|

สถาบันประกันเงินฝาก เพื่อสุขภาพจิตของธนาคารชาติ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2526)
กลับสู่หน้าหลัก
มันไม่ใช่เรื่องที่ลึกซึ้งอะไรนักหรอก นอกจากว่าฝ่ายหนึ่งคือธนาคารชาติ กำลังไข้ขึ้นอย่างหนักกับปัญหาของทรัสต์ล้ม และต้องรีบหายาดมเข้าช่วยทุกครั้งที่ผู้ถือตั๋วเงินเดินขบวนมาเรียกร้อง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคือกระทรวงการคลังที่มีสมหมายเป็นผู้ตัดสินใจอยู่คนเดียว ไม่มีนโยบายแน่ชัดออกมาให้ธนาคารชาติดำเนินการในเรื่องการแก้ปัญหานอกจากการใช้วิธีปุจฉาวิสัชชนาแบบอิกคิวซังท่าเดียว แล้วก็ยังไม่ยอมพูดด้วย
“ธนาคารชาติต้องการเข็นประกันเงินฝากมาให้เร็วที่สุด เพราะไม่งั้นแล้วก็จะมีแต่คนวิ่งเข้าหาแบงก์ชาติตลอดเวลา พวกเราชักจะรับกันไม่ไหวแล้ว” แหล่งข่าว ท่านหนึ่งวิเคราะห์ให้ฟัง
ก็เห็นจะจริงเพราะ ดร. ศุภชัย พาณิชภักดิ์ ถึงกับถามกลุ่มผู้ร้องเรียนของพัฒนาเงินทุนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ทำไมพวกคุณถึงมาหาแต่ผม ทำไมไม่ไปเล่นงานบริษัทที่ล้มไปบ้างล่ะ”
สถาบันประกันเงินฝากก็เลยเป็นทางออกทางหนึ่งที่ธนาคารชาติหวังว่าจะพอทำให้เหตุการณ์ไม่วุ่นวายแบบนี้ แต่การแก้ปัญหาการล้มของทรัสต์ โดยการตั้งสถาบันประกันเงินฝากก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไม่มีการคัดค้าน เพราะเมื่อเป็นกฎหมายเข้ามาแล้ว สถาบันการเงินแบบธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ต้องเข้ามาร่วมลงขันด้วย”
“การลงขัน เพื่อช่วยระบบนั้น ผมเห็นด้วย แต่ถ้าจะให้ลงขันเพื่อช่วยบริษัทที่บริหารเลอะเทอะ นี่มันก็ผิดหลักการ” ผู้บริหารบริษัทเงินทุนระดับใหญ่แห่งหนึ่งระบายให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
เนื้อหาสาระของสถาบันประกันเงินฝากตามร่างของธนาคารชาติที่ส่งไปให้กระทรวงการคลังเก็บเข้าลิ้นชักก็มีคร่าวๆ ดังนี้
1. ทุกสถาบันเงินทุนต้องจ่ายค่าประกันเป็นมูลค่า 0.5% ของยอดเงินฝากทุกๆ ปี
2. สถาบันจะประกันเงินผู้ฝากในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท
3. สถาบันประกันเงินฝากจะไม่มีผลย้อนหลังไปรับผิดชอบบริษัทที่ล้มแล้ว
ตามหลักการก็ดูดีหรอก แต่ผู้คัดค้า ถามมาว่า
1) 0.5% ของเงินฝากทั้งระบบนี่มันก็ประมาณ 400-500 ล้านบาท ซึ่งก็เกือบจะเป็นครึ่งหนึ่งของกำไรของทั้งระบบอยู่แล้ว
2) ถ้าลูกค้าซอยตั๋วลงไปเป็นใบละ 100,000 บาททุกคน ก็จะเกิดปัญหา
ก. เงินด้านเอกสารต้องเพิ่มอีกอย่างน้อย 5 เท่า
ข. สมมุติกรณีของทรัสต์ล้มสัก 3 แห่งมีคนถือตัว 700 ล้านบาท และ ก็เป็นแต่ตั๋วใบละ 100,000 บาทก็หมายความว่า ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับเงินคืนหมด แล้วสถาบันจะเอาเงินที่ไหนมาคืน?
ค. การที่ทุกสถาบันเป็นสมาชิกได้โดยไม่มีเงื่อนไข เพียงจ่ายแค่เบี้ยประกัน ก็ดูเหมือนจะผิดหลักสากลของการประกันที่ต้องพิจารณาสุขภาพผู้ประกันว่าดีหรือไม่ ถ้าเป็นคนใกล้ตาย เขาก็จะไม่ให้ประกัน ถ้ามีโรคแทรกซ้อน ก็ต้องเสียค่าประกันแพงกว่าชาวบ้าน ถ้าไม่มีเงื่อนไขเหล่านี้เท่ากับให้บริษัทดีๆ มาช่วยเงินค้ำบริษัทเสียๆ
ยังมีอีกมาก แต่เอาหลักใหญ่ๆ แค่นี้ก่อน
“ครับ เรารู้ว่าบริษัททุนใหญ่ๆ เขาไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับอันนี้ แต่ทางเราคิดว่าเขาเสียสละเพื่อระบบ” แหล่งข่าวในธนาคารชาติอธิบายให้ฟัง
เหตุผลหนึ่งที่เรื่องเข้าไปนิ่งอยู่ในลิ้นชักของรัฐมนตรีคลัง ก็อาจจะเป็นเพราะว่ากระทรวงการคลังเองก็รู้ดีถึงปัญหานี้แหละ แม้แต่สมหมายเองก็ได้เคยคัดค้านอย่างเปิดเผยมาแล้ว แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่สมหมายยอมรับว่าเราจะพิจารณานั้น เป็นเพราะกระทรวงการคลังเองก็รู้ดีถึงปัญหานี้ และแม้แต่สมหมายเอง ก็ได้เคยคัดค้านอย่างเปิดเผยมาแล้ว แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่สมหมายยอมรับว่าจะพิจารณานั้นเพราะมีความกดดันมาจากหลายด้าน แต่ตอนหลังนี้กระทรวงการคลังก็แก้ปัญหาโดยเก็บดองเอาไว้ตามแบบอย่างที่ถนัดอยู่แล้ว
“ทางนี้เขาคิดว่าถ้าจะต้องออกมาเป็น พ.ร.บ. หรือพระราชกำหนด ก็ต้องพยายามดึงเรื่องให้นานที่สุด จะได้ให้พวกที่ทำท่าจะล้มในขณะนี้ล้มเพิ่มเติมกันก่อน สถาบันประกันเงินฝากจะได้ไม่ต้องแก้ปัญหาที่จะตั้งขึ้นมา” แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังที่กำลังหลังแอ่นอยู่หลายๆ แห่งก็คงจะอ่านเกมนี้ออก ก็พยายามอึดไว้ให้นานที่สุด และวิ่งเต้นกันอย่างสุดฤทธิ์เพื่อให้สถาบันการเงินฝากนี้ออกมาให้ได้
งานนี้ก็คงจะต้องมีการติดตามข่าวกันต่อไปแน่ๆ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|