|
บทม.ยันไม่ได้จ่ายก่อนค่าระบบCTX 3 พันล้าน
ผู้จัดการรายวัน(17 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"วิษณุ" ต่อเวลาให้กรรมการสอบสินบน CTX อีก 15 วัน รอ "เช" มาชี้แจง บทม.ยันไม่ได้จ่ายเงินล่วงหน้าให้ไอทีโอที่จ่ายไปแล้ว 2,990 ล้านบาท เป็นไปตามความคืบหน้าของงาน "ศรีสุข" เปิดตัวเลขสร้างสายพานลำเลียงทั้งหมด 6,000 ล้านบาท หลังรัฐบาลสั่งเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้าน เป็น 45 ล้านคน ทำให้งบเพิ่ม เพราะต้องรื้อระบบที่วางไว้เดิม และซื้อเครื่อง CTX มาใช้ ระบุจีอีฯต้องการขายตรงให้โดยไม่ผ่านไอทีโอ ทอท.แย้ม หมดสิทธิเปลี่ยนยี่ห้อ
วานนี้ (16 พ.ค.) นายศรีสุข จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. พร้อมด้วยนายสมชัย สวัสดิผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานเตรียมการบริหาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทอท. และนายสุรจิต สุรพลชัย รองผู้อำนวยการบริหารโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ชี้แจงถึงรายละเอียดและความเป็นมาของโครงการการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงของสนามบินสุวรรณภูมิและการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดแบบซีทีเอ็กซ์ 9000 ที่กำลังมีปัญหาในขณะนี้
นายศรีสุขชี้แจงว่า การที่จะขยายการรองรับผู้โดยสารในช่วงที่สามารถรับผู้โดยสารสูงสุด จาก 30 เป็น 45 ล้านคนตามนโยบายนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการนำระบบ Inline Screening มาใช้ในระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ซึ่งตั้งแต่ปี 2006 สนามบินทั่วโลกจะต้องนำระบบดังกล่าวมาใช้ เพราะเป็นระบบที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงที่สุด ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงระบบจัดการกระเป๋าสัมภาระในสนามบินสุวรรณภูมิใหม่ โดยจะต้องมีการนำการตรวจสอบกระเป๋าสัมภาระทั้งหมด (Whole Baggage Screening) เข้ามาเพิ่มเติม และมีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดเข้ามาใช้ และเพิ่มระบบอื่นๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การกำจัดน้ำเสีย ปรับปรุงพื้นเพื่อรองรับน้ำหนักเครื่องที่คาดว่าจะหนักประมาณเครื่องละ 7-10 ตัน เป็นต้น ซึ่งงบประมาณที่ใช้ทั้งหมดประมาณ 6,155 ล้านบาท โดยให้ทางกลุ่มไอทีโอ จอยท์เวนเจอร์เป็นผู้ดำเนินการ เพราะกลุ่มไอทีโอได้รับงานก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและอาคารท่าเทียบเครื่องบินอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องของราคาเครื่องซีทีเอ็กซ์นั้น นายศรีสุขกล่าวว่า ได้ให้บริษัทที่ปรึกษาประเมินราคา โดยกลุ่มไอทีโอเสนอขายเครื่องนี้ให้กับบทม.ในราคาเครื่องละ 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่เหลืออีกประมาณ 8 แสนเหรียญสหรัฐ เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ขณะที่ราคาที่ปรึกษาเช็กได้อยู่ที่ประมาณ 1.7 ล้านเหรียญ จึงเป็นที่สมเหตุสมผลและอยู่ในงบประมาณไม่เกิน 4,500 ล้านบาท
"แต่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ทางไอทีโอได้มีหนังสือแจ้งมาเป็นทางการว่า ทางบริษัทจีอี อินวิชันไม่สามารถขายเครื่องซีทีเอ็กซ์ให้กับไอทีโอได้ โดยต้องการที่จะขายตรงกับบทม. ซึ่งทางบอร์ดก็ให้ไปดูรายละเอียดว่าสามารถทำได้หรือไม่ แต่พอดีมีเรื่องการให้สินบนออกมาก่อน จึงยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการหารือกันระหว่างบทม. ไอทีโอ และผู้ขาย"
อย่างไรก็ตาม หากภายในเดือนพฤษภาคมนี้ สามารถจัดส่งเครื่องซีทีเอ็กซ์ได้ จะไม่กระทบกับภาพรวมของการก่อสร้างและกำหนดเปิดใช้สนามบิน แต่เรื่องนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหากคณะกรรมการระบุอย่างไรก็จะดำเนินการตามนั้น ทั้งนี้ได้สั่งการให้ผู้บริหารไปศึกษาแนวทางอื่นคู่ขนานกันไปด้วย โดยหากได้ผลการศึกษาและมีผลสรุปของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงอย่างไร จะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด
แจงรายละเอียดใช้เงิน 2,990 ล้าน
ด้านนายสุรจิต สุรพลชัย รองผู้อำนวยการบริหารโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ บทม.จ่ายเงินล่วงหน้าให้กลุ่มไอทีโอไปแล้ว 2,990 ล้านบาท โดยพิจารณาตามงานที่มีความก้าวหน้าซึ่งประกอบด้วย เครื่องซีทีเอ็กซ์ คืบหน้า 60% คิดเป็นเงินประมาณ 1,090 ล้านบาท แม้ว่าเครื่องยังไม่ส่งมาแต่ได้มีการทดสอบการใช้งานที่โรงงานแล้วทั้ง 26 ตัว และเตรียมส่งมอบส่วนอื่นประกอบด้วย รถขนระเบิดรวมทั้งอุปกรณ์ตรวจวัตถุระเบิด 52% งานก่อสร้างอาคาร 82% การปรับปรุงระบบสายพานจ่ายไปแล้ว 86.7% ซึ่งขณะนี้สายพานทั้งหมดอยู่ที่หน้างานแล้ว และที่เหลือเป็นค่าออกแบบที่จ่ายครบแล้ว 100%
"เงินที่จ่ายเป็นค่างวดไปคิดเป็น 69% ขณะที่ความก้าวหน้าของงานคิดเป็น 70.2% แต่งานในขณะนี้ยังล่าช้ากว่าเป้าหมายเพราะเครื่องซีทีเอ็กซ์ยังไม่มีการส่งมอบ ซึ่งที่ผ่านมา บทม.ได้มีการแจ้งเตือนไปยังกลุ่มไอทีโอโดยตลอดถึงความล่าช้า และบทม.ได้มีการหยุดจ่ายค่างวดเนื่องจากยังไม่มีการส่งมอบเครื่องตั้งแต่เดือนธันวาคม 2547 แต่ขณะที่หน้างานยังมีการก่อสร้างอยู่ เพียงแต่รอเครื่องซีทีเอ็กซ์มาติดตั้งเท่านั้น"
นายสุรจิตกล่าวว่า วิธีการจ่ายค่างวดของบทม.นั้น จะมีที่ปรึกษา 2 ส่วนเข้ามาดูแล โดยที่ปรึกษาควบคุมงานและที่ปรึกษาในการออกแบบจะเข้ามาตรวจสอบงานที่ไอทีโอได้ก่อสร้างว่าเป็นไปตามหลักการที่มีการระบุในสัญญาหรือไม่ ยืนยันว่าไม่มีการจ่ายเงินค่างวดก่อนที่จะมีการก่อสร้างอย่างแน่นอน ทั้งนี้ในส่วนที่มีบริษัท แพทริออต บิสซิเนส คอนซัลแตนท์เข้ามาเกี่ยวข้องนั้น เรื่องดังกล่าวได้มีมาตั้งแต่บริษัทที่ปรึกษาได้คัดเลือกมีการใช้เครื่องซีทีเอ็กซ์แล้ว โดยมีการระบุในสัญญาว่า บริษัท แพทริออตฯ เป็น Exclusive Distributor อยู่แล้ว ซึ่งผู้รับเหมาจะเอาใครมาเป็น Subcontractor แล้ว หากมีความล่าช้าหรือเกิดความเสียหาย ผู้รับเหมาหลักก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
จีอี.ได้ขายซีทีเอกซ์แน่
แหล่งข่าวจาก ทอท.กล่าวว่า คาดว่า ทอท.จะต้องกลับมาซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ โดยตรงจากบริษัท จีอี อินวิชั่น ในวงเงิน 35.8 ล้านเหรียญสหรัฐ แน่นอน และพร้อมลงนามในสัญญาได้ทันที โดย ทอท.จะโอนสิทธิในการดำเนินการทั้งหมดให้ไอทีโอรับผิดชอบ ส่วนจะว่าจ้างแพทริออตหรือเอกชนรายอื่นมาเป็น Sub Contact ขึ้นอยู่กับทางไอทีโอ โดยจากการตรวจสอบสัญญาที่ ทอท.หรือ บทม.เดิมกับ ไอทีโอเป็นสัญญาว่าจ้างงานระบบ จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปจัดซื้อเครื่องยี่ห้ออื่นได้ รวมทั้งมีการออกแบบเพื่อรองรับสำหรับเครื่องรุ่นซีทีเอ็กซ์ 9000 โดยเฉพาะ หากมีการเปลี่ยนยี่ห้อจะส่งผลกระทบต่อโครงการโดยรวมและงานระบบอื่นเช่น ระบบสายพานลำเลียงและพื้นที่ติดตั้งเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะมีขนาดไม่เท่ากัน
ส่วนการว่าจ้างบริษัทคาวาซากิ เฮฟวี่ อินดัสตรี จำกัดเข้ามาดำเนินการวางระบบสายพานลำเลียง แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้มีปัญหาเรื่องของประมาณที่เพิ่มขึ้น ทำให้การดำเนินโครงการล่าช้าออกไปแต่อยู่ในความรับผิดชอบของไอทีโอ โดยสัญญาเดิมกำหนดวงเงินไว้ ประมาณ 2,600 ล้านบาท และมีการปรับเพิ่มเมื่อมีการขยายขีดความสามารถอีก 1,700 ล้านบาท รวมเป็น 4,300 ล้านบาท แต่ในสัญญาเดิมมีการว่าจ้างวางระบบสายพานขนาด 16.05 กิโลเมตร ราคา 2,601 ล้านบาท หรือคิดเป็นราคาต่อหน่วยประมาณ 162.06 ล้านบาท แต่เมื่อมีการปรับเพิ่มขนาดความยาวของสายพานลำเลียงเป็น 22.11 กม. ราคาปรับเพิ่มเป็น 3996 ล้านบาท หรือ ประมาณ 180.73 ต่อกิโลเมตร ในขณะที่ทางบริษัทคาวาซากิเสนอราคาใหม่อยู่ที่ 4,315.8 ล้านบาท
ขยายสอบทุจริต CTX อีก 15 วัน
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ว่าจะต้องทำให้เกิดความกระจ่างแน่ แต่ยังไม่ทันไรก็มีการสรุปกันไปก่อนโดยยังไม่ทำอะไรเลย ความจริงแล้วสหรัฐฯ ก็บอกมาแล้วว่าไม่มีอะไร เราจะทำผลการสอบสวนให้ชัดเจน และจะแถลงให้ประชาชนทราบ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการหาข้อเท็จจริง ปัญหาทุจริตการจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ ได้มารายงานผลการทำงานเบื้องต้นเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พ.ค.ว่า ได้มีการเรียก นายวรพจน์ ยศะทัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพทริออต มาชี้แจง แต่นายวรพจน์ ยังไม่มา ขณะนี้กำลังพยายามเจรจาอยู่ เพื่อให้มาให้ข้อมูล นอกจากนี้จะมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มอีก 1-2 คน และจะมีการส่งตัวแทนออกไปต่างประเทศด้วย คณะกรรมการจึงขอขยายเวลาการสอบสวนเพิ่มอีก 15 วัน ซึ่งตนเองได้อนุมัติไปแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|