กลุ่มโนเบิลฯ เคยกล้าที่จะลุกขึ้นมา "เสี่ยง" กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคด้วยการเสนอแนว
ทางเลือกใหม่ในการออกแบบที่อยู่อาศัย ให้มีความทันสมัยจนประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต
กลับมาใหม่รอบนี้ "Modern Style" ยังคงถูกยึด เป็นแนวทางต่อไป โดยจะผสมผสานกับการคืนสู่ธรรมชาติ
ซึ่งเป็นที่ต้องการของคนเมืองกรุงมากขึ้น
จุดขายสำคัญที่ทำให้บริษัทโนเบิลโฮม ดีเวลลอป เม้นท์ จำกัด (มหาชน) "ได้เกิด"
ในวงการธุรกิจบ้านจัดสรร ก็คือการ "ขายบ้านที่มีดีไซน์" แตกต่างไปจากโครงการอื่นทั่วๆ
ไป และทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักของตลาดได้อย่างรวดเร็ว
การกล้าที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค อย่างที่ไม่เคยมีนักพัฒนาที่ดินรายใดทำมาก่อนนับว่าเป็นความเสี่ยงมหาศาล
แต่...การเข้ามาเป็นน้องใหม่ในวงการบ้านจัดสรรที่มีรุ่นใหญ่ มากมายหลายรายเต็มไปหมดนั้น
ถ้าหากโนเบิลฯ ไม่มีแนวคิดที่เป็นของตนเอง และไม่กล้าที่จะสร้างความแปลกใหม่ให้เกิดขึ้น
ระยะเวลาเพียง 10 ปีคงยังไม่ได้เกิด หรือไม่สามารถฝ่ามรสุมเศรษฐกิจมายืนหยัดอยู่ได้อีกครั้งแน่นอนเช่นกัน
การกลับมาคราวนี้ ดูเหมือนกลุ่มโนเบิลฯ ยังคงยึดแนวสร้างความแตกต่าง และความทันสมัย
เรียบง่าย แต่มีรสนิยม เป็นเอกลักษณ์อย่างเดิม ด้วยความมั่นใจที่ผู้บริหารจะฟันธงลงไปว่า
งานออกแบบไม่มีวันหยุดนิ่งอยู่กับที่เด็ดขาด ผสมผสานกลมกลืนไปกับแนวความคิดของการกลับคืนสู่ธรรมชาติ
ซึ่ง ณ เวลานี้ คนกรุงต้องการมากที่สุด
"ตอนแรกที่เราเริ่มทำของขายรอบใหม่นี้เราก็กลัวเหมือนกันว่าเราจะขายไม่ได้"
นั่นคือความหวั่นไหวในใจที่อยู่ลึกๆ ของผู้บริหารกลุ่มนี้ แต่แล้วดูเหมือนยอดขายที่ทำได้อย่างรวดเร็วของโครงการใหม่นั้น
ได้สร้างความมั่นใจกลับคืนอีกครั้งหนึ่ง
และในไตรมาสแรกของปี 2545 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิแม้จะเป็นตัวเลขเพียง 42
ล้านบาท แต่นั่นก็หมายถึงเม็ดเงินกำไรก้อนแรกหลังจากที่ไม่ได้เห็นมานาน
โนเบิลทารา เอกมัย-พระราม 9 และโครงการโนเบิล ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี 2 โครงการใหม่
ในไตรมาสแรกของปี 2545 เป็นโครงการที่อยู่อาศัยที่ผู้บริหารคาดหวังไว้ว่า
น่าจะสอดคล้องกับความต้องการของคนเมืองที่ดีที่สุด
โนเบิลทารา มีที่มาจากคำว่า "ธารา" ในภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่า น้ำ ดังนั้น
แนวคิดของโครงการนี้ก็คือ การดึงเอาเรื่องของน้ำมาผสานกับการออกแบบในสไตล์โมเดิร์นแนวถนัดของโนเบิล
ส่วน วนา หมายถึง "ป่า" โนเบิล วานา จึงเป็นบ้านในสไตล์รีสอร์ต ที่ผสมผสานกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวตะวันออก
โนเบิลทารา ตั้งอยู่บนถนนที่วุ่นวายที่สุดเส้นหนึ่งของกรุงเทพฯ คือ เอกมัย-พระราม
9 มีบ้านขายทั้งหมดประมาณ 33 หลัง มีบ้าน ให้เลือกทั้งหมด 4 แบบ เริ่มต้นที่
60 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 149 ตารางเมตร ราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป ถึงขนาดใหญ่สุด
80 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 260 ตารางเมตร ราคาประมาณ 8 ล้านบาท
ทางโนเบิลได้ให้สเป็กกับบริษัท IAW ผู้ออกแบบไปว่า ต้องการบ้านที่มีความเป็นโมเดิร์นแบบ
Minimalist ในสไตล์ตะวันตก ผสมกับความนุ่มนวลแบบตะวันออก ทุกๆ อย่างดูไม่ฟุ่มเฟือย
คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก และต้องการได้บ้านที่สามารถเอาข้างนอกข้างในมารวมกัน
ทำให้บ้านกว้างมากขึ้นด้วย
รายละเอียดของการออกแบบแปลนบ้าน ตั้งแต่ภายนอกถึงภายในนั้น จึงถูกออกแบบให้พื้นที่ใช้สอยต่างๆ
เรียงตัวกันแบบ linear ทำให้พื้นที่สำหรับสระว่ายน้ำ สวน และธรรมชาติ สามารถแทรกเข้ามาในตัวบ้านได้อย่างเต็มที่
IAW ได้นำความคิด "ธรรมชาติกลางบ้าน ณ บ้านกลางเมือง" มาใช้โดยเน้นการปลูกต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบบ้าน
เพื่อกันสายตาจากคนภายนอกเข้ามา ในขณะเดียวกัน ก็สร้างให้มีสระว่ายน้ำหรือบ่อน้ำในบ้าน
เพื่อให้กลมกลืนกับธรรมชาติอย่างที่สุดด้วย
การตัดสินใจเอาสระว่ายน้ำมาไว้ในบ้านนั้น ธงชัย บุศราพันธ์ กรรมการและผู้ช่วยกรรมการ
สายปฏิบัติการโครงการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า
"เทรนด์ของคนรุ่นใหม่จะอยู่บ้านมากขึ้น และบ้านต้องเป็นที่สามารถใช้รับรองเพื่อนฝูง
ญาติพี่น้องด้วยความภูมิใจ ส่วนน้ำและเรื่องของความเขียวในบ้าน เป็นสิ่งที่คนไทยทั่วไปชอบและต้องการให้มีอยู่ในบ้าน
ก็เลยดึงเอาเรื่องนี้เข้ามา เพื่อจะได้เป็นบ้านแบบใหม่อย่างแท้จริงด้วย
ตัวบ้านจะจัดวางเป็นรูปตัว U หรือตัว L ที่จอดรถจะดันติดกับข้างหน้าถนน
เพื่อขยายสเปสของบ้านและส่วนกลางของบ้านไว้ เข้ามาห้องแรกที่เจอจะเป็นห้องทานข้าว
และห้องครัว ทุกห้องจะเปิดโล่งให้เห็น สวน หรือสระน้ำ เมื่อคุณอยู่ในห้องนั่งเล่น
คุณก็จะได้บรรยากาศของสระว่ายน้ำ นั่งทานข้าวก็เห็นสระว่ายน้ำ แทนที่จะทำบ้านเป็นกล่องสี่เหลี่ยมไว้ตรงกลาง
แล้วเหลือพื้นที่รอบบ้านเล็กๆ เอาไว้ เรียกว่า ขจัดความฟุ่มเฟือยในการใช้พื้นที่
แล้วมารวมกันให้หมดที่ตรงกลางทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นมา"
เป็นความแตกต่างที่ทางโนเบิลต้องเป็นผู้นำทางความคิดให้กับผู้อยู่อาศัย
โดยไม่ต้องทำรีเสิร์ชด้วยการไปถามคนซื้อว่า คุณอยากได้บ้านแบบไหน
"เราอยากนำความคิดเขาไปอีกขั้นมากกว่า ความคิดที่จะมีสระว่ายน้ำในตัวบ้านจริงๆ
แล้ว เคยมีมาก่อนหน้านี้นานแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นมันยังไม่เป็นรูปแบบ
เป็นแค่ออพชั่นหนึ่งให้เป็นทางเลือก แต่บังเอิญเจอวิกฤติก่อน แต่ในรอบใหม่นี้ผมมั่นใจมากเลยว่า
สระน้ำในบ้านต้องขายได้เราก็เลยทำ"
บางหลังอาจจะไม่ใช่สระ แต่เป็นที่เก็บน้ำกว้างๆ เหมือนที่โรงแรมสุโขทัย
แต่บทสรุปที่ออกมาจากยอดขาย ปรากฏว่าลูกค้าต้องการบ้านที่มีสระน้ำมากกว่า
ความเป็นโมเดิร์นแรงๆ เคยเป็นจุดขายที่ทำให้ชื่อเสียงของโนเบิลเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วก็จริง
แต่เมื่อถึงวันนี้ 11 ปีผ่านไป ทางบริษัทเองก็จำเป็นต้องลดความแรงในเรื่องของการออกแบบที่เอาใจคนรุ่นใหม่
แต่ขยายกลุ่มลูกค้าเป็นคนวัยกลางคนที่อายุมากขึ้น แต่ยังไม่ทิ้งความร่วมสมัย
แนวคิดในเรื่องนี้ก็ยิ่งชัดเจนขึ้น ในโครงการ "โนเบิล วานา" บนถนนปิ่น เกล้า-นครชัยศรี
ซึ่งมีคอนเซ็ปต์ว่า เป็นบ้านสไตล์รีสอร์ต นิยามใหม่ที่ทางบริษัทได้ให้ไว้กับโครงการนี้ก็คือ
"บ้านที่มีทุกอย่างครบครันเหมือนวันพักผ่อน"
เมื่อได้เห็นโครงการมีความรู้สึกว่า โครงการนี้จะมีกลิ่นอายของความเป็นตะวันออก
มากกว่าทุกโครงการที่ผ่านมาของโนเบิล
ธงชัยได้อธิบายถึงแนวคิดของโครงการนี้ว่า "โดยทำเลของโครงการที่ออกมานอกเมือง
ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสเปสนอกบ้าน เราทำให้เต็มที่ได้ แต่สิ่งที่ผมอยากทำให้เกิดขึ้นก็คือ
ผมอยากทำให้เกิดบ้านอารมณ์รีสอร์ต ผมเองก็ชอบบรรยากาศแบบนี้ เราได้ไปเห็นไปดูมาว่า
ตอนนี้มันมีคนทำที่พักรีสอร์ต และโรงแรมสไตล์เก๋ๆ เยอะ แล้วเราก็ชอบ โรงแรมบูทีคโฮเต็ลต่างๆ
เอาอารมณ์ไทยๆ หรืองานบ้านท้องถิ่นเป็นหลัก ผสมผสานกับแนวคิดตะวันตก ซึ่งหากเราจะไปเที่ยวในที่อย่างนั้น
ปีหนึ่งๆ อาจจะไปสัก 2-3 ครั้ง ครั้งหนึ่ง 2-3 วัน แต่ถ้าเราชอบอย่างนี้จริงๆ
อยากมีบ้านที่เป็นอย่างนั้นจริง แล้วอยู่ได้ทุกวัน"
จุดเด่นของโนเบิลวานา อยู่ที่การจัด Planning ที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกันของพื้นที่ใช้สอย
กลมกลืนไปกับพื้นที่หรือบริเวณที่เป็นธรรมชาติ บริษัทสถาปนิกของ ม.ล.ตรีทศยุทธ
เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องบ้านสไตล์รีสอร์ต คือทีมงานออกแบบสำคัญหนึ่งของโครงการนี้
โนเบิลวานา เริ่มต้นที่ 65 ตารางวา ราคาประมาณ 3.9 ล้านบาท จนถึงประมาณพื้นที่
100 ตารางวา
ย้อนกลับไปเมื่อ 11 ปีที่แล้วในปี 2534 "โนเบิล พาร์ค" เกิดขึ้น บนถนนบางนา-ตราด
กิโลเมตรที่ 12 จุดขายของโครงการในครั้งนั้นก็คือ เป็นคอนโดมิเนียม เชิงราบแห่งแรกของคนไทย
ที่ผสมผสานข้อดีของคอนโดและบ้านมาอยู่ด้วยกัน โดยการทำให้ที่อยู่อาศัยแต่ละหลังมีความเป็นอิสระ
เหมือนกับการอยู่บ้านหรือทาวน์เฮาส์ แต่นำเอาวิธีจัดระเบียบชุมชนตามกฎหมายนิติบุคคลอาคารชุดมาใช้
ในปีถัดมาก็สร้างโครงการ "โนเบิล โฮม" ซึ่งเป็นบ้านเดี่ยวที่ดีไซน์แบบหลังคาโค้งที่ไม่เหมือนใคร
ตามด้วยโครงการ "โนเบิล ซิตี้" ที่นอกจากจะเป็นบ้านเดี่ยวหลังคาโค้งแล้ว
ยังมีการเตรียมผังโครงการสำหรับการต่อเติมในอนาคตด้วย
"เดอะโนเบิล" ก็เป็นอีกแนวคิด หนึ่งที่แสดงให้เห็นความประณีตในการดีไซน์
ทั้งรูปแบบที่ทันสมัย และการนำเอาสวนมาไว้กลางบ้าน
ในปี 2540 ก่อนที่จะเกิดภาวะวิกฤติทางการเงิน กลุ่มโนเบิลก็มีนวัตกรรมใหม่ทางด้านที่อยู่อาศัยขึ้นมาอีกครั้งในโครงการ
"โนเบิล ช้อยส์" ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกออกแบบบ้านได้เองอย่างที่ตรงใจตนเองที่สุด
โดยทางบริษัทได้มีการนำเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการออกแบบ และเตรียมทางเลือกในห้องต่างๆ
เช่น ห้องฟิตเนส ห้องซาวน่า และมินิเธียเตอร์ เป็นแนวในการผสมผสาน
"โนเบิลกำหนดวัตถุประสงค์บริษัทให้มีความหมายในเรื่องของ company vision
ดังนั้นแนวทางของสินค้าจึงเป็นโปรดักส์ที่ มีการ create ไม่ใช่รับเหมาสร้างบ้านอย่างเดียว"
กิตติ ธนากิจอำนวย ประธานกรรมการและผู้จัดการบริษัท โนเบิลดีเวลลอปเม้นท์
จำกัด (มหาชน) อธิบายตอกย้ำให้เห็นภาพบริษัทชัดเจนขึ้น
"ในโครงการแรกที่โนเบิลพาร์คนั้น หลังจากได้ที่ดินมาแล้ว ลูกทีมผมออกแบบมาให้เป็นทาวน์เฮาส์ธรรมดาอย่างที่คนอื่นทำกัน
ผมเลยบอกว่าถ้าเป็นโครงการแบบเดิมๆ อย่าทำดีกว่า คุณต้องลืมการออกแบบบ้านแบบเก่าๆ
ให้หมด และต้องคิดอะไรใหม่ให้มันแตกต่างไปจากเดิมให้ได้"
และนั่นคือแนวทางว่า "ไม่เท่ไม่ทำ" ที่กลุ่มนี้ยึดถือปฏิบัตินับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
กิตติ ธนากิจอำนวย เป็นคนหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็น คนมีพรสวรรค์ในการออกแบบ
ทั้งๆ ที่เขาเรียนจบมาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนหน้าที่จะมาเริ่มต้นที่โนเบิลฯ
กิตติเคยทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ร่วมกับจุไรรัตน์ อี.โบไนเธิร์น แห่งสวีเดนมอเตอร์ส
ภายใต้ชื่อ สวีดิช คอนสตรัคชั่น จำกัด และเคยร่วมทุนกับไพศาล ปิยะวุฒิการ
และชนินทร์ ว่องกุศลกิจ ทำโครงการ "เดอะ การ์เด้นเพลส" เคยร่วมงานกับเหมืองบ้านปู
และมาเริ่มทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตัวเองตั้งแต่ ปี 2529 ด้วยโครงการ
"โนเบิลเฮ้าส์" ที่ซอยทองหล่อ
หลังแต่งงานกับอรพิมล วีรวรรณ ลูกสาวอำนวย วีรวรรณ เขาได้ก่อตั้งบริษัทบางนาวิว
เพื่อทำโครงการโนเบิลพาร์ค โดยมีโนเบิลโฮลดิ้ง เป็นผู้บริหารโครงการ และได้นำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
ในปี 2540
ในช่วงแรกๆ ที่มาทำโนเบิลพาร์คนั้น กิตติมี ธงชัย บุศราพันธ์ ซึ่งเป็นหลานชายแท้ๆ
เข้ามาช่วยคิดและพัฒนาโครงการจนปัจจุบัน งานหลักในการออกแบบนั้น หลานชายคนนี้เป็นผู้รับผิดชอบหลัก
ดังนั้นวิถีชีวิต และตัวตนของธงชัยจึงได้มีอิทธิพลอย่างมาก ในการสะท้อนมาเป็นบ้านแบบต่างๆ
ของกลุ่มนี้ (อ่าน "ชีวิต มีดีไซน์ของธงชัย บุศราพันธ์" ในเรื่องประกอบ)
ธงชัย ชายหนุ่มร่างสูงเกือบ 2 เมตร วัย 33 ปีเป็นผู้ที่หลายๆ คนเข้าใจผิดว่าเรียนจบมาทางด้านการออกแบบนั้น
จริงๆ แล้วเขาจบมาจากคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และจบปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์
เมื่อครั้งเป็นนิสิตหนุ่มจบใหม่หมาดๆ ในปี 2534 และได้มาเริ่มงานกับน้าชายที่อายุห่างกันประมาณ
16- 17 ปีนั้น เขาได้ดึงเอาเพื่อนๆ ที่จบมาจากสถาบันเดียวกันมาช่วยงานด้วยหลายคน
ปัจจุบัน ธงชัยเป็นผู้ดูแลหลักในการออกแบบบ้าน โดยมีกิตติเป็นที่ปรึกษาสำคัญ
แต่งานหลักของกิตติจะเน้นไปในเรื่องการติดต่อซื้อขายโครงการ และเรื่องการเงินเสียมากกว่า
ไอเดียในการออกแบบบ้านของธงชัยนั้น มาจากการอ่านหนังสือทางด้านตกแต่งและสถาปัตยกรรม
ซึ่งเป็นแหล่งที่ทำให้เขาได้เห็นแนวคิดของคนอยู่เรื่อยๆ ว่า แนวบ้านสมัยใหม่เป็นอย่างไร
แน่นอนว่า แนวคิดในการตกแต่งมันเกิดมาจากโลกตะวันตก ก่อนที่จะมาถึงโลกตะวันออก
หนังสือจะช่วยให้เขารู้ trend และเป็น trend จากทั่วโลกด้วย เพราะว่าหนังสือเหล่านั้นไม่ได้ทำขายเฉพาะฝรั่งหรือชาวตะวันตก
แต่ทำขายคนทั้งโลก
รูปแบบบ้านในแนวคิดใหม่จึงเป็นหัวใจของบริษัท และจากยอดขายใหม่ที่เกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำลงว่า
ความสำเร็จจะต้องมาจากแนวคิดที่แตกต่างเท่านั้น ในขณะที่การทำการตลาดของกลุ่มนี้ไม่เน้นการทำการตลาดแบบ
hard sale เพราะต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการดีไซน์ และความแตกต่างที่จะไม่เหมือนใครทางด้านที่อยู่อาศัย
ถ้าหากโนเบิลต้องไปสร้างบ้านแข่งกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการบ้านจัดสรร ด้วยรูปแบบที่เหมือนๆ
กัน ผู้บริหารของโนเบิลก็คิดว่าก็คงไม่ไปแข่งด้วยแน่นอน แต่หากถามว่าบริษัทนั้นจะกล้าลงมาแข่งในเรื่องการดีไซน์กับโนเบิลหรือไม่
ก็คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าเสี่ยงเหมือนกัน
เป็นจุดขายที่โดดเด่นกันคนละมุม แนวคิดใหม่ของโนเบิลในปีนี้ จึงต้องการสร้างความยั่งยืนในเรื่องภาพพจน์
สร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มลูกค้าในระยะยาว นอกเหนือจากการเป็นผู้นำในเรื่องการดีไซน์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน