอื่นเท่าที่มีอยู่ในตลาดทั่วๆ ไป จะค่อยๆ ล้มหายตายจากกันไป หลายๆ บริษัทจะอยู่ไม่ได้ เพราะไอบีเอ็มออกมาทำพีซี ตอนนี้เขาทำไม่รู้กี่โมเดล ครอบคลุมทุกระดับ ลองคิดดู บริษัทที่แข็งแรงที่สุดในวงการคอมพิวเตอร์ ...สำหรับเรา เราคิดว่าถ้าเอามาขายในเมืองไทย ด้วยชื่อเสียงที่ดีของเขา มันก็จะเป็นธุรกิจที่ไปได้ในระยะยาว ส่วนบริษัทเล็กๆ เอามาขาย แล้วเดี๋ยวก็เลิกไปบ้าง ซึ่งก็มีบ้างแล้วบางราย อันนี้ก็เป็นเหตุผลของเรา

ผู้จัดการ: จึงติดต่อไปที่ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย)

พิลาศพงษ์: คือไอบีเอ็มมีนโยบายจะแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในเมืองไทยเฉพาะพีซี วิธีการก็มีการพิจารณาว่าใครจะเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ดีที่สุด ในสิงคโปร์เขาตั้ง 5 ราย ในฮ่องกง ก็มี 5-6 ราย ส่วนบ้านเรา เขาตั้งไว้ 2 ราย นโยบายจากเฮดควอเตอร์ เขาต้องการคนที่สตรองพอสมควร

ผู้จัดการ: การตั้งตัวแทนจำหน่ายหลายๆ ราย จะไม่ทำให้ต้องแข่งขันกันเองหรือ

พิลาศพงษ์: อันนี้ไอบีเอ็มพิจารณาเป็นเวอร์ตี้ คัลมาร์เก็ต คือแต่ละรายจะเก่งไปคนละอย่าง ด้านเปอร์ซอนนอลคอมพิวเตอร์ นี่มันจำเป็นจะต้องมีเอ๊กซ์เปิร์ดไปคนละทางสองทาง ไม่มีทางที่ใครจะเก่งไปหมด เพราะมันแอพพลายได้เยอะ วิศวกรก็ซื้อคอมพิวเตอร์ ธนาคารหรืออะไรต่างๆ ก็ซื้อ เพราะฉะนั้นเวอร์ติคัลมาร์เก็ต ก็คือ ดีลเลอร์คนไหนเก่งด้านไหน ก็อาจจะรับด้านนั้นไป มันจะไม่มีการแก่งแย่งมาร์เก็ต เราจะวางมาร์เก็ตให้ดีที่สุด

ผู้จัดการ: ทีนี้ในส่วนตัวแทนจำหน่ายอย่าง คอมพิวเตอร์ยูเนียน ค้าสากลซิเมนต์ จะแบ่งตลาดกันอย่างไร

พิลาศพงษ์: คือทั้ง 2 ฝ่ายเอง เริ่มต้นนะครับ เราก็พอจะรู้ว่าเราควรจะไปทางด้านไหน อย่างคอมพิวเตอร์ยูเนียนเราก็จะไปทางเอ็ดดูเคชั่น เทรนนิ่ง ทางเอสซีทีเขาก็อาจจะมีเครือข่ายของเขาเอง ทางด้านของเขานี่เราก็ไม่ทราบนะครับ แต่ทางด้านของเรานี่จะหนักไปทางเอ็ดดูเคชั่น เพื่อจะสร้างคนที่สามารถใช้พีซีทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้จัดการ: ขณะนี้ตั้งศูนย์ฝึกอบรมแล้วหรือยัง

พิลาศพงษ์ : ตั้งแล้วครับ พอดีจังหวะที่น้ำท่วมทำให้เราหยุดชะงักไป เราควรจะเริ่มตั้งแต่เดือนที่แล้ว เพราะอะไรก็พร้อมหมด ก็คงต้องเลื่อนไปจนกว่าน้ำจะหายท่วม

ผู้จัดการ: หลักสูตรของการเทรนนิ่งจะเน้นด้านไหน?

พิลาศพงษ์: เป็นเรื่องแอพพลาย เปอร์ซอนนอล คอมพิวเตอร์ ไปใช้ในด้านการวางโครงการ จะเป็นโครงการทางด้านไฟแนนซ์ โครงการด้านวิศวกรอะไรก็ได้ โดยอาศัยโปรแกรมสำเร็จรูปเข้าช่วย อย่างเช่น โลตัส 1-2-3 หรือซุปเปอร์แคล มัลติแพลน เมื่อคนรู้เรื่องนี้แล้ว จะแอพพลายไปทางไหนก็ได้ เก็บไฟล์ก็ใช้โปรแกรมเดต้าเบส แล้วเดี๋ยวก็หาทางไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ เช่น หมอจะไปนั่งเขียนโปรแกรมเบสิกตั้งแต่ต้นนี่มันสมัยโบราณเกินไปแล้ว เขามีโปรแกรมดีเบส-2 ให้ใช้ เป็นโปรแกรมเดต้าเบสมันดีเวลลอปเร็ว จากงานเป็นเดือนอาจจะเหลือวันเดียว เพราะฉะนั้นคอนเซ็ปต์นี้ต้องเผยแพร่ ทีนี้หมอบางคนอาจจะเปิดขายเปอร์ซอนนอล คอมพิวเตอร์ ก็ได้ โดยที่แอพพลายโนว์เลจทางด้านนี้

ผู้จัดการ: ศูนยฝึกอบรมที่ว่านี้จะเปิดรับคนทั่วๆ ไปหรือไม่

พิลาศพงษ์: จะเปิดรับคนทั่วไปครับ

ผู้จัดการ: จะต้องมีพื้นความรู้ด้านคอมพิวเตอร์มาก่อนไหม

พิลาศพงษ์: ไม่ต้องมีเลย คนที่มีพื้นมาก่อนจะทำให้เรียนเร็วเท่านั้นเอง

ผู้จัดการ: คุณคิดว่าไอบีเอ็ม พีซี มีจุดที่สตรองมากกว่าเครื่องไมโครยี่ห้ออื่นๆ ตรงไหนบ้าง

พิลาศพงษ์: อันที่หนึ่งก็คือ การเป็นเปอร์ซอนนอล คอมพิวเตอร์ ที่ต่อเข้ากับเครื่องขนาดใหญ่ได้ อันนี้เป็นจุดที่เหนือคนอื่น เพราะเครื่องไอบีเอ็มเองมีติดตั้งอยู่เยอะ พีซีนี่สามารถต่อเข้ากับเครื่องไอบีเอ็มได้ทุกโมเดล ต่อแล้วเป็นจออันหนึ่งเป็นเปอร์ซอนนอล คอมพิวเตอร์ แล้วก็ควรจะต่อเข้ากับเครื่องใหญ่ได้ด้วย มันจะได้คอบเวอร์ออฟฟิศ ออโตเมชั่น ที่สมบูรณ์ พวกนี้เป็นจุดเหนือคนอื่นทำไม่ได้เลย แพ้ไอบีเอ็มหมด สอง ไอบีเอ็ม มีซอฟต์แวร์ที่ดี เครื่องอื่นๆ อย่างเป็นเครื่องญี่ปุ่นหรืออะไรนี่ มีคนสร้างซอฟต์แวร์ให้น้อย ต้องทำกันเอง แต่คนสร้างให้ไอบีเอ็ม พีซีนี่มีมากที่สุดในโลก พวกเธิร์ดปาร์ตี้ไม่ต่างจากเครื่องแอปเปิ้ล เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซอฟต์แวร์เฮ้าส์ลงมือสร้างให้มากมาย ยูสเซอร์ก็สบาย และทำให้เขามีกรุ๊ปที่จะช่วยกันได้เป็นจุดเด่น อันที่สามคือ ยูสเซอร์ กรุ๊ป พบกันเอง เราจัดให้เขาคุยกัน สามารถจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถ้าเข้ามาแล้วเขาสามารถให้ไอเดียนี้ อีกตัวอย่างมันใช้ แอดวานซ์เทคโนโลยี คือมันเป็น 16 บิท แล้ว อีกอันคือทางด้านไอบีเอ็ม ซัปพอร์ต ไอบีเอ็มเขาไม่เคยเสียชื่อในเรื่องการซัปพอร์ตไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการขาย

ผู้จัดการ: ด้านการซัปพอร์ต ดำเนินการเองหรือให้ไอบีเอ็มรับผิดชอบ

พิลาศพงษ์: เราดำเนินการเอง แต่เครื่องพีซีนี่ไม่ต้องซัปพอร์ตด้านซอฟต์แวร์ เพราะลูกค้าเขาจะซัปพอร์ตกันเองได้หมด มันก็สบายสำหรับผู้ขาย และผู้ใช้เองก็สบายใจด้วย

ผู้จัดการ: คือซอฟต์แวร์สามารถหาได้ทั่วๆ ไป

พิลาศพงษ์: คือถ้าลูกค้าเขาเข้าใจคอนเซ็ปต์ เราบอกคอนเซ็ปต์เขาว่า เปอร์ซอนนอลคอมพิวเตอร์จะต้องใช้แนวไหน จะไม่เหมือนเมนเฟรม จะไม่ต้องทำอะไรมากมาย ต้องเขียนโปรแกรมภาษาโคบอลฟอร์แทรน ไม่ใช่อย่างนั้น เขาซื้อไปแล้วใช้กับแพ็กเกจ แล้วเขาจะซัปพอร์ตตัวเองทางด้านแพ็กเกจได้สบาย ซื้อเครื่องไปใช้ได้เลย แต่ถ้าต้องการแอพพลิเคชั่นพิเศษจริงๆ ก็เจรจากับซอฟต์แวร์เฮ้าส์ที่เป็นซับดีลเลอร์ของเราได้

ผู้จัดการ: แพ็กเกจอย่างเช่นพวกมัลติแพลน โลตัส 1-2-3 หรือเวิร์ดสตาร์ นี้จะเอาไปใช้งานด้านไหนได้บ้าง อยากให้ช่วยเล่ารายละเอียดหน่อย

พิลาศพงษ์: คือแพ็กเกจของไมโครมันจะแบ่งออกเป็น3ประเภทใหญ่ๆ หนึ่งคือ สเปรดชีท ก็มีแพ็กเกจพวกซุปเปอร์แคล มัลติแพลน วิสซิแคล เป็นแพ็กเกจที่เกิดขึ้นเมื่อสัก 2-3 ปีที่แล้ว พวกนี้จะไปแอพพลาย โดยเฉพาะแมเนเจอร์ คือแมเนเจอร์ที่ทำงานเกี่ยวกับการวางแผน วางงบประมาณ วางแคชโฟล หรือพวกที่ทำการลงทุนในโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ ที่จะดูว่าลงทุนแล้วคุ้มหรือไม่คุ้ม หาจุดคุ้มทุนอะไรต่างๆ หรือพวกสร้างคอนโดมิเนียม ก็วางว่าค่าของอะไรต่างๆ เท่านี้ คนผ่อนมาเท่านี้ ระยะเวลา 10 ปี หรือ 5 ปี จะคุ้มหรือไม่คุ้ม แมเนเจอร์ก็จะใช้เวลาอ่านเหมือนกับอ่านเครื่องคิดเลขนะครับ แล้วทำทดลอง สามารถใช้งานได้ภายใน 3 นาทีด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งใครทั้งสิ้น อันนี้เรียกว่าเป็นสเปรดชีทโปรแกรม แอพพลายทำงานทางด้านแมเนจเมนต์ โซฟวิ่งพรอบแพลม จะเป็นเอ็นจิเนียริ่งก็ได้ ต่อจากสเปรดชีทก็ดีเวลล้อปขึ้นมาให้ดีขึ้น เรียกว่าอินดีเกรดแพ็กเกจ คือรวมสเปรดชีทรวมเดต้าเบส แล้วก็รวมกราฟฟิก อย่างเช่นแพ็กเกจชื่อโลตัส 1-2-3 คือ เมื่อเราแพลนนิ่งแล้ววางตัวเลขบนจอเห็นหมด เราอาจจะจับตัวเลขนั้นๆ มาซอร์ส หรือจับกรุ๊ปออกมาเป็นหลักการของเดต้าเบสก็สามารถใช้คำสั่งเหนือขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกันก็อาจจะเอาตัวเลขไปพล็อตกราฟได้ โดยไม่ต้องอาศัยโปรแกรมหลายๆ ชิ้น มันทำได้ทุกอย่างอันนี้เป็นโปรแกรมที่วิเศษมาก ในปัจจุบันมีผู้ใช้มากเหลือเกินอันนี้ ต่อมาเป็นโปรแกรมเดต้าเบส อย่างเช่น ดีเบส 2 อันนี้ ก็เป็นทางด้านเก็บไฟล์ ถ้าใครจะทำแอคเคาท์ติ้ง สามารถจะใช้อันนี้เขียนได้ คือพูดง่ายๆ ว่า เขียนเป็นภาษาเดต้าเบส มันก็สามารถทำแอคเคาท์ติ้งได้โดยไม่ต้องมีความรู้ ไม่ต้องวางระบบเป็นแบบโคบอลฟอร์แทรน ไม่ต้องมี ใช้เวลาเรียนรู้แป๊บเดียว หรือเก็บแฟ้มประวัติคนไข้ตามโรงพยาบาล คลินิก ที่ใช้เดต้าเบส แล้วอีกอันเป็นโปรแกรมแพ็กเกจที่เรียกว่า เวิร์ดโปรเซสซิ่ง ออกจดหมายเวียน ก็แบ่งใหญ่ ๆ ออกเป็น 3 อย่าง เปอร์ซอนนอลคอมพิวเตอร์ใช้พวกนี้เป็นหลัก จะทำระบบใหญ่โตมากมาย โน่นต้องไปใช้มินิคอมพิวเตอร์ ทีนี้พวกเปอร์ซอนนอล คอมพิวเตอร์ พอไปต่อกับระบบใหญ่ ก็สามารถจะไปส่งข้อมูลจากตัวเล็กไปเก็บในตัวใหญ่ได้ หรืออีกอย่างก็อาจจะทำเป็นจอของเครื่องใหญ่ อย่างเช่น ไอบีเอ็มซีสเต็ม 34 เขามีจอของเขาอยู่แล้วใช่ไหม สมมุติ 5251 เทอร์มินัลเราไม่ซื้อตัวนั้น ซื้อพีซีแทน มันก็ทำงานได้ อันนี้เป็นจุดที่นิยมกันมาก

ผู้จัดการ: ตอนนี้การขายเป็นอย่างไรบ้างสำหรับพีซี

พิลาศพงษ์: คือมันก็ขึ้นไปเรื่อยๆ นะครับ เราจำหน่ายออกไปได้เรื่อยๆ ขณะนี้ก็เข้าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ครับ เราตั้งเป้าไว้ 20 เครื่องต่อเดือน

ผู้จัดการ: ตั้งเป้าว่าปีหน้าจะเพิ่มยอดขายขึ้นไปกี่เปอร์เซ็นต์

พิลาศพงษ์: ร้อยเปอร์เซ็นต์ คนเข้าใจคอนเซ็ปต์กันมากขึ้นก็จะใช้มากขึ้น

ผู้จัดการ: มีปัญหาสั่งของแล้วมาไม่ค่อยทันใช่ไหม

พิลาศพงษ์: ไม่ใช่ครับ คือเราโปรเจ็กต์ไว้น้อย เขาก็จัดมาน้อย ถ้าเราจะเอามากขึ้น โรงงานเขาก็ผลิตให้ไม่ทัน

ผู้จัดการ: มีความเห็นอย่างไรที่เขาพูดว่า พอมีพวกไมโครออกมามากมายแล้ว เครื่องมินิคอมพิวเตอร์เลยมีปัญหาด้านการตลาด

พิลาศพงษ์: ผมว่าไม่น่าจะเกี่ยวนะครับ ตลาดมินิคอมพิวเตอร์นี่เขามีตลาดของเขา ซึ่งผมว่าเขาก็ไม่ได้ซบเซาหรือยอดขายตก เพียงแต่มันอาจจะไม่เพิ่มมากเท่าไหร่ คือคนที่ซื้อพีซี มินิคอมพิวเตอร์ เขาก็จะต้องซื้อ คนซื้อพีซี คนที่เริ่มต้นใหม่ ผมมองดูแล้ว พีซีเป็นเทอร์มินัลของมินิคอมพิวเตอร์จะทำงานในระดับต่างๆ มากมาย อย่างมินิคงไม่ได้ แต่พีซีดีตรงที่สามารถจะเรียนรู้ได้เร็ว มีแพ็กเกจ มินิคอมพิวเตอร์จะต้องวางระบบอย่างดี สร้างกำลังคนขึ้นมา พีซีว่าที่จริงแล้ว มันก็คือเครื่องคิดเลขระดับสูงขึ้นไป เครื่องคิดเลขก็มีโปรแกรมได้ใช่ไหมครับ ผมว่าเข้าใจกันผิด ไมโครจะมาแทนที่มินิอะไรอย่างนี้นะครับ มินิคอมพิวเตอร์เขาก็มีลีวัลที่จะทำงานอยู่ ไมโครก็เรื่องของไมโคร ซึ่งก็แตกสเกลออกไปอีกตั้งหลายสเกล ไอบีเอ็มก็ยังออกพีซี แล้วมาพีซี จูเนียร์ ไมโครเองแตกย่อยซอยตลาดมากนะครับ อย่างใช้เล่นเองที่บ้าน แล้วก็ขนาดกลางๆ บิสสิเนสก็เล่นได้ เพราะฉะนั้นมันมีสเกลของมันอยู่แต่ละโปรดักส์ มันจะรีเพลซกันไม่ได้ ไอ้ความพาวเวอร์ฟุลมันมีแน่นะครับ มันพาวเวอร์ฟุล 16 บิท นี่มันเป็นมินิคอมพิวเตอร์ใช่ไหม แต่เขาออกแบบโปรดักส์ขึ้นมาเป็นแมสมาร์เก็ตขายจำนวนเยอะๆ บางคนงงว่า ไมโครขายกันเป็นล้านๆ เครื่อง ก็ต้องมีโปรแกรมเมอร์เป็นล้านๆ คนสิ มันไม่ใช่ เครื่องอย่างนี้เขาให้แมเนเจอร์ใช้ พวกเลขาใช้ ไม่ใช่ซื้อมาแล้วยังต้องจ้างคนใช้ เข้าใจผิด เวลาซื้อคอมพิวเตอร์ต้องสนใจพอสมควรนะครับว่า เครื่องแค่นี้มันทำงานได้แค่ไหน เราจึงเปิดคอร์สขึ้นมาอบรมฟรี อยากรู้เรื่องเราจึงจัดอบรมเป็นรุ่นๆไป


ผู้จัดการ: ทางออกคอมพิวเตอร์ยูเนียนกลัวเครื่องไมโครปลอมในตลาดบ้างไหม


พิลาศพงษ์: คือมันก็มีที่เขาปลอมของบางยี่ห้อ ส่วนไอบีเอ็ม พีซี ปลอมยังไม่มี มีแต่พวกคอมแพทเทเบิ้ล ซึ่งก็มีแต่ในอเมริกา ผมว่าพวกไมโครปลอมนี่ เขามีตลาดของเขาโดยเฉพาะ ไม่มายุ่งกับใคร เพราะคนซื้อของพวกนี้ก็ซื้อเพื่อเอาไปลองเล่นๆ เท่านั้น พอเขาเรียนรู้ดีแล้ว เขาก็จะมาซื้อของดีๆ เหมือนเขาซื้อรถโปเกหัดขับ พอขับเป็นแล้วจึงซื้อรถโอเคให้มันดีหน่อย เพราะฉะนั้นตลาดของพวกนี้แทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีผลกับเราเท่าไร

ผู้จัดการ: คืออย่างไรเสียเขาก็คงไม่ซื้อของแท้อยู่แล้ว

พิลาศพงษ์: ครับ คือเขาเงินไม่พอ อย่างมีเงินสักหมื่นสองหมื่น ลงทุนซื้อวิดีโอก็พอแล้ว ก็ลองซื้อไมโครถูกๆ แต่พวกนี้พอไอบีเอ็มออกพีซี จูเนียร์ ผมว่าพวกนี้จะลำบาก เพราะต้องมาเจอกับไอบีเอ็มราคาถูกแถมเป็นของดีด้วย

ผู้จัดการ: ทีนี้ทางพวกคอมเพลทเทเบิ้ลจะเป็นปัญหาต่อพีซีไหม

พิลาศพงษ์: พวกนี้ในอเมริกาอาจจะขายได้ เพราะไอบีเอ็มเองผลิตไม่ทัน เพราะราคามันเท่าๆ กัน คนซื้อไอบีเอ็มดีกว่า บังเอิญไอบีเอ็มเขาซัปพลายของให้ไม่ทัน พวกนี้ก็เลยขายกันได้บ้างเท่านั้น แต่ผมว่าคนไทยนี่ซื้อของยึดยี่ห้อ เพราะฉะนั้นพวกคอมแพลทเทเบิ้ลจะไม่มีปัญหามากสำหรับตลาดพีซีในบ้านเรา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.